สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผย 23 กันยายน นี้ เป็นวันศารทวิษุวัต เวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
ภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาต่างๆ
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่าในวันที่ 23 กันยายน 2558 จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้วันดังกล่าวมีเวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน หรือเรียกกันว่า “วันศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) สำหรับประเทศไทย ในวันที่ 23 กันยายน ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06.07 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.14 น. หลังจากนี้ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ลงไปทางใต้เรื่อยๆ และหยุดที่จุดใต้สุดในวันที่ 22 ธันวาคม เรียกว่า วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) จากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนที่ขึ้นไปทางเหนืออีกครั้งหนึ่ง
ในหนึ่งปีจะมีวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันเพียง 2 ครั้งเท่านั้น เรียกว่า Equinox มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ aequus แปลว่า เท่ากัน และ nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้นจึงแปลรวมกันว่า “กลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน” ส่วนไทยเรียกว่า “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” เกิดในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง จึงเรียกว่า Vernal Equinox (วสันตวิษุวัต) และ Autumnal Equinox (ศารทวิษุวัต)
รอง ผอ.สดร. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฎในตำแหน่งที่ต่างๆ กัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา การที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรี ทำให้โลกมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากันตลอดปี ช่วงที่ใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) ช่วงที่ไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของของระยะใกล้-ไกล ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากจึงไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด แต่การที่แกนโลกเอียง 23.5 องศา เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ตำแหน่งขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ส่วนต่างๆ ของโลกจึงได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ ใน 1 ปี
ภาพแสดงการเคลื่อนที่ของโลกรอบดวงอาทิตย์บนระนาบสุริยะวิถี
ที่มา: http://www.srh.noaa.gov