ชีวิตนอกกรุง : ตลาดใกล้บ้าน กับผู้จัดการเพนนี

ชีวิตนอกกรุง : ตลาดใกล้บ้าน กับผู้จัดการเพนนี

ทุก ๆ พื้นที่ในประเทศไทย ภาพการทำเกษตรที่เราคุ้นตากัน ก็คือการปลูกพืชอะไรสักอย่าง แบบเชิงเดี่ยวนะครับ เน้นปลูกทีละเยอะ ๆ แบ่งเป็นช่วง ๆ ไป เพื่อส่งไปขายตลาดใหญ่ ๆ ภายนอกพื้นที่ หรือห้างร้าน  รวมถึงต่างประเทศ แต่การปลูกเยอะ ๆ เพื่อส่งขายภายนอกอย่างนี้  แม้จะน่าสนใจ เพราะมองเห็นเงินก้อน   แต่ก็ต้องลุ้นกับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลานะครับ อย่างที่เราเห็นกันไปบ้างในวิกฤติที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาการถูกกดราคา ของเยอะราคาตกต่ำ หรือแม้กระทั่งปัญหาเรื่องการขนส่ง

ชีวิตนอกกรุงวันนี้ ชวนมาหาเพนนี ณิชกมล ปาริณ  หรือชื่อที่คนที่นี่เรียกกันติดปากว่าเพ็ญ    เมื่อก่อนเพนนีเปิดร้านอาหารใน เมืองเชียงใหม่ แต่กลับมาอยู่บ้านได้ 2 ปีแล้ว โดยช่วงแรกของการกลับมา เพนนีมาเป็นเกษตรกรเพาะเห็ดส่งขายตลาดใหญ่ ๆ ผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

เพนนี ณิชกลม ปาริณ

   ช่วงแรกที่ทำ เราซื้อก้อนมาก่อน 1,000 ก้อน แล้วมาเปิดดอก ขายก็โอเค ขายได้ดี ก็เลยมาผลิตก้อนเอง ก็เลยมีการซื้อเครื่องจักรมาทำ จากนั้นมาเราไปขายเห็ดมันล้น แล้วพ่อค้าที่มาซื้อเห็ดกับเรา เขาก็กดราคาเราอีกที เพราะตอนเราขายเองเราก็ขายได้อีกราคาหนึ่ง พอพ่อค้ามารับซื้อเขาก็ซื้ออีกราคาหนึ่ง พ่อค้าเป็นคนกำหนดราคาเราเลยว่า นี่จะซื้อราคา 40 บาท 50 บาท ซึ่งตอนนั้นเราคำนวนไปแล้วมันไม่คุ้มทุน

   ก็เลยกลับมาคิดใหม่ หาตลาดใกล้ ๆ ก่อน กลายเป็นตลาดใกล้ ขายดีกว่าตลาดไกล ถ้าตลาดไกลเราก็รวมกันทำเป็นกลุ่มได้ … และอีกอย่างเราขายของให้กับคนในชุมชน คือมันใกล้ ไม่ต้องมีค่าน้ำมัน มันเป็นอะไรที่สอนใจ …. ว่าการจะทำอะไรสักอย่าง ต้องเรียนรู้ศึกษาให้ดีก่อน และอีกอย่างเราต้องดูตลาด ต้องหาตลาดก่อน

ปัญหาจากการถูกกดราคา ปัญหาผลผลิตล้นตลาด ปัญหาจากการขนส่ง ทำให้เพนนี เลิกกิจการโรงเห็ดไปในที่สุด พร้อมสูญเงินไปเกือบ 1 ล้านบาท

หลังจากเลิกผลิตเยอะ ๆ เพื่อส่งขายไปตลาดไกล ๆ มีค่าขนส่ง ผ่านการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เพนนี ก็เริ่มลดขนาดฟาร์มเห็ดลง มาเน้นผลิตเพื่อส่งขายในพื้นที่ และปลูกผักอินทรีย์เพื่อส่งขาย โดยตลาดก็คือร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชนใกล้ ๆ และลูกค้าจากในเฟสบุ๊ก หรือ ไลน์

เมื่อทำมาเรื่อย ๆ ลูกค้าเริ่มมากขึ้น ตลาดเริ่มกว้าง เริ่มประสบกับปัญหาด้านการผลิต เนื่องจากสินค้ามีไม่พอ จึงเกิดไอเดียในการรวบรวมผลผลิต จากเกษตรกรรายเล็ก ๆ ในชุมชน ให้มาส่งที่ตนเอง สร้างเป็นกลุ่มวิสาหกิจผลิตผักปลอดภัย ซึ่งตนเองทำหน้าที่กระจายสินค้าออกไป  จึงเกิดตำแหน่งใหม่ขึ้นมาก็คือ ผู้จัดการ และรวบรวมผัก

“ออเดอร์เรามันเยอะ ทำคนเดียวส่งลูกค้าไม่ไหว …ก็เลยชวนชาวบ้านมาปลูกผักปลอดสารพิษ เขาก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย เพราะเราทำคนเดียวเราส่งไม่ไหว ถ้าเราทำอะไรเป็นกลุ่มเป็นก้อน จะทำให้เราไปได้ไกล ดีกว่าเราทำอะไรคนเดียว”

“แต่ก่อนมันไม่มีตัวเชื่อมเหมือนเรา จะมีก็คือพ่อค้าคนกลางไปเลย พ่อค้าคนกลาง บางทีเขาก็เป็นคนกำหนดราคาให้เกษตรกร เราอยากจะเป็นตัวเชื่อมให้ผู้ค้า ให้เกษตรกร ได้ไปขายให้กับผู้บริโภคโดยตรงเลย จะเป็นการที่ไม่ทำให้ชาวบ้านถูกกดราคา เกษตรกรบางคนก็ท้อ เวลาขายไปมันไม่ได้กำไร คือเขาไม่ได้อะไรเลย บางคนก็เลิกทำ เพราะว่าทำไปก็ขาดทุน ก็ปล่อยที่ดินว่างเปล่าไป”

ต้นเหตุของแนวคิดการปรับตัวมาทำหน้าที่ รวบรวมผักส่งขาย ของเพนนี

ที่เราส่งผักไปที่โรงพยาบาล เดือนหนึ่งได้ประมาณ 15,000 บาท แล้วก็เราส่งผักให้ตามบ้าน วันหนึ่งเราก็ส่งได้ประมาณไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 บาท

เมื่อมีผลผลิตมากขึ้น ก็สามารถหาตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้ จากตลาดที่เป็นร้านค้า หรือคนทั่วไป ในชุมชน เริ่มขยับเป็น โรงพยาบาล และโรงเรียน

เพนนีเล่าให้ฟังว่า หน้าที่ของผู้จัดการ และรวบรวมผัก ไม่ได้มีแค่การรวบรวม จัดส่ง และหาตลาดเท่านั้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำอยู่ตลอด ก็คือการออกตรวจเยี่ยมแปลงผักของสมาชิกในกลุ่มที่ปลูกผัก เพื่อดูว่ามีการแอบใช้สารเคมีหรือไม่

สมาชิกเราบางคนถ้าเราไม่ออกมาตรวจเขาก็จะแอบใช้เคมีอยู่ แต่ถ้าเรามาตรวจบ่อยขึ้น ถ้าเราเจอครั้งแรกเราก็เตือนเขา แต่ถ้าเจอครั้งที่สองเราก็จะไม่รับซื้อผักจากเขาเลย เพราะว่าชาวบ้านเขาก็อยากจะขายผักให้เรา เพราะการขายให้เราก็จะได้ราคามากขึ้นหน่อย ครั้งแรกก็จะเจอบ่อยมาก แต่ต่อไปก็จะเริ่มไม่ใช้แล้ว เพราะผักของเรา เราบอกกับลูกค้าไว้ว่าเรามีมาตรฐาน เราทำเป็นอินทรีย์ 100 เปอร์เซนต์เลย เราจะต้องซื่อสัตย์ในตัวเอง แล้วก็ซื่อสัตย์กับคนอื่นด้วย พอตรวจบ่อยขึ้น ๆ สุดท้ายมาเขาก็ไม่ใช่เคมีเลย และอีกอย่างเราจะมาให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ย ทำฮอร์โมน เราได้ความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาเราก็เผยแพร่กับกลุ่มของเรา

เพนนีบอกว่า การที่เข้ามารวมกลุ่ม และตนเองเป็นผู้รวบรวมผักปลอดภัยของสมาชิกออกขาย รายได้จะเข้ามาแบ่งเป็น 3 ทาง ก็คือ อย่างแรกได้มาจากการขายสินค้าของตัวเอง อย่างที่สอง ได้จากเปอร์เซนต์จากยอดขายในแต่ละวัน และอย่างที่สามอยู่ในรูปของการปันผล

   อันดับแรกก็คือรายได้จากผักตัวเอง อย่างที่สองก็คือรายได้จากการรับจากสมาชิกของเรา เกษตรกรที่เข้าร่วมกับเรา ทุกวันนี้เราเป็นผู้ร่วบรวมด้วย อย่างสมมุติว่าวันนี้เรารับคื่นช่ายมากิโลกรัมละ 20 บาท เราไปส่งโรงพยาบาลได้กิโลกรัมละ 30 บาท เราก็ได้กำไรแล้วกิโลกรัมละ 10 บาท … อย่างวันนี้เราส่งผักไป 50 กิโลกรัม เราก็ได้กำไรอยู่ 500 บาท นี่คือกำไรตัวนี้ต่อวัน เราก็เอากำไรตัวนี้มาแบ่งเป็น 3 ส่วน หนึ่งก็คือคนทำงาน สองก็คือปันผลกำไร  และอีกส่วนคือเก็บไว้เป็นเงินทุน

   จากที่ได้ตามดูขั้นตอนวิธีการ ชีวิตผู้รวบรวมผักของเพนนี  สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดคือ ปริมาณความต้องการของตลาดภายในที่ไม่ธรรมดา ที่เรามักจะมองข้ามไป    เพราะเวลาเราปลูกอะไรสักอย่าง ภาพจำก็คือเราต้องปลูกเยอะ ๆ ขายทีละมาก ๆ ส่งโรงงาน ส่งห้างร้านต่าง ๆ ได้เงินเป็นก้อนใหญ่ ๆ

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ เกษตรกรที่เน้นการผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในอยู่รอดได้ ก็คือคน หรือระบบการจัดการ ที่ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิต คุมคุณภาพ และหาตลาดป้อนสินค้า ไม่งั้นก็ไม่ง่ายเลยที่จะอยู่รอดได้

5 ขั้นตอนการจัดการตลาดภายใน แบบผู้จัดการเพนนี

1.หาตลาด ดูความต้องการของชุมชน   ว่าชุมชนมีความต้องการอย่างไร กลุ่มเป้าหมายคือใครบ้าง เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ร้านอาหาร ว่าต้องการผักชนิดไหน จำนวนเท่าไร

2.รวมกลุ่ม และวางแผนธุรกิจ               รวมกลุ่มกับผู้ผลิตในชุมชน หาคนที่พร้อมจะผลิตผักอินทรีย์ส่งให้

3.วางแผนการผลิต                                  มีการเพาะกล้าส่งให้เกษตรกรแต่ละคนนำไปปลูกต่อ เพื่อให้รู้ปริมาณที่แน่นอนของผักที่จะได้ในแต่ละช่วง พร้อมมีการวางแผนการปลูกไม่ใช้ซ้ำกัน เพื่อจะได้มีปริมาณผักที่พอดี ไม่มาก ไม่น้อย จนเกินไป

4.ตรวจสอบคุณภาพ                               มีการตรวจสอบคุณภาพอยู่เสมอ ไม่ให้มีการแอบใช้สารเคมี ซึ่งการลงพื้นที่แต่ละครั้ง จะมีการแนะนำ พูดคุย แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย เรื่องน้ำ เรื่องดิน

5.รวบรวม และจัดส่ง                             รวบรวมและจัดส่งให้ตรงเวลา พร้อมทั้งหาตลาดใหม่ ๆ อยู่เสมอ ถ้าเราสามารถหาตลาดที่เหมาะสมกับสินค้าได้ จะทำให้สินค้าเรามีมูลค่าที่สูงขึ้นไป อย่างเช่น ขึ้นฉ่ายอินทรีย์ จากกลุ่ม ถ้าเราส่งให้แม่ค้าในตลาด เราจะได้ราคากิโลกรัมละ 20 บาท ถ้าเราส่งให้กับร้านอาหาร เราจะได้กิโลกรัมละ 40 บาท แต่ถ้าเราสามารถส่งให้กับโรงพยาบาลราคาจะขยับไปถึงกิโลกรัมละ 80 บาท

จากการเดินทางครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นว่า คำว่าตลาดภายใน ที่เน้นซื้อ เน้นขาย กันอยู่ภายในชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด มันเป็นไปได้จริง และตลาดเหล่านี้ที่เรามักมองข้าม กลับมีแรงซื้อไม่น้อยเลย

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรเข้าไม่ถึงตลาดเหล่านี้ ก็คือการขาดคน หรือระบบ ที่จะมาเชื่อมต่อกัน ระหว่างเกษตรกร และตลาดในพื้นที่ ซึ่งถ้าตรงนี้สามารถทำได้ สิ่งนี้ก็อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ของคนในแต่ละพื้นที่ให้มีความมั่งคงและถ้าทุกพื้นที่ สามารถสร้างกลไกเชื่อมโยงกัน ทั้งในด้านการผลิต การตลาด การบริโภค โดยลดการพึ่งพาตลาดภายนอก หรือระบบโลจิสติกส์ขนาดใหญ่  ก็จะช่วยให้ชุมชน มองเห็นทางออกใหม่ หรือลดผลกระทบเมื่อเกิดเหตุวิกฤต ต่าง ๆ   

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ