เพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคประชาชนโดยในเฉพาะชุมชนแออัดเมือง พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้ง การป้องกัน และการเยียวยาด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม แกนนำเครือข่ายสลัมสี่ภาคจึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อม และออกแบบจัดระบบศูนย์พักคอยดูแลกันในชุมชน
วิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคประชาชน โดยเฉพาะคนพิการ คนป่วย คนสูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนที่ตกงานและผู้ที่มีรายได้น้อยที่อาศัยในชุมชนแออัด อย่างพื้นที่เขตชุมชนเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ต่างต้องยกระดับป้องกันและเฝ้าระวังสูงสุด หลังยังพบผู้ติดเชื้อยืนยันรายวันต่อเนื่องในหลายชุมชน คุณจุติอร รัตนอมรเวช เจ้าหน้าที่เครือข่ายสลัมสี่ภาค ปักหมุดเล่าเรื่องเข้ามาใน c-site ถึงการเตรียมความพร้อมกับมือกับวิกฤติในครั้งนี้
ในภาวะที่คนส่วนใหญ่ตกงาน ไม่มีรายได้ และพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่กระจายในชุมชนแออัดหลายจุด มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับเครือข่ายสลัมสี่ภาคทั่วประเทศรวม 73 ชุมชน เตรียมการรับมือ ทั้ง ลดความเสี่ยงและดูแลสมาชิกในชุมชนที่พบผู้ติดเชื้อ ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้กับแกนนำชุมชนสลัมสี่ภาค ทั้งหมด 5 รุ่น จาก 26 ชุมชน มีแกนนำทั้งหมด 60 กว่าคน เข้ารับการอบรมเพื่อดูแลให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพเบื้องต้น ทั้งเตรียมศูนย์พักคอยเป็นที่พักอาศัยให้กลุ่มเสี่ยงใน 12 ชุมชน
วรรณา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เล่าว่า “ของสลัมสี่ภาคอาจจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นพื้นที่ต่างจังหวัดกับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ถ้าในส่วนต่างจังหวัดเราเห็นแผนรับมือไม่ว่าจะเป็นของเครือข่ายหรือว่าหน่วยงานภาครัฐภาคประชาชน เขามีที่เพียงพอที่จะรองรับไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรือโรงพยาบาลที่จะต้องรักษาหรือว่าโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ อันนี้ก็ยังพอทำไหวอยู่
แต่ถ้าในส่วนของกรุงเทพมหานครในส่วนสถานการณ์ตอนนี้โรงพยาบาลที่จะรองรับก็น้อยหรือว่าถ้าเขาป่วยแล้วยังไม่ถึงขั้นที่ต้องไป กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้คัดกรองก็ตามจะต้องกักตัวหรือไปโรงพยาบาลแล้วกลับมา มันจะต้องมีพื้นที่พักฟื้นหรือดูอาการใน 14 วันซึ่งไม่มีเพราะเราเป็นชุมชนเล็ก ๆ เป็นบ้านที่มีความหนาแน่น เราก็เลยคิดว่าเราจะเลือกพื้นที่ ที่เขามีความพร้อมแล้วมีศูนย์ชุมชนอยู่หรือว่าบ้านมั่นคงที่เขาสร้างแล้วแต่ยังไม่มีคนอยู่ เราก็จะให้เขาได้ใช้พื้นที่ในชุมชนเขาเป็นประโยชน์ ตอนนี้เราก็เตรียมที่จะทำเป็นศูนย์พักคอยที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองหรือว่ากรณีที่ไปรักษาแล้วกลับมาอยู่ที่ชุมชนนเราเรียกว่าที่พักฟื้น ทั้งหมดมี 13 จุด ภายใน 12 ชุมชน ตอนนี้ก็เริ่มทำแล้ว มีการเคลียร์ทำความสะอาด อุปกรณ์ เพื่อที่จะให้เขาเข้าสู่ที่พัก อันที่สองที่ต้องทำคือจัดอบรมให้ความรู้คนที่จะต้องดูแลศูนย์เหล่านี้ให้เขาดูแล ให้ตื่นตัวจะได้ไม่ตื่นตระหนก เพื่อที่จะจัดการปัญหาของคนในชุมชนแล้วก็ประชาสัมพันธ์ชุมชนให้ใส่หน้ากากอนามัย ให้ล้างมือ การปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อไปส่งอาหารให้คนที่ไปกักตัว เราต้องทำอย่างเข้มข้น เสียงตามสายเราก็ต้องทำ
อันต่อมาที่เราทำคือใช้ร้านอาหารราคาถูกในชุมชนเป็นจุดที่ช่วยกระจายอาหารและลดรายจ่ายสำหรับคนที่มีรายได้น้อย และผู้ที่พอมีศักยภาพในการซื้ออาหารอยู่ อาจจะเป็นจานละ 15-20 บาท ไม่เกินนี้ อาหารเป็นพวกไข่เจียว ข้าวมันไก่ ให้สำหรับคนที่ลำบาก เราขายเพื่อลดราคาทางเศรษฐกิจ ตอนนี้ก็เริ่มทำไปประมาณ 6-7 ที่”
นอกจากนี้แล้ว ยังเตรียมระดมและกระจายความช่วยเหลือสำหรับคนจนเมืองที่เป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม ใช้มาตรการฟื้นฟูเยียวยาโดยเร่งด่วน ทั้งหมด 13 จุด 12 ชุมชน
- ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่
- เพชรทองจันทร์
- ใหม่ไทรทอง
- ทองกิตติ
- พูนทรัพย์
- กระทุ่มเดี่ยว
- ภูมิใจ
- ชุมชนบางนา
- ชุมชนริมทางด่วนบางนา
- บางระหมาด
- ชุมชนพุทธมณฑลสาย 2
- ศูนย์พักคนไร้บ้านบ้านพูนสุข ประทุมธานี
- ศูนย์พักคนไร้บ้าน บ้านเตื่อมฝัน เชียงใหม่
วรรณา แก้วชาติ ยังทิ้งทายต่ออีกว่า “อันนี้คือสิ่งที่เครือข่ายสลัมสี่ภาคเราคิดว่า ภาคประชาชนเราจะลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเองถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่ทุกเรื่องแต่ทำอย่างนี้มันจะสร้างความยั่งยืนให้มันเกิดการระบาดอีกรอบหรือว่าเกิดปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาเราจะมีแผนรับมือที่มันสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนลุกขึ้นมาจัดการและดูแลคนในชุมชนด้วยกันเอง
อีกอย่างที่ทางเครือข่ายสลัมสี่ภาคกำลังทำเราอยากสนับสนุนให้พี่น้องสู่การเข้าถึงวัคซีน ในการที่จะทำให้เขามีสุขภาพที่แข็งแรงแล้วก็มีภูมิคุ้มกันในการที่จะสามารถทำให้เขาสามารถต่อสู้กับโควิด-19 ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ อันนี้ก็คิดว่าจะเป็นประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เราจะผลักดันให้ เครือข่ายของเราทุกคนรวมทั้งพี่น้องคนไร้บ้านเข้าถึงวัคซีนอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ”
โควิดระลอกนี้เปรียบดั่งมรสุมลูกใหญ่ที่ทำให้กลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้ลุกขึ้นได้อย่างยากลำบาก ในระยะที่เผชิญกับโรคระบาด ทั้งเศรษฐกิจทำพิษ ทำให้ร่างกายอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด จากผลกระทบต่อภาระการทำงาน ความกดดัน ระยะเวลาที่รีบเร่ง ทว่ายังคงเห็นพลังของคนตัวเล็ก ๆ ที่ยังขับเคลื่อน และยังเชื่อมั่นว่าพลังของชุมชนจะสามารถนำพาทุกชีวิตให้รอดวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน แม้ต้องออกแรงไม่น้อยกว่าในวิกฤติทุกครั้งที่ปผ่านมา