สนทนาธรรมกับพระครูเกษตรสราภิรักษ์ “ปริศนาธรรมในพิธีศพ”

สนทนาธรรมกับพระครูเกษตรสราภิรักษ์ “ปริศนาธรรมในพิธีศพ”

“รู้ไหมทำไมคนตายต้องหันหัวไปทางทิศตะวันตก ?”

หนึ่งประโยคคำถามในการสนทนากับพระครูเกษตรสราภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดสระเกษ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด พระนักสื่อสาร นักข่าวพลเมืองในพื้นที่ภาคอีสานที่สื่อสารเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง สิ้นประโยคผมถึงกับหูผึ่งขึ้นมาทันที ด้วยเพราะเป็นคนชอบฟังเรื่องผีอยู่แล้ว แต่อีกใจก็กลัวมาก ๆ แม้กระทั่งตอนบวชเป็นพระ 20 วัน ก็ยังกลัวผี แต่ในใจลึก ๆ พอมีเรื่องอะไรที่นอกเหนือจินตนาการของเรามันกับจุดชนวนบางอย่างขึ้นมา ผมยิ้มและรีบต่อบทสนทนากับพระอาจารย์ทันที

“ไม่รู้ครับพระอาจารย์”

“มันคือปริศนาธรรม”

ผมนิ่งนึกทบทวนกับคำว่า “ปริศนาธรรม” และตื่นเต้นที่จะได้ฟังเทศนาเรื่องนี้จากพระอาจารย์ ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ผลกระทบโควิด-19 สั่นไหวต่อเรื่องปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจปากท้องของชาวไทยและผู้คนทั้งโลกอย่างเสมอหน้า แม้จะใช้เวลาผ่านมากว่าขวบปีแต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง “การเกิด แก่ เจ็บ ตาย” ที่เป็นไปตามวัฏสงสารก็ยังคงมีเกิดขึ้นในทุกวัน นั่นทำให้ผมสนใจว่า “พิธีศพ” ในวิถี New Normal นี้เป็นอย่างไร ปริศนาธรรมจากพระอาจารย์จะพาผมเข้าใจสิ่งนี้ในแง่มุมไหน หากการจากลาและพิธีกรรมของไทยยังคงอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเหมือนกับว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รอคอยให้คนมาไขกุญแจถามเท่านั้น และผมได้รับความเมตตากับบทสนทนาที่ใช้เวลานานนับชั่วโมง และขอนำมาแบ่งปันนับจากจากบรรทัดนี้

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อพิธีงานศพอย่างไรบ้าง ?

“บริบทของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันเนาะ บางแห่งตั้งศพที่วัด บางแห่งตั้งอยู่บ้าน แต่สังคมอีสานส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้าน ถ้าภาคกลางก็จะอยู่ที่วัด ความแตกต่างในเรื่องของจำนวนคน บางคนถ้าตั้งอยู่ที่บ้าน คนก็ไม่ได้ลดลงนะ เพราะงานศพเป็นงานเห็นอกเห็นใจ มีมาตรการที่ทางชุมชนช่วยกัน คือ การคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ลงชื่อ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และสวมหน้ากากอนามัย ส่วนที่ต่างกันคือการรับประทานอาหาร ก็จะเปลี่ยนมาเป็นข้าวกล่อง คือ ประเพณีบำเพ็ญกุศลที่ตั้งอยู่บ้าน หรือ ในวัดก็แจกข้าวกล่อง ของชำร่วยก็ดูดีขึ้นมาให้สัมพันธ์กับคนที่บริจาคทำบุญ โดยสรุปคือมีมาตรการที่รัดกุมเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจร่วมกัน

เท่าที่ได้ศึกษามา “งานศพ” ในทางพระพุทธศาสนานั้น เมื่อก่อนคนที่อยู่ใกล้แม่น้ำการจัดการศพจะสัมพันธ์กับแม่น้ำนะ จะเห็นว่าสังคมปัจจุบันในอินเดีย หรือ ชมพูทวีป ซึ่งมี 5 ประเทศ ก่อนหน้านี้เป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จะมีการจัดการสองแบบ อย่างแรกคือเผา อย่างสองคือลอยน้ำ ซึ่งเขาจะจัดการในวันเดียว

แต่หลังจากมีพุทธศาสนาพอมีงานศพ ส่วนที่จะเกี่ยวกับพระสงฆ์ คือ พระก็จะไปที่งานนะ ไปปลงกรรมฐาน ปลงธรรมสังเวท ไปมองอสุภะ ของไม่สวยไม่งาม 32 ประการ มันตกอยู่ในไตรลักษณ์ของไม่เที่ยงความไม่มีตัวตน และความเป็นทุกข์ 3 อย่าง “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เพื่อที่จะให้จิตใจพระสงฆ์ ละ เลิก ในเรื่องของกามคุณ สมมติว่าเราเป็นคนรักสวยรักงามเป็นคนมีระเบียบจัดอยู่ในจริตที่เรียกว่า “กามราคะ” เพราะฉะนั้นการกรรมฐานสิ่งที่ตรงข้ามกันคือการพิจารณาซากศพ สัตว์ก็ได้ คนก็ได้ สมัยก่อนนั้น พระเข้าไปเองไม่ต้องมานิมนต์ ตอนนั้นยังไม่มีพิธีกรรม ศาสนพิธีเกิดหลังศาสนา ตอนนี้วิวัฒนาการมันก็เปลี่ยนแปลงไปได้มีการเขียนศาสนพิธีจนเกิดเป็นสากลเพื่อให้ได้มีข้อปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”

ธรรมะกับการจัดการร่างของผู้วายชนม์

“สมัยก่อนมีโรงพยาบาลไม่เยอะ การเดินทางมันลำบากนะ ถ้าเกิดมีคนตายในบ้าน สิ่งที่จะเห็นถ้ามีคนตายคือ ญาติจะนำดอกไม้ ธูป เทียน มาใส่มือผู้ตายเพื่อที่จะให้ไปนมัสการพระธาตุเกษแก้วจุฬามณี ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระเกศาพระพุทธเจ้า ซึ่งปรากฎในเรื่องของพระเวสสันดรชาดกก็เป็นปริศนาอย่างหนึ่งที่คนมอง

เงินใส่ปากก็ถือเป็นใบเบิกทางนะ ถ้าเข้าสู่ปรโลกก็ต้องมีเงิน แต่ในปริศนาธรรมถ้าจะมองก็คือ เงินที่เราหามา ถึงแม้จะหาได้เยอะแค่ไหน ตายไปก็เอาไปไม่ได้ เป็นเรื่องที่คนโบราณสอนดี แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ถูกบดบังไปด้วยสิ่งสวยงามที่เคลือบไว้ และบดบังด้วยความไม่รู้ของคนในชุมชนนั้น ๆ ด้วยความไม่รู้เองหรือไม่อยากจะพูด ก็เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง หรือถ้าจะมองก็มองเป็นเรื่องของพิธีกรรมไปเลย

การหันหัวศพไปทางทิศตะวันตก ก็เปรียบเสมือนกับดวงอาทิตย์ที่อัสดงในทิศตะวันตก ชีวิตคนเราเกิดมาก็ต้องตาย เหมือนกับการหวีผมกลับไปกลับมา หรือใส่เสื้อผ้ากลับด้านให้คนตาย ก็คือสิ่งเหล่านี้เราเอาไปไม่ได้ เกิดมาก็ต้องดับ

การต้มน้ำ อาบน้ำศพ เป็นการชำระร่างกายให้ตัวเองสะอาด คือการต้มน้ำเดือด ๆ มาผสมกับน้ำเย็น แล้วมีมะกรูด ขมิ้น ถูทาให้ทั่ว บางพื้นที่ก็เอาใบส้มป่อย ใบมะกรูดถู แสดงออกถึงความเคารพ ให้ร่างกายสะอาดถือว่าเราได้จัดการร่างกายครั้งสุดท้ายให้ท่านด้วยดี แต่การอาบน้ำศพถ้าจะเทียบเคียงก็คือการรดน้ำศพ คือการเอามือยื่นออกมาจากผ้าคลุมแล้วให้คนรดน้ำที่มือ บางที่ก็มีขันมีอะไรมารองไว้ ซึ่งการทำแบบนี้มันก็มีปริศนาธรรมนะ สายน้ำที่รินลงมือมันก็ยังไม่เกาะ ยังไหลลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับชีวิตคนเรามันก็ไหลลงไปสู่ที่ต่ำก็คือความตาย

การมัดตราสังข์ สามเปราะ เอามือพนมขึ้นมา เอาสายสินจญ์มัดที่มือ แล้วโยงไปที่คอซึ่งหมายถึงลูก มัดไปที่กลางลำตัวหมายถึงภรรยาหรือสามี และมัดไปที่เท้าหมายถึงทรัพย์สมบัติ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผูกมนุษย์ให้เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏสงสารนี่ก็เป็นปริศนาธรรม”

บวชหน้าไฟเป็นส่วนหนึ่งของพิธีศพ?

“สมัยก่อนไม่ได้มีบวชหน้าไฟ มันเพิ่งมีในภายหลัง เพราะพิธีกรรมอย่างหนึ่งก่อนเผาศพหรือวางเพลิง วางเพลิงหมายถึง เผา ประชุมเพลิง หมายถึง วางดอกไม้จันทน์

การเผาคือการนิมนต์พระ 4 รูปมาสวดหน้าไฟ มีความเชื่อว่าในอดีตพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงค์เพื่อโปรดพุทธมารดา นางสิริมหามายา โปรด 3 เดือนก็แสดงธรรมเรื่องพระอภิธรรม เราก็เอาความเชื่อนั้นมาสวดหน้าไฟ เชื่อว่าถ้าสวดแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง แต่ถ้าเรามองในทางกลับกัน เมื่อไม่ได้ทำกุศลบุญไว้มากมาย สวดแค่ไหนก็อาจจะไม่ขึ้นสวรรค์ใช่ไหม? เช่นเดียวกันกับบวชหน้าไฟ ถ้าพูดภาษาสมัยใหม่มันคือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ถ้าไม่บวชก็จะมีคนถาม เกิดความเชื่อที่หยั่งรากมานาน เป็นค่านิยมที่ทำตามกันมา เพราะฉะนั้นการบวชหน้าไฟเป็นความเชื่อ อย่างน้อยการบวช 3-4 ชั่วโมงก็ได้บุญกุศล พระก็ไม่มีสิทธิ์ห้าม

รำหน้าไฟก็ไม่มีเหมือนกัน

มันเกิดมาทีหลังแล้วก็ทำตามกันมา เป็นเรื่องที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง ที่ไม่ได้เกี่ยวกับงานศพ มันก็มีมุมมองทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เชิงบวกคือมีโรงศพสวย ๆ มีประดับประดา มีการตกแต่งดอกไม้ สบายตาคลายความโศกเศร้า ถ้ามองในเชิงลบ สิ่งเหล่านี้มันบดบงไม่ให้เรามองเห็นสัจธรรม ไม่เห็นความจริง งานศพคือการไปปลงกรรมฐาน ปลงธรรมสังเวท ทำให้ได้สติปัญญา เป็นการเจริญมรณานุสติ แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาทีหลัง เนื่องจากว่าเจ้าภาพมีกำลัง ต้องการทดแทนพระคุณท่าน ด้วยการจัดงานให้ดูดี ยิ่งใหญ่ ซึ่งถามว่าผิดไหม ก็แล้วแต่คนมอง คนเรามีหลายระดับ งานแบบนี้ขึ้นอยู่กับกำลังของเจ้าภาพ และความต้องการของเจ้าภาพ แต่พระอาจารย์คิดว่าในการจัดงานทำอย่างไรมันจะประหยัด ทำอย่างไรจะมีการประยุกต์ใช้ ทำอย่างไรจะเป็นประโยชน์ ประยุกต์ ประหยัด ประโยชน์

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเรื่องเล่นการพนันในงานศพ เมื่อก่อนก็มีนะ แต่จะไม่ใช่การพนัน จะเป็นการละเล่นมากกว่า เพื่อผ่อนคลายความเศร้าโศก เช่น เสือกินหมู, บักหาบ สร้างความสนุกสานในกลุ่มของคนที่เฝ้าศพ แต่หลัง ๆ มาเริ่มเป็นเรื่องของการพนัน มีเดินสายเพื่อการพนันโดยเฉพาะ เล่นจนถึงเช้า สิ่งเหล่านี้ถ้าเจ้าภาพไม่ชอบ บอกไม่ให้เล่น คนก็ไม่เล่นนะ เขาก็เข้าใจ

อีกเรื่องคือการกินเหล้าในงานศพ งานศพเป็นงานโศกเศร้า ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปทับถมกัน เจ้าภาพเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานอยู่แล้ว ก็ต้องมาดูแลหาข้าวหาน้ำให้คนที่กินเหล้า บางครั้งโวยวายทะเลาะกันก็มี เครื่องดื่มแบบนี้จริง ๆ แล้ว มันไม่ควรมี เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ถ้าเรากล้าหาญประยุกต์ไม่ให้มันมี ก็จะเป็นสิ่งที่ดี แต่พอมีโควิดมา หลาย ๆ อย่างก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นนะ”

งานศพในยุค New Normal ควรไปในทิศทางไหน ?

“งานศพไม่ควรจัดงานนาน ปกติในศาสนพิธีใช้เวลาไม่นาน แต่ยุคปัจจุบันที่นานเพราะไปเสียเวลากับการบังสุกุล ทำไมเราต้องใช้เวลากับการบังสุกุลนาน ทอดไปพระก็ไม่ได้ใช้ มันกลายเป็นเรื่องของการอยากเอ่ยชื่อคน 80-100 ผืน พระแสดงธรรมใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที แต่ว่าใช้เวลาทอดผ้าบังสุกุลและรำหน้าไฟ ควรทำให้กระชับมากขึ้น

อย่าให้งานคนตายขายคนเป็น ทำแต่พอดีทำเท่ามีกำลัง ไม่ต้องทำให้ยิ่งใหญ่ แต่คนที่อยู่ต่อหลังจากนี้ก็ตามใช้หนี้งานศพต่อ อาตมาคิดว่าเราควรปฏิรูปการจัดงานศพได้แล้ว ต้องมีคนกล้าพูด จัดให้กระชับ ให้คนพูดได้ว่ามางานแบบนี้แล้วจัดดีจัง ถ้าเรารู้ว่าพระรูปนี้แสดงธรรมนาน ก็คุยกันก่อนขอ 20 นาทีก็พอ หรือเรื่องของงานศพปลอดเหล้า งานศพปลอดการพนัน”

กว่า 1 ชั่วโมงที่ได้สนทนาธรรมกับพระอาจารย์ ทำให้ได้ทบทวนความนึกคิด เมื่อครั้งได้บวชและศึกษาธรรมะในช่วงเวลาสั้น ๆ การทำความเข้าใจเรื่องราวธรรมดารอบตัวด้วย “สติ” และจากตอนแรกที่ผมเองสนใจในเรื่องสิ่งลี้ลับจากประโยคคำถามของพระอาจารย์ ช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยงจากการจัดการแม้สิ่งเล็กน้อยในงานพิธีศพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการอยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ โดยเฉพาะในยามที่โควิด-19 ยังคงรุมเร้าและเป็นเจ้าปัญหาของทุกคน

อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ

ขอให้พวกเราสุขภาพร่างกายแข็งแรงกันถ้วนหน้าครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ