ธุรกิจท้องถิ่นโคม่า -ร้องรัฐเร่งอัดออกซิเจนฟื้นฟู

ธุรกิจท้องถิ่นโคม่า -ร้องรัฐเร่งอัดออกซิเจนฟื้นฟู

แม้การรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 จะไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ หรือเคอร์ฟิว แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโดยภาพรวมของประเทศที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการควบคุมโรคก็ประกาศออกมาเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าหลายแขนงกำลังอยู่ในอาการโคม่า

กิจการร้านอาหาร เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัด ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ที่ถูกห้ามไม่ให้มีบริการนั่งรับประทานอาหารในร้านเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-14 พ.ค.

และหนีไม่พ้นที่เมืองใหญ่ ที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่จะได้รับผลกระทบหนัก แม้ขณะนี้แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระดับจังหวัดจะลดลงต่อเนื่องอยู่ในหลักสิบจากเดิมที่อยู่ในหลักร้อยมาแล้วหลายวัน  เสียงคนค้าขายใน จ. เชียงใหม่ ว่าได้รับผลกระทบเริ่มหนาหู  อย่างเช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว อาหารที่นิยมที่จะต้องรับประทานร้อน ๆ และนั่งรับประทานที่ร้านถึงจะอร่อย ร้านแรกบอกว่า ตั้งแต่ห้ามนั่งในร้านยอดขายลดลงมากกว่าครึ่งต้องปรับตัวนั่งรอลูกค้ากว่าจะขายหมด ปกติซื้อของมาจะขายวันต่อวัน ตอนนี้บางครั้งขายสองถึงสามวันของถึงจะหมด เงื่อนไขสำคัญคืออยากให้ผ่อนปรนมาตรการให้นั่งรับประทานในร้านได้

แม่ค้าอีกราย ปกติเธอเปิดร้านตั้งแต่ 4 โมงเย็นไปจนถึงเที่ยงคืน เธอบอกว่าเริ่มกระทบหนักตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ประกาศมาตรการคุมเข้ม ก่อนหน้านี้ให้นั่งในร้านได้ถึงสามทุ่ม และซื้อกลับบ้านได้ถึงห้าทุ่ม เธอบอกว่าช่วงนั้นไม่กระทบมากแต่รอบนี้กระทบยอดขายมากเลย เนื่องจากประกาศออกมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ห้ามนั่งรับประทานในร้านยังไม่พอ แถมยังจำกัดระยะเวลาการขายได้เพียงสามทุ่มเท่านั้น 

เธอบอกว่า รู้สึกถูกเลือกปฏิบัติ ระยะเวลาเธอขายสั้นลงแต่ว่าภาครัฐอนุโลมให้ร้านสะดวกซื้อเปิดขายได้จนถึงห้าทุ่มหรือ 23.00 น. เหมือนเช่นเคย ข้อเสนอของเธอ คือ หากไม่ให้นั่งรับประทานในร้านก็ขอให้ขยายระยะเวลาการขายได้ถึงห้าทุ่มเหมือนร้านสะดวกซื้อ

นอกจากนั้นยังมีเสียงและข้อเสนอจากผู้ประกอบการร้านกาแฟเล็ก ๆ ใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งในเวลาปกติแล้ว คนจะนิยมมานั่งเล่นเพื่อถ่ายรูป ที่ร้านกาแฟของเขา ก่อนหน้านี้ที่คนเริ่มทำงานที่บ้านเพิ่มมากขึ้น ทำให้ร้านเริ่มมีรายได้ที่หายไปถึงราว 80% แต่ทางร้านก็พยายามปรับตัวและรับมือมาพอสมควร พอมีประกาศห้ามนั่ง รายได้ของทางร้านจึงมาจากการสั่งกลับบ้าน หรือฟู้ดเดลิเวอรี ซึ่งนอกจากร้านของเธอแล้ว แต่ละร้านจะได้รับผลกระทบหนักเบาต่างกันไป

ในฐานะผู้ประกอบการ อยากขอให้มีการผ่อนคลายมาตรการ ให้สามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ โดยวางเงื่อนไขตามมาตรการของสาธารณสุข เช่น ร้านที่เคยนั่งได้ 100% ก็ปรับเว้นระยะห่างให้สามารถนั่งได้ไม่เกิน 50%

นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ พร้อมคณะกรรมการสมาคม ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เรื่อง “ขอทบทวนคำสั่งห้ามบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ร้าน” โดยยื่นผ่านทางนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกจดหมายปรึกษาหารือไปยังผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยทันที แต่ยังไม่มีคำตอบ

ธนิต บอกว่า ขณะนี้แนวโน้มของตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเชียงใหม่ดีขึ้น โดยตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจากเดิมตัวเลขหลักร้อย ลดลงสู่ตัวเลขหลักสิบ แต่ไม่ทราบว่าจะมีตัวเลขที่ยังไม่รายงานเท็จจริงหรือไม่ จึงเป็นสาเหตุให้จังหวัดเชียงใหม่ถูกนำไปอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม

โดยจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนร้านอาหารทุกประเภทรวมกันกว่า 14,751ร้าน (อ้างอิงข้อมูลจาก www.wongnai.com) ผู้ประกอบการและพนักงานลูกจ้างกว่า 80,000 คน ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ทางรัฐบาลมีการเยียวยาให้ประชาชนในกลุ่มนี้อย่างไร

ผลที่ตามจากมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น ทำให้ตอนนี้ผู้ประกอบการหลายรายที่กำลังจะฟื้น กลับกระทบหนัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ อย่างตัวเขาเองที่ทำร้านอาหารใหญ่ ซึ่งต้องสต็อกของล่วงหน้ามูลค่าสูง กระทบหนัก ต้องลงทุนสูง ทั้งพนักงานในร้าน  หลายร้าน เลือกที่จะหยุดกิจการชั่วคราว เพราะประเมินจากซื้อกลับบ้านหรือ take away ต้นทุนยังสูงแต่รายรับเหลือเพียงแค่ 10% 

ข้อเสนอของผู้ประกอบการร้านอาหารขอให้มีการผ่อนคลายมาตรการสามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ โดยวางเงื่อนไขตามมาตรการสาธารณสุข เช่น ร้านที่เคยนั่งได้ 100% ก็ปรับเว้นระยะห่างให้สามารถนั่งได้ไม่เกิด 50% โดยเฉพาะร้านอาหารที่ค่อนข้างโล่งกว้าง สามารถเว้นระยะห่างได้ 1-2 เมตร ภาครัฐอาจจะต้องแยกแยะร้าน เพื่อจัดการให้เหมาะสม 

“ร้านอาหารส่วนใหญ่ในเชียงใหม่กว่า 14,000 ร้าน ส่วนใหญ่เป็นร้านขนาดกลางลงมาเล็ก ภาครัฐควรหาแนวทางรองรับโดยเฉพาะแหล่งเงินทุนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กนี้ด้วย เนื่องจากมาตรการที่ภาครัฐเคยออกมานั้นผู้ประกอบการรายเล็กเข้าไม่ถึง หรือเข้าถึงแบบมีเงื่อนไขซับซ้อน ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นที่เขาล็อกดาวน์ล่าสุดไม่กี่ที่ผ่านมา เขาก็มีเงินทุนให้ร้านอาหารโดยเฉพาะที่จะเยียวยา หรือชดเชยได้ทันทีเลย”

หากมองข้อเสนอในระยะยาวคงหนีไม่พ้นเรื่องของวัคซีน แน่นอนว่าเวลาเราพูดถึงวัคซีนเรามักจะมองไปที่กลุ่มเสี่ยง ด่านหน้าที่ต้องเผชิญก่อน แต่หากมองในมุมของผู้ประกอบการกลุ่มร้านค้าหลายๆ รายย่อย เขาเองคือด่านหน้าที่จะสัมผัสกับผู้คน ที่สร้างเศรษฐกิจให้กับเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง

สรุปมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้าง ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารในเชียงใหม่เสนอ

  1. มาตรการยืดหรือขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้ทั้งเงินทุนรวมถึงการผ่อนรถ 
  2. สินเชื่อ Soft loan ที่จริงจังปรับเงื่อนไขลดลงให้สามารถเข้าถึงได้จริงสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย
  3. ข้อเสนอที่จะช่วยเหลือลูกจ้างในระบบตามมาตรา 33 
  4. ข้อเสนอช่วยเหลือลูกจ้างนอกระบบ
  5. ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ยกตัวอย่าง การขยายขยับเวลาการชำระภาษีหรืองดเว้นภาษีบางอย่าง เช่น ภาษีท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระทุกเดือน

สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ คือผู้ประกอบการให้พนักงานประจำร้านหยุดงาน และไม่มีค่าจ้างหรือไม่สามารถจ่ายค่าจ้างได้เนื่องจากว่าเขารับค่าจ้างเป็นรายวันอยู่แล้ว ดังนั้นลูกจ้างก็ต้องดิ้นรนหางานทำเองบางคนเลือกที่จะไปขับแกร็บ เพื่อที่จะได้หลายได้มาเลี้ยงชีพประจำวัน ซึ่งบางคนเพิ่งซื้อรถมอเตอร์ไซค์ใหม่ ก็อาจจะโดนยึดในอีกสองเดือนข้างหน้า หากมาตรการรัฐไม่ออกมา ก็อาจให้บริษัทไฟแนนซ์ยืดระยะเวลาการผ่อนค่างวด

คำถามต่อไป จะมีออกซิเจนที่จะช่วยต่อลมหายใจธุรกิจท้องถิ่นที่กำลังโคม่า เสมือนอยู่ในห้องไอซียูขณะนี้หรือไม่?

ชวนชมเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการในพื้นที่สีแดงเข้ม และข้อเสนอ กับนักข่าวพลเมือง C-SITE

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ