“ภายใต้ความยุ่งเหยิง สับสนและยากลำบาก บุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่ง อาสาที่จะช่วยเหลือ ตอบคำถาม ประเมินอาการ และปลอบใจ ผู้ที่ติดเชื้อและผู้ที่มีความกังวล สามารถ add line @cocare ได้ครับ”
ข้อความของหมอก้อง นายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ CEO โรงพยาบาล กรุงเทพพัทยา ผู้ก่อตั้ง Thai CoCare ถูกสื่อสารในช่วงค่ำของวันที่ 24 เม.ย. เป็นวันที่แพลตฟอร์มไลน์ @cocare เริ่มเปิดให้บริการตอบคำถาม ให้ข้อมูลและเยียวยาจิตใจให้กับผู้ที่มีความกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด หรือต้องกักตัว ดูแลตนเองระหว่างรอเตียง……
การระบาดโควิดระลอกใหม่ ที่แพร่กระจายเกิดผู้ติดเชื้อ ตลอดจนกลุ่มเสี่ยงกระจายไปเกือบทั่วทั้งประเทศ ทีม CoCare ประกาศตัวที่กลับมาทำงานอาสาในปี 2564 อีกรอบ โดยทีมหมอและพยาบาลอาสาสมัครที่เคยช่วยกันทำงานรับมือกับสถานการณ์โควิดในรอบแรกจำนวหนนึ่ง ประชุมพูดคุยกันอย่างเร่งด่วน เมื่อเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ที่คนยังสับสน กังวล คนไข้อยู่ระหว่างรอเข้าถึงบริการทางการแพทย์ รอเตียง คนที่กังวลไม่รู้จะไปตรวจโควิดที่ไหน ต้องอยู่ที่บ้านด้วยความกังวล เครียด และยังต้องดูแลคนในครอบครัว
หากมีอาสาสมัครบุคลากรทางแพทย์ให้คำปรึกษาด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านมือถือ ช่วยเชื่อมต่อระหว่างทีมอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ที่ยังกังวล สงสัย ประเมินตนเอง หรือผู้ที่ต้องดูแล สังเกตอาการของตัวเองอยู่ที่บ้านระหว่างรอเตียง การปฏิบัติตัวที่ถูกวิธีจะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อ ลดจำนวนคนไปโรงพยาบาล ลดภาระของแพทย์และพยาบาล ทำให้มีอุปกรณ์และเตียงเพียงพอสำหรับรองรับคนที่มีอาการที่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ
24 ชั่วโมงแรงของการเริ่ม งานอาสาสมัคร CoCare ระลอกใหม่ ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ 69 ท่านที่อาสาเข้ามาช่วยกันให้ข้อมูล ตอบคำถาม และให้กำลังใจ กับคนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของ Covid-19 มีคนเพิ่มเข้ามาในไลน์ 1,069 คน มี 2,109 ข้อความ อาสาสมัครกรุณาตอบกันจนถึง 23:00 น.
การทำงานของอาสาสมัคร CoCare ในปี 2564 ทำงานผ่านแพลตฟอร์มไลน์ Line Official Account เพื่อให้ง่ายต่อผู้เข้ามาสอบถาม ผู้ที่มีข้อสงสัยมีความกังวลใจใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยมีอาสาสมัคร 3 กลุ่มดูแล
- กลุ่มที่ 1 คือ เภสัชกร นักสาธารณสุข
- กลุ่มที่ 2 คือ พยาบาล
- กลุ่มที่ 3 คือ แพทย์ โดยหนึ่งทีมประกอบไปด้วยแพทย์ พยาบาล และนักสาธารณสุข
เมื่อมีผู้ขอรับปรึกษา ระบบจะมีพยาบาลคอยคัดกรองส่งต่อให้ทีมงานอาสาสมัครให้คำปรึกษาตามความระดับความเสี่ยง 3 ระดับ ได้แก่ เสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลางและเสี่ยงสูง
ข้อมูลที่จะให้คำปรึกษา แนะนำ จะมีคู่มือการกักตัวสำหรับคนทั่วไป ประกอบด้วยคำแนะนำที่จำเป็นในการกักตัวอย่างถูกวิธี ข้อแนะนำเมื่อมีอาการ รวมถึงการบันทึกอาการ เพื่อให้ผู้กักตัว หรือดูแลตนเองอยู่ที่บ้านสามารถใช้บันทึกอาการเองได้จากที่บ้าน โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ให้คำแนะนำที่เหมาะสม ผ่านการส่งข้อความ โทรคุย และวิดีโอคอลกับเจ้าหน้าที่ โดยที่ทีมคัดกรองและแพทย์สามารถติดต่อกลับได้เมื่อจำเป็น
TheCitizen คุยกับหมอไก่ แพทย์หญิงศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูแลด้านนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา ที่ร่วมเป็นหนึ่งในอาสาสมัคร CoCare
ทำไมถึงเขามาเป็นอาสาสมัคร?
เรื่องของ CoCare เริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว คือว่ามีกลุ่มคนที่สนใจเรื่องของอาสาสมัคร และอาจารย์ที่สนใจทางด้านเทคโนโลยี คิดว่าจะทำอย่างไรดีที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย covid ตอนนั้นจะเป็นผู้ป่วยที่เข้าข่ายต้องกักตัว ตามมาตรการของรัฐบาลที่ภาคใต้ เราก็รวมกลุ่มกัน นำทีมโดยอาจารย์ก้องเกียรติ เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านApplication ก็รวบรวมอาสาสมัครที่จะช่วยกันให้คำแนะนำผู้ที่อยู่ในสถานกักตัวของรัฐบาล เมื่อเสร็จภารกิจเราก็แยกย้ายกัน แต่ตอนนี้สถานการณ์โควิดบ้านเรามันเปลี่ยนไปในเชิงที่เราไม่สามารถควบคุม ลักษณะมันหลากหลายไม่เหมือนงานเดิมที่เราเคยทำ เราก็เลยปรับวิธีการใหม่ขึ้น ก็เลยคุยกัน รวมกลุ่มกันใหม่ก็เป็นโคแคร์ 2021
อาสาสมัครต้องทำอะไรบ้าง ?
เรามีทั้งทีมแพทย์ พยาบาล ทีมบุคลากรทางการแพทย์ ทุกคนเป็นอาสาสมัคร ไม่ได้มีอามิสสินจ้างหรืออะไรใดๆทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยทำงานด้วยกันในกลุ่มเดิมอยู่แล้ว หน้าที่ของเราคือให้ข้อมูล ตอบคำถาม ช่วยกันให้กำลังใจ ทั้งคนที่ติดเชื้อหรือยังไม่ติดเชื้อ แต่ส่วนใหญ่ตอนแรกก็จะเป็นลักษณะของคนที่ไม่ติดเชื้อแล้วก็มีความกังวลมากกว่าที่ติดต่อเข้ามา
ระบบรอบใหม่นี้ทำผ่าน line official @CoCare พอแอดเข้ามาสามารถที่จะทิ้งคำถามไว้ได้ เราก็จะมีอาสาสมัครเข้าไปช่วยตอบคำถามก็ขึ้นอยู่กับว่าใครว่างช่วงไหน ก็มาช่วยกันตอบแทน เพราะที่ผ่านมาเยอะแยะมากมาย เราก็เริ่มตอบเมื่อวันแรก แอดมากว่าพันคนก็เริ่มตอบกันไปน่าจะซักประมาณสาย ๆ จนกระทั่งถึงเที่ยงคืน โดยระบบตั้งใจจะเปิด 8:00 น ถึง 22:00 น ก็ตอบกันดึกหน่อย ก็ปิดระบบไปแล้วก็เช้าก็เริ่มต้นกันใหม่
ส่วนใหญ่คนที่เข้ามาถาม จะกังวลใจเรื่องอะไร ?
ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่กังวลแล้วต้องการอยากทราบว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ทำอย่างไรดี ไม่มั่นใจว่ามีประวัติเสี่ยงหรือแม้กระทั่งคนที่มั่นใจว่าตัวเองมีประวัติเสี่ยงหรือมีการสัมผัสกับคนที่มีความเสี่ยงแล้ว ก็สอบถามว่าอยู่ในความเสี่ยงกลุ่มไหน มีอาการแล้วจะต้องทำอะไรต่อ และคำถามที่มีมามากขึ้น ก็คือเรื่องของวัคซีน อันนี้มีมาเยอะพอสมควร ควรฉีดดีไหม ตัวนี้ดีไหม หรือเราเป็นโรคประจำตัว กินยาประจำ จะฉีดได้ไหม
เคสที่ทราบผลว่าติดเชื้อแล้วมีบ้าง ก็คืออยู่ในระหว่างที่กักกันตัวเองเพื่อรอเตียงหรือโรงพยาบาล ส่วนใหญ่เป็นเคสที่กรุงเทพฯ กลุ่มนี้ถ้าถามคำถามมาเราก็จะแนะนำระหว่างที่ต้องดูแลตนเองควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ที่จะไม่ไปเพิ่มความเสี่ยงให้กับชุมชนและก็คนรอบข้าง ก็แนะนำเบื้องต้น หรือให้คำแนะนำ ชี้ช่องทางให้ได้ว่าเมื่อคุณมีอาการแล้ว หรือคุณรู้ว่าตัวเองติดเชื้อแน่ ๆ จะมีช่องทางไหนที่จะต้องติดต่อเพื่อให้ได้เข้ารักษาตัวเร็วที่สุด แต่เราไม่สามารถหาเตียงได้
CoCare จะเป็นหนึ่งในคำตอบไหม หากจำเป็นต้อง home isolation?
อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ต้องบอกว่าถ้าแนวโน้มในอนาคต เรายังควบคุมการระบาดหนักไม่ได้ ปริมาณเตียงที่โรงพยาบาลมีอยู่ ควรจะต้องสงวนไว้สำหรับคนไข้ที่มีอาการหนัก ส่วนคนไข้ที่มีอาการน้อย ส่วนตัวถ้าเขามีความสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ มีความรู้ ทำ home isolation ได้จากที่มีโมเดลต่างประเทศ ซึ่งการทำ home isolation ถ้ามีคนคอยชี้แนะ หรือคอยติดตามเขา ว่าแต่ละวันก็มีอาการเป็นอย่างไรเพื่อเป็นการเสริมความมั่นใจ ว่าอาการของเขายังปกติดีอยู่นะ อันนี้น่าจะเป็นประโยชน์ แต่ต้องเน้นด้วยว่าอันนี้ควรจะทำในพื้นฐานที่ว่าคนไข้ต้องมีความรู้มีความรับผิดชอบตัวเอง แล้วต้องมีอุปกรณ์ที่จะมอนิเตอร์ตัวเองเป็นของตัวเอง เป็นส่วนตัว เช่น ในบ้านก็มีต้องมีปรอทวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในกระแสเลือด เครื่องความดัน และกรณีที่เขารู้สึกตัวว่าเขาป่วยควรจะต้องมีช่องทางที่เขาจะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานพยาบาลได้เร็วที่สุด อันนี้สำคัญอันนี้คือช่องทาง ทีมงานดูแล้วก็เริ่มมีความเสี่ยงควรจะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทำอย่างไร จุดนี้ยังเป็นช่องว่างอยู่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทางราชการช่วยเหลือกัน
The Citizen ได้คุยกับ ปอ ภราดล พรอำนวย อีกหนึ่งในทีมงานอาสาสมัคร CoCare ที่รับบทบาทด้านการสื่อสารสาธารณะ เพื่อทำความรู้จัก เป็นตัวแทนบอกเล่าทำความเข้าใจเหล่าอาสาสมัคร ThaiCoCare 2021
แม้ ปอ ภราดล พรอำนวย เป็นนักดนตรีและประกอบธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้เป็นบุคลากรด้านการแพทย์ แต่ก็เป็นหนึ่งในทีมอาสาสมัคร CoCare ที่ช่วยงานด้านสื่อสาร โดยปอบอกว่า ทำไปตามสัญชาติญาณ เพราะรู้ว่าเมื่อมีปัญหา ต้องมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในสังคม เลยพยายามค้นคว้าหาคำตอบว่ามีหนทางไหนที่จะเยียวยาความรู้สึกของผู้คนได้บ้าง
ทำไมถึงมาเป็นอาสาสมัคร CoCare
ตอนที่โควิดเริ่มระบาดใหม่ ๆ ผมได้ร่วมทำอาหาร ทำครัวกลางขึ้นมาในชุมชน ต่อมาได้รับรู่ข่าว ข้อมูลสถานการณ์ของผู้ได้รับผลกระทบของกลุ่มไร้สัญชาติ หรือคนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ หรือเป็นบุคคลชั้นสองในสังคม ก็ทำเรื่องระดมข้าวและได้ร่วมงานกับคุณหมอก้องอย่างจริงจัง ได้คุยกับทีมของพี่หมอก้องว่าควรจะต้องมีการจัดการเรื่องข้าว เพื่อจัดสรรให้กับผู้ที่ขาดแคลนอย่างเป็นระบบได้อย่างไร เพราะเราคงไม่สามารถระดมการบริจาคได้ตลอด
ก็ได้ร่วมงานกับหมอก้องตลอดทั้งปี เพราะเรียนรู้เรื่องการทำงานเชิงระบบ วิธีการจัดการจัดตั้ง ไปปลูกข้าว ไปตามอ่านงานวิจัยมากมายไปหมดเกี่ยวกับเรื่องเกษตรอินทรีย์ในเรื่องข้าว การแปรรูป การจัดการ ทำอย่างไรที่จะเป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้ ก็มาเจอการระบาดระลอก 3 ที่เรียกว่ารุนแรงและรวดเร็ว แรงกระแทกก็สุด ๆ ไปเลย
“มันไม่น่าเชื่อว่าเมืองเชียงใหม่เมืองเล็ก ๆ คนระดับ 3 แสนคนจะมีผู้ติดเชื้อหลายพันคน ถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ ที่มีคนกว่า 10 ล้าน มันต่างกันเป็น 10 เท่า ผมทำร้านอาหาร เล่นดนตรีด้วย รอบนี้ปิดร้านก่อนใครเลย เอาตรง ๆ นะ ขาดทุนครับ พอเริ่มมีข่าวการระบาดของโควิดมันมีสัญญาณไม่ดี ดูบัญชีสองวันก็เห็นว่ามันไม่น่าจะดี ครอบครัวก็กังวล ก็เลยปิดในวันที่ 7 เม.ย. พอวันที่ 8 เม.ย. ก็มีเพื่อนนักดนตรีโพสต์ว่าเขาไปในสถานที่เสี่ยงและพบว่าติดเชื้อโควิดในวันที่ 9 ในกลุ่มก็คุยด้วยความกังวลและไปตรวจโควิดกันเป็นส่วนใหญ่”
ตอนนั้นก็ปรึกษาคุณหมอว่ามันมีอะไรที่พอจะช่วยได้บ้าง คุณหมอก็เลยพูดถึง CoCare ที่ได้เริ่มทำเมื่อปีที่แล้ว แต่ปิดไปแล้ว ก็เลยคุยกันว่ามันจะมีประโยชน์ไหมถ้าจะกลับมาทำ คุณหมอก็เลยเริ่มปฏิบัติการ CoCare ปี 2021 ขึ้นมา
“เข้าใจว่าทุกคนมีประสบการณ์มีภูมิคุ้มกันทางสังคม ผ่านโควิดระลอกแรกมาได้ คิดว่าทุกคนรู้กระบวนการจัดการเครือข่ายที่ต้องมีการจัดตั้ง กรณีของ CoCare เห็นได้ชัดว่า ถ้าไม่มีการเริ่มมาตั้งแต่การระบาดครั้งแรก การจัดตั้งครั้งที่ 2 ก็จะยากมาก ถ้าไม่มีการเรียนรู้ข้อผิดพลาดต่าง ๆ”
กลุ่มภาคประชาสังคมอื่น ๆ ก็เริ่มเหนื่อยล้า เนื่องด้วยโรคระบาดและไปสัมพันธ์กับเรื่องเศรษฐกิจ เพราะกำลังและทรัพยากรถูกใช้ไปเยอะ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นฐานสำคัญ การขับเคลื่อนแคมเปญการช่วยเหลือต่าง ๆ ก็ลดถอยลง ตรงนี้แหละที่มันทำให้เห็นพลังของเครือข่ายมากขึ้น ยิ่งเจอสถานการณ์กดดัน ความเป็นเครือข่าย มิตรภาพเป็นเรื่องสำคัญ มันซื้อขายและใช้ความเชื่อใจระหว่างกัน
ความกังวลที่ปอได้เจอกับตัว เชื่อมโยงกับ ThaiCoCare อย่างไรบ้าง หรือมีความกังวลทางสังคมอะไรไหมที่ปอสัมผัสได้และอยากจะเล่า
หนึ่งมันเป็นความเครียด กังวลใจ อย่างในมุมของคนประกอบธุรกิจมันหนักมาก ๆ สองมันกระทบกับโดยตรงเรื่องสุขภาพ มันกังวลว่าระบบสาธารณสุข สุขภาพจะล่มสลายไหม ถ้าบุคลากร เตียง เครื่องมือทางการแพทย์ หรือทรัพยากรทางสุขภาพต่าง ๆ ไม่เพียงพอ มันก็จะทำให้ศักยภาพของระบบสุขด้านต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่โควิดมันลดลง เช่น เลือดในคลังขาด เตียงไม่เพียงพอ
“การสร้างความรู้ความเข้าใจในสังคมเกี่ยวกับข้อมูลที่มี การสื่อสารกับสังคมและความเข้าใจเรื่องวัคซีน การทำความเข้าใจการกระจายทรัพยากรแบบไม่รวมศูนย์จัดการ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เข้ามาเพื่อทดสอบว่าระบบที่ใช้อยู่มันใช้ได้หรือไม่ มันเป็นเรื่องความเชื่อมั่นของคนในสังคม ยิ่งคนมีความกังวล มันก็บอกได้ว่าคนมันไม่เชื่อมั่นในระบบ หรือทำให้เขาวางแผนอนาคตของตัวเองไม่ได้ มันก็เลยเกิดสภาวะแบบนี้ขึ้น”
หน้าที่ของปอใน CoCare คืออะไร
Thai CoCare เป็นระบบอาสาสมัคร มีการวางโครงสร้างการจัดการ จะแบ่งกลุ่มจัดการอย่างไรให้อาสาสมัครที่เข้ามานับ 100 กว่าคน เห็นภาพตรงกัน องค์ประกอบเหล่านี้มีในหลายมิติ ส่วนตัวผมมาทำหน้าที่สื่อสารสาธารณะ เพื่อจะอธิบายระบบว่าเป็นอย่างไร เราต้องการหนุนเสริมอะไร
“ระบบนี้จะไปแบ่งเบาภาระ โดยใช้ระบบ telecare กึ่ง ๆ Homecare ถึงแม้ว่ารัฐจะยังไม่ประกาศแนวทางเรื่องโฮมแคร์แบบ home isolation แต่ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงขึ้นไป ทรัพยากรด้านสาธารณสุขก็มีจำกัด ก็จะต้องคิดเรื่องมาตรการดูแลตัวเองที่บ้าน ซึ่งระบบนี้ก็อาจจะเข้ามาเสริมได้
เท่าที่เปิดตัวมา มีเรื่องที่ยังห่วงกังวลอะไรบ้างไหม
ก็เป็นเรื่องความกังวลใจเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเราก็เข้าใจได้ และพยายามชี้แจงกับสาธารณะที่ทำตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร และมาตรฐานข้อมูลของ line official ดังนั้นทุกคนที่มาให้เป็นอาสาสมัครและผู้ขอรับคำปรึกษาจะไม่มีการบันทึกเบอร์โทรศัพท์หรือเชื่อมไปยังไลน์ส่วนตัวได้
ความกังวลโดยทั่วไปของคนที่มาปรึกษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไรบ้าง?
ก็มีเรื่องความกังวลใจที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยบ้าง ก็จะเขียนไทม์ไลน์ของตัวเองมาให้ทั้งหมดเพราะไม่มั่นใจว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือคนในครอบครัวป่วยแต่ตอนนี้หายแล้ว ไข้ที่มีอยู่ เหมือนจะผื่นขึ้นมามัน อะไรแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่กังวลใจ หรือซักถามการไปตรวจที่โรงพยาบาล
“เท่าที่สังเกตพี่ ๆ อาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมตอบเขาก็ตอบแบบนิ่มนวลมาก ๆ ข้อมูลที่สื่อสารก็มีกราฟิกบอกการตรวจสอบอากาศ หรือการให้ข้อมูลโรงพยาบาลตามสิทธิ์ที่อยู่ใกล้บ้าน”
ความกังวลใจของคนที่เข้ามาปรึกษา เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสาธารณะด้วยไหม
มีครับเพราะคนเราอยู่บนเงื่อนไขความสัมพันธ์ที่หลากหลายและเขาจำเป็นต้องรับผิดชอบความสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย เช่น ถ้าผมติดแล้วภรรยา ครอบครัวของตัวเองและภรรยาจะเป็นอย่างไร เพราะการติดมันจะส่งผลต่อสุขภาพ แม้หลายคนอาจมองว่าอัตราการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตไม่สูงมาก แต่ว่าใครก็ไม่อยากให้หวยมากออกที่เรา หรือมันมีงานศึกษาว่าการติดโควิดอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
“เราติดเอง ป่วยเองก็ไม่เป็นไรนะ แต่พอถึงเวลาฉุกเฉินมนุษย์มันก็ต้องช่วยกันนะ”
คาดหวังว่าระบบ ThaiCoCare มันจะสร้างประสบการณ์ในเรื่องการดูแลสุขภาพร่วมกันในสังคมอย่างไรบ้าง
CoCare เป็นระบบอาสาที่เข้ามาแก้ไขสถานการณ์วิกฤติ รูปร่างในการจัดการหรือตั้งองค์กรแบบนี้ก็ค่อนข้างที่จะท้าทายให้เราต้องมาถอดบทเรียนว่าสถานการณ์วิกฤติทางสังคมครั้งใหม่นี้ ระบบหรือเครื่องมือทางสังคมนี้จะถูกประยุกต์ไปใช้ในสถานการณ์ใดได้บ้าง แน่นอนว่าสถานการณ์ใหม่มันก็ต้องมีรูปร่างใหม่ และต้องมีการอ่านเพื่อทำความเข้าใจและทบทวนอยู่เสมอ เพราะมันเป็นวิกฤติที่เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้อะไรจะเกิดขึ้น สมมติว่าเชื้อที่ระบาดได้กลายพันธุ์แล้ววัคซีนที่มีอยู่ทั้งหมดใช้ไม่ได้ เราจะทำอย่างไร หรือสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนเข้ามาแทรกซ้อนอื่น ๆ เราจะจัดการอย่างไรในการอยู่กับโรคระบาด และตัวระบบเอง สำหรับผมมันเป็นการหาพื้นที่ของมันเอง และส่วนหนึ่งของระบบมันจะเรียกร้องให้ไปเชื่อมโยงกับโครงสร้างหรือระบบอื่น ๆ ซึ่งมันสำคัญมาก
“การทำให้ระบบตั้งอยู่ได้ก็เรื่องหนึ่ง หรือทำให้ระบบแข็งแรงโดยไปจับกับระบบอื่น ๆ นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง”