ประชาชนหลายพื้นที่ต่างประคับประคองกันหลายรูปแบบ ฝ่าความลำบากจากผลกระทบโควิด

ประชาชนหลายพื้นที่ต่างประคับประคองกันหลายรูปแบบ ฝ่าความลำบากจากผลกระทบโควิด

เครือข่ายสื่อพลเมือง ติดตามผลพวงการระบาดโควิด-19 ทั่วประเทศ พบปรากฏการณ์ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันของประชาชนและเครือข่ายภาคประชาสังคมหลายรูปแบบ โดยเน้นการช่วยเหลือกลุ่มเด็ก คนแก่ และกลุ่มที่ต้องกักตัว

ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายอาสาสมัครภัยพิบัติโดยชุมชนร่วมกันระดมข้าว ปลา อาหาร ข้าวของ เครื่องใช้ เพื่อ ส่งพกส่งห่อ สู้ภัยโควิด โดยมีการนัดหมายกับผู้ที่กักตัว ทั้งเวลาในการไปส่งพกส่งห่อ และจุดที่จะวางอาหารและของใช้ที่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้กัน

จังหวัดพังงา คุณไมตรี จงไกรจักร ได้ปักหมุดเล่าเรื่อง “ปลาน้ำเค็มเยียวยาชาวอุบล” ซึ่งเป็นแนวคิดแบบเร่งด่วน ด้วยการรวบรวมปลาเค็มที่มีอยู่ กว่า 50 กิโลกรัม ซึ่งทำจากปลาสด ประมาณ 200 กิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือไปทาง เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จ.อุบลราชธานี (เครือข่ายคนจนเมืองอุบลราชธานี) หลังจากนี้การ  “แลกเปลี่ยนและแบ่งปัน” อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ อีกครั้งคล้ายกับตอนทำ “ข้าวแลกปลา”

ที่ชุมชนสร้างสรรค์พัฒนา 7 – 12 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ หลังมีความช่วยเหลือส่งต่อมาที่ชุมชนบ้านมั่นคง วันนี้ (7 พฤษภาคม 64) อาสาสมัครในชุมชนก็เตรียมความพร้อมสวมชุดป้องกัน จัดระเบียบส่งต่อของภายใต้มาตรการป้องกันของชุมชนโดยอาสาสมัครที่มาแจกของต้องสวมเสื้อกันฝน สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือยาง ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดจากนั้นจะประกาศเสียงตามสาย ให้สมาชิกชุมชนซึ่งส่วนใหญ่พักอยู่ในบ้าน ทยอยมารับของ โดยจัดคิวให้สมาชิกชุมชนมารับคราวละ 5 – 10 คน ให้มีการเว้นระยะห่าง และที่ชุมชนวัดแคนางเลิ้ง – จักรพรรดิพงษ์ – วัดโสมนัส – แฟลตกรุงทอง ได้รับการสนับสนุบจากเพื่อน เครือข่ายและคนมีน้ำใจ เป็นหน้ากากอนามัย อาหาร ข้าว ผลผลิตการเกษตร ฯลฯ จากหลายกลุ่ม

ที่จังหวัดลำปาง น้ำใจพี่น้องชาวลำปางหลั่งไหลช่วยเหลือ 2 หมู่บ้าน ในพื้นที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง หลังมีผู้ติดเชื้อโควิด -19 รวม 17 ราย และผู้ใหญ่บ้านได้สั่งให้ปิดหมู่บ้าน เป็นเวลา 14 วัน มูลนิธิลําปางสงเคราะห์ “เต็กก่า จีหน่ำเกาะ” ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ที่เปิดรับบริจาคสิ่งของอุปโภค-บริโภค ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่มและเครื่องใช้ส่วนตัว ในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะได้นำไปช่วยเหลือพี่น้อง ชาวบ้านแหงเหนือ และบ้านแหงใต้ ตำบลบ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง โดยมีนายประเสริฐ รัตนไพศาลศรี ประธานกรรมการมูลนิธิลำปางสงเคราะห์ พร้อมคณะกรรมการฯ คณะสวดมนต์ธรรมะหรรษา นายเกรียงเดช สุทธภักติ Admin Page Lampang City และประชาชนชาวนครลำปาง ร่วมส่งมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ให้แก่ ผู้แทนนายอำเภองาว คือ นายกรวิทย์ วงค์ต๊ะ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อำเภองาว จังหวัดลำปาง พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ อาสารักษาดินแดน อำเภองาวฯ ที่นำรถกระบะบรรทุก 1 คัน และรถบรรทุก 4 ล้อกลาง มารับขนสิ่งของฯในครั้งนี้

สำหรับสิ่งของที่ได้รับการบริจาคครั้งนี้ จะนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด– 19 จำนวน 4 หมู่บ้าน คือ บ้านแหงเหนือ หมู่ 1, บ้านแหง หมู่ 7, ตำบลบ้านแหง และบ้านข่อย หมู่ 4, บ้านท่าเจริญ หมู่ 9 ตำบลบ้านร้อง รวม 815 หลังคาเรือน สืบเนื่องจากชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน ในตำบลบ้านแหง อำเภองาว ได้ปิดหมู่บ้านของตนเองจำนวน 14 วัน เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถึง 17 ราย และมีบางส่วนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง-เสี่ยงต่ำ อีกหลายร้อยคน เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด- 19 ไม่ให้แพร่กระจายออกไปในพื้นที่อื่น ๆ อีก จึงทำการปิดล็อกหมู่บ้าน ทั้ง 2 หมู่บ้าน แห่งนี้เป็นเวลา 14 วัน มีจำนวนครัวเรือนกว่า 400 ครัวเรือน ประชากรนับพันคน ทำให้เกิดการประสบปัญหาขาดแคลนสิ่งอุปโภคบริโภคและของใช้ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าทางภาครัฐ ท้องถิ่น จะให้การช่วยเหลือแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยได้มีการร้องขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊ก ในนาม “กลุ่มลำปางซิตี้” ที่มีสมาชิกมากกว่า 2 แสนคน ได้เปิดการระดมรับบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวอำเภองาว โดยมีมูลนิธิลําปางสงเคราะห์ “เต็กก่า จีหน่ำเกาะ” อนุเคราะห์ให้ใช้สถานที่รับบริจาคสิ่งของ และอำนวยความสะดวกในการขนส่งไปให้พี่น้องที่ประสบภัย

ทั้งนี้ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จ.ลำปาง วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.45 น. พบผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 234 ราย รักษาตัวหายแล้ว 160 ราย และอยู่ระหว่างการรักษาอีก 74 ราย ทางคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดลำปาง จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ประกาศให้พื้นที่ ต.บ้านแหง อ.งาว เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง พร้อมตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มงวด สำหรับผู้ที่อยากร่วมบริจาคสิ่งของอุปโภค-บริโภค สามารถนำมาบริจาคได้ที่มูลนิธิลำปางสงเคราะห์ฯได้ทุกวัน

โคราชผุด “รถพลังปันสุข” ส่งตรงถึงบ้าน ทีมบุคลากรทางการแพทย์จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับเอกชนและหน่วยงานในพื้นที่ จัดเตรียม “รถพลังปันสุข” ซึ่งเป็นโมเดลคล้ายรถพุ่มพวงแต่จะนำไปส่งมอบในพื้นที่ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือ เช่น ชุมชนเปราะบาง หรือชุมชนที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ โดยจะมีถุงต้านภัยโควิด หรือ ถุงยังชีพ ส่งมอบให้แต่ละชุมชน โดยชุมชนแรกที่นำไปส่งมอบเมื่อวานนี้ คือชุมชนกระฉอด

ผลกระทบปากท้องเกษตรกรหลายพื้นที่

สถานการณ์ภาคเกษตรหลายพื้นที่ที่ผลผลิตเริ่มออกได้รับผลกระทบมาก ที่ ต.ควนพัง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช มาตรการปิดหมู่บ้าน ส่งผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มเกษตรกรใน ต.ควนพัง เนื่องจากไม่มีคนเข้ามารับซื้อเหมือนก่อน อย่าง แตงโม ช่วงนี้ปกติจะขายได้กิโลกรัมละ 9 บาท ตอนนี้เหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท เสียหายมากกว่า 1,000 ไร่ ประมาณเป็นรายได้กว่า 1 ล้านบาท และยังต้องจ้างคนไปเก็บเกี่ยวผลผลิตวันละ 400 บาท หรือแตงกวาที่ขายกิโลกรัมละ 7 บาท แต่ก็ยังไม่มีแม่ค้าเข้ามารับซื้อ ต้องไปแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านแทน ซึ่งช่วงนี้ในพื้นที่มีผลผลิตหลายชนิดทั้ง มะเขือ แตงร้าน ถั่วฝักยาว และพริก ซึ่งหากขายไม่ได้ก็ต้องนำไปทิ้ง ด้านความต้องการของชุมชนอยากให้ทางกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเข้าไปรับซื้อผลผลิต และอยากให้ภาครัฐเยียวยาผลผลิตที่เสียหาย

ส่วนที่ จ.ชัยภูมิ โควิดยังไม่ซา น้ำมาท่วมซ้ำ โดยหลังเกิดโควิดระลอก 3 มาทำให้พริกราคาถูก และขายออกสู่ตลาดได้น้อย ตลาดบางที่ปิดเพราะคนส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าที่จะมาเดินซื้อของเพราะกลัวโควิด โรงงานรับพริกก็ยังไม่เปิด ชาวบ้านคิดว่าแย่แล้ว ยังมาโดนน้ำท่วมบ้านและสวนพริกอีก มีพ่อค้าเข้ามารับพริกก็เข้ามาไม่ได้เพราะน้ำท่วมถนน ชาวบ้านต้องพายเรือเอาพริกออกไปส่ง และตั้งแต่ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 ที่บ้านห้วยทับนายน้อย ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ มีพายุเข้า ทำให้ฝนตกหนักติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ทำให้น้ำในเขื่อนโป่งขุนเพชร เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะระบายน้ำออกไม่ทัน ส่งผลให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านจำนวน 11 หลัง และท่วมสวนพริกจำนวน 5 แปลง ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง จากที่ขายพริกไม่ค่อยได้แล้ว ตอนนี้น้ำท่วมขังทำให้พริกบางส่วนเน่าเสีย ต้องออกไปเก็บแต่เช้าบางคนไปตั้งแต่ 06:00 จนถึงค่ำ เพราะกลัวว่าถ้าปล่อยแช่น้ำไว้ระดับน้ำมันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไม่เห็นต้นพริกและลึกเกินไป ทางแก้คือต้องเก็บพริกที่แดงออกก่อนแล้วดึงเอาต้นพริกขึ้นจากน้ำรอให้พริกเขียวเปลี่ยนเป็นสีแดงแล้วเอาไปแปรรูปเป็นพริกแห้ง

ช่วยคนเปราะบางหลายรูปแบบ

ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เครือข่ายพี่เลี้ยงดูแลเด็กนอกระบบการศึกษา เร่งให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชน หลังได้รับผลกระทบโควิด-19 อย่างหนัก ครอบครัวขาดรายได้ ไม่มีเงินซื้ออาหารประทังชีวิต จนอาจจะต้องหยุดเรียนเพื่อมาช่วยพ่อแม่ทำงานหาเลี้ยงปากท้อง

“น้องปอนด์” ด.ญ.มนชยา สวัสดี ออกเดินเร่ขายดอกไม้ไหว้พระไปตามร้านอาหารและวิหารพระมงคลบพิตรทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจนค่ำ เพื่อช่วยครอบครัวหารายได้เนื่องจากมีภาระต้องดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์ จ่ายค่าเช่าบ้าน และค่าของกินของใช้ในครอบครัว เนื่องจากฐานะยากจน ไม่มีงานทำ

ส่วนที่จ.ขอนแก่น  มีการสำรวจคนไร้บ้านขอนเเก่น ดันโมเดล​ “Food Stamp” เข้าถึงอาหารเร่งด่วน​ หนุนเศรษฐ​กิจรายย่อย โดย อาสาสมัครจากกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน (Friends Of The​ Homeless)​ ลงพื้นที่สาธารณะ​ในเขตเทศบาล​นครขอนเเก่น​ จำนวน​ 6 จุดใหญ่​ ๆ​ ที่มีคนไร้บ้านอาศัยอยู่​ อาทิ​ บึงเเก่นนคร​ วัดหนองเเวงอารามหลวง​ บขส.เก่า​ ใต้สะพานรถไฟทางคู่​ ศาลหลักเมือง​ เส้นถนนกลางเมือง เป็นการสำรวจข้อมูล​สถานการณ์​ผลกระทบเบื้องต้นที่เกิดขึ้นกับคนไร้บ้าน​ในช่วงสถานการณ์​โควิด-19​ ระลอก​ 3 อาทิเช่น​ ความรู้เกี่ยวกับโควิดเเละการเข้าถึงหน้ากากอนามัย​ ผลกระทบจากมาตรการห้ามรวมกลุ่มหรือปิดกั้นพื้นที่สาธารณะ​ การเข้าถึงที่พักชั่วคราวเพื่อกักตัว​ ผลกระทบต่อรายได้เเละการเข้าถึงอาหาร​ ฯลฯ​ โดยส่วนใหญ่พบว่าจากสถานการณ์​โควิด​ มีผลกระทบต่อรายได้การจ้างงาน​ นำสู่การขาดเเคลนอาหารจำนวนมาก​

การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังได้มีการเเลกเปลี่ยนเเนวทางการช่วยเหลือระยะเร่งด่วน​ (3เดือน) ร่วมกับคนไร้บ้านในจุดต่าง​ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงอาหารได้ในภาวะวิกฤติ​ โดยมีการเสนอไอเดียการระดมทรัพยากรหรือทุนทรัพย์​ไปอุดหนุนร้านอาหารในชุมชนพิกัดใกล้เคียงที่คนไร้บ้านพักอาศัย​ ผ่านระบบ “คูปองอาหาร” (Food Stamp)​ สำหรับซื้ออาหารของคนไร้บ้าน​ มีเป้าหมายทั้งการให้คนเปราะบางคนไร้บ้านเข้าถึงอาหารบริโภคประจำวัน​ เเละยังเป็นการสนับสนุนร้านอาหารรายย่อยในช่วงภาวะเศรษฐกิจ​ฝืดเคือง​ ซึ่งสมาชิกคนไร้บ้านมีความสนใจในไอเดียนี้เป็นอย่างมาก หลังจากนี้คาดว่า​ กลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน​ จะได้เริ่มทดลองดำเนินการได้ในเร็ว ๆ นี้

ที่ จ.ระยอง ส่งมอบถุงยังชีพสู่ชุมชนแรงงานข้ามชาติบนเกาะเสม็ด โดยมูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับ สภากาชาดไทย ส่งมอบถุงยังชีพให้กับผู้ใหญ่สุธน เป็นตัวแทนรับมอบและส่งต่อถุงยังชีพให้กับชุมชนแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกกักตัว 100 ชุด ประกอบด้วยเครื่องบริโภค อาทิข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำดื่ม นม รวมถึงอุปกรณ์ป้องกัน หน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่ หน้าการสำหรับเด็ก สบู่ล้างมือและแอลกอฮอล์ล้างมือ สำหรับ 100 ครอบครัว ที่ยังอยู่ระหว่างการกักตัว ด้วยแรงงานข้ามชาติไม่สามารถออกนอกเกาะได้ อีกทั้งถูกกักตัว การเข้าถึงเครื่องมือป้องกันและเครื่องบริโภคต่าง ๆ เป็นไปอย่างอยากลำบาก

เข้มงวดการปฏิบัติศาสนกิจหลายพื้นที่

สำนักจุฬาราชมนตรีออกประกาศ ฉบับล่าสุด (6 พ.ค. 64) เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ว่าด้วยการปฏิบัติศาสนกิจละหมาดอีฏิ้ลฟิตร์ (การละหมาดในเทศกาลฮารีรายอ) โดยแบ่งเป็น 1.จังหวัดที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กรุงเทพฯ, ชลบุรี, เชียงใหม่, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ) ให้ละหมาดที่บ้านภายในครอบครัว โดยใช้มาตรการเดียวกับมัสยิด (เว้นระยะห่าง), 2.จังหวัดที่ควบคุมสูงสุด 45 จังหวัด ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพิจารณาร่วมกับผู้ว่าและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าพบว่ายังเป็นพื้นที่เสี่ยงก็ให้งดการละหมาด แต่หากพิจารณาว่าสามารถละหมาดได้ก็ให้ทำตามมาตรการป้องโควิดอย่างเข้มงวด 

ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเพณีใส่ขันดอก บูชาเสาอินทขีลหรือเสาหลักเมืองเชียงใหม่ ต้องงดจัดงานเป็นปีที่ 2  เนื่องจากการระบาดของโควิด 19 ต่อเนื่อง โดยการบูชาเสาอินทขิลจะจัดขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนเป็นประจำทุกปี เพื่อบูชาเสาหลักเมืองและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ปีนี้ตรงกับวันที่ 8 – 14 พ.ค. และพิธีออกอินทขีล วันที่ 15 พ.ค. แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งแม้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะลดลงแต่ยังไม่อาจวางใจได้ วัดเจดีย์หลวงและเทศบาลนครเชียงใหม่จึงคงจัดกิจกรรมไว้เพียงพิธีกรรมถวายเครื่องพลีกรรมสักการะ และศาสนพิธีสงฆ์ตลอด 7 วันเท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้ประชาชนร่วมพิธี และงดการตั้งโตกบูชาดอกไม้ หรืองดการใส่ขันดอกอีกปี

ส่วนที่จังหวัดยโสธร ยังจัดบวงสรวงพญาแถน แต่ไม่จัดงานบุญบั้งไฟ

เทศบาลเมืองยโสธร จัดทำพิธีบวงสรวงถวายเครื่องสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟวิถีใหม่ (New Normal) จังหวัดยโสธร ประจำปี 2564 ณ ฐานบั้งไฟ (สวนสาธารณะพญาแถน) แม้ไม่ได้มีการจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และจำกัดคนเข้าร่วมงาน แต่วัตถุประสงค์ครั้งนี้ก็เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ให้สืบทอดแก่เยาวชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้จารีตประเพณีที่สืบทอดและปฏิบัติกันมาแต่ครั้งอดีต

ความเคลื่อนไหวในการรองรับผู้ติดเชื้อ

จังหวัดพังงา เตรียมเปิดโรงแรมเป็นที่กักตัวบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้พบผู้ป่วยโควิดเป็นผู้ป่วยในที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้มีเจ้าหน้าที่สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนหนึ่งต้องกักตัว ทางจังหวัดเลยมีแนวคิดเปิดโรงแรมเป็นพื้นที่รองรับการกักตัวของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะ ด้านอบจ.พังงาทุ่มงบอีกกว่า 10 ล้านบาท ในการจัดซื้อจุดตรวจเชื้อโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลพังงาและโรงพยาบาลตะกั่วป่า รวมกว่า 4 ล้านบาท และจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในการป้องกันการแพร่ระบาดอีกกว่า 6 ล้านบาทให้กับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา

จังหวัดสงขลา วันนี้ (7 พ.ค. 64) จะมีการตรวจเชิงรุกพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จำนวนกว่า  300 คน หลังพบพนักงาน 3 คน ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ร้านอาหารในจังหวัดสงขลาและล่าสุดพบผู้ติดเชื้อครบทุกอำเภอแล้ว

ที่จ.เชียงใหม่ ในส่วนของโรงพยาบาลสนามแม้ว่าบางพื้นที่จะมีการปิดตัวลง อย่างโรงพยาบาลสนาม ม.แม่โจ้ แต่หลายพื้นที่ก็มีการเตรียมความพร้อมในหลายพื้นที่ เช่น พะเยา มีการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ณ เรือนจำจังหวัดพะเยา หรือพื้นที่จังหวัดตากก็เตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาตาก ไว้รองรับกรณีมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนมาก ส่วนโรงพยาบาลในสังกัดอว. หลายแห่งก็มีการจำหน่ายผู้ป่วยออก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ทีมเครือข่ายสื่อพลเมืองจะตามต่อในแง่ของการจัดการ การช่วยเหลือต่อไป

มหาวิทยาลัยทยอยออกมาตรการช่วยเหลือนักศึกษา

ประเด็นด้านการศึกษาในพื้นที่ หลังจากมีการเลื่อนการปิดเทอม เรียนออนไลน์ ตอนนี้หลายมหาวิทยาลัยมีมาตรการที่จะช่วยดูแลนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ เช่น  ม.เชียงใหม่  มีการประกาศจะลดค่าเทอม ค่าหอพัก ส่วน ม.พะเยา ก็ลดค่าเทอม ค่าหอพัก พร้อมกับกำลังหามาตรการจ้างงานออนไลน์

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปรับเงื่อนไขสำคัญ ด้วยการยกเลิกผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน ในการกู้ยืมใหม่ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป และมีมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมรายเดิม ประกอบด้วย

  1. ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี จากเดิม 1% ต่อปี เฉพาะผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.  – 31 ธ.ค. 64
  2. ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิด จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 ประกอบด้วย
    1. ลดเบี้ยปรับ 100% กรณีชำระหนี้ปิดบัญชี สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกรายที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี
    2. ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ
    3. ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว
    4. ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
  3. ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564
  4. งดการขายทอดตลาด ทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และ/หรือผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไว้จนถึงสิ้นปี 2564 โดยกองทุนจะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืมเงิน และ/หรือผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ผู้รับจำนองที่ยึดไว้ (ถ้ามี)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ