เสี่ยงสูง แต่รวมใจสู้ : เมื่อชุมชนนางเลิ้งเผชิญหน้าโควิด 19 ระลอกสาม

เสี่ยงสูง แต่รวมใจสู้ : เมื่อชุมชนนางเลิ้งเผชิญหน้าโควิด 19 ระลอกสาม

นักข่าวพลเมือง C-site ตอน เฝ้าระวังชุมชนนางเลิ้ง กรุงเทพฯ

“ย่านนางเลิ้ง” เป็นอีกชุมชนกลางกรุงที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และกำลังหาทางจัดการให้ทุกชีวิตรอดจากโควิด 19 ระลอกสาม

ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 18 ราย และวันที่ 27 เม.ย. 64 ตรวจพบเพิ่มเติมอีก 4 คน ส่วนใหญ่ติดมาจากสถานที่ทำงานเกือบทั้งหมด ส่วนคนที่ต้องกักตัวดูอาการเป็นส่วนใหญ่จะสัมผัสใกล้ชิดคนในครอบครัวเดียวกัน  

แม้วันนี้ภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ในชุมชนนางเลิ้ง ผู้ติดเชื้อจะได้เตียงรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว แต่ก็ยังพบผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต้องกักตัวในชุมชน ซึ่งคือในบ้านพักที่อยู่เรียงรายใกล้ชิด เลยทำให้ต้องช่วยกันเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ที่ผ่านมาคนในชุมชนนางเลิ้ง มีบททดสอบชีวิตหลายเรื่อง เช่น ต้องเผชิญกับการจะถูกไล่รื้อจากการพัฒนาของเมืองใหญ่ เพราะเป็นพื้นที่เป้าหมายการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งคนที่นี่ต้องลุกมาต่อสู้ด้วยการรวมกลุ่มพัฒนาย่านให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และครั้งนี้ต้องสู้อีกครั้งกับสถานการณ์โควิด-19 รอบสาม

รายการนักข่าวพลเมือง C-Site ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่แดง หรือคุณสุวัน แววพลอยงาม ผู้นำชุมชนนางเลิ้ง ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  

นักข่าวพลเมือง C-site ตอน เฝ้าระวังชุมชนนางเลิ้ง กรุงเทพฯ

ชาวนางเลิ้งรับมือกับโควิด-19 รอบแรกกับรอบสาม มันต่างหรือหนักเบาต่างกันอย่างไรบ้าง?

พี่แดง : ต่างกันมาก รอบแรกพวกพี่ไม่มีทิศทางอะไรเลย แต่เนื่องจากการทำงานของชุมชนนางเลิ้งซึ่งมีความเข้มแข็งด้วยตัวของมันอยู่แล้ว สามารถจัดการในระบบของผู้ช่วยเหลือได้

ในครั้งแรก ผู้ช่วยเหลือจะมาจากภาคประชาสังคมต่าง ๆ ทั้งอาจารย์ นักศึกษาเข้ามาคนช่วยเยอะมาก เครือข่ายสวนผักคนเมือง และกลุ่ม SOS แต่ครั้งนี้แทบจะไม่มีจากภายนอกเลย เหลือแค่กลุ่ม SOS กับสวนผักคนเมืองซึ่งจะมาในวันศุกร์นี้ (30 เม.ย.) แตกต่างกันคือคนช่วยน้อยลง แต่ชุมชนมีความเข้มแข็งมีการจัดระบบตนเองค่อยข้างดี ว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางอาหาร

ชาวชุมชนนางเลิ้งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอะไร ความกังวลใจของชุมชนมีเรื่องอะไรบ้าง?

พี่แดง : คนที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นทั้งนั้นเลย นำมาติดครอบครัว ลักษณะของบ้านที่นี่เป็นหลังเล็ก ๆ เขาก็มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีประสบการณ์จากการเจอโควิดรอบแรก ข้อดีคือคนในชุมชนรู้ว่าจะมาแจ้งกับใคร รู้ว่าพี่เป็นอาสาสมัคร  ชาวบ้านกับชุมชนก็ช่วยกันล้วน ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับภาครัฐ ความกังวลใจของพี่ตอนนี้ก็คือการจัดการจากภาครัฐมากกว่า จะช่วยอย่างไร จะทำอย่างไร จะไปส่งต่อยังไง เพราะถ้าไม่ชัดเจนผู้คนก็เกิดการหวาดระแวง

ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนตอนนี้อยู่กันหนาแน่นไหม การแยกกักตัว หรือจะเว้นระยะห่างทางสังคมในชุมชนทำได้มากน้อยแค่ไหน

พี่แดง : พูดตามความจริง ห้องก็เล็กอยู่แล้ว เป็นแฟลตก็ต้องนอนรวมกัน พ่อ แม่ ลูก หลาน เรื่องการเว้นระยะห่างคือทำไม่ได้เลย  เรื่องการกักตัวคือกักกันเองในห้องของตัวเองเท่านั้น ค่อนข้างแออัดเกินไป อย่างมีคุณยายมีลูกห้าคนอยู่บ้านหลังเดียวกัน แออัดมาก ห้องน้ำเดียวกัน กินก็ต้องเดินผ่านคนแก่ที่นอนข้างล่าง อันนี้คือความเสี่ยงสูงมากเลย

ตั้งแต่เกิดโควิด-19 รอบแรกนี้ชุมชนช่วยตัวเองกัน แล้วมีหน่วยงานไหนเข้าไปหรือยัง

พี่แดง : ที่ผ่านมาคือร้อยเปอร์เซ็นต์ คือชุมชนช่วยตัวเอง แต่สิ่งที่เราภูมิใจที่สุดเรามีคนช่วยหลายกลุ่ม เราก็มีการจัดสรรกันค่อนข้างดี แบ่งเป็นแขวงห้าชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงเชื่อมโยงกัน เราแบ่งคนไปเลยว่าดูพื้นที่ไหน และแจ้งเข้ามาในไลน์กลุ่ม และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเป็นคนรวบรวมและให้อาหารวันละสามมื้อ ผลไม้ หน้ากากอนามัยและน้ำมันก็เลยทำให้ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน พ่อค้าแม่ค้า กลืนไปในที่เดียวกันทำให้ระบบเราค่อยข้างดี

แม้จะเสี่ยงสูง ยากที่จะเว้นระยะห่าง ก็เลยต้องรวมใจรวมกลุ่มกันต่อสู้ จัดการ ช่วยเหลือกันในชุมชน แต่ไม่มีใครรู้ว่าการระบาดของโควิด 19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด พี่แดงและคนที่นี่ก็กำลังพยายามจัดระบบหาแนวทางที่ต่อยอดให้ดีขึ้นกว่าเดิมอยู่ เพื่อความปลอดภัยของทุกชีวิตที่นี่

ลิงก์รับชมรายการย้อนหลัง

https://web.facebook.com/ThaiPBS/videos/4023896601023593

สำหรับใครที่ ป่วยโควิด-19 แต่ยังหาเตียงไม่ได้ อยากปรึกษาคุณหมอทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

แอปพลิเคชัน C-site เป็นอีกหนึ่งช่องทางของไทยพีบีเอส ที่เมื่อไหร่คุณหรือชุมชนประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือ อย่าลืมให้ “C-site ช่วยดูแลคุณ” เพียงแสกนคิวอาร์โค้ดที่ปรากฏนี้ หรือกดลิ้ง https://1th.me/0ZA4f และปักหมุดพิกัดมาถึงเรา ได้ 24 ชม. ทีมงานจะติดต่อกลับและประสานไปยังศูนย์ฉุกเฉิน ไทยพีบีเอส สู้โควิด-19 ให้อีกทาง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ