โควิดทั่วไทยจากเครือข่ายสื่อพลเมือง 23 เมษายน 2564

โควิดทั่วไทยจากเครือข่ายสื่อพลเมือง 23 เมษายน 2564

คลองเตยปัดฝุ่นวัดหัวสะพานสู้โควิดระลอก 3 ให้เป็นที่พักชั่วคราวผู้ติดเชื้อและผู้ที่อยู่ระหว่างรอผลตรวจ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อเนื่องจากเป็นชุมชนแออัด เชียงใหม่ยอดกลับมาพุ่งเกิดคลัสเตอร์หลายกลุ่ม หลายพื้นที่เริ่มชัดเชื้อกระจายในชุมชนครอบครัว ลาวยอดพุ่งอีก 65 คน ล็อคดาวน์ 7 แขวง

สถานการณ์เกี่ยวเนื่องกับการระบาดของโควิด 10 จากเครือข่ายสื่อพลเมือง วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ยอดผู้คิดเชื้อรายใหม่ของประเทศเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2,070 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก ถึง 352 คนนั้น ในแต่ละภาคมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ภาคกลาง

คลองเตยปัดฝุ่นวัดหัวสะพานสู้โควิดระลอก 3 

-วันนี้ (23 เมษายน 2564 ) กรุงเทพมหานคร พบผู้ป่วยรายใหม่ 740 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 9,228 ราย (ระลอกใหม่ 7,692 ราย) น่าจะเป็นรายวันที่มียอดตัวเลขสูงสุดของตั้งแต่มีโควิด ในส่วนของชุมชนที่มีความเป็นอยู่แออัดเช่นชุมชนคลองเตย เมื่อครั้งโควิดระลอกแรก ก็เคยใช้วัดหัวสะพานเป็นที่พักชั่วคราวของผู้ที่ต้องกักตัว มาวันนี้ในวันที่กรุงเทพฯ เกิดวิกฤตโควิด เตียงในโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทัน มูลนิธิดวงประทีป และตัวแทนชุมชนคลองเตย รวมถึงตัวแทนหน่วยงานสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ในการหารือพูดคุยถึงการหาพื้นที่กลางเป็นที่พักชั่วคราว (วัดหัวสะพาน) ให้ไว้สำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างรอผลตรวจ กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดอยู่ระหว่างรอรถพยาบาลมารับ ทั้งนี้เพื่อคนเหล่านี้จะได้ไม่ต้องกลับเข้าไปชุมชน ลดการแพร่กระจายเชื้อเนื่องจากเป็นชุมชนแออัด อีกทั้งวางแผนหารือร่วมกันถึงอนาคตหากว่าผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ยังเจอกับสถานการณ์วิกฤตเราจะใช้พื้นที่กลางตรงนี้ไว้สำคัญทำโรงพยาบาลสนาม

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดคลองเตย

-หลังจากไทยพีบีเอส นำเสนอกรณีผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชนคลองเตย กรุงเทพมหานคร ต้องกักแยกโรคตัวเองในรถยนต์เป็นเวลาเกือบ 2 วัน เพราะปัญหาเตียงโรงพยาบาลเต็ม เมื่อวานนี้ (21 เม.ย.64) ประธานชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 คุณนายสิทธิชาติ อังคะสิทธิศิริ บอกว่ามีหน่วยงานเข้ามารับตัวผู้ป่วยคนดังกล่าว และผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดจำนวนนึงไปรักษาแล้ว แต่ยังคงเหลือผู้ป่วยโควิดอีก 1 ท่านที่ยังไม่มีรถพยาบาลมารับ ส่วนคนในชุมชนที่ตอนนี้มีความเสี่ยงสูงก็อยู่ระหว่างการกักตัวดูอาการที่บ้าน โดยจะมีกรรมการชุมชนที่คอยส่งข้าวส่งน้ำของใช้จำเป็นให้กับผู้ที่กักตัวตามแต่ละบ้าน เพื่อจะได้ไม่ต้องออกไปไหน เพราะอย่างที่ทราบกันว่า ชุมชนคลองเตย เป็นชุมชนที่ค่อนข้างแออัด โอกาสที่เชื้อโควิดจะแพร่กระจายได้เร็ว และก็จะควบคุมได้ยากกว่าเดิม ซึ่งวันเสาร์นี้ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) จะจัดทีมมาพ่นยาฆ่าเชื้อในชุมชนคลองเคยล็อค 1-2-3 ในการช่วยป้องกันและลดปัญหาจากการติดเชื้อ

กลุ่มคลองเตยดีจัง รับบริจาค และทำกิจกรรมปันกันอิ่มเพื่อน้อง

เปิดรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง หลังจากที่ตอนนี้คนในชุมชนคลองเตย ได้รับผลกระทบจากการการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นจำนวนมาก มีผู้เสี่ยงสูง ซึ่งรอผลการตรวจและผู้ที่ติดเชื้อรอไปโรงพยาบาลสนามเพื่อรับการรักษา ทำให้หลายครอบครัวตกงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นลูกจ้างรายวัน ทางคลองเตยดีจังและมูลนิธิดวงประทีป จึงเปิดรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งเพื่อส่งต่อให้กับคนชุมชนคลองเตย

ภาพจากหมุด คลองเตยดีจัง ปันกันอิ่มเพื่อน้อง

ที่อยู่รับบริจาค มูลนิธิดวงประทีป 34 ล็อค 6 ถนน อาจณรงค์ แขวง คลองเตย เขตคลองเตย กทม. 10110 ประสานงาน พี่เล็ก วันเพ็ญ 0983693493 และปันกันอิ่ม

“ปันกันอิ่มเพื่อน้อง” ทำเป็นคูปองแทนเงินสดให้กับเด็ก ๆ ในชุมชนคลองเตย เพื่อนำไปซื้ออาหารตามร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการรอบๆ ชุมชน ซึ่งนอกจากจะลดรายจ่ายของครอบครัว เด็กได้กินอิ่มแล้วยังทำให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้น และสามารถกระจายรายได้ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับร้านค้าและคนในชุมชน จะเริ่มที่ชุมชนโรงหมู, ริมคลองวัดสะพาน, ชุมชนแฟลต 23, ชุมชนแฟลต 24, ชุมชนแฟลต 25, บ้านมั่นคง

อยุธยาเร่งตรวจโควิดเชิงรุกรอบสอง หวังคืนความเชื่อมั่นทำพาสปอร์ตโควิดให้กับผู้ประกอบ และเด็กเสิร์ฟในร้าน

วันนี้ (23 เม.ย.64) ณ ตลาดกลางกุ้ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เร่งตรวจโควิดซ้ำให้กับประชาชนที่ตรวจไปแล้วเมื่อ 7 วันที่แล้ว ด้วยวิธีการ active case finding เป้าหมายวันนี้เพื่อค้นหาผู้เชื้อให้ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ในตลาดกลางกุ้ง เพราะยังมีกลุ่มเสี่ยงสูงอีก 20 คนที่ยังไม่ยอมมาตรวจ และถ้าไม่พบผู้ติดเชื้อจะมีการจัดทำทำพาสปอร์ตโควิดให้กับผู้ประกอบ และเด็กเสิร์ฟในร้านทุก เพื่อการันตรีว่า ตลาดกลางกุ้งปลอดโควิด

จากข้อมูลงานประชาสัมพันธ์ สสจ.อยุธยา วันนี้(23 เม.ย.64) พบผู้ป่วยยืนยันโควิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวน 22 ราย (รายที่ 204-225) รวมตัวเลขสะสมอยู่ที่ 225 ราย ส่วนใหญ่ความสัมพันธ์ 

1.เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงผู้ป่วย (13 ราย)

2.ทำงานตลาดกลางเพื่อการเกษตร อ.อยุธยา  (6 ราย)

3.ประวัติเสี่ยงไม่ชัดเจน เดินทางไปในสถานที่แออัด(3 ราย)

ภาคเหนือ

เชียงใหม่/ตัวเลขผู้ติดเชื้อของเชียงใหม่กลับมาก้าวกระโดดหลักร้อยคือ 151 ราย (23 เม.ย.) และมีลักษณะการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจากการทำกิจกรรมร่วมกัน แพร่กระจายไปยังต่างอำเภอ และกลุ่มครอบครัวมากขึ้น โดยพบการระบาดในคลัสเตอร์ใหม่ คือ เรือนจำ ศูนย์เด็กเล็ก สถานปฏิบัติธรรม และกลุ่มกองบิน 41    

กรณีศูนย์เด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่ คือ อ.ดอยสะเก็ด ผู้เสี่ยงสูงทั้งหมด 120 ราย เด็กเล็กอายุ 4-6 ปี ติดเชื้อ 16 ราย ครู 3 ราย นักการ 1 ราย เกิดจากคุณครูที่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ ขณะนี้ มีการเตรียม รพ.สนามสำหรับเด็ก บริเวณเทศบาลตำบลแม่คือและมีความต้องการขอรับบริจาค สิ่งของจำเป็นสำหรับเด็ก ดังนี้นมกล่องสำหรับเด็ก ทิชชูเปียก เสื้อผ้าเด็ก (ใหม่) ทั้งชาย – หญิง อายุ 2 – 6 ปี สามารถติดต่อได้ที่เทศบาลตำบลเเม่คือโดยตรง

กรณีสถานปฏิบัติธรรม ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ เกิดขึ้นจากการร่วมกิจกรรมปฏิบัติธรรมและทานอาหารร่วมกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 44 คน พบมีผู้ติดเชื้อ 23 ราย เป็นผู้ติดเชื้อของจังหวัดเชียงใหม่ 21 ราย และอีก 2 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัดลำพูน การระบาดในกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม ทำให้จะต้องจับตาต่อกรณีการบวชเณรฤดูร้อน ซึ่งมีประกาศของสำนักพุทธที่เข้มงวด คนที่จะเข้ามาบวชต้องผ่านการตรวจโควิด-19 และห้ามวัดจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ต้องมีการคัดกรองและเว้นระยะห่าง

แนวทางที่จังหวัดใช้ตอนนี้คือเตือนให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย 100% และเตือนการปฏิบัติตัวอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะในต่างอำเภอ ที่มีสติถิแพร่ระบาดในกลุ่มครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 15.1 ขณะที่กลุ่มสถานบันเทิงลดน้อยลง

พิจิตร/จังหวัดที่ไม่พบการระบาดในระลอกแรก แต่รอบนี้ มีผู้ติดเชื้อสะสม 26 ราย จังหวัดจึงมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ในพื้นที่อำเภอสามง่าม ได้มีแผนล็อกดาวน์หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 13 ในตำบลหนองโสน หลังพบหมู่บ้านมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาด พร้อมจัดเตรียมพื้นที่โรงพยาบาลสนาม และพื้นที่กักตัว ตามอำเภอ ต่าง ๆ ในจังหวัดพิจิตร มีทั้งโรงพยาบาล โรงแรม รีสอร์ต วัด ห้องประชุมเทศบาลและชมรมลูกเสือ ทั้งนี้บริบทการแพร่เชื้อจากช่วงเทศกาสสงกรานต์ มารดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ มีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้วย แม้ว่าการเพิ่มขึ้นอาจจะไม่มาก แต่น่าจับตา เพราะว่าในการระบาดรอบแรกพิจิตรไม่พบผู้ป่วย รวมถึงเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากด้วย

เชียงของ-เชียงราย/-ด่านศุลกากรเชียงของ ซึ่งมีสะพานมิตรภาพไทยลาวขนส่งสินค้าข้ามแม่น้ำโขงไป พวกผลไม้สด ผลไม้แปรรูป เครื่องอุปโภคบริโภค ยางพารา วัสดุก่อสร้าง และน้ำมันไปยัง สปป.ลาว และจีน เฉพาะการส่งออกสินค้า 10 อันดับแรกในเดือนธันวาคม ปี 2563 ก็มีมูลค่าสูงถึงกว่า 2 พันล้านบาท และยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้ไทย มะม่วง ทุเรียน หรือจะเป็นลิ้นจี่ ที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วันข้างหน้า การปิดด่าน และมาตรการเข้มงวดที่อนุญาตเพียงรถขนส่งสินค้าทุกประเภทข้ามสะพานมา และต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าอยู่ที่บริเวณด่านภาษี ไม่อนุญาตให้เข้าไปในตัวเมืองห้วยทราย แขวงบ่อเเก้ว มีผลกระทบ

ภาคใต้  

วันนี้ (23 เม.ย.2564) มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี มีมติใหญ่เรื่องการละหมาดที่มัสยิด โดยเปิดให้ละหมาดที่มัสยิดได้ แต่ต้องเว้นระยะห่าง และปฎิบัติตัวตามแนวปฎิบัติที่สำนักจุฬาราชมนตรีออกประกาศมาก่อนหน้านี้ ซึ่งการประกอบศาสนกิตร่วมกันตามวิถีนี้ มีประเด็นที่ต้องจับตาในเดือนพฤษภาคมคือการเดินทางของคนอิสลาม ที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองทยอยกลับบ้านฉลองเทศกาลฮารีรายอ

ขณะที่หลายจังหวัดยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และมีการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น 

พังงา/ภาคใต้จะต้องจับตาคลัสเตอร์ทหารเรือ จ.พังงา หลังมีกลุ่มเสี่ยงสูงกว่า 200 คน และโรงพยาบาลกะเปอร์ปรับเป็นโรงพยาบาลสนาม แต่ยังเปิดรับผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉน และคลอดฉุกเฉินเท่านั้น

โดยวันนี้ (23 เมษายน 2564 ) มีการรับผู้ป่วยโควิด-19 ชุดแรก 4 รายจากโรงพยาบาลตะกั่วป่าเข้าโรงพยาบาลสนามจังหวัดพังงาแล้ว เมื่อเวลา 11.00 น. ที่โรงพยาบาลสนามพังงา1 โรงยิมเนเซียม สนามกีฬา อบจ.พังงา รถฉุกเฉินโรงพยาบาลตะกั่วป่านำตัวผู้ป่วยโควิด-19 ที่ย้ายออกจากโรงพยาบาลตะกั่วป่ามารักษาตัวต่อในโรงพยาบาลสนาม โดยคนขับรถและทีมพยาบาลที่มาส่งสวมใส่ชุดป้องกันตัว เมื่อส่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่พร้อมยานพาหนะจะเข้าสู่กระบวนการชำระล้างสิ่งปนเปื้อนก่อนเดินทางกลับ ส่วนผู้ป่วยเมื่อผ่านการซักประวัติ รับฟังคำแนะนำการใช้ชีวิตในโรงพยาบาลสนาม การประเมินสุขภาพจิต จากนั้นก็รับอุปกรณ์เครื่องใช้เข้าไปในห้องแบบแยกเดี่ยวกั้นมิดชิดภายในอาคาร ซึ่งระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะต้องใช้ชีวิตในโรงพยาบาลสนามนั้น นับตั้งแต่วันที่เข้าโรงพยาบาลหลักรวม 14 วัน ก่อนจะกลับไปกักตัวเองที่บ้านอีก 14 วัน สำหรับผู้ป่วยชุดแรก 4 รายที่เข้าโรงพยาบาลสนามจังหวัดพังงาในวันนี้เป็นผู้ป่วยจากอำเภอท้ายเหมืองที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลตะกั่วป่า ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยไม่แสดงอาการและมีอาการเล็กน้อย โดยเจ้าหน้าที่แพทย์-พยาบาลจะติดตามทางกล้องวงจรปิด ติดต่อผ่านทางเครื่องขยายเสียงและระบบโทรศัพท์ ภายในมีทีวีดูพร้อมสัญญานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง อาหารกล่อง ผลไม้ ขนมวันละ 3 มื้อ และมีเจ้าหน้าที่ทหารจาก กอ.รมน.พังงา พร้อมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตั้งจุดตรวจดูแลรักษาความปลอดภัยทั่วบริเวณ

สถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ของจังหวัดพังงา มีผู้ป่วยระลอกใหม่สะสมตั้งแต่วันที่ 11-22 เมษายน 2564 รวม 29 ราย โดยเป็นผู้ป่วยในเขต อำเภอตะกั่วป่า9 ราย อำเภอท้ายเหมือง 11 รายและอำเภอเมืองพังงา 9 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาลพังงา 14 ราย โรงพยาบาลตะกั่วป่า 12 ราย โรงพยาบาลท้ายเหมืองชัยพัฒน์ 1 ราย และโรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต 2 ราย สำหรับการส่งตัวผู้ป่วยเข้าไปที่โรงพยาบาลสนามนั้น โดยหลักแล้วผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลักแล้ว 3-5 วันจนอาการดีขึ้น ถึงจะส่งตัวมาที่โรงพยาบาลสนาม ได้ หรือเมื่อมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนโรงพยาบาลหลักเตียงไม่เพียงพอ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาส่งผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลสนาม คือ ต้องเป็นผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ผลเอ็กซเรย์ปอดเป็นปกติ

ส่วนสถานการณ์ท่องเที่ยวภาคใต้  คุณณัฐ เชาว์กิจค้า นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา จ.กระบี่ บอกว่าการท่องเที่ยวกระบี่ – เกาะลันตา เงียบเหงา กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่วางแผนไว้ก็ต้องงดจัดไป ส่วนแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเริ่มวันที่ 1 กรกฎาคม 64 ต้องเลื่อนออกไปก่อน คาดว่าน่าจะเปิดได้ช่วงเดือนตุลาคม

ด้านเรื่องวัคซีน ทางพื้นที่กำลังลุ้นว่าพฤษภาคมนี้จะสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่า 70% ของคนในพื้นที่ เพื่อสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว ฝั่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังคงแบกภาวะหนี้สิน แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลรับปากว่าจะเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการพักชำระหนี้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ส่งผลกระทบต่อแรงงานภาคการท่องเที่ยว บางองค์กรต้องจัดแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ชุดต่อเดือน เพื่อจะลดรายจ่ายค่าแรงพนักงาน หรือบางส่วนต้องลดจำนวนคนงาน เหลือไว้แค่กลุ่มแรงงานที่มีความสามารถสูง ส่วนการคาดการหลังจากนี้คิดว่านักท่องเที่ยวภายในประเทศน่าจะลดลงเนื่องจากคนไทยจะไม่มีเงินสำหรับการท่องเที่ยวมากเหมือนก่อน อีกสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการคือมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan)

ภาคอิสาน

อุดรธานี/ดีเดย์ใช้มาตรการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา โดยวันนี้เป็นวันแรกที่จังหวัดอุดรธานีเริ่มใช้มาตรการนี้จนกว่าจะเปลี่ยนแปลง โดยเป็นคำสั่งจังหวัด หากฝ่าฝืนเป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท บรรยากาศประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งเดินทางออกจากเคหะสถานไม่นาน ปัจจุบัน อุดรธานีมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 25 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 246 ราย อยู่ระหว่างสอบสวน 25 ราย และกลับบ้านแล้ว 13 ราย

นครพนม/เงียบเหงา หลังปิดสถานที่ท่องเที่ยวแลนมาร์กพญานาค หลังมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของจังหวัดนครพนม โดยสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยว วัด และจำกัดคนเข้าร้านอาหาร ทำให้ช่วงสัปดาห์นี้นักท่องเที่ยวเริ่มบางตาลง โดยเฉพาะแลนมาร์กของจังหวัดอย่างพญาศรีสัตตนาคราช ที่เป็นรูปปั้นพญานาคริมโขง รวมถึงสถานการณ์ของน้ำโขงที่ขึ้นลงผิดฤดูกาลทำให้ชาวบ้านและชาวประมงต้องปรับตัวอย่างมากในการทำมาหากิน ส่วนบริเวณด่านการค้าชายแดนสะพานมิตรภาพ ยังคงไม่ได้เปิดใช้ และเพิ่มการสกัดจุดด่านธรรมชาติต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

มหาสารคาม/ เร่งสอบสวนไทม์ไลน์ผู้ป่วยรายที่ 71 ของมหาสารคาม หลังพบการแก้ไขไทม์ไลน์

จังหวัดมหาสารคามออกข้อชี้แจงกรณีผู้ป่วยติดเชื้อรายที่ 71 ระลอกเดือนเมษายนที่มีการระบุว่ามาเล่นการพนัน ณ ตำบลหนึ่ง ใน จ.ร้อยเอ็ด ทำให้เกิดการสับสนของประชาชน

1. มีการแก้ไขไทม์ไลน์จริง ซึ่งเป็นไปตามคำบอกเล่าจากผู้ป่วย ภายหลังเห็นไทม์ไลน์และได้ทักท้วงว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง มีเฉพาะช่วงวันที่ 6-7 เมษายน ได้เดินทางไปเล่นการพนันจริง ส่วนวันอื่นเดินทางไปขายผลไม้

2. การแก้ไขครั้งนี้ เป็นไปตามข้อเท็จจริงตามคำบอกเล่า ไม่ได้เกิดชี้นำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

3. เพื่อการสอบสวน และควบคุมป้องกันโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ซึ่งยังต้องใช้ข้อมูลจากพยานแวดล้อม และการซักประวัติในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เพื่อหาแหล่งในการแพร่กระจายโรค ร่วมกับคำบอกเล่าจากผู้ป่วยติดเชื้อแต่การเผยแพร่ไทม์ไลน์ นั้น ยึดตามข้อเท็จจริงที่ผู้ป่วยแจ้งยืนยัน

ยอดผู้ติดเชื้อลาวเพิ่ม 65 คน ล็อกดาวน์เพิ่มเป็น 7 แขวง – จากมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้น จึงประกาศล็อกดาวน์นครหลวงเวียงจันท์ แขวงเวียงจันทน์ แขวงเซียงขวง แขวงไซบบุรี แขวงบอลิคำไซ และแขวงบ่อแก้ว พร้อมประกาศขอรับบริจาคเลือดที่ขาดแคลนในทุกแขวง นอกจากนี้ที่ด่านห้วยโก๋น จ.น่าน และด่านเมืองเงิน แขวงไซยบุรี มีการออกประกาศปิดด่านชายแดน ซึ่งเป็นจุดการค้าชายแดนที่สำคัญ ต้องจับตาเพิ่มเติมผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
และล่าสุดวันที่ 23 เม.ย. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของลาวมีเพิ่มขึ้น 65 คน และทางการประกาศขอรับบริจาคเลือดทุกแขวง.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ