โควิดเป็นเหตุ “โสเหล่ ขอนแก่น” ปิดการขาย เปิดการแบ่งปัน

โควิดเป็นเหตุ “โสเหล่ ขอนแก่น” ปิดการขาย เปิดการแบ่งปัน

โมงยามนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนทำงานไม่น้อย นี่ยังไม่นับว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรก ที่หลายคนยังตั้งหลักปรับตัวเข้าสู่สภาพเศรษฐกิจแบบเดิมยังไม่ได้ ทั้ง ลูกจ้างรายวัน พ่อค้าแม่ค้า รวมไปถึงผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19

วันนี้ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยและอยากจะแบ่งปันบทสนทนากับ พิชญา ภาโนมัย หรือ “ใบหลิว” เจ้าของร้าน โสเหล่ ขอนแก่น ตั้งอยู่บริเวณริมบึงแก่นนคร ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น และเมื่อขอนแก่นถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดงควบคุมสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2564 ทางจังหวัดขอนแก่นได้ขอความร่วมมือให้ทางร้าน ปิดบริการชั่วคราวตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. -1 พ.ค. 64 เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก

โควิด-19 พาให้ร้านต้องปิด แต่น้ำใจไม่ได้ถูกปิดกั้น
“ร้านเราก็ประสบปัญหาค่อนข้างมากเหมือนกัน เราโดนขอความร่วมมือตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 264 เพื่อเป็นการช่วยลดจำนวนผู้ที่ติดเชื้อเพิ่ม เพราะขอนแก่นก่อนหน้านี้คนติดเยอะมากจนวันหนึ่งก็เป็น “พื้นที่สีแดง” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็รู้สึกว่าก็หนักพอตัว แต่ผลกระทบครั้งนี้เราก็โดนเยอะ เราเรียกว่าการไม่มีมันก็ยากสำหรับคนที่ไม่มีจริง ๆ เราเดือดร้อน คนอื่นก็เดือดร้อน แต่วันนี้เราพอมีทุนที่เราเก็บไว้บ้างจากครั้งที่แล้ว เราคิดว่าเราน่าจะมาต่อยอดเพื่อช่วยคนอื่นได้บ้างเหมือนกันเป็นกำลังใจให้กัน”

ทำไมถึงแจกฟรี ทั้งที่เราเองก็เจ็บหนักไม่มีรายได้

“ตอนแรกเราก็ทำของเพจ “Sole โสเหล่ ขอนแก่น” ก่อนก็เลยมีการแชร์ออกไป พอมีการแชร์ออกไปหลาย ๆร้านที่เขาโดนผลกระทบเช่นเดียวกัน เพื่อนรู้จักที่ร่วมกลุ่มธุรกิจเดียวกันเขาก็บอกว่า “เดี๋ยวไปช่วย” “เดี๋ยวมาร่วมกัน” เพราะว่าเราเป็นที่ที่มีการขอหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล อำเภอ สาธารณสุข เราก็มีการเดินเรื่องในการใช้พื้นที่ตรงนี้ขอเป็นการจัดในการแจกเป็นโรงทานไปเลยค่ะ เขาก็เลยมาร่วมด้วยช่วยกัน

ปีที่แล้วเราก็ทำ ปีนี้เราก็อยากทำ แต่ว่าการทำครั้งนี้มันเป็นเรื่องที่แบบว่าคนติดง่ายขึ้น สัมผัสกันเร็วขึ้น ก็เลยมีความคิดว่าอย่างน้อย ๆ เราก็ได้ช่วยเหลือสังคมช่วยเหลือกันและกัน ถึงมันจะไม่มาก แต่เราได้ช่วย เป็นกำลังใจให้กันก็ยังดีเราเริ่มแจกตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน -1 พฤษภาคม 2564 ในทุกวันเวลา 14.00 -20.00 น. มีอาหารหลายอย่างทั้ง ข้าวผัด ,ข้าวกะเพรา ,ขนมจีน ,ข้าวไข่เจียว น้ำดื่มและหน้ากากอนามัย เราจะเริ่มต้นตั้งแต่ 14.00 น. จนกว่าของจะหมด ตอนแรกเราจะแจกถึง 2 ทุ่ม

แต่ตอนนี้คนมารับของเยอะคน และเราเองก็เตรียมของไม่ทันบ้างเพราะทีมงานเรามีแค่นี้ ก็จะเริ่มแจกตั้งแต่บ่ายสองไปจนกว่าของจะหมด เมนูแต่ล่ะวันก็จะเป็นเมนูที่อยากทำ เชฟอยากทำ อยากให้กินของอร่อย ของดี ๆ ก็จะมียำบ้าง ต้มไก่บ้าง กะเพรา ไข่พะโล้ แต่คนก็จะชอบเป็นขนมจีนน้ำยาลาวเพราะคนขอนแก่น คนอีสานบ้านเฮาชอบกินขนมจีน ข้าวปุ้น เราจะทำเองทั้งหมด ไม่มีของสำเร็จรูปเลยจะทำให้คนได้กินวันต่อวันเลยค่ะ”

แจกอาหารคนมารับเยอะ จัดการยังไงให้ปลอดภัย

เรามีมาตรการคือ เข้ามา-ออกไป เราจะมีจุดมาร์กไม่ให้เข้ายืนแออัดกัน ขอความร่วมมือนะ “แม่ค่อย ๆ มาเด้อ” คนที่มาเราหลายรอบก็มีบ้างค่ะแต่เราก็ให้เขาอาจจะมีลูก มีตา มีหลาน ที่เขารอกินอยู่ก็ได้แต่เขาอาจจะแข็งแรงคนเดียวที่สามารถปั่นจักรยานมาเอาอาหารได้ เราก็บอกแม่หยิบไปเลยค่ะไม่หวง เพราะเรามีเจตนาจะให้เขาอยู่แล้ว

ร้านต้องปิดแล้วพนักงานที่ต้องอาศัยค้าจ้างล่ะ

คือเราก็ช่วยน้อง ๆ ก็ขอจ่ายค่าจ้างครึ่งแรงให้น้อง ๆ เพราะรู้ว่าเขาต้องมีค่าบ้าน ค่ารถ เพราะตรงนี้เขาไม่ใช่แค่พนักงาน เขาคือคนในครอบครัวของเรา ที่เราต้องช่วยเขาเพราะเขามีภาระเหมือนกัน เราก็ขอเป็นครึ่งแรงแล้วกันนะ น้องก็โอเค เพราะครึ่งแรงของเขาเขาแค่ไปจ่ายค่าหอ ค่าวงดรถ แต่ข้าวเขามากินอยู่ที่นี่อยู่แล้ว อาหารเครื่องดื่มเราดูแลเขาเต็มที่อยู่แล้ว

เปิดฟรี ไม่มีขายเด้อค๊า

แจกยาวถึงวันที่ 1 พฤษภาคม ทุกคนบอกว่าทำไมแจกยาวจัง อย่างน้อยมันก็ได้ช่วย ๆ กัน มันไม่ใช่แค่เราทำคนเดียวมันมีเพื่อนหลาย ๆ คน ที่เขาเห็นข่าว เห็นการแชร์ที่ทุกคนบอกต่อกันก็เอามาช่วยกัน ก็เลยสามารถทำได้ยาว แล้วพื้นที่ตรงนี้ก็ดีกว่าปล่อยให้มันปิดไปเฉย ๆ

ปันอาหาร ปันน้ำใจ สู้โควิด-19 ไปด้วยกัน

เรารู้สึกว่าน้ำตาไหลแบบบอกไม่ถูก เหมือนว่าครั้งนี้ที่ทำเราเห็นว่า ทำไมคนลำบากจังเลยวะ ทำไมเขาไม่มาช่วยกันเลย ทำไมเขาไม่มองเห็นตรงนี้กัน ก็เห็นคุณยายถือไม้เท้ามารับ เห็นน้อง ๆ มารอกิน ก็แบบว่าเฮ้ย เกิดอะไรขึ้น “พูดแล้วน้ำตาจะไหล”

ถามว่าได้อะไรไหม มันไม่มีกำไรมหาศาล แต่มันรู้สึกว่าเราทำแล้วเราอิ่ม เรามีความสุขที่เราได้ทำ สุขคือการให้ด้วยแหละ ถามว่าเราเจ็บตัวไหม เราก็เจ็บนะ แต่เราก็ไม่ได้มองว่าเราเป็นคนล้ม เรายังมีแขนมีขาที่ต้องเดินหน้าต่อไป

แต่ร้านยังเปิดไม่ได้ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ไม่รู้จะเป็นยังไงไม่รู้จะไหวไปได้เท่าไหร่ เพราะเราเป็นแค่จุดเล็ก ๆ ที่อยากจะช่วย ก็ไม่รู้ว่าถ้าได้ปิดจริง ๆ หรือว่ายังไม่มีโครงการที่จะให้เปิดร้านเลย จังหวะนั้นอาจจะเป็นทุกคนที่ต้องมาซับพอร์ตหลิวก็ได้ค่ะ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ