ผู้ติดเชื้อโควิดชุมชนคลองเตยแยกกักตัวในรถยนต์ ชายแดนไทย-ลาว ยกระดับคุมเข้ม สปป.ลาวหวั่นเกิดคลัสเตอร์ใหม่ เชื่อมโยงสถานบันเทิงไทย

ผู้ติดเชื้อโควิดชุมชนคลองเตยแยกกักตัวในรถยนต์ ชายแดนไทย-ลาว ยกระดับคุมเข้ม สปป.ลาวหวั่นเกิดคลัสเตอร์ใหม่ เชื่อมโยงสถานบันเทิงไทย

ผู้ติดเชื้อโควิดชุมชนคลองเตยแยกกักตัวในรถยนต์ ชายแดนไทยยกระดับคุมเข้ม สปป.ลาวหวั่นเกิดคลัสเตอร์ใหม่ เชื่อมโยงสถานบันเทิงฝั่งไทย หลายจังหวัดในภาคอีสาน-ใต้ฟื้นตู้ปันสุข

ทีมสื่อพลเมืองร่วมกับเครือข่ายนักข่าวพลเมือง ติดตามสถานการณ์การระบาดโควิด-19 วันที่ 21 เมษายน  2654 พบความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ผู้ติดเชื้อโควิดคลองเตยแยกกักตัวในรถยนต์ส่วนตัว ระหว่างรอเข้ารับการรักษา หวั่นแพร่เชื้อสู่ครอบครัว-ชุมชน

สื่อพลเมืองปักหมุด C-Site พบผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 แยกตัวเองอยู่ในรถกระบะสีขาว หลังทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างรอประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็รับแจ้งว่าเตียงเต็มทุกโรงพยาบาล ให้กักตัวเองที่บ้านก่อน ซึ่งผู้ป่วยท่านนี้ก็กังวลใจว่าจะเอาเชื้อไปแพร่ให้กับคนในครอบครัวและคนในชุมชน ประกอบกับไม่รู้จะไปอยู่ไหนดีจึงเลือกที่จะกักแยกตัวเองอยู่ในรถยนต์ของตัวเอง

จากคำบอกเล่าของผู้ติดเชื้อโควิดรายนี้บอกว่า ช่วงวันสงกรานต์ตนเองและเพื่อนไปกินข้าวบ้านเพื่อนในชุมชนที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ต่อมาทราบภายหลังว่าคนในวงกินข้าวเดียวกันติดเชื้อโควิด ตนเองและเพื่อนจึงได้เดินทางไปตรวจหาเชื้อ ปรากฏพบว่าเพื่อติดเชื้อโควิดอีก 2 คน ซึ่งก็ยังไม่ได้รับการประสานให้ไปอยู่รักษาที่โรงพยาบาลเช่นกัน ขณะที่อาจมีคนในชุมชนคลองเตยอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่รอผลตรวจอยู่อีกประมาณ 3-4 คน

การแยกกักตัวเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความห่วงกังวลของคนในพื้นที่เนื่องจากชุมชนคลองเตยเป็นชุมชนแอดอัด หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถหาสถานที่กักแยกโรคได้ทัน กังวลว่าจะทำให้คนในชุมชนติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สถานการณ์ข้อมูลวันที่ 20 เม.ย. กรุงเทพมหานคร พบผู้ป่วยรายใหม่ 350 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 7,677 ราย

A picture containing sky, outdoor, dock
Description automatically generated
ภาพจากหมุด ผู้ติดเชื้อโควิด ในชุมชนคลองเตยล็อค1-2-3 https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000017855

คณะทำงานฯจัดหาวัคซีนเคาะแนวทางนำเข้าวัคซีนเพิ่ม 35 ล้านโดส พร้อมฉีดภายในสิ้นปี

สำหรับกระบวนการต่อไปให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการโดยเร่งด่วนและเป็นไปตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ผมได้สั่งการให้วางแผนการกระจายและฉีดวัคซีนที่จัดหามาทั้งหมด ให้เสร็จสิ้นภายใน ธันวาคม 2564

คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งประกอบด้วย คณะแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน นำโดย นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร ได้รายงานว่า “จากการหารือทุกฝ่าย ได้ข้อยุติว่า ประเทศไทยจะจัดหาวัคซีนอีก 2-3 ยี่ห้อเพิ่มเติมอีกประมาณ 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ดำเนินการไว้แล้วประมาณ 65 ล้านโดส ส่วนกระบวนการต่อไปให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการโดยเร่งด่วนและเป็นไปตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ผมได้สั่งการให้วางแผนการกระจายและฉีดวัคซีนที่จัดหามาทั้งหมด ให้เสร็จสิ้นภายใน ธันวาคม 2564

ผู้ติดเชื้อประเทศลาวพุ่ง วันเดียว 28 ราย หวั่นเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ หลังพบการลักลอบเข้ามาเที่ยวจากฝั่งไทย

ทางการลาวออกคำสั่งปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำและห้ามเรือสัญจรทุกแขวงที่ติดลำน้ำโขง วันนี้ (21 เม.ย.2564) คณะเฉพาะกิจป้องกัน ควบคุม และแก้ไขการระบาดของโควิด-19 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รายงานผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มอีกจำนวน 28 ราย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากสำหรับผู้ติดเชื้อในประเทศลาวจากตัวเลขสะสมเดิม 60 รายส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อรวม 88 ราย ความเคลื่อนไหวสถานการณ์โควิด-19 มีการรายงานผ่าน “เพจเป็นเรื่องเป็นลาว” อย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่า ทางการลาวยกระดับการควบคุมสถานการณ์โควิดโดย ค่ำวันที่ 20 เม.ย.64 นครหลวงเวียงจันทน์ ออกคำสั่งปิดคลับบาร์, ร้านคาราโอเกะ, ร้านนวด,โรงแรม สืบเนื่องมาจากผู้ติดเชื้อโควิดกรณีที่ 59 ได้พาคนไทย 2 คน และหญิงลาว 1 คน เข้าไปใช้บริการ

นอกจากนี้ยังปิดสถานศึกษาและวัดชั่วคราว โดยไทม์ไลน์ของกรณีที่ 59 ได้รับความสนใจจากคนลาวจำนวนมาก เนื่องจากผู้ป่วยเป็นนักศึกษาสาว พักอาศัยอยู่ที่บ้านโพนสะหวัน เมืองจันทบุลี นครหลวงเวียงจันทน์ ได้สัมผัสกับคนไทย 2 คน ที่ระบุว่าได้ลักลอบข้ามโขงเข้าไปเที่ยวเมืองลาว และทราบในภายหลังว่าพวกเขาติดเชื้อโควิด นักศึกษาหญิง จึงไปตรวจหาเชื้อโควิดที่โรงหมอ (โรงพยาบาล) และพบผลตรวจเป็นบวก เธอจึงเข้ารักษาอาการป่วยที่โรงหมอมิดตะพาบ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2564 หนุ่มไทย 2 คน ที่เป็นเพื่อนของหญิงชาวลาว ลอบนั่งเรือข้ามโขงจาก จ.มุกดาหาร และเข้ามาพักอยู่โรงแรมสายแพไหม 2 แขวงสะหวันนะเขต ได้พาไปร้องเพลงที่คาราโอเกะ และราว 2 ทุ่ม ทั้ง 3 คนได้นั่งรถโดยสารจากแขวงสะหวันนะเขตมานครหลวงเวียงจันทน์

  • 7 เม.ย. ทั้งสามคน (หญิงลาวและสองหนุ่มไทย) ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ และเข้าพักที่โรงแรมเจือง 2 เมืองจันทบุลี โดยนักศึกษาหญิงเคส 59 ได้ไปต้อนรับ
  • ระหว่างวันที่ 8-12 เม.ย.2564 นักศึกษาหญิง ได้พาเอื้อยฮัก และหนุ่มไทยทั้งสอง ไปไหว้พระที่วัดสีเมือง และกินเที่ยว ทั้งร้านอาหาร คลับบาร์ คาราโอเกะ และร้านนวด
  • 13 เม.ย. หนุ่มไทย 2 คน มีอาการไข้ ปวดเนื้อปวดตัว แต่ไม่ได้พบกับนักศึกษาหญิง
  • 16 เม.ย. หญิงลาว และคนไทย 2 คน ออกจากโรงแรม เดินทางกลับไทย โดยว่าจ้างเรือน้อยลักลอยข้ามโขงไปขึ้นฝั่งที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
  • 17 เม.ย. นักศึกษาหญิงได้รับโทรศัพท์จากหญิงชาวลาวว่าทั้งสามคน ติดเชื้อโควิด และหนึ่งในหนุ่มคนไทยนั้น มีอาการป่วยหนัก 19 เม.ย. นักศึกษาหญิงรู้สึกไม่สบาย จึงเดินทางไปตรวจหาเชื้อโควิดที่โรงหมอมิดตะพาบ ผลเป็นบวก เธอจึงถูกแยกตัวเพื่อรักษาอาการป่วย
  • 20 เม.ย. คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ (ดงโดก) ได้ออกหนังสือด่วนเรื่องรายงานผลตรวจเชื้อโควิดของนักศึกษาหญิงผู้นี้ ซึ่งในแวดวงบันเทิงลาวรู้จักกันในนาม ติน่า สุดทิดา นักแสดง นางแบบ นางงาม และเธอได้ไลฟ์เฟซบุ๊กชี้แจงเรื่องการถูกเอื้อยฮักหญิงชาวลาวไหว้วาน ให้พาหนุ่มคนไทยเที่ยว โดยเธออ้างเอื้อยฮักยืนยันว่า คนไทยได้มีผลตรวจโควิดรับรองปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม มีชาวลาวแห่เข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก จนเธอต้องปิดเฟซบุ๊กหนี เพราะทนกระแสสังคมโจมตีไม่ไหว ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 แขวงบอลิคำไซ ออกคำสั่งด่วนถึงเมืองปากซัน, เมืองปากกะดิงและเมืองท่าพระบาท ให้ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขง นำเรือขึ้นฝั่ง ห้ามใช้เรือสัญจรไปมา เพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดน เพราะมีกรณีแรงงานลาว ลักลอบนั่งเรือหางยาวจาก จ. บึงกาฬ มาที่ปากกะดิง และตรวจพบเชื้อโควิด

นอกจากนั้น ทุกแขวงที่ติดลำน้ำโขง มีคำสั่ง ห้ามเรือสัญจรประกอบด้วยนครหลวงเวียงจันทน์แขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน แขวงสะหวันนะเขต แขวงสาละวัน แขวงบ่อแก้ว และมีคำสั่งปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำด้วย ทางการลาว ได้ออกมาตรการป้องกันการลักลอบเข้าเมือง โดยเฉพาะแรงงานลาวที่กลับจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากวันที่ 17 เม.ย.2564 สาธารณสุขลาว พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 4 คน ซึ่งเป็นแรงงานลาวที่กลับมาจากเมืองไทย โดยชาวลาวผู้ติดเชื้อโควิด 4 คน แยกเป็นชาวแขวงสะหวันนะเขต 2 คน, แขวงคำม่วน 1 คน และแขวงบอลิคำไซ 1 คน

  • รายแรก หญิงวัย 25 ปี ชาวเมืองหินบูน แขวงคำม่วน มีอาชีพแม่บ้านในร้านอาหารที่กรุงเทพฯ เดินทางจากสถานีขนส่งหมอชิต ถึงนครพนม วันที่ 14 เม.ย. 2564 และได้ข้ามแดนผ่านด่านสากลสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3
  • รายที่สอง ชายวัย 32 ปี ชาวเมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต มีอาชีพขายที่นอน อยู่แถววงเวียนใหญ่ และพาหุรัด กรุงเทพฯ เดินทางจากหมอชิตถึงมุกดาหาร วันที่ 7 เม.ย. 2564 และข้ามแดนผ่านด่านสากลสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2
  • รายที่สาม ชายวัย 24 ปี ชาวเมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต มีอาชีพลูกจ้างร้านอาหาร แถวรามคำแหง เดินทางจากหมอชิตถึงมุกดาหาร วันที่ 15 เม.ย. 2564 และข้ามแดนผ่านด่านสากลสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2
  • รายที่สี่ หญิงวัย 25 ปี ชาวเมืองบอลิคัน แขวงบอลิคำไซ นั่งเครื่องบินจากหาดใหญ่ มาที่อุดรธานี ก่อนจะนั่งรถตู้มาที่ จ.บึงกาฬ และลักลอบเข้าเมือง

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขลาวพบว่า ช่วงบุญปีใหม่ลาวหรือสงกรานต์ปีนี้ มีแรงงานลาวกลับมาจากเมืองไทย ตรวจพบเชื้อโควิดรวมทั้งหมด 7 ราย และช่วงวันที่ 1- 20 เมษายน พบผู้ติดเชื้อโควิดในลาว 11 กรณี เป็นคนลาวในไทยกลับบ้าน และคนไทยที่ลักลอบเข้าลาว สำหรับการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่นี้ ทางการลาว ไม่ได้มีคำสั่งล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่มอบให้แต่ละแขวงดำเนินการออกคำสั่งควบคุมและป้องกันโควิดตามสถานการณ์ กรณีแรงงานลาวจากไทยมีทั้งผ่านด่านสากลและลักลอบเข้าเมือง มีจำนวนหนึ่งติดเชื้อโควิด ทำให้แขวงสะหวันนะเขต, แขวงสาละวัน, แขวงคำม่วน และแขวงบอลิคำไซ ออกมาตรการพิเศษ เพื่อสกัดกั้นการลักลอบข้ามแดน

จังหวัดในเขตชายแดน ไทย-ลาว-กัมพูชา คุมเข้มเรื่องการคนลักลอบเข้าเมือง

ส่วนกัมพูชา ที่กรุงพนมเปญขยายเวลาเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนที่ไม่มีเหตุจำเป็นออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 20.00 – 05.00 น. แต่เดิมจะอยู่ในช่วงหลังสงกรานต์ (13-15 เมษายน 2564) ตอนนี้ขยายออกไปจนถึงวันที่ 28 เม.ย.

ร้านอาหารขอนแก่นแบ่งปันอาหารสร้างโรงทานสู้โควิด

ที่ร้านโสเหล่ ตั้งอยู่บริเวณริมบึงแก่นนคร เขตเทศบาลนครขอนแก่น เจ้าของร้านพร้อมด้วยพนักงาน ได้ร่วมกันนำเอาขนมจีนน้ำยา ข้าวเหนียวหมูทอด แอลกอฮอล์ล้างมือ และหน้ากากอนามัย มาแจกฟรีให้กับพี่น้องชาวขอนแก่น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระแต่คนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19

โดยเริ่มวันที่ 20 เมษายนเป็นวันแรก และจะมีไปจนถึงวันที่ 1 พ.ค.นี้ โดยในแต่ละวันจะเริ่มแจกอาหารตั้งแต่เวลา 14.00 – 20.00 น. ส่วนใครที่จะเข้ามารับอาหารจะต้องสวมหน้ากากอนามัย และตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย พร้อมกับรักษาระยะห่าง ซึ่งทางร้านได้ร่วมกับ อสม. ตั้งจุดคัดกรองที่บริเวณหน้าร้าน

4. จ.มหาสารคามเปิด “ตู้ปันสุข” แบ่งปันอาหาร เครื่องดื่ม ดีเดย์เริ่ม 21 เมษายน

จังหวัดมหาสารคามเปิดตู้ปันสุขแจกจ่ายอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งของใช้จำเป็น แก่ประชาชนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน เป็นต้นไป ที่หน้าทางขึ้นศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอในมหาสารคาม รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ล่าสุด (21 เมษายน 2564) มหาสารคามมียอดผู้ติดเชื้อ +19 ราย รวมยอดสะสมในระรอก 3 เดือนเมษายน มียอดรวม 66 ราย โดยบางส่วนกักตัวที่โรงพยาบาลสนาม

สถานการณ์ภาคเหนือยังต้องเฝ้าระวัง การขยายวงการระบาดไปยังคนในครอบครัว-พท.ห่างไกล

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ผู้ป่วยลดลงมาเหลือ 99  คน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 เมษายน 2564) จังหวัดจึงมีการลงพื้นที่ตรวจหาผู้ติดเชื่อเชิงรุกมากขึ้นโดยเฉพาะเขตชานเมืองโซนนอก เช่น ตลาดหนองหอย อุทยานราชพฤกษ์ และยังมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

แม่ฮ่องสอน มีการเปิดด่านชายแดนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการขาดอาหารของไทย-เมียนมา ใน 3 ด่าน ห้วยต้นนุ่น ห้วยผึ้ง และแม่สามแลบ โดยมีทางทหารเข้าไปดูแลให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย เพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

ส่วนเชียงรายประกาศปิดด่านชายแดนสามเหลี่ยมทองคำเพื่อป้องกันการเดินทางเข้าออก ในส่วนของพื้นที่ต้องมีการตรวจสอบการลักลอบเข้าเมือง ลักลอบเดินทางเข้าออกชายแดนผ่านน้ำรวก ด่านธรรมชาติ ที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ และที่ผ่านมามีการทำงานของเครือข่ายด้านสาธารณสุขข้ามแดน 3 ประเทศ (ไทย -ลาว-เมียนมา) ซึ่งอาจจะมีการฟื้นฟูตรงนี้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคชายแดนมากขึ้น

ภาคประชาสังคมเหนือล่างขยับวงฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานล่างระยะยาว

สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ตอนนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมมีการเริ่มคุยกันถึงเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจของนครสวรรค์ รวมถึงจะมีแนวทางในการหาทางพื้นฟูเศรษฐกิจของพื้นที่ เนื่องจากนครสวรรค์เติบโตมาจากการค้าของคนภายในธุรกิจท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีการสืบทอดของคนรุ่นใหม่ ๆ จากก่อน ๆ ที่เป็นคนจีนอพยพโพ้นทะเล และออกแบบเพื่อสร้างการพัฒนาเมืองนครสวรรค์

ภาคใต้หลายจังหวัดยังระบาดต่อเนื่อง หลายพท.เริ่มเปิดโรงพยาบาลสนาม รองรับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ ลดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐ

กลุ่มจังหวัดที่เปิด/เพิ่มโรงพยาบาลสนาม

  1. สงขลา (เปิดศูนย์ประชุมชนนานาชาติ ม.อ. รับผู้ป่วยได้ 700 เตียง)
  2. พังงา (โรงยิมเนเซียม อบจ.พังงา รับผู้ป่วยได้ 46 เตียง)
  3. ภูเก็ต (ศูนย์ประชุมราชภัฏภูเก็ต 300 เตียง)

ขณะที่สถานการณ์แรงงานไทยในมาเลเซีย วันนี้ (21 เม.ย. 64) เป็นวันสุดท้ายที่รัฐบาลมาเลเซียกำหนดให้ชาวต่างชาติที่อยู่อย่างผิดกฎหมายเดินทางกลับประเทศ ทางการไทยคุมเข้มช่องทางธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากแรงงานหลายคนลงทะเบียนไม่ทัน และไม่กล้าเดินทางตามขั้นตอนเนื่องจากตัวเองเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งอาจจะโดนขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามกลับเข้าประเทศได้

การกลับเข้าไทยอย่างผิดกฎหมาย จะส่งผลต่อเนื่องกับชุมชน ผู้ผลิตภาคพลเมืองให้ข้อมูลว่า แรงงานที่กลับมาบ้านก็จะอยู่แบบสบาย ๆ ไม่ต้องกักตัว ซึ่งหากแรงงานติดเชื้อโควิด-19 อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนได้.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ