ถอดความคิดเลขาธิการพระปกเกล้าฯ นำ้ยารัฐไทยอยู่ตรงไหนในยุคสมัยโรคระบาด

ถอดความคิดเลขาธิการพระปกเกล้าฯ นำ้ยารัฐไทยอยู่ตรงไหนในยุคสมัยโรคระบาด

“น้ำยารัฐไทยในยุคสมัยแห่งโรคระบาด และความท้าทายในอนาคต” คือชื่องานเสวนาออนไลน์ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี วันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า หนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมเสวนา เปิดประเด็นท้าทายชวนคิดถึงการไปต่อของรัฐไทยในปัจจุบันและอนาคตในเบื้องหน้าที่น่าท้าทายหลายกรณี

TheCitizen.plus เรียบเรียงมาเพื่อผู้สนใจร่วมกันค้นหา “น้ำยารัฐไทยอยู่ตรงไหน?”

น้ำยารัฐไทยอยู่ตรงไหน?

ศ. วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า รัฐไทยมีน้ำยาหรือไม่ ผมขอไม่ตอบในเชิงการวิพากษ์วิจารณ์ แต่อยากนำเสนอในเชิงที่อยู่ในข้อเท็จจริงและเงื่อนไขที่เป็นความเป็นจริง เพราะน้ำยาอร่อยไม่ได้มีสูตรเดียว เวลาพิจารณาการตัดสินใจของรัฐ ต้องพิจารณาว่ามันวางอยู่บนเงื่อนไขอะไร รวมถึงการมีอยู่และไม่มีอยู่ของความรู้และข้อเท็จจริง

อยากจะแบ่งรัฐไทยเป็นสองส่วน คือรัฐระบบราชการกับรัฐเป็นศูนย์อำนาจและการดำเนินกิจกรรม การระบาดทั้ง 3 เฟส ประเทศไทยมีพัฒนาการและปัจจัยที่แตกต่างกัน เฟสแรกเกิดหลังการระบาดที่จีนใหม่ ๆ และเกิดการระบาดเริ่มต้นจากสนามมวยซึ่งเป็นสถานที่ถูกกฎหมาย ผลที่เกิดขึ้นตามมา คือทำให้เราค้นหาผู้ติดเชื้อเจอส่งผลต่อการควบคุมการระบาดได้ดีพอสมควร

ในเฟส 1 เป็นภาวะที่เราไม่รู้ว่าโควิดจะรุนแรงอย่างไร ไม่รู้ว่าจะกลายพันธุ์ หรือรักษาอย่างไร ที่สำคัญคือยังไม่รู้ว่าจะได้วัดซีนเมื่อไหร่ ภาวะของความไม่แน่นอน uncertainty ประกอบกับสภาวะของการมีอยู่ของทรัพยากรทางการแพทย์ ดังนั้นการตัดสินใจในห้วงเวลานั้นจึงเกิดโมเดลเดียว คือการล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว จัดการเบ็ดเสร็จและยินดีกับการคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้เป็นศูนย์กว่า 100 วัน นั่นแปลว่าการจัดการมันอยู่ในเงื่อนไขที่ต่างจากระบาดในเฟส 2 และเฟส 3 สะท้อนผ่านสิ่งที่หมอใช้คำว่า Hammer and the dance เมื่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็กดมันลง ถ้าดีขึ้นก็เอ็นจอย

เฟสที่ 1 สิ่งที่ตามมา คือการแลกด้วยเศรษฐกิจ แต่ต้องแลกด้วยการล่มสลายของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ต้องมีการเติมเรื่องการเยียวยา และการค้นหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ส่วนเฟสที่ 2 ความยากมันเพิ่มขึ้นตรงที่อุบัติการเริ่มต้นจากบ่อน ซึ่งเป็นสถานที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น การระบุไทม์ไลน์เริ่มไม่ได้ผล ส่วนใหญ่จะพังตอนบอกว่าไปกับใครก่อน เพราะฉะนั้นระบบการติดตามแกะรอย การติดตามจึงทำไม่ได้ เพราะมันเกิดในจุดที่ไม่มีใครอยากเปิดเผยตัว รวมทั้งยังมีการเกิดการระบาดในแรงงานข้ามชาติที่อาจถูกหรือไม่ถูกกฎหมาย

ขณะเดียวกันชุดความคิดหรือเป้าหมายในการควบคุมการติดเชื้อให้เป็นศูนย์ จากเฟส 1 ก็เปลี่ยนในเฟส 2 เริ่มมีการบอกว่าต้องแลกระหว่างเศรษฐกิจกับสุขภาพ มันจึงเกิดชุดแนวคิดใหม่ในการจัดการทรัพยากรสาธารณสุขให้ได้ และปล่อยให้เศรษฐกิจเดินไปด้วย หรือการล็อกดาวน์เป็นจุด ๆ และที่สำคัญ คือการให้อำนาจที่จังหวัดแทนที่จะเป็นซิงเกิลโมเดล

“ผมคิดว่านี่เป็นพัฒนาการในการจัดการชุดความรู้ของรัฐ ที่อาจบอกได้ว่ามันมีการเรียนรู้เกิดขึ้น มันมีการลองผิดลองถูกและการแก้ไขปัญหา ส่วนจะมีน้ำยาหรือไม่ผมไม่รู้ มาตรการที่เพิ่มขึ้นในเฟส 2 คือการรักษาพยาบาลที่จัดการได้ดีขึ้น อัตราการตายเราต่ำมาก”

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวต่อไปว่า สำหรับเฟส 3 อาจจะกล่าวโทษทองหล่ออย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีปัจจัยของการกลายพันธุ์ การพบการติดเชื้อในกลุ่มคนไม่แสดงอาการ กว่าจะรู้ว่าติดเชื้อโควิด-19 ก็อาจจะป่วยไปแล้ว เมื่อเข้าโรงพยาบาลล่าช้าก็อาจจะเสียชีวิต ดังนั้นเราจึงเห็นการเสียชีวิตแตะที่ประมาณ 20 คนมาตลอด การจัดการวงการระบาดทำไม่ได้แล้ว เพราะยิ่งไปติดในพื้นที่มีการเคลื่อนย้ายสูง การจัดการจึงต้องใช้อีกแบบ

“เฟส 1 มุ่งคุมโรคอย่างเดียว เฟส 2 เริ่มสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ เฟส 3 เริ่มเกิดการริเริ่มของภาคเอกชนจำนวนมากที่ทำข้อเสนอว่ารัฐต้องทำอะไร เช่น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และอีกหลายที่ก็พยายามจะทำ”

นี่เป็นพัฒนาการในเงื่อนไขและการตัดสินใจที่แตกต่าง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของรัฐไทย โดยศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ก็เป็นการแก้ปัญหาตามสถานการณ์และข้อจำกัดเท่าที่มีอยู่ ถ้ามองด้วยความเป็นธรรม จะเห็นว่าความพยายามของรัฐก็ไม่ถึงกับเลวร้าย เพียงแต่ว่าสปีดของตอบสนองต่อปัญหานั้นอาจจะช้าเกินไป ควรจะเป็นบทเรียนที่ต้องไปคิด หรือถึงความไม่มีเอกภาพของการบริหารจัดการ เช่น ปัญหาเรื่องวัคซีน ถ้ารัฐมีบทเรียนตรงนี้ผมคิดว่าก็อาจจะมองได้ว่ารัฐก็มีความพยายามปรับตัว

“ผมพยายามแยกพิจารณารัฐไทยระหว่างราชการกับการเมือง เพราะถ้าให้เทคโนแครตตัดสินใจล้วน ๆ ผมคิดว่าการตัดสินใจจะเป็นไปอีกแบบ แต่พอมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งมันลึกลับซับซ้อนและเราไม่รู้ บทเรียนสำคัญของผู้นำคือการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนให้ได้”

เฟส 3 มันถือเป็นความโกลาหลอีกแบบ แต่อีกหลายเรื่องที่มีบทเรียนจนนำไปสู่การปรับปรุงเชิงระบบ เช่น การจัดการเชิงพื้นที่ที่ให้อำนาจพื้นที่มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาในบริบทที่แตกต่าง การอนุญาตให้พื้นที่ตัดสินใจเรื่องการศึกษา หรือการให้อำนาจการจัดการศึกษา แต่นอกเหนือจากเรื่องการควบคุมแล้วต้องดูเรื่องการชดเชยและเยียวยาจากเงินกู้ทั้งสองรอบ สัดส่วนของเม็ดเงินที่ถูกใช้ไปเป็นการเยียวยาระยะสั้นหรือการประคับประคอง แต่การมองเรื่องการเยียวยาที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน เช่น 5 ขั้นตอนของแมคคินซีย์ (สถาบันให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก) ซึ่งประกอบด้วย 1. Resole 2. Resilience 3. Return 4. Reimagination 5.reform

ภาพจากบทความ From “wartime” to “peacetime”: Five stages for healthcare institutions in the battle against COVID-19

ผมคิดว่าไทยยังอยู่ในระดับที่ 2 ขั้นแรกอยู่ resole ความพยายามเรื่องการแก้ไขก็ยังลองผิดลองถูก หรือการจัดการวัคซีนต่าง ๆ ส่วน Resilience ก็พยายามปรับปรุงแก้ไข เช่น ระบบสุขภาพ ทรัพยากรทางการสาธารณสุขก็พยายามจัดการได้ แต่เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษาที่จะทำให้มีคุณภาพเหมือนเดิมผ่านระบบออนไลน์ยังมีปัญหาอีกเยอะ ส่วน return เรายังไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ หรือจะไปในทิศทางไหนยังคงไม่รู้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่รัฐต้องทำ คือการมีจินตนาการใหม่ ว่าจะกำหนดอนาคตอย่างไร ไม่ใช่เรื่องการเยียวยาระยะสั้น

“ถ้าภาคท่องเที่ยวจะยังไม่ฟื้นตัวในอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะทำอย่างไร สินทรัพย์โรงแรมทั้งหลายที่ไม่มีคนพักและการเป็นสินค้าราคาถูกให้คนมาซื้อจะแก้ปัญหาอย่างไร คนที่ว่างงานแบบเต็มที่หรือตกงาน กับว่างงานแบบเสมือนจริงคือต้องสลับกันทำงานทำให้มีรายได้ต่ำลง หนี้ครัวเรือนจะแก้ไขอย่างไร ประเด็นพวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องการ reimagination และอันสุดท้ายคือ reform หรือการกำหนดทิศทางอนาคต แม้ว่าเราจะบอกว่ามีแผนยุทธศาสตร์อะไรนั่นก็เป็นเรื่องก่อนโควิด-19 ทั้งสิ้น หลังโควิดอุบัติขึ้นมาจะมีการปรับปรุง redesign อะไรหรือไม่”

หัวใจสำคัญของอนาคต คือการทบทวนบทเรียนจากรูปธรรมและเอามาปรับปรุงการบริหารงาน ความเข้มแข็งของภาคเทคโนแครตที่จะพูดอะไรตรงไปตรงมาว่ามันเกิดอะไรขึ้น การให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่สับสน การจัดการของรัฐในการสื่อสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในเฟส 1 การสื่อสารของศบค.ที่มีการรวมศูนย์การสื่อสารมันสร้างความเชื่อถือมาก แต่สื่อสารเช้าอย่างหนึ่ง ตอนเย็นอีกอย่าง อันนี้เริ่มมีปัญหา ทำให้เกิดเรื่องความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือ”

รัฐไทยต้องทำอะไร เพื่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต?

ศ. วุฒิสาร ตันไชย กล่าวว่า สังคมไทยได้เรียนรู้จากโควิด-19 เรื่องแรก การจัดการเชิงพื้นที่เป็นคำตอบในการแก้ปัญหา การรวมศูนย์กับการจัดการให้มีเอกภาพไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เราพบว่าการแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่บนบริบทของเขามันสามารถตอบโจทย์สถานการณ์ได้ดีกว่า แต่มันต้องการแนวทางหรือไกด์ไลน์ที่วางอยู่บนการจัดการบนฐานข้อมูลร่วม เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่สำคัญมากของรัฐไทยที่อาจจะต้องพูดเรื่องการจัดการเชิงพื้นที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องโรคระบาดเท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมการจัดการเชิงพื้นที่ก็อาจจะตอบปัญหาได้ดีกว่าการจัดการแบบรวมศูนย์

“วิกฤตของความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ได้ตรงไปตรงมา วิกฤตโควิดทำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำมีความซับซ้อนและเชื่อมโยง เราพบกลุ่มเปราะบางใหม่ ๆ เยอะมาก รอบแรกมีการปิดร้านตัดผม เราไม่เคยคิดว่าช่างตัดผม หมอนวดแผนโบราณจะเดือดร้อน แน่นอนว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวเดือดร้อนแน่ แต่เราก็ไม่คิดต่อว่าเชนทั้งหมดของการท่องเที่ยวจะล้มทั้งกระดาน ตั้งแต่คนขับรถตู้ แม่บ้าน ความเปราะบางของความเหลื่อมล้ำมันมีคนกลุ่มใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาตลอด

“ดังนั้นเมื่อมีการพูดว่าจะไม่ให้มีใครตกขบวนรถไฟนี้ ผมจึงท้าทายเสมอว่าในสังคมไทยยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่รู้ว่าสถานีรถไฟอยู่ที่ไหน มันมีคนที่ไม่รู้ว่าจะขบวนรถไฟอยู่ที่ไหน”

มันยังมีคนอีกมากที่ไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของรัฐได้อย่างไร รูปธรรม มาตรการคนละครึ่งซึ่งว่ากันว่าประสบความสำเร็จมาก แม่ค้าพ่อค้าที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและไม่รับคนละครึ่งแทบจะอยู่ไม่ได้ หรือถ้าไม่มีป้ายคนละครึ่งก็จะขายไม่ได้ เพราะร้านที่อยู่ติดกันมี หรือตอนเปิดลงทะเบียนไทยชนะ ปรากฏการณ์หน้าธนาคารกรุงไทย มีคนเข้าคิวตั้งแต่ตีห้า และคนกลุ่มนี้ยังไม่รู้อะไรเลย ลูกหลานเป็นคนพามา คนลักษณะนี้คือคนที่ไม่รู้ว่าสถานีอยู่ตรงไหน นี่คือบทเรียนสำคัญของรัฐที่ต้องกลับไปทำความเข้าใจว่าการมองปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นไม่ได้ตรงไปตรงมาเฉพาะเรื่องรายได้

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำในมิติการศึกษา การเรียนออนไลน์มีความเป็นห่วงเรื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต การมีไวไฟที่เสถียร แต่กลับหลงลืมว่าการเรียนรู้ของเด็กประถม ถ้าผู้ปกครองที่ไม่ช่วยจัดการในการเรียนออนไลน์ เด็กนักเรียนก็อาจไม่มีสมาธิในการเรียน หรือนั่งเรียน

“ถ้าเราต้องเรียนออนไลน์มากขึ้นแต่ปัญหาการที่ใหญ่ไม่ใช่เรื่องคอมพิวเตอร์ มันคือวัฒนธรรมการเรียนออนไลน์ที่มีวินัย มีประสิทธิภาพแต่เป็นเรื่องวัฒนธรรมการเรียนออนไลน์ที่มีคุณภาพ การมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองในการเรียนและการสอบ นี่คือสิ่งที่ต้องคิดต่อไปและต้องมีจินตนาการใหม่”

ศ. วุฒิสาร ระบุว่าอีกเรื่องที่เมืองไทยมีการเรียนรู้มาก คือ ทุนทางสังคม เราพบว่าอาสาสมัครมีพลังสูงมาก เช่น อสม. หรือน้ำใจ ความเอื้ออาทร หลายเรื่องของปัญหาความขาดแคลนถูกบรรเทาด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ทำบุญ” และการจัดการของพวกนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือใหม่ในการทำให้ธุรกิจเดินต่อไป สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยภาคสังคม ไม่ใช่รับเป็นผู้ริเริ่ม ดังนั้นการจัดการเรื่องบุญ หรือเรื่องการช่วยเหลือ ให้เป็นระบบการสนับสนุนที่ยั่งยืนจะเป็นเรื่องที่สำคัญในอนาคต

“โควิดระลอกแรก คนตกงานและกลับบ้าน เพราะหากอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ได้เงินไม่ถึง 4,500 ไม่มีรอดแน่นอน แต่เมื่อกลับบ้านไปอยู่ในภาคเกษตรถึงไม่มีเงินจำนวนนั้นก็ยังอยู่ได้ นั่นหมายความว่าข่ายใยทางสังคมมันยังมีความหมาย”

วันนี้เราวุ่นวายอยู่ กับ resole และ resilience แต่สิ่งสำคัญคืออนาคตต่อไป และ return ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ และสิ่งสำคัญคือจินตนาการใหม่ เพราะ social capital ทุนทางสังคมไทยแข็งแรง ภาคประชาสังคม/ชุมชนแบ่งเบาปัญหาได้ อาสาสมัครเป็น human capital สำคัญ การจัดการเชิงพื้นที่ ตอบโจทย์การแก้ไขเศรษฐกิจ รวมทั้งการป้องกันโรคภายใต้นโยบายอย่างเข้มข้นและใกล้ชิดกว่า และการแก้ไขปัญหาแบบ non directive ไม่ใช้ single โมเดลมันได้ผล

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า สรุปการนำเสนอว่าถ้ารัฐในอนาคตจะทำอะไรในอนาคตนั้น คิดว่า การปฏิรูปต้องเริ่มต้นจากการได้บทเรียนที่นำสู่การจิตนาการใหม่ เรื่องแรก การมองปัญหาสังคมที่พูดเรื่องช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำ และความหมายของแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่การทำให้ทุกคนเท่ากัน แต่เป็นการทำให้คนใกล้เคียงกันยิ่งขึ้น มีที่ยืน รัฐต้องมีจิตนาการในการผ่อนคลายการผูกขาดภายในประเทศ

“เราพูดเรื่องการแข่งขัน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศแต่ไม่เคยมีการพูดถึงการควบคุมการแข่งขันภายในประเทศ เพื่อทำให้คนตัวเล็กมีที่ยืน ดังนั้นปัจจัยการแข่งขันในประเทศที่รัฐบอกว่าเสรีนั้น รัฐจะเข้ามาจัดการอะไรที่ทำให้รถพุ่มพวง หรือแม่ค้าขายไข่ต้มยังอยู่ได้ คนจะหาบขายถั่วต้มได้ โดยไม่ต้องไปหาซื้อของที่อื่น” 

เรื่องที่สอง คือการดูแลสิ่งที่กำลังเปลี่ยนอันเนื่องมาจากโควิดและมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง คือ เรื่องดิจิทัล เรื่องการเรียนการศึกษาที่จะไม่มีแผลเป็น ถ้าเราไม่ทำอะไร คุณภาพการศึกษาต่อจากนี้ไปอีก 2 ปี มันจะเคลื่อนเป็นบันไดเลื่อนขึ้นและจะตกลงในทันที และถ้าเรากำหนดว่ามันจะเป็นแบบนี้ไปตลอด ระบบมันจะถูกเปลี่ยนไปทันที รัฐก็ต้องเปลี่ยน

“สิ่งเหล่านี้คือการจินตนาการใหม่ ถ้าจะเป็นแบบนี้และไม่มีการถอยกลับ หรือกลายเป็นวิถีหรือมาตรฐานใหม่ในการทำงาน”

การจัดการอนาคตในระยะยาว เราต้องยอมรับว่าเราฟื้นฟูเยียวยาในลักษณะของการปัญหาครัวเรือนหรือกับบุคคลแต่ไม่ได้เตรียมคนสำหรับวิถีการทำงานหรือวิถีการผลิต ถ้าเราไม่มีความชัดเจนเรื่องทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจว่าจะไปอย่างไร นักลงทุนต่างประเทศที่จะตัดสินใจว่าจะลงทุนที่ไหนดีเขาก็ลังเล ดังนั้นทิศทาง BCG เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มันพูดได้แต่รูปธรรม คือ อะไรและอย่างไร

“จะบอกว่าเรามัวแต่พะวงแต่การแก้ปัญหาโควิดและวัคซีนจนไม่มีเวลาคิดเรื่องพวกนี้ไม่ได้ ดังนั้นบรรดา thinktank ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องกลับมาคิดเรื่องนี้ให้มากขึ้น โครงการเงินกู้ที่ต้องการอิมแพ็คนั้น ต้องถามว่ามันมีผลกระทบอะไรบ้างที่เกิดขึ้นที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว นี่เป็นโจทย์ใหม่ที่รัฐต้องการจินตนาการ”

ขอสรุปว่ารัฐต้องจินตนาการใหม่ใน 3 เรื่อง หนึ่งบทเรียนอันเกิดจากวิธีการและการจัดการควบคุมโรค สอง บทเรียนอันเกิดจากโควิดฉายภาพให้เห็นปัญหาสังคม และสาม บทเรียนที่เกิดจากนโนยายใหม่ ทิศทางใหม่ของประเทศในการตอบโจทย์ว่าเราจะมีตำแหน่งแห่งที่อย่างไร

“ถ้าเราไม่ทำวันนี้ เราจะเสียโอกาสและสุดท้ายตัวผู้นำมีความสำคัญ ผู้นำที่ตัดสินใจเด็ดขาดภายใต้ข้อมูลและการรับฟังสำคัญมาก ภาวะความเป็นผู้นำที่ต้องการมีเอกภาพคือต้องการกล้าตัดสินใจ กล้ารับผิดชอบ ขณะเดียวกันการเปิดเผยทำให้คนไว้ใจ”

รัฐบาลพูดเองว่าต้องเป็นรัฐบาลเปิด open government ซึ่งมันต้องเริ่มต้นจากการเปิดเผยข้อมูล open data และเปิดเผยกระบวนการ open process ถ้าสิ่งเหล่านี้มันเปิด รัฐก็จะได้การสนับสนุนและการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่ถูกต้องและมีลักษณะสหวิทยาการ เช่น เราควรจัดการวัดซีน หรือจะเปิดเมืองแบบไหน เราต้องการการร่วมกันตัดสินใจจากหลายศาสตร์ และผู้นำที่แข็งแรงต้องสามารถจัดการป้องกันปัจจัยแทรกซ้อนได้ ต้องไม่ให้มีปัจจัยแทรกซ้อนที่ไม่จำเป็นซึ่งมาขัดขวางโอกาสในการพัฒนาประเทศนี้ นั่นคืออนาคตของรัฐไทย.

หมายเหตุ : งานเสวนาออนไลน์ “น้ำยารัฐไทยในยุคสมัยแห่งโรคระบาด และความท้าทายในอนาคต” คือชื่อที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี วันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยากรประกอบด้วย ผศ. ดร. ทวิดา กมลเวชช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ. วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ เชิญคลิกชม รายละเอียดทั้งหมด

อ้างอิง

From “wartime” to “peacetime”: Five stages for healthcare institutions in the battle against COVID-19 https://healthcare.mckinsey.com/wartime-peacetime-five-stages-healthcare-institutions-battle-against-covid-19/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ