วันนี้ 13 พ.ค. 2564 เครือข่ายคนไร้บ้านทั่วประเทศไทย บ้านพูนสุข จ. ปทุมธานี บ้านเตื่อมฝัน จ. เชียงใหม่ บ้านโฮมแสนสุข ขอนแก่น/ กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านจังหวัดขอนแก่น / บ้านทอฝัน กลุ่มคนไร้บ้านระยอง/ กลุ่มคนไร้บ้านกาญจนบุรี/ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย/ สมาคมคนไร้บ้าน /ศูนย์พักคนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู/สมาคมร่วมสร้างชุมชนศรัทธา กัมปงตักวา จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ เรียกร้องต่อรัฐและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายเดชา จึงอุดมชัย เครือข่ายคนไร้บ้านเชียงใหม่ เป็นตัวแทนเครือข่ายคนไร้บ้านจากศูนย์คนไร้บ้านทั่วประเทศ แถลงข่าวโดย ระบุว่า เครือข่ายคนไร้บ้านจำนวน 10 องค์กร มีปฏิบัติการลงพื้นที่ เพื่อสำรวจผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ระลอก 3 ที่มีต่อพี่น้องคนไร้บ้าน ในจุดสำคัญๆ จำนวน 165 คน ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ปทุมธานี ขอนแก่น กาญจนบุรี ระยอง และยะลา พบว่ามีผลกระทบสำคัญ 4 ประการ
ประการที่ 1 ผลกระทบต่อเรื่องอาชีพ และรายได้ รุนแรงกว่าโควิดใน 2 ระลอกผ่านมา เช่น อาชีพเก็บของเก่า ไม่สามารถนำไปขายได้ เนื่องจากร้านรับซื้อของเก่าปิดกิจการหลายแห่ง แม้กระทั่งอาชีพค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่สามารถค้าขายได้ ทำให้ต้องตกงาน และขาดรายได้ ไม่สามารถเข้าถึงอาหาร เครื่องใช้ สิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันในยามวิกฤตได้
ประการที่ 2 ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันโควิด – 19 จากการสำรวจพบว่า คนไร้บ้านต้องใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้ซ้ำ 2-3 วัน จึงจะมีผืนใหม่เปลี่ยน ซึ่งได้มาจากการนำไปแจกของเอกชน องค์กรและเครือข่ายที่ทำงานกับคนไร้บ้าน คิดเป็นร้อยล่ะ 74
ประการที่ 3 คนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชน จากสาเหตุต่าง ๆ มีปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทางสาธารณสุข เมื่อยามเจ็บป่วย และอาจจะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด -19
ประการที่ 4 ยังไม่มีนโยบาย หรือมาตรการที่ชัดเจนใด ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ ที่จะให้คนไร้บ้านเข้าถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด -19
ตัวแทนเครือข่ายคนไร้บ้าน ระบุอีกว่า ปัญหาดังกล่าว สะท้อนถึงการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่ยังเข้าไม่ถึงกลุ่มเปราะบาง และยังไม่ทันกับสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น ทั้งการแก้ปัญหาความเดือดร้อนฉพาะหน้าในเรื่องหน้ากากอนามัย และแอลกอฮอร์ ที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันที่สำคัญ เนื่องจากคนไร้บ้านใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ไม่สามารถอาบน้ำ และล้างมือได้บ่อย และจะเข้าถึงอาหารอย่างไร เมื่อต้องตกงานขาดรายได้ และที่สำคัญไปกว่านั้นมาตรการการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย และการได้รับวัคซีน ยังไม่มีนโยบาย หรือมาตรการที่ชัดเจนใด ๆ จากหน่วยงาน และรัฐบาล ว่าจะดำเนินการอย่างไร ทำให้คนไร้บ้านเป็นกังวล ว่าจะได้รับการดูแล หรือจะถูกจัดลำดับอยู่ในความช่วยเหลือของรัฐหรือไม่
ถึงแม้ว่าแกนนำคนไร้บ้าน และองค์กรที่ทำงานกับคนไร้บ้าน จะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือ คนไร้บ้านที่ประสบภาวะวิกฤตต่าง ๆ แต่ยังต้องการมาตรการทางนโยบายจากหน่วยงาน และรัฐบาล ที่จะสนับสนุนให้คนไร้บ้านผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ ดังนั้นเครือข่ายคนไร้บ้าน จึงมีข้อเสนอให้ดำเนินการดังนี้
1. ข้อแรก ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดประสานงานในพื้นที่สาธารณะในแต่ละจังหวัด ที่ใกล้กับพื้นที่การใช้ชีวิตของคนไร้บ้าน กระจายตามจุดต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยง และความแออัดจากการรวมกัน โดยให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ และประสานการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจุดประสานงานจะมีหน้าที่ ดังนี้
- ให้ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รวมไปถึงข้อมูลการป้องกันตัวเอง และการเข้าถึงวัคซีนในระยะต่อไป
- ให้บริการอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ สำหรับคนไร้บ้าน
- ประสานบ้านพักฉุกเฉินของรัฐ หรือส่งต่อสถานพยาบาล กรณีพบว่ามีความเสี่ยงต่อการติดโรคระบาด หรือเมื่อพบการติดเชื้อโควิด-19
- ประสานงานการเข้าถึงสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน และนโยบายการช่วยเหลือจากภาครัฐด้านต่างๆ เช่น บัตรประชาชน การเข้าถึงการรักษาพยาบาล การช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ ของรัฐ
- บริการจัดหางานระยะสั้น กรณีที่คนไร้บ้านต้องการการเข้าถึงการจ้างงาน เพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีวิตประจำวัน
2. ต้องไม่ขับไล่ กวาดต้อนให้คนไร้บ้านออกจากที่สาธารณะ เพราะจะเกิดการเคลื่อนย้าย และไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือ ดูแล เมื่อมีความเสี่ยงที่จะติดโควิด เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้าถึงการช่วยเหลือได้ทันท่วงที
3. รัฐบาลต้องมีนโยบายให้คนไร้บ้านได้รับการฉีดวัคซีน ในสถานที่ที่คนไร้บ้านเข้าถึงได้ง่าย
นอกจากนี้ในระหว่างการแถลงข่าว ยังมีการนำเสนอข้อมูลจากการสำรวจ 5 พื้นที่ 4 ภูมิภาค โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ในวันเดียวกันนี้ ทีมงานนักข่าวพลเมือง ยังนำเสนอเนื้อหาเรื่องสถานการณ์ของคนไร้บ้านและข้อเสนอต่อจัดการระดับพื้นที่ ในรายการพิเศษ ไทยพีบีเอสสู้โควิด-19 ระหว่างเวลา 12:00 – 14:30 น. รับชมย้อนหลังได้ทางลิงก์ด้านล่าง