สนทนา“ไขปัญหาวัคซีนที่อุบลฯ” เพื่อความเข้าใจและ “เตรียมตัว”

สนทนา“ไขปัญหาวัคซีนที่อุบลฯ” เพื่อความเข้าใจและ “เตรียมตัว”

หลังจากทั่วประเทศมีการเปิดให้ลงทะเบียน “หมอพร้อม” ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อุบลราชธานีเป็นอีกจังหวัดที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย โดยปัจจุบันได้รับวัคซีนยี่ห้อซิโนแวคมาแล้ว 25,960 โดส ซึ่งคิดเป็น 1.7% จากจำนวน 1.5 ล้านโดสของวัคซีนที่เข้ามาในประเทศตอนนี้ และได้จัดสรรวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ปฏิบัติงานในความเสี่ยงสูงภายในจังหวัดไปแล้ว 10,050 คน ส่วนการลงทะเบียน “หมอพร้อม” เพื่อรับวัคซีนจะเปิดให้ประชาชนกลุ่มที่มีอายุ 60 ขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง ให้ได้เข้ารับวัคซีนก่อนในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564 นี้  โดยเป็นวัคซีนยี่ห้อแอสตราเซเนกา

นพ.พิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุบลราชธานี ได้พูดคุยในรายการออนไลน์ “ไขปัญหาวัคซีนที่อุบลฯ” ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก Ubon Connect และอยู่ดีมีแฮง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 64 ว่า การลงทะเบียนหมอพร้อมในจังหวัดอุบลราชธานี มีการเปิดให้ลงทะเบียนใน แอปพลิเคชันหมอพร้อม และไลน์ OA หมอพร้อม ส่วนประชาชนที่ไม่สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันได้ สามารถแจ้งลงทะเบียนได้ที่ อสม. และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง  นอกจากนี้ จังหวัดยังได้มีการเตรียมความพร้อมในการบริการวัคซีนให้กับประชาชนอย่างปลอดภัยและทั่วถึง พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนได้เข้ามารับวัคซีนเพื่อช่วยป้องกันการระบาดของโควิด-19 ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ หรรษา ชื่นชูผล หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์สาธารณสุข สสจ.อุบลราชธานี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “วัคซีนของจังหวัดอุบลราชธานีที่ได้รับมาตอนนี้จะเป็นยี่ห้อซิโนแวค ซึ่งจะจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนใจในรอบนี้และมีสิทธิ์รับวัคซีนก่อน คือ กลุ่มผู้ที่เป็น 7 โรคเรื้อรัง และ กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งจะได้รับวัคซีนในล็อตต่อไปที่เป็นยี่ห้อแอสตราเซเนกา ซึ่งจะสามารถฉีดให้ได้ในช่วงวันที่ 7 มิถุนายน เป็นต้นไป ส่วนประชาชนทั่วไปจากสามารถลงทะเบียนรับวัคซีนได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม และสามารถฉีดวัคซีนให้ได้ในเดือนสิงหาคม”

ปัจจุบันแม้จะมีผู้เข้ารับบริการวัคซีนจำนวนมาก แต่หลังจากมีข่าวบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนบางส่วนที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว เกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจากการรับวัคซีน ทำให้ประชาชนหลายพื้นที่มีความกังวลที่จะลงทะเบียนเพื่อเข้ารับวัคซีน และบางส่วนปฏิเสธการรับวัคซีน ซึ่ง นพ.พิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า

“ภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนนั้น มักจะมีเกิดขึ้นเป็นปกติถึงแม้จะเป็นวัคซีนทั่วไป ซึ่งตัววัคซีนโควิด-19 จะเจอผลข้างเคียงเป็นอาการปวด มีไข้เล็กน้อย หรือปวดหัว เนื่องจากวัคซีนจะทำให้เส้นเลือดหดรัดตัว อาจจะทำให้ความดันเพิ่มขึ้นได้  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นชั่วคราว หลังจากนั้นก็จะไม่มีอาการและในบางรายอาจจะมีมึนชา แขนขารู้สึกอ่อนแรงแต่พบน้อยมาก ซึ่งทีมแพทย์ก็จะมีการตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ผลข้างเคียงของผู้ฉีดวัคซีน กว่า 10,050 คน ใน จ.อุบลราชธานี พบผู้มีอาการทั่วไปประมาณ 267 ราย และพบผู้มีอาการที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษเพียง 5 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากหากเทียบกับจำนวนที่ผู้ที่รับวัคซีนทั้งหมด”

นอกจากนี้การเตรียมความพร้อมรับมือการแพร่ระบาดในจังหวัดอุบลราชธานี ยังคงมีมาตรการอย่างเคร่งครัด ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ชี้แจงว่า อุบลราชธานีมีการเตรียมพร้อมรับมือหากมีผู้ป่วยที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น เช่น จังหวัดใกล้เคียง ซึ่งในโรงพยาบาลเครือข่ายมีเตียงว่างที่สามารถรองรับผู้ป่วยกว่า 100 เตียง แต่ยังมีเตียงในโรงพยาบาลสนามที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อีกประมาณ 700 – 1,000 เตียง ส่วนประชาชนที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่อื่นต้องมีการกักตัวอย่างถูกต้อง และคนในชุมชนต้องให้โอกาสผู้ป่วย หรือบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดการตีตราจนนำไปสู่การปกปิดไทม์ไลน์ และขอให้ประชาชนป้องกันตัวเอง

ทั้งนี้ นพ.พิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุบลราชธานี ได้ย้ำว่า อยากให้ประชาชนได้เข้าลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนให้ครอบคุมทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง เพราะโรคโควิด-19 ที่เจอส่วนใหญ่จะมีผลกับกลุ่มนี้สูงกว่า อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนก็เป็นประโยชน์ต่อทุกคน เพราะทีมบุคลากรทางการแพทย์จะมีการเตรียมพร้อมและให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่ จึงอยากให้ประชาชนรับวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันตัวเอง ครอบครัวและชุมชน และยังสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดในชุมชนได้ ลดอาการที่จะรุนแรงของโรคได้ด้วย

https://fb.watch/5opMdL0BSu/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ