บ้านลูกรัก จ.ขอนแก่น ตั้งการ์ดสู้ … โควิดยกที่ 3

บ้านลูกรัก จ.ขอนแก่น ตั้งการ์ดสู้ … โควิดยกที่ 3

“โชคดีว่าเราเตรียมการมาระยะหนึ่ง เราปลูกพืชพวกอาหารไว้ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งที่สวนมูลนิธิ แล้วก็สวนที่ริมแม่น้ำชีครับ” สุริยา สมใจ หรือครูยา ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (บ้านลูกรัก) จ.ขอนแก่น เอ่ยถึงต้นทุนเสบียงที่จะออกรบในสมรภูมิโควิด-19 โรคระบาดแห่งยุคสมัยที่เข้ามาสั่นคลอนและท้าทายการดำเนินชีวิตของชาวโลกทุกคน รวมถึงน้อง ๆ สมาชิกบ้านลูกรักอีกครั้ง

มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก หรือบ้านลูกรัก จ.ขอนแก่น องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานให้ความช่วยเหลือดูแลเด็ก ๆ ด้อยโอกาส หรือได้รับผลกระทบจากวิกฤติต่าง ๆ ในสังคม ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภายในบ้านมีบรรยากาศร่มรื่น มีร่มไม้ชายคา และรอยยิ้มของเด็ก ๆ ไว้แบ่งปัน

“สถานการณ์โควิด-19 ช่วงนี้ เราก็พยายามลดความเสี่ยง อย่างเช่น เรื่องร้านขายอาหาร เราก็หยุดไปก่อนเป็นการเตรียมภายในมูลนิธิที่ดูแลเด็ก และก็รวมกำลังกันนะครับ พี่ ๆ ก็พาน้อง ๆ ทำเรื่องของการเกษตรสร้างอาหารให้มากที่สุดครับ”

โชคดีที่ข้าวเราไม่ได้ซื้อ ตอนนี้เราลงพวกผัก พืชอายุสั้น ที่กำลังจะทำก็จะเป็นพวกถั่วงอก มีเห็ด ผัก แล้วก็ไข่ครับ เน้นการสร้างอาหารภายในบ้าน โชคดีเราปลูกไผ่ไว้เยอะครับ มีหน่อไม้ มีกล้วย ส่วนอื่น ๆ ก็ซื้อเพิ่มบ้างครับ เช่น เต้าหู้ สาหร่าย หรือธัญพืชต่าง ๆ แต่หลัก ๆ จะเน้นภายในบ้านของพวกเรา โชคดีว่าเรามีการเตรียมการระยะหนึ่งเราปลูกพืชเอาไว้ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งที่สวนมูลนิธิแล้วก็สวนที่ริมแม่น้ำชีครับ

ที่นี่เป็นทั้งบ้านและห้องเรียนเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับน้อง ๆ ที่ได้รับการโอบกอด ทั้งจากพ่อครูยา เจ้าหน้าที่ และพี่ ๆ ในบ้าน รวมถึงผู้ใหญ่ใจดีมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 24 ปี ซึ่งปัจจุบันบ้านลูกรักมีสมาชิกรวม 43 คน

ตลอดที่ผ่านมา ทุกคนในบ้านเรียนรู้ที่จะดูแลตนเอง มีการสร้างพื้นที่อาหารเตรียมความพร้อมสำหรับวิกฤติต่าง ๆ ซึ่งล่าสุดในสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงนาทีนี้ นับเป็นภาวะหนักหน่วงเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลให้พลังน้ำใจจากผู้ใหญ่นอกบ้านหลายคน ไม่สามารถเดินทางมาแบ่งปันน้อง ๆ ได้เช่นเดิม รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่หลายคนอยู่ในภาวะยากลำบากไม่ต่างกัน

“แต่ก่อนเราเปิดรับบริจาคปกติก็มีคนบริจาคมาเรื่อย ๆ มีนักศึกษามาจัดกิจกรรมค่อนข้างเยอะ แต่ตอนนี้ก็เงียบเพราะเราก็ไม่ได้เปิดทำกิจกรรมหรือรับเลี้ยงอาหารกลางวัน ซึ่งก็จะมีบางคนที่เป็นห่วงเด็ก ๆ ก็จะนำพวกไข่ ข้าวสาร เครื่องใช้เด็ก มาบริจาคที่ด้านหน้าบ้าง แต่ก็ถือว่าเงียบไปเยอะเลย น่าจะเหลืออยู่สัก 10 เปอร์เซ็นต์ได้ครับ  แต่ก็โชคดีที่พออยู่รอดเพราะมีการเตรียมตัวมาตั้งแต่โควิด-19 รอบแรก เราเตรียมไว้แล้วว่าต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุดครับ

ตอนนี้ก็จะมีอาสาสมัครที่เขาเคยมาอยู่กับเราที่พูดคุยในเรื่องของปัญหาภายใน ก็จะมีอาสาสมัครระดมทุนมามาช่วยเหลือ แต่ก็เท่ากับจำนวนที่เขาพอทำได้ครับ อาจะเป็นนักศึกษาที่เคยมาอบรมกับเรา อันนี้คือกลุ่มหนึ่งที่พอมาหล่อเลี้ยง ค่าน้ำ ค่าไฟ อีกอันหนึ่งที่เราไม่ปิดก็จะเป็นเรื่องของร้านเสื้อผ้ามือสองครับ ร้านเสื้อผ้ามือสองเราก็เตรียมเด็ก ๆ ของเรา กลุ่มโตที่ทำหน้าที่ในการขาย ก็เสี่ยงนิดหนึ่งแต่ก็ป้องกันครับ โชคดีที่มีกลุ่มลูกค้าประจำที่เขาเคยมาซื้อเสื้อผ้าที่เขาไปขายตามตลาดนัด เป็นกลุ่มประจำเราก็ลดความเสี่ยงลง เช่น เขาก็เลือกเสื้อผ้าซึ่งเราจะเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนเย็น ตอนเช้ากลุ่มแม่ค้าก็จะมาเลือก ไม่ได้ใกล้ชิดไม่ได้สัมผัสกัน ถือว่าอันนี้เป็นรายได้หลักตอนนี้ครับ”

นอกจากเรียนรู้ทักษะการดูแลจัดการชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนของสมาชิกในบ้าน การเรียนรู้ทักษะอาชีพ เช่น การขายของก็เป็นอีกบทเรียนที่น้อง ๆ ได้เรียนรู้ และร่วมหาทางรอดจากวิกฤติไปพร้อม ๆ กัน

“โชคดีว่าในกลุ่มพี่น้องของเรา เขาก็จะช่วยกันรวบรวมเสื้อผ้าเรา มาช่วยเหลือกัน ในหนึ่งวันก็ขายได้ 700-800 บาท  บางวันก็ถึง 1,000 บาท ครับ ตัวนี้ก็เป็นตัวหลักอยู่ครับที่หล่อเลี้ยงเลย จะมีกลุ่มแม่ค้าที่เขามาซื้อไปขายต่อ เราขายตัวละ 20 – 30 บาท ตามสภาพ คนหนึ่งก็ซื้อประมาณสัก 200 บาท แม่ค้า 5-7 คน วันหนึ่งก็โอเค รายได้ในหนึ่งวันได้ 1,000 กว่าบาท เราก็อยู่ได้แล้ว อาทิตย์หนึ่งเราก็ปิดหนึ่งวัน เสื้อผ้าเขาก็จะมาบริจาคที่มูลนิธิเลยครับ จากนั้นเด็ก ๆ เราก็จะมาคัดเสื้อผ้าตามสภาพ ถ้าของเด็ก ๆ เราก็คัดไว้ก่อนให้เด็ก ๆ ได้ใช้ แต่ของผู้ใหญ่นอกจากเสื้อผ้าบางครั้งก็มีกระเป๋า รองเท้า

ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม เราก็ประยุกต์เอากิจกรรมการเรียนมาใช้ในเรื่องการพัฒนาเด็ก มีทั้งการทำสวน ทำอาหาร แล้วก็ปรับกิจกรรม พี่ ๆ คนโตประมาณ 10 คน แบ่งบทบาท เช่น คนหนึ่งรับผิดชอบเรื่องกีฬา คนหนึ่งรับผิดชอบเรื่องเกษตร อีกคนวิชาภาษาไทย อีกคนทำเรื่องของอาหาร เราจะเอาเป็นการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ เอามาเรียน มาสอน พาน้อง ๆ ทำ ซึ่งจะทำให้น้องไม่เหงา เกิดกิจกรรมพัฒนาพวกเราเอง เพื่อให้เราอยู่รอดให้เด็ก ๆ รู้ว่าในสถานการณ์แบบนี้เราจะอยู่รอดอย่างไร เราต้องเข้าใจผู้ที่เคยช่วยเหลือบริจาคว่าเขาเคยช่วยเหลือเรามาเยอะ หลายปีแต่ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ เราก็ต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุดครับ เพราะรู้สึกว่าเด็ก ๆ ก็เข้าใจในสถานการณ์ก็พยายามตื่นตัวช่วยเหลือกัน กลุ่มพี่ดูแลน้องสอนน้อง ลงไม้ลงมือร่วมแรงร่วมใจกันดีครับ”

หากเป็นนักมวยที่ต้องพร้อมขึ้นเวทีชกแลกหมัดกับคู่ต่อสู้ พี่เลี้ยงคงตะโกนให้ยกแขน ตั้งการ์ด เตรียมออกหมัด แต่เมื่อต้องสู้เพื่อให้รอดและปลอดภัย ในยามนี้ที่โควิด-19 รุมเร้าทุกผู้คน ทุกชุมชน การสวมหน้ากาก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างระหว่างกันเพื่อลดความเสี่ยงของเชื้อโรคอาจยังไม่เพียงพอ แต่น่าชื่นใจที่เด็ก ๆ สมาชิกบ้านลูกรักยังมีพลังกายใจ พลังความคิด เตรียมพร้อมสร้างพื้นที่อาหาร ปลูกผัก ทำสวน หาโอกาสสร้างงานสร้างรายได้ดูแลกันสมาชิกกันเอง และแบ่งปันรอยยิ้มด้วยความเข้าใจต่อมวลมิตรรอบกายเพื่อให้ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

January 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

30
31
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1
2

22 January 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ