ความเป็นมาเรื่อง”เดินและจักรยานสู่นโยบายสาธารณะ”

ความเป็นมาเรื่อง”เดินและจักรยานสู่นโยบายสาธารณะ”

ความเป็นมาเรื่อง”เดินและจักรยานสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย”

สวัสดีครับเพื่อนๆผู้รักการเดินและการใช้จักรยาน รวมถึงทุกๆท่านที่สนใจการลดพลังงานทั้งเพื่อครอบครัวและเพื่อประเทศชาติ ด้วยการที่ทรัพยากรประเทศและทรัพยากรโลกได้ลดน้อยถอยลง สวนกับปริมาณประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอยู่ทุกวัน ความสมดุลระหว่างทรัพยากรกับมนุษย์เริ่มไม่มี จะด้วยความโลภของมนุษย์หรือจากกลไกธรรมชาติเองก็ตาม

หลายประเทศต่างรณรงค์การลดใช้พลังงาน หาทางออกด้วยการใช้พลังงานทดแทน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย องค์กรเล็กๆไม่แสวงหาผลกำไรแห่งนี้คืออีกหนึ่งองค์กรที่ได้ลงมือทำทั้งทางนโยบายและการปฏิบัติจริง หลายเรื่องที่เราพยายามผลักดันไปสู่การลดใช้พลังงานที่ยั่งยืน แต่เรื่องที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนคือ “การผลักดันเรื่องเดินและจักรยานสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย”

ความเป็นมาเป็นอย่างไร มาติดตามอ่านกันนะครับ

มีนาคม 2554 ถึงกุมภาพันธ์ 2555 ชมรมฯศึกษาข้อมูลลงพื้นที่ ทำประชาคม รณรงค์ สร้างเครือข่าย ฯลฯ เพื่อวิเคราะห์เป็นนโยบายสาธารณะว่าด้วยเรื่องเดินและจักรยาน

มีนาคม 2555 ชมรมฯยื่นข้อเสนอประเด็นการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ขอรับการพิจารณาให้เป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2555

พฤษภาคม 2555 ระเบียบวาระเรื่องการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 11 ประเด็นหลักของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

พฤษภาคม ถึง ตุลาคม 2555 คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ร่วมกันยกร่างและนำเข้าสู่การรับฟังความเห็น จากเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

ธันวาคม 2555 การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ได้รับมติเอกฉันท์ในที่ประชุมใหญ่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ให้เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ

 

ธันวาคม 2555 ถึง กรกฎาคม 2556 คณะทำงานร่วมกันปรับปรุงก่อนนำสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ คณะรัฐมนตรี

สิงหาคม 2556 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และให้นำเสนอต่อที่ประชุม คณะรัฐมนตรี ระหว่างนี้ชมรมฯได้เข้าหารือกับหน่วยราชการ(บางหน่วย)เพื่อทำความเข้าใจ และในช่วงนี้ กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้พิจารณามติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และมีหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี แสดงความเห็นด้วยกับมติดังกล่าว

พฤศจิกายน 2556 คณะรัฐมนตรี มีมติรับมทราบและมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆทั้ง 10 กระทรวงนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

เรามาดูกันนะครับว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่ตามมติ คณะรัฐมนตรี มีบทบาทอย่างไรบ้าง

กระทรวงคมนาคม ส่งเสริมการเชื่อมต่อการเดินเท้าและการใช้จักรยานกับระบบขนส่งสาธารณะ และให้ความรู้ผู้ที่จะสอบใบขับขี่ เน้นให้เห็นความสำคัญต่อคนเดินและผู้ใช้จักรยาน

กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ให้ผลิตสินค้าและบริการเกี่ยวกับการเดินและจักรยาน อุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการในการเดินทางที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ราคาเป็นธรรม

กระทรวงศึกษาธิการ ให้สถานศึกษามีหลักสูตรความรู้ และพัฒนาทักษะการเดินและการใช้จักรยาน ส่งเสริมให้เดินหรือใช้จักรยานมาโรงเรียน จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเอื้อให้เด็กเดินและใช้จักรยานในสถานศึกษา

กระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมและรณรงค์เรื่องเดินและจักรยานในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สนับสนุนการท่องเที่ยวด้วยจักรยานและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่พัก มีจักรยานให้บริการนักท่องเที่ยว

กระทรวงพลังงาน มีนโยบายและมาตรการ ส่งเสริมการเดินทางมที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ เช่น เดินและใช้จักรยาน การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการในการเดินทาง

กระทรวงการคลัง มีมาตรการทางภาษี สนับสนุน ส่งเสริม สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

-ปรับปรุงกฎกระทรวง พรบ.ควบคุมอาคารและข้อบัญญัติท้องถิ่น ให้เจ้าของอาคารขนาดใหญ่ อาคารสาธารณะ ต้องมีที่จอดจักรยานปลอดภัย

-กำหนดให้จังหวัดสนับสนุนการเดินและการใช้จักรยาน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

-กำหนดให้เดินและจักรยาน เป็นระเบียบวาระของ อปท.

-กำหนดพื้นที่จำกัดความเร็วยานยนต์

-มีสัญลักษณ์ชัดเจน แสดงช่องทางเดิน ทางจักรยานในเขตชุมชน

สำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้เรื่องเดิน-จักรยานเป็นนโยบายหลัก ประสานหน่วยงานรัฐในการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติ

สสส.รณรงค์การสร้างองค์ความรู้เพื่อผลักดันนโยบาย และเพื่อสร้างพฤติกรรมสุขภาพด้วยการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยประสานงานและสนับสนุนด้านวิชาการตามมติคณะรัฐมนตรี

ถึงแม้ว่าสถานการณ์การเมืองจะไม่นิ่งในช่วงนี้ แต่ชมรมฯก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังประสานปลัดกระทรวงต่างๆและลงพื้นที่ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดทำชุมชนจักรยาน ชุมชนสุขภาวะ และสร้างเครือข่ายผู้รักการเดินและใช้จักรยาน หากมีความคืบหน้าอย่างไร ผมจะนำข้อมูลมารายงานให้เพื่อนๆทราบต่อไป

ต้องการประสานหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

อาคารรัจนาการ ชั้น 4 ซอยประดิพัทธิ์ 17 ถนนประดิพัทธิ์ แขขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02 618-4434 โทรสาร 02 618-4430 หรือ

www.thaicyclingclub.org email: tcc@thaicyclingclub.org www.facebook.com/thaicycling

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ