หลักคิดที่ว่าเรื่องการดูแลป้องกันไฟป่าหมอกควันเป็นเรื่องของทุกคน ทำให้บ้านหนองลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูนเป็นพื้นที่ที่มีรูปแบบการจัดการที่น่าสนใจอีกรูปแบบหนึ่ง คือเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อที่มีต่อป่าและพระพุทธศาสนา กับการสร้างระบบกลไกการจัดการในรูปแบบใหม่คือกลไกคณะกรรมการป่าชุมชน และกลไกกรรมการหมู่บ้านที่นำโดยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถ้ามีการสานต่ออย่างเป็นระบบก็จะเป็นอีกโมเดลหนึ่งที่สำคัญ
ชุมชนแห่งนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ ได้แก่คนพื้นเมือง คนยอง ไตและกะเหรี่ยง แต่กลุ่มหลักคือกะเหรี่ยงโปว์ซึ่งแม้ระบบการผลิตและเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปจากการทำไร่หมุนเวียนสู่พืชเศรษฐกิจอื่นๆเนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องการยอมรับสิทธิของชุมชน แต่ในด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้นั้นที่นี่ยังคงมีความเชื่อและแนวทางการจัดการที่เข้มแข็งพอสมควร แม้พื้นที่จะตกอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติขุนแม่ลี้และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ซึ่งหน้าที่การดูแลไฟป่าควรเป็นของหน่วยงานป่าไม้เป็นหลัก แต่ชาวบ้านสองร้อยกว่าหลังคาเรือนยังคงทำหน้าที่ดูแลจัดการป้องกันและดับไฟป่าภายใต้ขอบเขตที่กว้างถึง 10,036 ไร่
จากพื้นที่หมื่นกว่าไร่ที่ดูแลป้องกันไฟ ชาวบ้านจำแนกออกมาจัดการในรูปแบบป่าชุมชนประมาณ 200 กว่าไร่ โดยแบ่งออกเป็นป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ซึ่งได้แก่บริเวณขุนแม่ลี้ ดอยผาเมือง ดอยเด่น ขุนห้วยบ้านห่าง บ้านตองแดงบริเวณเหล่านี้เป็นเขตต้นน้ำ เป็นบริเวณที่ทำประปาภูเขา ห้ามเก็บหาผลผลิตจากป่า แต่สามารถปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้ามาอยู่ในบริเวณนี้ได้ ประเภทที่สองคือป่าชุมชนเพื่อการใช้สอย สามารถเก็บหาของป่า และตัดไม้เพื่อจักรสานและใช้สอยในครัวเรือนและชุมชนโดยต้องผ่านการแจ้งขออนุญาตจากคณะกรรมการป่าชุมชนก่อนจึงจะสามารถตัดได้ ประเภทสุดท้ายได้แก่ป่าพิธีกรรม ได้แก่ป่าช้า และป่าที่ทำพิธีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน ป่าชุมชนของที่นี่บริหารจัดการโดยคณะกรรมการป่าชุมชนจำนวน 36 คน ซึ่งได้นำเอาความเชื่อ วิถีปฏิบัติของชุมชนที่มีต่อป่าไม้และทรัพยากรมาออกแบบกิจกรรมและระเบียบการจัดการป่าร่วมกัน ซึ่งคลอบคลุมทั้งเรื่องการอนุรักษ์ป้องกัน การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์
การจัดการไฟป่าของที่นี่มีการสร้างแนวทางร่วมกันระดับตำบล โดยท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการเอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการปรึกษาหารือ และสนับสนุนงบประมาณเพื่อการจัดทำแนวกันไฟ โดยสนับสนับสนุนงบประมาณหมู่บ้านละ 3,000 บาท นอกจากการสนับสนุนจากท้องถิ่นแล้วในปีนี้ชุมชนยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางเขตห้ามล่าฯซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการในหมู่บ้านป่าแป๋และแม่ป๊อกใน งบประมาณในส่วนที่ได้รับนี้คณะกรรมการระดับชุมชนนำมาจัดสรรจัดการเป็นค่าอาหารทั้งในช่วงของการทำแนวกันไฟและการดับไฟป่า
แนวทางการจัดการของชุมชนเน้นเรื่องการป้องกันดับไฟและการอนุรักษ์ฟื้นฟูเป็นหลัก โดยมีการจัดทำแนวกันไฟในบริเวณที่เป็นเขตป่าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ และ จัดการเชื้อเพลิงด้วยการชิงเผาบริเวณรอบชุมชนความกว้างประมาณ 500 เมตร ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปีเพื่อป้องกันไฟป่าไหม้ลามเข้าหมู่บ้าน
สิ่งที่โดดเด่นสำหรับที่นี่คือความร่วมไม้ร่วมมือของสมาชิกในชุมชนที่พร้อมเข้าร่วมกับทุกกิจกรรม ในรูปแบบที่เรียกว่า “จิตอาสา” ทุกคนมีหน้าที่สอดส่องดูแลและดับไฟ เนื่องจากพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นแอ่งมองเห็นป่าโดยรอบทุกทิศทาง ทำให้ที่นี่ไม่จำเป็นต้องมีเวรยาม หากพบเห็นควันไฟเกิดขึ้นในช่วงมาตรการห้ามเผาก็จะมีการแจ้งไปยังผู้นำที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้านหรือกรรมการป่าชุชน เพื่อประกาศให้คนในหมู่บ้านรับรู้และเข้าไปช่วยกันควบคุมจัดการให้ทันก่อนที่จะไหม้ลามไปในพื้นที่ที่ป้องกันไว้ ทั้งเขตป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งประปาภูเขา และเขตบ้านเรือนของสมาชิกชุมชน
ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปีนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมามีประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องคือ “ประเพณีแห่ช้างเผือก” เพื่อขอฝนและเลี้ยงผีขุนน้ำ โดยก่อนหน้านั้นประเพณีนี้ได้หายไปไม่มีการสืบทอดนับสิบปี แต่ถูกฟื้นฟูกลับมาเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2548 เพื่อเป็นเครื่องมือในการสานความสัมพันธ์ระหว่างคนปลายน้ำและคนต้นน้ำ โดยให้กระบวนการทางวัฒนธรรมได้ทำหน้าที่ปลูกจิตสำนึกคนในลุ่มน้ำในการดูแลจัดการทรัพยากรให้เกิดความสมบูรณ์หล่อเลี้ยงผู้คนไปจนถึงรุ่นลูกหลาน โดยประเพณีดังกล่าวมีการจัด 3 ระดับคือ ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล และระดับอำเภอ ขบวนแห่ช้างเผือกเริ่มตั้งขบวนกันที่ตำบลบ้านปวงซึ่งเป็นตำบลท้ายน้ำ และมาจบที่บ้านหนองหลักซึ่งเป็นเขตขุนน้ำลี้ ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีความยาวตลอดลำน้ำประมาณ 180 กิโลเมตร ไหลผ่าน 3 อำเภอ คือ อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง และไหลลงแม่น้ำปิงที่อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน
ในพิธีมีกิจกรรมหลักคือการสืบชะตาแม่น้ำ การเลี้ยงผีขุนน้ำ ด้วยพิธีทั้งทางสงฆ์และทางความเชื่อดั้งเดิมของชุมชน มีการปลูกต้นไม้เพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนป่า ทั้งไม้ผลและไม้มีค่า เช่น มะขามป้อม ไม้มะค่าโมง เสี้ยวป่า มะกอก มะขาม ฯลฯ ทั้งในพื้นที่ส่วนรวมของชุมชน เช่น พื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่สวน ที่นาของคนในชุมชน
การจัดพิธีนี้เป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งในการส่งต่ออุดมการณ์คนกับป่าให้กับคนในชุมชน ลูกหลาน รวมทั้งเป็นการสานเครือข่ายความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการดูแลรักษาฟื้นฟูป่าและน้ำ ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ชาวกะเหรี่ยงบ้านหนองหลักวันนี้ยังคงสืบทอดความเชื่อและพิธีกรรมเหล่านี้เพื่อรักษาและส่งต่อจิตวิญญาณของท้องถิ่นให้มีพลังและมีความเข้มแข็งซึ่งจะเป็นจุดคานงัดสำคัญเพื่อรับมือกับการจัดการไฟป่าและทรัพยากรในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ในอีกด้านหนึ่งนั้นการมีโอกาสเข้าร่วมกับขบวนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (เครือข่ายทสม.) ในปีพ.ศ.2559 โดยการชักชวนของสำนักงานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จังหวัดลำพูน ทำให้เป็นอีกโอกาสหนึ่งในการพัฒนาเครือข่ายระดับอำเภอและจังหวัด ทำให้แกนนำชุมชนได้ขับเคลื่อนในอีกรูปแบบหนึ่งคือการทำงานร่วมกับหน่วยงาน และเครือข่ายต่างพื้นที่ ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่จัดขึ้นหลายระดับ ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และ ระดับภาค ถือเป็นพลังบวกอีกประการหนึ่งที่จะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคตเพื่อให้การจัดการไฟป่าและทรัพยากรของชุมชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายสุลักษณ์ ปุ๊ดแค
เครือข่ายลุ่มน้ำลี้ตอนบน บ้านหนองหลัก ต.ตะเคียนปม อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน