ชีวิตนอกกรุง: หรือตลาดภายในจะเป็นคำตอบ ?

ชีวิตนอกกรุง: หรือตลาดภายในจะเป็นคำตอบ ?

จากสถานการณ์ โควิดที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อปากท้องของผู้คนและเศรษฐกิจทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนตกงาน การปิดตลาด การขนส่งสินค้า ทำให้เห็นครับว่า การที่เราผลิตเพื่อเน้นส่งขายให้ตลาดภายนอก เพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี เหมือนที่ผ่าน ๆ มา

เกษตรกรหลายคน จึงเริ่มปรับกลยุทธ์ใหม่ ลดการพึ่งพาตลาดภายนอก หันมามองตลาดภายในมากขึ้น แต่การผลิตเพื่อเน้นขายตลาดภายในเพียงอย่างเดียว ยังคงมีคำถามมากมาย เช่น ต้องผลิตอย่างไร จัดการอย่างไร และที่สำคัญก็คือแล้วถ้าพึ่งพาแค่ตลาดภายในจะอยู่รอดได้จริงหรือไม่ รายได้จะมีมากน้อยแค่ไหน วันนี้ Localist ชีวิตนอกกรุง ชวนไปหาคำตอบกับ เกษตกรคนหนึ่งที่ อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน ครับ

   ที่สำคัญคือเราต้องทำสิ่งที่มีความสุข แล้วทำให้เราอยู่ได้ในท้องถิ่นเราด้วย ไม่ใช่ว่าทำสิ่งที่เรามีความสุข แต่ไม่สามรถสร้างรายได้ แต่กินไม่ได้ อันนี้ก็เป็นได้แค่ความฝัน

คำพูดจาก เอ  เกียรติพงศ์ ลังกาพินธุ์   เกษตรกร ที่ อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน ถึงมุมมองในเรื่องของตลาดภายใน ที่ตนเองกำลังทำอยู่ ซึ่งเอบอกว่า กว่าจะมาเปลี่ยนความคิด ปรับกลยุทธ์มาเน้นตลาดภายใน เขาก็ผ่านประสบการณ์จากการผลิต เพื่อเน้นขายตลาดภายนอกมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ ส่งบริษัทขนาดใหญ่ ที่ช่วงแรก ๆ ดูไปได้ดี แต่สุดท้ายก็โดนบีบจากบริษัททำให้กำไรลดลงจนแทบไม่ได้อะไร หรือปลูกมันฝรั่งส่งให้กับโรงงานแต่สุดท้ายก็ไม่ไหวกับการที่ต้องสู้กับการใช้สารเคมีอย่างหนักหน่วง  และล่าสุดก็คือการปลูกมะนาวส่งขาย
เอ เกียรติพงศ์ ลังกาพินธุ์ กับต้นมะนาวที่เหลืออยู่ หลังจากเลิกปลูกเพื่อส่งตลาดภายนอก

“ช่วงที่กลับมาใหม่ ๆ มะนาวมันแพง เราก็ไม่มีความรู้เรื่องเกษตร แต่รู้ว่ามะนาวแพง ก็เลยเขาไปดูในอินเตอร์เน็ต เขาก็จะปลูกในวงบ่อ ก็กู้เงิน ธกส.มา แต่พอเราจะขาย มันแพงที่อื่น ไม่ได้แพงแถวนี้ ถ้าเราจะเอาไปขายที่อื่น คำนวนดูแล้วก็ไม่คุ้มเรื่องการขนส่ง”  

“พูดง่าย ๆ เลยก็คือเจ๊ง ติดหนี้เป็นแสน เจ็บเลย ก็เลยตั้งใจเลยว่า ต่อไปถ้าจะทำอะไร จะต้องศึกษาดี ๆ แล้วก็จะไม่ทำเยอะ เพราะว่าถ้ามันล้ม มันเจ็บ ทำอะไรอย่าไปทำตามกระแส”

และจากการล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง ทำให้เอเริ่มหันมามองเรื่องตลาดภายใน เน้นขายตลาดภายในชุมชน ภายในอำเภอของตนเอง

“เราก็เลยเปลี่ยนมุมมองเลย เรามองว่าเราไปมองตลาดที่ไกลตัวไปหรือเปล่า พอเราจะขายเราต้องไปง้อคนซื้อ ทำไมเราไม่ผลิตของที่ชาวบ้านแถว ๆนี้ เขากินกัน เราก็ขายถูกก็ได้ ไม่ต้องขายแพง เพราะเราไม่ได้มีต้นทุนขนส่งอะไร แล้วก็ไม่ต้องใช้ใบรับรองยืนยันความเป็นอินทรีย์อะไร เขามาดูสวนเราเขาก็รู้ว่าเราไม่ได้ใส่สารอะไร”

จากการเปลี่ยนมุมมอง เอกับแม่ ได้เริ่มปรับปรุง พื้นที่ 3 งาน ของตนเองมาปลูกผักอินทรีย์ขาย กับแนวคิดที่เน้นผลิตเพื่อตอบโจทย์กับชุมชนเป็นหลัก

หลักๆ คนแถวนี้เขาชอบกินอะไรกันละ เขาชอบกินอะไรพื้น ๆ เช่นผักบุ้ง ผักชี ผักกาดบ้าน กระเทียว หอมแบ่ง เราก็ปลูกไป อย่างผักสลัดพวกนี้ผมเคยเอาไปขายให้ชาวบ้าน เขาก็ไม่ค่อยนิยมเท่าไร กินไม่ค่อยเป็น

หลักคิดอันดับแรก ๆ ของการมองตลาดภายใน คือต้องดูความต้องการของคนในพื้นที่ ว่าเขากินอะไร ไม่กินอะไร ฤดูไหนปลูกอะไรดี และการเป็นคนในท้องถิ่น เป็นข้อได้เปรียบสำคัญ

   เราจะเอาความต้องการของชาวบ้านมานำก่อน เราถึงจะทำ เราจะไม่ทำอะไรสะเปะสะปะแล้ว เพราะรู้แล้วว่ามันจะขายไม่ออก ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อน ความต้องการมี เราก็ทำ  อันนี้เราก็เรียนรู้มันไปเรื่อย ๆ นะกับ Local trade

สิ่งแรกที่เอ แนะนำในการทำตลาดภายในก็คือการที่เราต้องรู้ จุดเด่น จุดด้อย และบริบทความต้องการของคนในพื้นที่ก่อน ว่าพื้นที่เรามีจุดเด่นอย่างไร น้ำเป็นอย่างไร ดินเป็นอย่างไร ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และที่สำคัญคือความต้องการของชุมชนเป็นอย่างไร เขากิน ไม่กินอะไร ซึ่งตรงนี้เป็นหลักสำคัญของการผลิตสินค้าเพื่อขายให้กับคนในชุมชน

ผักกูด เป็นผักพื้นบ้าน ชาวบ้านชอบกิน อาทิตย์หนึ่งแม่จะเก็บสองครั้ง มันก็จะออกเรื่อย ๆ ถ้าเราเก็บบ่อยมันจะออกเรื่อย ๆ แต่ถึงเราขยันแต่ก็ต้องมีตลาด ไม่ใช่เราไปปลูกสิ่งที่ชาวบ้านไม่ชอบกิน … เราต้องคิดเองว่าเราจะเอาไปขายให้ใคร เราต้องมีตลาดของเราแล้ว

                อย่างตลาดของเรา เขาชอบผักกูด เราก็ปลูกผักกูดขึ้นหน่อยหนึ่ง แล้วผักอย่างอื่นก็ต้องมี โหระพา มะนาว ผักป้อม หอมแบ่ง จากการที่เราเกิดที่นี่ เป็นคนที่นี่ ทำให้รู้ว่าคนนิยมอะไรอย่างผักสลัดถ้าเอาไปเยอะก็เหลือมาอยู่บ้างนะ เพราะว่าผักสลัดคนบ้านเรา เขาไม่ค่อยชอบกิน เขากินผักกาด ผักกูด ผักกูดมัดไปเท่าไร คนก็ถามว่าหมดหรือยัง เราก็บอกว่าหมดแล้ว เราก็เลยมีแรงบัลดาลใจ ที่จะปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อเรารู้แล้วว่าเราจะผลิตอะไร เพื่อส่งขายให้กับใคร สิ่งสำคัญต่อมาก็คือความรู้ เพราะความรู้เป็นสิ่งที่จะทำให้ เราสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ อย่างเช่นที่เอปรับใช้ อย่างชัดเจนก็คือความรู้เรื่องการใช้ราขาวมาจัดการเรื่องกลิ่นในเล้าไก่ เล้าหมู ทำให้สามารถทำเล้าไก่ ในพื้นที่ตัวบ้านได้ เรื่องของการทำฮอร์โมน ที่ใช้เพิ่มผลผลิตให้ไก่ ใช้ความรู้เรื่องการหมักต้นกล้วยให้เป็นโปรตีนผสมอาหารให้หมู สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มผลผลิตแล้ว ประโยชน์อีกอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือการลดต้นทุน และเมื่อลดต้นทุนได้ ก็ทำให้ขายสินค้าได้ราคาไม่แพง กลายเป็นการเพิ่มจุดแข็งของตัวสินค้า

“อย่างตอนนี้ที่ทำก็คือการลดต้นทุนเนอะ ที่ผมไปเรียนมา ทำไม ซอยหยวกให้กินเลยไม่ได้ เพราะว่ามันจะไม่กลายเป็นโปรตีน อ.บอกว่า เห็นสัตว์กินพืชไหม วัวควาย ว่ามันกินหญ้า ทำไมมันถึงอ้วน คนเรากินหญ้าไม่อ้วน เพราะว่าวัวควายมีวิธีการเปลี่ยนพืชให้เป็นโปรตีน มัน จะมีกระเพาะหลายกระเพาะ … มันกินหญ้าแล้วมันจะไปกินโป่ง เป็นดินเค็ม แล้วก็ไปหมักจากกระเพาะนี้ ย้ายไปกระเพาะนั้น กว่าจะเปลี่ยนเป็นโปรตีน อันนี้ก็เหมือนเราทำกระเพาะควาย ใส่เกลือ ใส่น้ำตาล หมักไว้ 10 วัน จากเซลลูโลส จากคลอโรฟิล์ด กลายเป็นโปรตีนแต่บางคนไม่รู้ ทำคล้าย ๆ เรา แต่ไม่ได้เรียน ทำเลียนแบบ ไปซอยหยวกผสมอาหารให้กิน แล้วก็บอกว่าไก่ไม่ไข่ ไข่ไม่ดีตัวไม่ใหญ่  เขาเรียกว่าก๊อปปี้เกรดเอ ก็ได้แค่ของก็อป มันต้องเรียนจริง ๆ”

                “ความรู้นี่แหละ ที่จะทำให้เราทำอะไรได้มีประสิทธิภาพ มีใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความรู้ ต้องมีความรู้จากคนที่ปฎิบัติจริงด้วยนะ

ถ้าเรามีองค์ความรู้ ก่อนที่เราจะกลับมาทำ ทำให้ลดต้นทุนได้เยอะ จะทำให้เรากำหนดราคา ถ้าเราอยากจะอยู่ยาวเราก็ขายถูก ๆ กำไรน้อยหน่อย ไม่เป็นไร แต่เราขายไปได้นาน ๆ ดีกว่าเรารีบรวยเร็วๆ เพราะชาวบ้านเขาไม่อยากซื้อของแพงหรอก อย่างไรเขาก็อยากได้ของถูก ๆ คนขายอยากขายได้แพง เราก็หาจุดกึ่งกลางแล้วก็อยู่กันยาว ๆ แบ่งกัน อย่างนี้จะยั่งยืนกว่า”

นอกจากผัก ไก่ไข่แล้ว เอก็ยังมีเลี้ยงหมู เพื่อขายในชุมชนอีกด้วย เอเล่าว่า กว่าจะเจอหมูที่เลี้ยงง่าย และเหมาะสมกับการบริโภคในชุมชนก็ไม่ง่ายเหมือนกัน

“ใหม่ ๆ ก็มาทำหมูนี่แหละ แต่ว่าดันทำหมูพันธุ์ ขุนหมูขาย แล้วหมูพันธุ์ราคาไม่ได้อยู่ที่เรา ราคาอยู่ที่พ่อค้า เราควบคุมอะไรไม่ได้เลย แต่พอเราเลี้ยงหมูแบบนี้ หมูเมือง หมูเหมยซาน เราผลิตพันธุ์ได้เลย ให้อาหารอะไรก็กินง่ายอยู่ง่าย แล้วคนก็นิยมบริโภค ถึงจะขายไม่แพง ก็ได้กำไรเยอะ”

ปัจจุบันผลผลิตของเอ จากพื้นที่ประมาณ 3 งาน จะมีทั้งไข่ไก่ จากไก่ 50 ตัว ผักอินทรีย์ และหมู สร้างรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน โดยตลาดทั้งหมดคือเน้นขายให้กับคนในชุมชน โดยการไปฝากขายกับแม่ค้าที่ตลาดนัด และฝากขายตามร้านขายของชำ ในชุมชน ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา การค้าขายที่เน้นตลาดภายในของเอ พิสูจน์แล้วว่าสามารถอยู่ได้ ไม่มีผลกระทบใด ๆ

“ตอนแรกที่ผมขาย คนก็ค่อย ๆ เพิ่ม ไม่ได้โดดเยอะ มันมาโดดเยอะ ตอนโควิดนี่แหละ หมายถึงว่าลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราด เพราะว่าโควิดมาปุ๊บสำหรับจากรัฐบาลสั่งปิดเกือบทุกอย่าง ปิดตลาดนัด ปิดแหล่งขาย ร้านอาหาร ปิดหมด จากคนที่ไม่เคยซื้อของเรา เขาก็ต้องวิ่งมาเลย เอมีไข่ไหม เอมีผักไหม มันผ่านการพิสูจน์มาแล้วละ รอดอยู่แล้ว พอลูกค้ายิ่งเยอะ ทำไม่ทันเลยเดี๋ยวนี้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะตามกระแสนะ เพราะเรารู้แล้วว่ามันเป็นอะไรที่วูบวาบเฉย ๆ มันไม่ใช่อะไรที่ถาวรแท้จริง ลูกค้าถาวรแท้จริงของโลคัลเทรดก็คือมันจะค่อย ๆ เพิ่มไปทีละน้อย ๆ”

เอ เล่าให้ฟังถึงหลักคิด 5 อย่าง ที่นำมาจากประสบการณ์ของตนเอง ในการกลับบ้านมาทำตลาดภายใน ไว้อย่างน่าสนใจ

  • “ อย่างแรกก็ต้องมีใจอยากกลับมาจริง ๆ คิดดีแล้วว่าอยากมาอยู่บ้าน มาลงหลักปักฐานที่นี่ ไม่ได้มาแบบลังเล กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่อย่างนั้นมันจะไม่ทุ่มทำอะไรเต็มที่ ทุ่มทำอะไรจริง ๆ จัง ๆ
  • อย่างที่สองก็ต้องออกสำรวจความเป็นอยู่ ของคนแถวนี้เป็นอย่างไร พฤติกรรมการกินการอยู่
  • อย่างที่สามเลือกว่าเราจะทำกิจการอะไร จะทำงานบริการ ผลิตอาหาร หรือท่องเที่ยว อันนี้ก็มาจากผลสำรวจของเราแล้ว
  • อย่างที่สี่ก็เริ่มทำแบบเล็ก ๆ ถ้ามันเจ๊งจะได้ไม่เจ็บหนัก
  • ส่วนข้อห้าอยู่ที่ว่าถ้าทำสำเร็จแล้วจะเพิ่ม หรือขยายไหม  ที่สำคัญคือเราต้องทำสิ่งที่มีความสุข แล้วทำให้เราอยู่ได้ในท้องถิ่นเราด้วย ไม่ใช่ว่าทำสิ่งที่เรามีความสุข แต่ไม่สามรถสร้างรายได้ แต่กินไม่ได้ อันนี้ก็เป็นได้แค่ความฝัน” 

 

จากการเดินทางครั้งนี้ ทำให้ผมรู้จักและได้เห็นความสำคัญ ของ Local trade หรือตลาดภายในครับ ว่าวงจรเล็ก ๆ แบบนี้ เน้นขาย เน้นอยู่ กับคนในพื้นที่เป็นหลัก อาจเป็นหนึ่งในเส้นเลือดเล็ก ๆ ที่หล่อเลี้ยงคน หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจฐานราก

ลองคิดกันเล่น ๆ ว่าถ้าทุกชุมชน สร้างความเข้มแข็งจากภายในได้ ไม่พึ่งพากลไก หรือตลาดจากภายนอกมากเกินไป    สิ่งเหล่านี้อาจช่วยลดผลกระทบจากวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าเป็นภัยจากโรคระบาด เศรษฐกิจ หรือธรรมชาติ ล้วนส่งผลกระทบต่อทุกคน  กลไกการเชื่อมโยงของตลาดภายใน เป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฐานราก และจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามา  และนี่คือเรื่องราวของ Localist ชีวิตนอกกรุง ในวันนี้ครับ

 

  

  

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ