อยู่ดีมีแฮง : ชุมชนริมรางโคราชรวมน้ำใจต้านภัยไล่รื้อ และสู้โควิด-19

อยู่ดีมีแฮง : ชุมชนริมรางโคราชรวมน้ำใจต้านภัยไล่รื้อ และสู้โควิด-19

เรื่อง /ภาพ : แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา

9 พฤษภาคม 2564 ขณะที่ความหนักหน่วงของสถานการณ์โควิด-19 รุมเร้าและสร้างทุกข์หนักแก่ผู้คนทั้งประเทศ อีกด้านมุมหนึ่งในดินแดนที่ราบสูง ณ เมืองย่าโม จ.นครราชสีมา ความทุกข์นี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาการพัฒนาพื้นที่ริมทางรถไฟที่จะทำให้ชุมชนถูกไล่รื้อ ซึ่งนั่นทำให้สมาชิก 9 ชุมชนริมรางรถไฟ เขต อ.เมือง นครราชสีมาและเครือข่ายทั่วประเทศต้องรวมใจกันรับมือทั้งโควิด-19 และการไล่รื้อชุมชน

การต่อสู้เพื่อสิทธิที่อยู่อาศัยในเมืองของชุมชนริมรางเป็นประเด็นที่ร้อนระอุต่อเนื่องหลายปี ตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินหน้าการพัฒนาระบบรางครั้งใหญ่หลายเส้นทางทั่วประเทศ รวมทั้งมีนโยบายนำที่ดินทำเลทองของการรถไฟฯ เปิดประมูลระลอกใหญ่ให้เอกชนจับจองมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับชุมชนริมรางในเมืองโคราช มีวิถีชีวิตที่ดำเนินมาไม่ต่างจากชุมชนริมรางในเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งโดยส่วนมากเป็นชุมชนดั้งเดิมที่เข้ามาบุกเบิกแผ้วถางที่ดินรกร้างริมรางรถไฟ  เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย และสร้างโอกาสในการทำมาหากินในเมืองมายาวนานกว่า 40 ปี

เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย มีนโยบายไล่รื้อชุมชนริมรางประมาณ 20 ปีที่แล้ว เพื่อนำที่ดินเปิดประมูลให้เอกชนเช่า แทบทุกชุมชนในเมืองโคราชได้พยายามเจรจาขอเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ เนื่องจากต้องการมีที่อยู่อาศัยแหล่งทำมาหากินอย่างถูกกฎหมาย แต่การรถไฟฯ ได้นำที่ดินประมูลให้เอกชนได้เช่าเท่านั้น  ส่วนชุมชนแทบทั้งหมดถูกกีดกันไม่มีสิทธิได้เช่าที่ดินกับการรถไฟฯ ทำให้ผู้บุกเบิกในฐานะชุมชนเก่าแก่ตกอยู่ในฐานะผู้บุกรุก และถูกนายทุนที่สามารถเช่าที่ดินได้ใช้สิทธิในฐานะผู้เช่าทำการข่มขู่ไล่รื้อชาวบ้านมาแล้วหลายครั้ง

ในที่สุดช่วงช่วงปลายปี 2563 เค้าความเดือดร้อนที่ดูเหมือนยังไกลตัวได้ลุกลามดั่งไฟมาถึงหน้าบ้าน เมื่อชัดเจนแล้วว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ลงนามในสัญญางานโยธา โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รวดเดียว 5 สัญญา โดยช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ได้ไล่รื้อชุมชนตามแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการฯ ในเขตนอกเมืองออกไปจนเกือบหมดแล้ว

มิหนำซ้ำในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ไม่นาน ในขณะที่โควิด-19 มีการระบาดรอบที่ 3 อย่างรุนแรงโดยรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ บริษัทรับเหมาก่อสร้างได้ใช้เวลาเพียง 20 วัน นำเครื่องจักรเข้ามาในเขตเมือง บริเวณถนนเลียบนคร เพื่อปรับสภาพพื้นที่เพื่อก่อสร้างบ้านพักคนงานและพื้นที่เก็บกองวัสดุ เริ่มถากถางพื้นที่ริมรางเพื่อสร้างถนนลำเลียง รวมถึงการขุดเก็บตัวอย่างดินและทดสอบดิน สร้างความหวั่นวิตกกังวลต่อชุมชนริมรางว่าจะถูกไล่รื้อในช่วงเวลาไม่นานนี้เป็นอย่างมาก

ในส่วนของชุมชนริมราง 9 ชุมชนในเขตเมือง จ.นครราชสีมา เมื่อรับรู้ถึงสถานการณ์ที่จะถูกไล่รื้อโดยไม่มีการจัดหาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่เอาไว้รองรับผู้ได้รับผลกระทบ ชุมชนได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม” มีสมาชิก 342 หลังคาเรือน และได้ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของ คณะทำงานพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม แต่การเจรจาเพื่อขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยแบ่งปันที่ดินในความดูแลของการรถไฟฯ บริเวณหัวจักรรถไฟ หลังวัดป่าสาละวัน เพื่อรองรับที่อยู่อาศัยของผู้ได้รับผลกระทบ ต้องหยุดชะงักลงอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากการระบาดของโรคร้าย ในช่วงเวลาเช่นนี้ของชาวบ้านริมรางที่ยากจนทนทุกข์กับปัญหาปากท้องหนักอยู่แล้ว ก็ยิ่งซ้ำเติมด้วยความหวั่นใจกับความเสี่ยงที่จะถูกไล่รื้อในเร็ววันอย่างไม่มีที่ซุกหัวนอนปลายเท้าด้วย

“คนจนจะหมดไป คือ ตายกันหมดใช่ไหม”

นิยม พินิจพงษ์ ชุมชนประสพสุข เอ่ยอย่างทดท้อเมื่อเห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนที่โดนกระหน่ำซ้ำเติมทางทุกทิศทาง แต่เช้าวันนี้ ความซึมเศร้าของพ่อนิยม มลายไป เมื่อได้เห็นความหมายของคำว่า “คนจนไม่ทิ้งกัน”

ในสถานการณ์ที่ชาวบ้านริมรางหัวอกเดียวกัน ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน คำว่า “คนจนไม่ทิ้งกัน” เป็นคำที่มีความหมายอย่างมาก

เมื่อรู้ข่าวว่าชาวบ้านในโคราชกำลังเดือดร้อนกระจายออกไป เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ จ.ขอนแก่น เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค และสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมือง (สอช.) ได้ระดมความช่วยเหลือสู่ชาวบ้านโคราชอย่างเร่งด่วน

ภารกิจในครั้งนี้ถูกเรียกว่า “รวมน้ำใจต้านภัยไล่รื้อ และโรคโควิด”

กำลังใจ ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุงต่าง ๆ มะละกอ ฟังแฟง แตงกวา หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และทุนทรัพย์ที่สมทบทุนกันมา เต็มคันรถเดินทางมุ่งหน้ามาถึงโคราชอย่างเร่งร้อน เมื่อต้องเผชิญชะตากรรมจากโครงการรัฐร่วมกัน การช่วยเหลือดูแลกัน เสริมกำลังใจกัน สู้ไปด้วยกัน บรรยากาศในการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจึงเสริมพลังของคนหัวอกเดียวกันได้อย่างลึกซึ้ง

เพื่อนพ้องน้องพี่ริมรางที่มาจากกรุงเทพฯ ขอนแก่น โคราช ได้ร่วมกันเปิดตัวศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากโรคระบาดโควิด-19 ของเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ที่ชุมชนประสพสุข เพื่อประสานงานการช่วยเหลือสมาชิกในเครือข่ายที่ได้รับความเดือดร้อน ระดมทุนและเปิดรับบริจาคสิ่งของที่จำเป็น หลังจากนั้นได้ร่วมกันทำแนวรั้วของชุมชนด้วยไม้ไผ่ และร่วมกันประกาศว่า รั้วชุมชนและกำแพงมนุษย์ จะเป็นแนวเขตห้ามไม่ให้นำเครื่องจักรใด ๆ เข้ามาในแดนของชุมชน ป้องกันการไล่รื้อ เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่า การผสานรวมเป็นหนึ่งของชาวบ้านที่มีใจเดียวกันเท่านั้น ที่จะต้านภัยไล่รื้อ และภัยต่าง ๆ ที่จะเข้ามากล้ำกลายชุมชนได้

ในตอนท้ายของกิจกรรมการรวมพลพี่น้องริมรางในวันนี้ พ่อนิยมได้อ่านแถลงการณ์

“…พวกเราไม่ได้ขัดขวางโครงการ แต่พวกเราจะไม่ไปไหน ไม่ย้ายออก ไม่ยอมถูกไล่รื้อ และได้ร่วมกันทำแนวเขตของชุมชนไว้ให้ชัดเจน โดยแนวเขตของชุมชนนี้ ห้ามไม่ให้นำเครื่องจักรใด ๆ เข้ามาในเขตแดนของชุมชน พวกเราจะปกป้องชีวิตและที่อยู่อาศัยของสมาชิกในชุมชน จนกว่าการรถไฟจะแบ่งปันที่ดินในเมืองให้เราได้เช่า จนกว่าพวกเราจะมีที่อยู่อาศัยแห่งใหม่รองรับ เราจะสู้ไม่ถอยจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ”

เสียงโห่ร้องของชาวบ้านริมรางเมืองย่าโมและพี่น้องริมรางจากกรุงเทพและขอนแก่น ตะโกนดังแข่งกับเสียงรถไฟที่วิ่งผ่าน … เป็นเสียงดังฟังชัดครั้งแรก หลังจากที่ไม่ได้ยินในย่านรางรถไฟโคราชมานานนับสิบ ๆ ปี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ