เสียงจากขอนแก่น “ไร้บ้าน…ไม่ไร้เพื่อน” สู้โควิด-19 ไปด้วยกัน

เสียงจากขอนแก่น “ไร้บ้าน…ไม่ไร้เพื่อน” สู้โควิด-19 ไปด้วยกัน

ท่ามกลางความเป็นเมืองศิวิไลซ์ จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างข้างหนาแน่น ทั้ง ประชากรที่อยู่ในทะเบียนบ้านและประชากรแฝง ในเขตเทศบาลนครขอนแก่นมีชุมชนเมืองถึง 95 ชุมชน และในจำนวนนี้หลายชุมชนมีกลุ่มคนเปราะบางหลากหลายลักษณะ รวมถึงกลุ่มคนไร้บ้านอีกหลายชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจทำพิษเช่นนี้ นอกจากการดิ้นรนเอาตัวรอดรายวันของกลุ่มคนเปราะบาง เครือข่ายกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน และอาสาสมัครในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมประคับประคองให้ทุกชีวิตอยู่รอดไปด้วยกันแม้ในสถานการณ์อย่างยากลำบาก

ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน (Friends of the Homeless) สื่อสารมากับ C-Site กลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน อาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนไร้บ้านเพื่อนำข้อมูลไปออกแบบความช่วยเหลือดูแลประคับประคองกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่

หมุด หมุดสำรวจคนไร้บ้านขอนเเก่นกับโควิด ดันโมเดล “Food Stamp” เข้าถึงอาหารเร่งด่วน หนุนเศรษฐกิจรายย่อย

พรพิรุณ แสงแสน นิสิตพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในอาสาสมัครสำรวจคนไร้บ้านเล่าว่า “เรามาสำรวจคนไร้บ้านว่าเขามีผลกระทบอะไรจากโควิด-19 บ้าง เราไปสำรวจคนไร้บ้านตามจุดต่าง ๆ ที่เขาอยู่ พวกสวนสาธารณะหรือว่าเป็นศาลหลักเมืองหรือว่าเป็น บขส. เก่า และเคยทำงานร่วมกับพี่ ๆ กลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน เห็นพี่ ๆ มีลงพื้นที่อีกเลยอยากจะมาลงมาช่วยเขาเพราะว่าอยากมาดูให้เห็นปัญหาเพื่อกระตุ้นเราในการอยากจะช่วยพัฒนาประเทศ จริง ๆ โควิด-19 มันก็โดนไปทุกที่ พี่ ๆ คนไร้บ้านค่อนข้างจะได้รับผลกระทบมากเลยเพราะว่าส่วนใหญ่เขาจะมีรายได้รายวันแบบนี้ พอโควิด-19 ก็ทำให้เขาตกงาน หลายคน รายได้ลดลงหลายคน เหมือนมีคนไร้บ้านใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ด้วยก็มี”

น้ำทิพย์ แร่วงค์คุต เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในอาสาสมัครสำรวจคนไร้บ้าน เล่าถึงการทำงานในพื้นที่ “เข้าไปหาพี่ ๆ คนไร้บ้าน แจกข้าว แจกแมส น้ำเปล่า ยากันยุง สิ่งของที่พี่ ๆ จำเป็นต้องใช้ค่ะ ก่อนหน้านี้เคยลงพื้นที่เดินกาแฟกับพี่ ๆ เพื่อสำรวจคนไร้บ้าน แล้วเจอกรณีที่พี่เขาป่วยไม่สบาย แต่พี่เขาไม่รู้จะพึ่งใคร เราได้พาพี่เขาเข้าถึงการรักษาเลยอยากมาลงพื้นที่อีก ส่วนตัวคิดว่าเราแย่แล้วเราเจอโควิด-19 แต่พอมาเจอพี่ ๆ เขาไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ ไม่รู้จะไปกินที่ไหนก็พอได้ข้าวจากเรา ซึ่งเราก็ให้ได้เพียงเล็กน้อยจริง ๆ แล้วพี่ไม่มีที่พึ่งเราคิดว่ามีโอกาสได้ช่วยเหลือก็เป็นเรื่องที่ดีก็อยากช่วยเขา”

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2561 จ.ขอนแก่น ได้สำรวจคนไร้บ้านร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยและพบว่ามีจำนวน 136 คน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร และเมื่อปี 2563 ช่วงที่โควิดระบาดในช่วงแรก ๆ มีกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ และคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ มากถึง 30 คน ซึ่งบางส่วนได้เข้ารับการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตใน “บ้านโฮมแสนสุข” ศูนย์ตั้งหลักชีวิตคนไร้บ้าน

แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีข้อกำหนดและมาตรการเพื่อป้องกันโรค ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่สาธารณะ ทำให้อาสาสมัครต้องออกสำรวจความต้องการและจำนวนคนไร้บ้านอีกครั้ง ในเขตเทศบาลนครขอนเเก่นเพื่อให้ได้ข้อมูลและจำนวนที่เป็นปัจจุบัน ใน 6 พื้นที่ เช่น  บึงเเก่นนคร, วัดหนองเเวง, สถานีขนส่งแห่งที่ 1, ใต้สะพานรถไฟรางคู่, ศาลหลักเมือง และ ถนนกลางเมือง โดยพบว่าตอนนี้หลายคนมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอาหาร  จึงมีการออกแบบ “คูปองอาหาร” หรือ Food Stamp เพื่อให้กลุ่มคนไร้บ้านสามารถนำไปซื้ออาหารจากร้านค้าที่ร่วมโครงการซึ่งจะกระจายตามจุดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น

ณัฐวุฒิ กรมภักดี กล่าวถึงสถานการณ์คนไร้บ้านจากข้อมูลการลงสำรวจสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3

“สถานการณ์เบื้องต้น หลังจากมีโควิด-19 รอบสาม ที่ขอนแก่น ถือว่าอาจจะต่างจากรอบแรก รอบแรกเมื่อปีที่แล้วของสถานการณ์โควิด-19 เราพบว่ามันมีคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มเร็วขึ้นมาก ทั้งมาจากจังหวัดกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง แต่พอเป็นโควิด-19 รอบสามนี้ เราเห็นจำนวนของคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่หลุดมาเป็นคนไร้บ้านในช่วงโควิด-19 ไม่ได้เยอะเท่ารอบแรก อาจจะด้วยตัวมาตรการที่มันยังไม่ได้ถึงขั้นประกาศเคอร์ฟิวหรือว่าปิดเมือง ปิดกิจการอะไรมากมาย แล้วมันมีมาตรการที่ไม่เข้มงวดมาก

แต่ว่าสิ่งที่เราพบสถานการณ์ตอนนี้ก็ คือ คนไร้บ้านในขอนแก่น ที่เขาทำงานรับจ้างรายวัน มีรายได้รายวัน เขาก็ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อาจยังไม่ถึงขึ้นติดโควิด-19 แต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ บางคนเขาถูกลดการทำงานลงไม่ได้รับการจ้างงาน มีการจ้างงานน้อยลง หรือบางคนไม่ได้ทำงานเลย หรือรายได้ลดลงอย่างนี้ครับ ทีนี้มันจะสัมพันธ์กันพอเขามีรายได้ลดลง ขาดงาน ขาดรายได้ เขาก็ไม่มีเงินที่จะไปซื้ออาหาร ทำให้มีปัญหาเรื่องของการเข้าถึงเรื่องอาหาร เราพบชัดเจนจากการลงพื้นที่สำรวจ ในช่วงนี้เราพบว่าบางคนแทบไม่มีงาน งานน้อยลงมากแล้วก็ไม่ได้กินอาหารที่เพียงพอครับเพราะไม่มีเงิน อุปกรณ์ป้องกันก็ยังถือว่าขาดแคลนเพราะว่าเขาก็จะใช้หน้ากากอนามัยซ้ำ ๆ

แล้วก็โควิด-19 ระลอกนี้ เราพบว่าพวกโรงทาน คนมาแจกอุปกรณ์ต่าง ๆ น้อยลงเยอะมาก ไม่เหมือนกับช่วงที่ระบาดในรอบแรก ทำให้พอเราลงไปพื้นที่เรามีอะไรเราก็พยายามที่จะส่งต่อให้เขา ให้เขาได้เปลี่ยนหน้ากากอนามัยบ้าง หรือว่าแนะนำการดูแลตัวเองแนะนำสถานที่ ที่เขาสามารถที่จะไปอยู่ได้ปลอดภัยอย่างนี้ครับ

ณัฐวุฒิ กรมภักดี กล่าวต่อถึงการเตรียมแผนช่วยเหลือพี่น้องคนไร้บ้านในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 “คือเราผ่านประสบการณ์ของการรับมือระลอกหนึ่ง ระลอกสองเราก็เลยค่อนข้างมีจังหวะของการที่จะวางจังหวะยาว ๆ รู้ว่าจะรับมืออย่างไร หรือแม้แต่ที่บ้านโฮมแสนสุข กรณีของที่พักบ้านโฮมแสนสุขที่พักชั่วคราวของคนไร้บ้านที่ขอนแก่น เขาก็มีการปลูกผัก ทำอาหารตั้งแต่ระลอกแรก ทำให้ระลอกที่สามนี้ การระบาดเขาไม่จำเป็นต้องไปซื้ออาหาร หรือซื้อผักข้างนอกเลย เขาสามารถใช้ผักที่ปลูกไว้รอบแรกกินได้

แต่ว่าในระยะตอนนี้ที่เราจะทำเรามีแผนยาว ๆ อยู่ประมาณสัก 1 ปี ที่จะรับมือกับโควิด-19 ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะมาอีกตอนไหน สิ่งหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนเราทำอย่างไรที่จะทำให้เขาสามารถเข้าถึงการมีอาหารกินที่เพียงพอ ตอนนี้เราพยายามพัฒนารูปแบบการให้เขาเข้าถึงอาหารในรูปแบบคูปองหรือ Food Stamp คือว่าอาจจะดูพิกัดที่คนไร้บ้านเราอยู่ ที่ศูนย์พักจะกินตรงไหน ที่ศาลหลักเมืองจะกินตรงไหน แล้วเราก็จะเข้าไปดูร้านค้า ที่เป็นร้านค้าชุมชนในท้องถิ่นในละแวกนั้นแล้วก็เข้าไปสนับสนุนเพื่อให้คนไร้บ้านใช้คูปองกินอาหารในแต่ละที่ในแต่ละจุดแต่ละโซนครับ

หนึ่ง คือ คนไร้บ้านสามารถมีอาหารกินในช่วงวิกฤตในระยะสามเดือน สอง คือ ว่ามันน่าจะสร้างเศรษฐกิจชุมชนคือว่าไปอุดหนุนร้านค้า รายย่อยของชุมชนที่อยู่ในเขตเมืองได้ด้วย สิ่งนี้คือแผนระยะสั้นที่เราจะทำ  ส่วนแผนระยะกลางกับระยะยาวเรามองไว้สองเรื่องใหญ่ ๆ คือว่าเรื่องแรกทำอย่างไรคนจนเมืองจะร่วมกันสร้างคลังอาหารของตัวเองได้ หรือผลิตสะสมอาหารของตัวเองได้ เพื่อรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดอีกระลอกในอนาคต หรือแม้แต่วิกฤตภัยพิบัติอื่น ๆ ที่มันจะตามมาจากการส่งผลให้ขาดแคลนอาหาร

ตอนนี้เรามีแนวทางที่คุยกันว่าศูนย์ที่พักคนไร้บ้านชั่วคราวมีเนื้อที่อยู่สามไร่ เราอาจจะชวนพี่น้องคนจนเมืองหรือคนที่เขาต้องการผลิตอาหารมาใช้พื้นที่ตรงนี้ในการผลิตหรือสะสมอาหารไว้ในยามวิกฤตร่วมกัน ในอนาคตมันอาจจะรับมือได้ ไม่ต้องวิ่งไปโรงทาน ไม่ต้องวิ่งไปขอข้าวขอน้ำหรือไม่ต้องไปวิ่งขอบริจาคอะไรต่าง ๆ ให้เขาได้อยู่ได้ด้วยตนเอง เราก็คิดว่าเราจะพัฒนาพื้นที่ที่พักคนไร้บ้านชั่วคราวเป็นพื้นที่สะสมมอาหารของคนจนในเมือง แล้วก็อาจจะเชื่อมโยงการแบ่งปันทรัพยากรจากภาคชนบทที่เขามีกำลังหลักในการผลิตอาหารเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบทให้เขามีการระดมทรัพยากรร่วมเพื่อดูแลกัน

ส่วนในเรื่องของการจ้างงานการทำให้เขามีรายได้ ตอนนี้เราคิดว่าทำอย่างไรในช่วงจังหวะของเศรษฐกิจที่มันซบเซาหรือขาดงาน ขาดรายได้ ทำอย่างไรให้กลุ่มคนจน คนเปราะบางหรือแรงงานรับจ้างรายวันที่เขาเป็นกลุ่มระดับล่างในสังคม เขาได้เข้าถึงการจ้างงานเร็วที่สุด เราก็เลยคิดว่าเราอยากทดลองในโมเดลเรื่องของการระดมทุนเป็นกองทุนการจ้างงานระยะสั้นสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ตกงานฉับพลันหรือว่าขาดรายได้ มาดูแลครอบครัว เราอาจจะทำเรื่องของการระดมทุนเพื่อจ้างงานให้เขาได้เข้าถึงการมีรายได้ระยะสั้น เนื้องานอาจจะเป็นที่เราระดมทุนจากคนในสังคมมาเป็นกองทุนแล้วก็จ้างให้เขาไปทำงานรับใช้สังคมเป็นอาสาสมัคร ไปทำความสะอาดสวนสาธารณะ ไปทำความสะอาดพื้นที่ต่าง ๆ ของสาธารณะหรือไปบริการสังคมต่าง ๆ ก็ตามแล้วเราก็จ่ายเขาเป็นค่าแรงขั้นต่ำ

คิดว่ารูปแบบนี้ในช่วงภาวะวิกฤตในช่วงระยะเร่งด่วน มันอาจจะไปสนับสนุนรายได้เขาได้ ถ้าเขามีรายได้เขาก็จะช่วยเหลือตัวเองในช่วงระยะแรกได้ ส่วนระยะยาวก็ต้องเข้ามาเสริมว่าแล้วงานที่มั่นคงของเขาจะมาต่อยอดต่ออย่างไร

ตอนนี้เราก็มีตัวสิ่งที่เรียกว่าเป็นแพลตฟอร์มที่เราทำไว้ชื่อว่า  OKAS KHONKAEN 2020  เป็นแพลตฟอร์มที่พยายามจะสร้างการจ้างงานและศักยภาพการเข้าถึงการมีงานทำระยะยาว ตอนนี้มีอยู่สามฟังก์ชัน สิ่งที่หนึ่งคือการที่ให้เอกชน คนทั่วไป คนที่เขามีงานรับจ้างทั่วไปมาจ้างผ่าน OKAS ไปทำงานต่าง ๆ ตอนนี้ก็มีภาคเอกชนที่เขาเหมาไปทำความสะอาด อพาร์ทเม้นท์ 150 กว่าห้อง มีจ้างไปรื้อไปตัดหญ้า ก็มีเข้ามาเรื่อย ๆ ฟังก์ชันที่สองคือเป็นเรื่องของการที่ทำอย่างไรคนที่เขามีทักษะฝีมือ การผลิตสินค้าเองได้ เช่น ผลิตหมวก ผลิตกระเป๋าต่าง ๆ ที่เป็นสินค้าหรือแม้แต่การผลิตอาหารเองได้ เขาจะสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองก็สร้างรายได้

โดยเราไปเสริมในเรื่องของศักยภาพหรือในเรื่องของการตั้งต้นของอาชีพ ฟังก์ชันที่สามก็จะไปเชื่อมต่อการทำให้เกิดกองทุนการสร้างงานระยะสั้นหรือถ้ามันระดมทุนได้เยอะ ๆ ก็อาจจะเป็นการจ้างงานในระยะยาวที่ต่อเนื่องได้ ตอนนี้เราพยายามที่ใช้แพลตฟอร์มของ OKAS ในการที่จะทำให้เขาเข้าถึงการจ้างงานแบบยั่งยืนและระยะยาวเพื่อเพื่อรับมือกับวิกฤตที่มันอาจจะมาอีกหลายรอบมาก”

เพราะไม่สามารถวางใจต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจจะยืดยาวไม่จบสิ้นโดยง่าย แต่การรับรู้ รับฟัง ไถ่ถามความทุกข์ร้อนอย่างเข้าอกเข้าใจกัน พร้อมส่งมอบความช่วยเหลือและกำลังใจผ่านข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นจะเป็นส่วนหนึ่งที่พาให้ทุกคนก้าวผ่านสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน  “ไร้บ้าน…ไม่ไร้เพื่อน”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ