อสม.+ หมออนามัย+ฐานข้อมูล เคล็ดลับจองคิววัคซีนตรึมของลำปาง

อสม.+ หมออนามัย+ฐานข้อมูล เคล็ดลับจองคิววัคซีนตรึมของลำปาง

วันนี้ (11 พ.ค.2564) นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมนายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง ชี้แจงประเด็นการบริหารจัดการการจองฉีดวัคซีนโควิด 19 ของจังหวัดลำปาง โดยมองว่า วัคซีนทุกชนิดมีศักยภาพลดความเจ็บป่วยที่รุนแรง และลดการเสียชีวิต รวมทั้งทำให้ประเทศเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จึงต้องการให้ชาวลำปางได้รับวัคซีนให้มากที่สุดและเร็วที่สุด คือประมาณ 500,000 คน จึงบริหารจัดการโดย

  • หน่วยงานสาธารณสุขนำเขาข้อมูลสุขภาพของประชาชนเข้าระบบข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการจองการฉีดวัคซีนให้สอดรับกับศักยภาพของหน่วยบริการ และจองวัคซีนจากรัฐบาลให้เพียงพอกับจำนวนประชาชนของลำปาง
  • อสม.และหมออนามัยครอบครัว พร้อมใจกันเดินเท้าเคาะประตูบ้าน ให้ข้อมูล อธิบายเรื่องการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทราบ และยืนยันการฉีดวัคซีน ซึ่งหากปฏิเสธการฉีดวัคซีนต้องมีการลงนามยืนยันในเอกสาร
  • ช่องทางที่ประชาชนสามารถแจ้งความประสงค์จองการฉีดวัคซีนมีทางเลือก 2 ทางคือ การลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” ที่ข้อดีคือสามารถเลือกสถานที่และวัน เวลาในการฉีดวัคซีนได้ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงแก้ไขในระบบได้ และอีกทางคือ อสม และหมออนามัยครอบครัว ลงทะเบียนให้และนัดหมาย วัน เวลาการฉีดวัคซีน

ผลจากการดำเนินงาน ข้อมูลการจองการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายที่ 1 ผู้สูงอายุ และประชาชนที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคของแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” จังหวัดลำปางมีการจอง 223,976 คน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่มีอยู่คือ จังหวัดลำปางมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 24 ของจำนวนประชากร จากข้อมูลมีประชากรกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ลงทะเบียนประมาณ 190,000 คน มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคประมาณ 30,000 รวม 220,000 คน การบริหารจัดการการจองวัคซีนข้างต้นนี้ จะใช้ดำเนินการในกลุ่มเป้าหมายที่ 2 คือกลุ่มประชาชนทั่วไปอีก 300,000 คน เช่นเดียวกัน นอกจากการจองฉีดวัคซีนแล้ว สิ่งที่จังหวัดลำปางได้กำหนดแนวทางไว้คือ

  • กำหนดลำดับในการฉีด โดยให้พื้นที่สีแดง เหลือง เขียว ตามลำดับ
  • บุคลากรสาธารณสุข อสม.ยืนยันวันที่นัดหมายกับกลุ่มเป้าหมาย ล่วงหน้าก่อนวันดำเนินการ
  • ประสานองค์กรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการอำนวยความสะดวก การดูแลรับ – ส่ง กลุ่มเป้าหมายมารับการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ 1
  • วางแผนในการจัดพื้นที่การฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ทั้งนี้ต้องมีการเตรียมความพร้อมรองรับ กรณีประชาชนมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง  กล่าวว่า  ลำปางได้จัดระบบการเข้าถึงสุขภาพของประชาชน ผ่าน โครงการ 3 หมอ หรือโครงการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ หรือบริการสุขภาพในชุมชน  มากว่า 3 ปีแล้ว โดยกำหนดให้พื้นที่บริการประชากร 10,000 คน จะมี หมอ พยาบาล นักกายภาพบำบัด อสม. ในพื้นที่อยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ได้ลงไปสำรวจข้อมูลประชาชนอยู่  มีหมอประจำอยู่  แม้ไม่ป่วยไข้ก็มีข้อมูลพื้นฐานด้านสาธารณสุขทุกครับเรือนอยู่แล้ว   เมื่อเกิดการระบาดของโควิด  ก็ได้ใช้กลไกแบบนี้ โดยเฉพาะสำคัญคือ อสม.และเจ้าหน้าที่เคาะประตูบ้านคุยกับประชาชนมาต่อเนื่องว่า  โควิด 19 คืออะไร ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร  และทางออกสุดท้ายคือวัคซีน โดยเตรียมความพร้อม ความเข้าใจมาอย่างต่อเนื่อง   และสำรวจความต้องการรับวัคซีนมาตั้งแต่เริ่มโควิดระลอก 2 ช่วงที่เริ่มมีการจัดหาวัคซีน  คือช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาก่อนแล้ว

เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเปิดจองวัคซีน จังหวัดลำปางโดยผู้ว่าฯ มีนโยบายให้ประชาชนได้วัคซีนให้มากที่สุด   ดังนั้นเมื่อมีการสำรวจมาก่อนหน้าแล้ว  ก็สามารถดำเนินการนำเข้าระบบการจองวัคซีนได้เลยทันที

“ช่วงเมษายน เป็นช่วงของการสำรวจความต้องการและทำความเข้าใจประชาชนผ่านการเคาะประตูบ้าน  ซึ่งประเมินว่า ประชาชนในชนบทจำนวนหนึ่งจะที่ไม่สันทันในการลงทะเบียนเอง เมื่อถึงขั้นตอนการเปิดลงทะเบียนได้  2 ช่องทางคือ แอพพลิเคชั่น หมอพร้อม  และโปรแกรม MOPHIC ของกระทรวงสาธารณสุข ก็สามารถนำเข้าข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ให้ได้”   

นายแพทย์ประเสริฐกล่าวว่า  ขั้นตอนนี้คือการจองการฉีดวัคซีน  ซึ่งกำหนดจะฉีดสำหรับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้คือ 7 มิถุนายน  ซึ่งช่วงเวลานี้ก็จะมีเจ้าหน้าที่  อสม. และนายอำเภอทุกพื้นที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการเตรียมการฉีด หรือนัดหมาย  ขณะเดียวกันก็มีประชาชนในลำปางอีกจำนวน 300,000 คน ที่อยู่ในลำดับต่อไปที่คาดว่าประสงค์จะฉีดวัคซีน

นางจันทร์ฉาย สุภากาวี นายกสมาคม อสม.จังหวัดลำปางกล่าวว่า สมาชิก อสม.ในจังหวัดลำปางมีทั้งสิ้น 18,447 คน ทำงานร่วมกับ หมออนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  เทศบาล ท้องถิ่นท้องที่ สาธารณสุขจังหวัดลำปางมายาวนาน  ในช่วงโควิดระบาดระลอกแรก ก็ได้ลงพื้นที่การให้ความรู้ความเข้าใจ ติดตามพื้นที่งานศพ งานแต่งงานในชุมชน  เมื่อมีการตั้งด่านคัดกรองก็ได้ดำเนินงานกับพื้นที่ต่อเนื่อง  และที่สำคัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ใส่ใจต่อการทำงานของชุมชน และอสม.มาก

กรณีการทำความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องวัคซีน มี 2 ช่องทาง คือ การลงทะเบียน หมอพร้อม ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ลงทะเบียนจะเป็นคนทำงาน กับตัว อสม.ลงไปถามไถ่ในชุมชนโดยตรง ซึ่งใช้การพูดคุยกับชาวบ้าน และมีการกำหนดการทำงาน อสม. 1 คน ต่อ 10 หลังคาเรือนในเขตรับผิดชอบของแต่ละคน โดยก่อนลงพื้นที่ อสม.จะได้รับข้อมูล ความรู้ด้านวัคซีน และโรคโควิด 19 จากหมอก่อน เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อ

“การพูดคุยกับชาวบ้าน ก็มีการซักถามเพื่อความมั่นใจจากกระแสข่าวที่ได้รับมาเหมือนกัน เช่นผลข้างเคียง หรือข่าวลือ ก็ได้ให้คำตอบกับชาวบ้านว่า ข่าวมีทั้งจริงและลือ แต่ข้อมูลที่ อสม.นำมาบอกเป็นข้อมูลความรู้ที่ชัดเจน ซึ่งจากการทำงานต่อเนื่องและยุคนี้ชาวบ้านให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ อสม.มากขึ้นแต่ก่อน”

นายกสมาคม อสม.จังหวัดลำปางกล่าว

นางจันทร์ฉาย กล่าวด้วยว่า คำถามที่พบบ่อยจากการคุยกับชาวบ้านคือ  ฉีดแล้วจะเป็นอย่างไร ?  ก็ให้คำแนะนำไป  บอกว่าก่อนฉีดจะมีข้อกำหนดอยู่ว่า จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร  และหมอจะตรวจแต่ละคนก่อน ซึ่งเราจะต้องให้ข้อมูลจริงกับหมอไปด้วย  ที่สำคัญ อย่าเพิ่งคิดหรือกลัวล่วงหน้าไปก่อนว่า ฉีดแล้วจะเป็นอะไร  เพราะหากกลัวไปก่อนใจจะเต้นแรง  และที่สำคัญการที่บุคลากรทางการแพทย์  หรือตัว อสม.จำนวนหนึ่งได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว  ไปพูดคุยหรือบอกชาวบ้านก็พูดได้เต็มปากและเกิดความเชื่อมั่นว่า คนนั้น คนนี้ก็ฉีดแล้วไม่เห็นเป็นอะไรเลย

ทีมงานองศาเหนือ ชวนทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของอสม.ลำปาง ผ่านคลิป อสม. เดินหน้าสำรวจความต้องการรับวัคซีนในชุมชน

อนึ่ง ในช่วงบ่ายเดียวของวันนี้ 11 พ.ค. ตั้งแต่เวลาบ่ายสามโมงเป็นต้นไป จะมีการถ่ายทอดสด วงเเชร์ : ตอน เคล็ดลับ อสม. จวนจาวบ้านอย่างใด หื้อเข้าใจวัคซีนโควิด-19 แลกเปลี่ยนประสบการณ์การสื่อสารสุขภาพ วิธีการพูดอย่างไรที่จะชวนคนมาลงทะเบียนฉีดวัคซีน

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย

  • คุณแม่จี จีราภรณ์ อยู่สาตร์ อสม. ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่
  • คุณแม่ตวงพร วงศ์หาญ และ คุณสุมล ภูแชมโชติ อสม. ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง
  • คุณฐาปนพงศ์ มังคลาด อสม.ต.เชียงบาน อ.เชียงคำ จ.พะเยา // ประธานชมรมอสม. จ.พะเยา
  • คุณศรีทร ใจแหว้น ประธานอสม.บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
  • ชวนคุยโดย ผศ.ดร.ภัทรา บุรารักษ์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ร่วมรับชมพร้อมกันผ่านทาง Facebook Live เพจ The North องศาเหนือ, ศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน Community Media Learning Center, พะเยาทีวี , นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS), Lampang channel – ข่าวลำปาง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ