สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ชวนคนไทยชมปรากฏการณ์ดาวเคียงดาว “ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี” ในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคม 2557 เผยเข้าใกล้สุดในรอบ 14 ปี สว่างสุกใสมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า พร้อมเตรียมขนกล้องโทรทรรศน์ร่วมสังเกตการณ์ในงานมหกรรมวิทย์ 57 ที่เชียงใหม่
ภาพจำลองปรากฏการณ์ดาวศุกร์ใกล้ดาวพฤหัสบดี ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557 (ภาพจำลองจากโปรแกรม Stellarium)
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 สิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ มีปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงกันที่น่าสนใจ คือ ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะโคจรเข้าใกล้กันมากที่สุดในรอบ 14 ปี ที่ระยะห่างเชิงมุม 0.2 องศา ในเวลาประมาณ 10:40 น. (ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเชิงมุมบนท้องฟ้าประมาณ 0.5 องศา) ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเคียงกันคือในช่วงเช้ามืด ดาวเคราะห์ทั้งสองดวงจะโผล่พ้นจากขอบฟ้าทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 04:52 น. จนถึงท้องฟ้าสว่าง ทั้งนี้ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะโคจรเข้าใกล้กันมากที่สุดในเวลาประมาณ 10.40 น. ซึ่งเป็นเวลากลางวัน ผู้สังเกตจำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ช่วยในการสังเกตการณ์เนื่องจากเป็นช่วงกลางวันที่ท้องฟ้ามีความสว่างมาก แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการสังเกตเนื่องจากมีตำแหน่งอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์
ดร.ศรัณย์ กล่าวย้ำว่า เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี คือช่วงเช้ามืด หากสภาพท้องฟ้าโปร่ง ไม่มีเมฆ จะสามารถมองเห็นความสวยงามของดาวเคราะห์เคียงกันด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน เนื่องจากดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีนับเป็นดาวเคราะห์สองดวงที่มีความสว่างเป็นอันดับ 1 และ 2 บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออก ทั้งนี้ สดร. ได้จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยจะตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อช่วยในการสังเกตการณ์บริเวณลานหน้าศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2557 เวลาประมาณ 10:00-12:00 น. ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2557 อีกด้วย
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ที่ระยะห่างเชิงมุม 0.01 องศา และจะเข้าใกล้กันครั้งต่อไปในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ที่ระยะห่างเชิงมุม 0.40 องศา