“นักรบในห้องแล็บ” หนึ่งในด่านหน้าที่สำคัญ

“นักรบในห้องแล็บ” หนึ่งในด่านหน้าที่สำคัญ

ในวันที่ต้องอยู่กับเชื้อและ ความเสี่ยง ก็ไม่ทำให้ใจหมดแรง…..

ภาพจาก : facebook NakornpingHospitalChiangmai

ขณะที่เรากำลังกังวลเรื่องผลการตรวจว่าจะบวกหรือไม่ นอยด์กันไปสุขภาพจิตแย่ไปพร้อม ๆ กับสุขภาพกาย กินข้าวไม่ลง นอนก็ไม่หลับ 

…ในขณะเดียวกันนี้นักรบชุดขาวอีกกลุ่มก็พยายามทำงานแข็งกับเวลาให้ได้ไวที่สุด เพราะเข้าใจได้ว่าทุกวินาที คือความทุกข์ของคนรอ ….

การทำงานที่ต้องผลัดกันทำงานตลอดวันตลอดคืน ให้ได้ผลแล็บออกมา เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ให้รวดเร็วที่สุด ซึ่งก็อยู่ที่ผลตรวจแล็บนี่เอง #นักเทคนิคการแพทย์ จึงสำคัญที่สุดในการสู้ศึกครั้งนี้ ผู้ที่ทำการส่องตรวจกับเชื้อโรคร้ายโดยตรง งานของพวกเขาคืองานที่ใคร ๆ ก็กลัว การป้องกันโควิด คือ ไม่ให้เชื้อโรคฟุ้งกระจาย แต่วิธีการตรวจหาเชื้อของเทคนิคการแพทย์ ต้องทั้งปั่น ทั้งเขย่าสิ่งส่งตรวจเพื่อหาเชื้อโรค

ถามว่า กลัวไหม…?  ตอบว่า ใครล่ะที่จะไม่กลัว…? แต่สิ่งที่ทำให้ก้าวข้ามความกลัวได้ ก็คือความห่วงใยและตั้งใจทำงานเพื่อคนไข้ ถ้า ยิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งรักษาได้เร็ว คนไข้มีโอกาสหายได้เร็ว นี่ต่างหากคือ “เกราะป้องกันความกลัว” ตอนนี้ขอเพียงทุกคนช่วยกัน ดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง และปฏิบัติตัวตามมาตรการที่มี

มีโอกาสได้พูดคุยกับ พี่ต้อม – พัชราพร จริโย นักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ และพยาธิวิทยาคลีนิค โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ในชีวิตของนักเทคนิคการแพทย์โควิด-19 ถึงตอนนี้ที่ไม่รู้ว่าจะยาวนานไปถึงเมื่อไหร่…

ชีวิตปกติของ นักเทคนิคการแพทย์ เป็นอย่างไร คนจะไม่ค่อยรู้จัก เหมือนกับหมอไหม?

ในช่วงปกติ นักเทคนิคการแพทย์ คือ ผู้ที่ทำการตรวจวิเคราะห์ ตรวจโรคที่แพทย์ต้องการค้นหาว่าคนไข้มีความผิดปกติทางด้านใดบ้าง เป็นการค้นหาสาเหตุของโรคที่แพทย์ต้องการในกลุ่มผู้ป่วย เช่น การตรวจค่าอะไรบางอย่าง หากลุ่มไขมัน กลุ่มเบาหวาน หรือกลุ่มทั่วไปที่แพทย์ต้องการตรวจ เพื่อในสิ่งที่เขาสงสัยในตัวผู้ป่วยว่า คนไข้มีอาการอย่างนี้จริง ๆ ถ้าผลออกมาแล้วก็ได้รักษากันให้ถูกต้องตามที่เขาคาดการณ์ว่าคนไข้จะเป็นอย่างไร

ภาพจาก : facebook NakornpingHospitalChiangmai

ก่อนหน้านี้สถานการณ์โควิด-19 กลับมาอีกครั้ง ทั้งช่วงการระบาดระลอก 2 ช่วงปลายปี 2563 และระลอก 3 ก่อนสงกรานต์ 64 จากวันนั้นถึงตอนนี้มีการเตรียมความพร้อมอย่างไร เพราะการระบาดเกิดขึ้นไว ไม่มีใครคาดคิดว่าคลัสเตอร์เชียงใหม่จะใหญ่ขนาดนี้

ขอเท้าความเลยละกัน จริง ๆ สถานการณ์ที่เชียงใหม่ เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 63 ตอนที่ระบาดที่ประเทศจีน จริง ๆ แล้ว ทางโรงพยาบาลนครพิงค์ มีการเตรียมพร้อมอยู่ ซ้อมแผนเรื่องโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำอยู่แล้ว พอเราได้ข่าวช่วงเดือนธันวาคมของประเทศจีน ทางบุคลากรทางการแพทย์มีการวางแผนและซ้อมแผนกัน ถ้ามีแบบนี้เข้ามาเราจะเตรียมรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร แล้วก็มาดูว่าอุปกรณ์ในแล็บของเรามีอะไรพร้อมบ้าง

จนมาถึงเดือนมกราคมของปี 63 ที่มีชาวต่างชาติทะลักเข้ามาแล้วก็มีโรคนี้ แรก ๆ อย่างนครพิงค์ยังไม่มี ชุดตรวจโควิด-19 โดยเฉพาะ แรก ๆ คือส่งให้กรมวิทย์ฯเป็นคนตรวจให้ว่าคนไข้คนนี้เป็นหรือไม่เป็นโควิด-19 หลังจากนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขเริ่มมีนโยบายให้เพิ่มหน่วยตรวจมากขึ้น ในช่วงมกราคมส่งตรวจเชื้อไปยังกรมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่

ต่อมาราว ๆ เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 63 โรงพยาบาลของเราให้บริการตรวจวิเคราะห์โควิด-19 ได้ หลังจากนั้นเราจึงได้เตรียมความพร้อมและตรวจวิเคราะห์มาเรื่อย ๆ ทำการสั่งซื้อน้ำยาตรวจมาเรื่อย ๆ ในช่วงที่มีการระบาดเข้ามาเยอะเป็นช่วงมีนาคม 62 แล้วเริ่มซาลงไปช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน แต่ว่าเรากลุ่มงานทางโรงพยาบาลนครพิงค์ทำการตรวจหาเรื่อย ๆ ผลจากการดำเนินการตรวจหาค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ทำ active finding ในกลุ่มของคนไข้เรือนจำ ทางนั้นก็ส่งตรวจมาที่นครพิงค์หมด ดังนั้นน้ำยาคือมีสำรองให้ตลอด เพราะต้องตรวจทุกวัน

จนมาถึงเดือน 26 ธันวาคม 63 ที่มีระลอกสอง ที่มาจากเมียนมา คนไข้มาและด้วยความที่เราเตรียมความพร้อมและมีอุปกรณ์พร้อมอยู่แล้ว เราสามารถตรวจได้เรื่อย ๆ แต่ที่มากขึ้นคือการสำรองน้ำยา เพราะการระบาดรอบนี้ ไม่เหมือนกับก่อน ที่มันจะเป็นเข้ากลุ่มก่อนนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มบางกลุ่มที่เป็นนักมวย แต่กลุ่มระบาดกลุ่มนี้คือต้อง active finding เยอะ ๆ เพราะลงไปที่ชุมชนเยอะมากขึ้น เรื่องความพร้อมของเราเราพร้อมตลอดเพราะเราทำมาตลอด และถ้าเคสมาเยอะ ๆ ในรูปแบบนี้ หัวหน้าเราก็จะเป็นหาเครื่องมาเสริมให้เราตรวจวิเคราะห์ได้เยอะ และหาทีมเสริมเข้ามาช่วย จนทำให้เราตรวจวิเคราะห์ได้ถึงวันละ 2,500 ราย

การทำงานอยู่บนความเสี่ยงเหมือนกันนะคะ

ใช่คะ งานของเราอยู่บนความเสี่ยงเหมือนกัน

แต่ทางเราจะมีมาตรฐานของห้องปฏิบัติ แลการปฎิบัติการตนเองในเรื่องเหล่านี้ เราถูกสอนและฝึกมาตั้งแต่การใส่ชุด PPE ป้องกันตัวเอง การทำงานในห้องปฏิบัติการ ว่าเราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร การกำจัดเชื้อขยะ ที่ติดเชื้อ มันจะมีมาตรฐานกำกับอยู่ ซึ่งเราจะต้องทำและรายงานส่งกรมอยู่แล้ว และจะมีคนมาตรวจดูมาตรฐานของเราเสมอ

ตามมาตรฐาน พอจะเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ได้ไหม การที่เข้าออกเราต้องเข้าห้องแล็บ เราต้องทำยังไงบ้าง?

การเข้าออกห้องแล็บ หรือห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บ (Laboratory) สถานการณ์โควิด-19 เราต้องแต่งตัว ใส่ชุด PPE ใส่หมวก เฟคชิลด์ แบบในคลิปที่เราเห็นตามไวรัลเลย แต่สำคัญคือการถอดชุดและอุปกรณ์นะ เพราะเราทำงานเผื่อมีอะไรกระเด็น เช่น ถ้าเราใส่ biosafety hood มันจะเป็นการป้องกันระดับหนึ่ง เราจะทำงานในตู้ชีวนิรภัย ทำงานในตู้นี้เพื่อไม่ให้เชื้อมันออกมาข้างนอกหรือออกมาจากสิ่งแวดล้อม เช่น คนไข้เข้ามาเราก็ต้องไปตรวจในนั้น แต่การเข้าไปตรวจในนั้นต้องแต่งตัวให้มิดชิด เพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อนจากคนไข้

เข้ามาในปฏิบัติห้องของเราจะแบ่งเป็น 3 ส่วน

ภาพจาก : facebook NakornpingHospitalChiangmai

ส่วนที่หนึ่งคือ ส่วนสกัดตัวอย่างคนไข้ สิ่งส่งตรวจที่ได้จากคนไข้จะส่งมายังห้องนี้ ห้องนี้ถ้าพูดกันคือห้องที่สกปรก เพราะมีสิ่งส่งตรวจคนไข้อยู่ เราต้องสกัดเอา RAM (คือกตรวจอาการไข้ ไอ เจ็บคอ RAM Infection Control OPD หรือ IC OPD ซึ่งเป็นการตรวจที่ห้องปลอดเชื้อ​ ที่แยกออกจากตัวอาคารโรงพยาบาลห่าง 700 เมตร) ออกมาเพื่อไปตรวจวิเคราะห์ว่าคนไข้คนนี้ มีเชื้อหรือไม่มีเชื้อ

ส่งตรงไปยังห้องสอง คือ ห้องเตรียมน้ำยา เพื่อเอาน้ำยานี้ไปตรวจหาว่าคนไข้คนนี้ มีเชื้อโควิด-19 ไหม ที่เรานำ RAM มาและไปยังห้องที่ 3  ห้อง amp ห้องเพิ่มสารพันธุ์กรรม เพราะการตรวจทางด้าน RT-PCR เป็นการหาปริมาณโดยการเพิ่มเชื้อ ดังนั้น ทำไมต้องตรวจ RT-PCR เพราะ เชื้อน้อย ๆ เราก็สามารถหาตรวจได้ว่าคนไข้นี้เป็นหรือไม่เป็น จะไม่เหมือนการตรวจวิเคราะห์ทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้รักษาได้เร็วขึ้น

• ห้องปฏิบัติการคำนึงถึงสิ่งใด

  1.  สิ่งส่งตรวจจากทางเดินหายใจ เช่น เสมหะหรือ nasopharyngeal swab, น้ำล้างหลอดลมหรือ BAL, น้ำในช่องปอดหรือ pleural fluid, อุจจาระหรือ stool มีเชื้อไวรัส รวมทั้งสิ่งส่งตรวจอื่น เช่น เลือด ปัสสาวะ
  2. ผู้เก็บสิ่งส่งตรวจที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยหรือต้องทำการทดสอบ ที่มีการป้องกันด้วยอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) ซึ่งประกอบด้วย หน้ากากอนามัยหรือ mask, อุปกรณ์ป้องกันดวงตาจากการติดเชื้อหรือ face shield, เสื้อกาวน์ (gown) และถุงมือทางการแพทย์ (gloves)
  3. การขนส่งตัวอย่างมายังห้องปฏิบัติการต้องใช้พัสดุภัณฑ์สามชั้นสําหรับบรรจุสิ่งส่งตรวจ (triple containers) รูปแบบอันตรายที่อาจเกิดต่อผู้ปฏิบัติการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การเปิดจุก การปั่น
  4. การกำจัดสิ่งส่งตรวจที่ทดสอบแล้ว ด้วยเครื่องมือที่ใช้สำหรับนึ่งฆ่าเชื้อ โดยใช้ไอน้ำร้อนและแรงดันสูง ทำให้ของที่ผ่านการนึ่งแล้วอยู่ในสภาพปราศจากเชื้อ (autoclave)
  5. หากมีบุคลากรในห้องปฏิบัติการติดเชื้อ ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อต้องถูกกักตัว 14 วัน

ความเป็นอยู่ของนักเทคนิคการแพทย์ในช่วงสถานการณ์นี้

จริง ๆ ก่อนหน้าโควิดพี่อยู่กับพ่อแม่ที่บ้านนะ แต่เมื่อโควิดเข้ามาเราก็ไม่กลับบ้าน อยู่หอหน้าโรงพยาบาล ไม่ค่อยกลับไปบ้าน เพราะงานเราเยอะและเราเลิกดึก บ้านเราอยู่ไกลจากโรงพยาบาล และเผื่อดึก ๆ มีเคสด่วน เราก็จะสามารถไปทันทีที่โรงพยาบาบาลได้เลย

อีกอย่างเรากลับไปเราไม่รู้ว่าเชื้อจะไปหาพ่อแม่เราด้วยหรือเปล่า เราต้องเว้นระยะห่างกับครอบครัวเรามากขึ้นด้วย บางทีเราตรวจหาเชื้อเยอะ ๆ เราก็ไม่อยากกลับบ้านนะ เราไม่รู้เราต้องป้องกันตัวเองและครอบครัวเราด้วย

ถึงคนไข้หายแต่งานยังไม่จบ เราต้องทำอะไรต่อหลังจากที่รักษาเขาหาย ก็ยังกลับไปใช้ชีวิตปกติกับคนที่เรารักได้หรือไม่ ?

ถ้าวันนี้คนไข้หายแล้ว จะมีการตรวจก่อนออกโรงพยาบาลว่าเขาไม่พบเชื้อแล้ว จะมีระยะเวลาในการตรวจ ก่อนที่ผู้ป่วยจะออกจากโรงพยาบาล ทางคุณหมอจะมีการสั่งตรวจอีกหนึ่งรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าเขาไม่มีเชื้อแล้ว และมีภูมิคุ้มกันแล้ว ดังนั้นคนไข้ 1 คน อาจจะมีคำขอจากแพทย์ให้ตรวจหนึ่งรอบหรือสองรอบ เพื่อเมคชัวร์ในการออกโรงพยาบาล

ที่เราตรวจกันเยอะ ๆ ทุกวันนี้ คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มต้องสงสัยว่าจะเป็น หรือกลุ่มที่ สสจ. ออกไปค้นหาเชิงรุก ว่าใครอยู่พื้นที่เสี่ยงตรงนี้ต้องมาตรวจ และผลก็จะส่งมาให้เราห้องแล็บ

ส่วนที่เราทำงานเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมหน้าด่านที่สำคัญ เสียสละมาทำตรงนี้ ถามถึงแรงกาย แรงใจในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ยังดีอยู่ ….

เรามีทีมที่ช่วยกัน เรามองว่าแต่ละทีมมีความสัมพันธ์และสำคัญ เช่น ทีมรักษา ทีมระบาดวิทยา ทีมแล็บ ทุกคนมีความสำคัญหมดเลย ทุกวันนี้แม้การระบาดจะหนักกว่ารอบอื่น ๆ ที่ผ่านมา แต่ทุกคนกำลังใจยังดีอยู่ สู้กันทุกคน

จริง ๆ พี่รู้สึกว่าพี่ได้ความรู้จากโรคอุบัติใหม่นี้มาก ในมุมมองของพี่นะเหมือนโรคนี้มันแปลก มันมีการกลายพันธุ์ มีการแพร่เชื้อเร็วขึ้น เพราะแต่ก่อนถ้าอย่างแพร่เชื้อที่สนามมวยมันเป็นเพียงกลุ่มก้อน แต่กลุ่มนี้มันกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ และต่างสายพันธุ์กันไป ทำให้ทีมแพทย์อย่างเราต้องหาความรู้ ว่าทำไมแต่ละสายพันธุ์ ในบ้านเราหรือเมืองนอกมันไม่เหมือนกัน แล้วก็ติดตามเรื่องวัคซีนที่ผลิตออกมาจะมีผลอะไรไหม

กลายเป็นว่าสิ่งที่ตัวพี่เองได้ คือ การเรียนรู้เรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อ เทคนิคที่ได้เรียนรู้จากการทำงานที่ห้องปฏิบัติการ มันจะมีหลายเทคนิค ซึ่งแต่ละที่น้ำยาที่ใช้ตรวจวิเคราะห์โควิด-19 ก็ไม่เหมือนกัน ยีนที่ใช้ในการค้นหาว่าตัวเชื้อ ว่าเป็นตัวเชื้อตัวนี้ไหมก็ไม่เหมือนกัน มันจึงเป็นข้อที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมคนนี้รอบแรกตรวจเจอแล้ว ตรวจอีกรอบเพื่อยืนยันกับน้ำยาตัวอื่น ๆ เพื่อเป็นการยืนยันว่าคนไข้คนนี้ติดเชื้อจริง และอย่างเราต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาใช้ไปด้วย

โรคนี้ไม่ได้น่ากลัว…. เหมือนกันว่าในครั้งแรกที่ทราบสถานการณ์ COVID-19 ทุกอย่างเรียกได้ว่าเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะเราทีมแพทย์ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน และไม่รู้เลยว่ามันจะยาวนานแค่ไหน ฉะนั้นการป้องกันตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ หากเราป้องกันตัวเองดีโรคนี้ก็ไม่ได้น่ากลัว

พี่ต้อม – พัชราพร จริโย …..

ในตอนนี้ที่เกิการแพร่ระบาดในระลอกสามแล้ว ถ้าเราป้องกันตัวเองดี หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไป ถ้าป้องกันตัวเองดีเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ตามมาตรการ DMHTT ก็จะสามารถช่วยลดการติดเชื้อในระดับหนึ่งได้
D : Distancing คือ เว้นระยะห่างระหว่างกัน
M : Mask Wearing คือ สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
H : Hand Washing คือ ล้างมือบ่อย ๆ
T : Testing คือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้างาน
T : Thai Cha Na คือ เช็กอินผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ทุกครั้ง เมื่อเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ

ข้อมูลจาก: ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน /สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

หลังจากนี้ต่อไป เรายังคงไม่อาจทราบได้ว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกคน ทีมบุคลากรทางการแพทย์และอาสาหลาย ๆ คนเรายังคงคอยตั้งรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะเป็นศูนย์ในทุก ๆ วัน และวาดความหวังว่าวันหนึ่งคงจะไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในประเทศ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ