นับถอยหลังมาเลเซียหวั่นโควิดลาม ขีดเส้นตายให้แรงงานออกนอกประเทศ 21 เม.ย.นี้ ส่งผลด่านชายแดนใต้ทุกพื้นที่ต้องเตรียมการรับทั้งผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขชายแดน และอสม. ในพื้นที่ ที่ต้องทำงานเชิงรุก เชียงใหม่เตือนอำเภอรอบนอก หลังผู้ป่วยเพิ่มสูง ขณะที่อำเภอเมืองผู้ป่วยลด ด้านผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามล็อตแรกทยอยกลับบ้าน ด้านบุคลากรโรงพยาบาลขอนแก่นต้องกักตัวอื้อ เร่งหาทีมเสริม
ทีมสื่อพลเมืองร่วมกับเครือข่ายนักข่าวพลเมือง ติดตามสถานการณ์การระบาดโควิด 19 วันที่ 19 เมษายน 2654 พบประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น
ใต้จับตามาเลเซียขีดเส้นตายแรงงานกลับบ้าน
เหลือเวลาเพียง 2 วันหลังจากทางการมาเลเซียกำหนดเส้นตายให้ชาวต่างชาติที่อาศัยในเมืองต้องออกจากประเทศก่อน 21 เม.ย.64 โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยที่อยู่ในมาเลเซีย เเต่หลักฐานการเดินทาง การทำงาน หรือการอาศัยอยู่หมดอายุ ต้องเดินทางกลับประเทศตามกำหนดที่ประกาศนี้และจะต้องชำระค่าปรับตามระเบียบของมาเลเซียด้วย หลังจากที่ได้มีการผ่อนผันมาแล้วหลายครั้ง
การออกประกาศครั้งนี้ เป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในมาเลเซีย มีตัวเลขผู้ป่วยไม่ต่ำกว่าวันละ 2,000 คน ซึ่งพบว่า มีคนไทยในมาเลเซียยื่นลงทะเบียนขอกลับอย่างต่อเนื่อง และจังหวัดสงขลาได้เตรียมสถานที่กักตัวรองรับการกลับมาของคนไทยกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม จังหวัดชายแดนของไทยที่มีพรมแดนติดกับมาเลเซียมีด่านหลายแห่ง เช่น ที่ จ.สงขลามีด่านสะเดา – ปาดังเบซาร์ จ.นราธิวาส มีด่านสุไหงโกลก – ตากใบ จ.ยะลามีด่านเบตง และจ.สตูลมี ด่านวังประจัน นอกจากนั้นยังมีช่องทางธรรมชาติที่ถ้ากลับเข้ามาได้จะเดินทางกลับไปยังบ้านของตัวเองเลย ทำให้มีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อเข้ามาได้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของกลุ่มสาธารณสุขชายแดน และอสม. ในพื้นที่ ที่ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น ทั้งนี้มีรายงานว่า แรงงานไทยในมาเลเซียมีทั้งสิ้นกว่า 200,000 คน
ส่วนที่ จ.ปัตตานี มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ประกาศงดการละหมาดที่มัสยิด รวมถึงการละศีลอด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีจะมีคนเข้าร่วมละหมาดจำนวนมากในช่วงเดือนรอมฎอน แต่ด้วยความเป็นจังหวัดที่ขนาบข้างด้วยจังหวัดที่มีการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างสงขลา และนราธิวาส บวกกับในตัวจังหวัดปัตตานีเองก็พบผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนจำนวน 7 ราย การปิดมัสยิดในครั้งนี้จึงเป็นการเตรียมรับมือสถานการณ์แต่ต้น
ส่วนที่ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง เป็นพื้นที่เสี่ยงหลังพบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาลกะเปอร์ 3 คน ทำให้โรงพยาบาลต้องปิดรับผู้ป่วยนอกชั่วคราว และมีเจ้าหน้าที่ที่สัมผัสเสี่ยงสูงมากกว่า 10 คน ทางโรงพยาบาลได้จัดเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ไว้ 30 เตียง เพื่อรองรับเจ้าหน้าที่และคาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้มารับบริการติดเชื้อด้วย
ทีมสื่อพลเมืองภาคเหนือสำรวจสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ประจำวันที่ 18 เมษายน 2564 เวลา 21.00 น.ของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ
- เชียงใหม่ 2,233 ราย
- ลำพูน 141 ราย
- เชียงราย 140 ราย
- ลำปาง 119 ราย
- พะเยา 48 ราย
- น่าน 45 ราย
- แพร่ 44 ราย
- แม่ฮ่องสอน 28 ราย
ส่วนภาคเหนือตอนล่าง จำนวนผู้ป่วย ณ วันที่ 18 เมษายน 2564 เวลา 17.00 น. คือ
- นครสวรรค์ 178 ราย
- พิษณุโลก 156 ราย
- อุตรดิตถ์ 44 ราย
- เพชรบูรณ์ 31 ราย
- กำแพงเพชร 28ราย
- ตาก 32 ราย
- สุโขทัย 16 ราย
- อุทัยธานี 8 ราย
- พิจิตร 7 ราย
ลำพูนเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2
ทั้งนี้มีความเคลื่อนไหวสำคัญคือ จังหวัดลำพูนเตรียมเร่งเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเเห่งที่ 2 จำนวนเตียง 101 เตียง หลังพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 141 และโรงพยาบาลลำพูนเตียงกำลังจะเต็มแล้ว ขณะที่โรงพยาบาลสนามมีพื้นที่เหลืออยู่จำนวน 51 เตียง จึงเตรียมจะย้ายผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม เพื่อเปิดพื้นที่ในโรงพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก โดยโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ของลำพูนจะใช้ ห้องประชุมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ใน 1-2 วัน
โดยเปิดรับสิ่งของที่ประชาชนอยากจะสนับสนุนให้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 คือ ผ้าเช็ดตัว กระดาษทิชชู แชมพู สบู่ น้ำดื่ม และสิ่งของที่จำเป็น เพื่อใช้งานสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะต้องทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งที่เข้าไปดูแลรักษาผู้ป่วย และผู้ป่วยเองที่ลืมนำติดตัวมาที่โรงพยาบาลสนาม หรือจะจองวันเตรียมอาหารให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยก็สามารถทำได้
สามารถแจ้งวันที่ที่จะไปบริจาคอาหารว่ามีกี่กล่อง หากขาดอาหารกี่กล่องทางโรงพยาบาลสนามก็จะจัดซื้อเพิ่มเติมก็จะทำให้ในแต่ละวันอาหารจะไม่ขาดและไม่เกิน ทั้งนี้ประชาชนสามารถนำสิ่งของไปบริจาคได้ที่ชั้น 1 อาคารมะลิ โรงพยาบาลลำพูนเพียงแห่งเดียว ติดต่อและสอบถามได้ที่หมายเลข 065 – 472 3714 หรือ 065 -472 3715 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 20.00 น. ทุกวัน
จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดศูนย์ห่วงใยเมืองสามหมอก ที่อาคารยิมเนเซียม สนามกีฬากลางจังหวัด เป็นโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระยะหนึ่งและไม่มีอาการแทรกซ้อนมาพักรักษาให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อบรรเทาความแออัดและลดภาระงานในโรงพยาบาล เบื้องต้นพร้อมรับผู้ป่วยได้ 50 เตียง และหากมีผู้ป่วยมากขึ้นก็สามารถเพิ่มเตียงได้ เป็นการทำงานร่วมกันของทีมสุขภาพจากโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า ขุนยวม และแม่ลาน้อย ที่หมุนเวียนมาดูแลสุขภาพผู้ป่วย ร่วมกับทีมดูแลด้านสุขภาพจิต สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และจ.แม่ฮ่องสอน ออกคำสั่งให้ผู้เดินทางเข้ามายังพื้นที่ทุกช่องทางต้องสแกน QR Code “สวัสดีแม่ฮ่องสอน” หรือ บันทึกภาพบัตรประจำตัวประชาชน ณ จุดตรวจค้นที่กำหนด เพื่อให้ติดตามได้ กรณีมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด และให้รายงานตัวต่อ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. ในหมู่บ้าน เพื่อติดตาม สอบสวนไทม์ไลน์ และประเมินความเสี่ยง นอกจากนี้จะต้องเฝ้าระวังตัวเอง หลีกเลี่ยงการเข้าชุมชนและพื้นที่หนาแน่นเป็นเวลา 14 วัน
เยาวชนสร้างสรรค์กิจกรรมระหว่างกักตัว
ขณะที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มีพลเมืองปักหมุด C-Site เล่าเรื่อง “สถานีกักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ COVID-19 แม่สะเรียง”ว่า เยาวชนกลุ่มนักศึกษาโครงการลดอุบัติเหตุในชุมชน มีความตั้งใจมาออกค่าย 4 วัน แต่ต้องกลายเป็นกักตัว 14 วัน โดยเป็นค่ายจากหลากหลายมหาลัยรวมตัวเพื่อเรียนรู้ชุมชน จ.ตาก แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่มีเพื่อนในกลุ่มที่เดินทางจากเชียงใหม่มาร่วมกิจกรรมและเป็นผู้ติดเชื้อ (รู้ภายหลัง) ส่งผลให้เยาวชนทั้ง 39 คน ต้องเฝ้าดูอาการ และได้ตรวจหาเชื้อ โดยประสานโรงพยาบาลแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางเดินทางกลับ เพื่อตรวจหาเชื้อ ซึ่งเมื่อตรวจทั้ง 2 ครั้ง พบว่ามีผลเป็นลบไม่ติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม เยาวชนกลุ่มนี้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งหมดจึงขอกักตัว ณ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อรอเข้ารับการตรวจอีกครั้งก่อนกลับจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งระหว่างการกักตัว เพื่อเป็นการดูแลใจกันในช่วงของการกักตัว เยาวชนเป็นเด็กค่ายที่มาทำค่ายด้วยกัน จึงร่วมกันออกแบบกิจกรรมในแต่ละวัน เพื่อคลายความกังวลต่าง ๆ และการรับมือกับภาวะจำยอม จำนนต่อสถานการณ์ที่ไม่อาจต่อรองได้ และการต่อสู้กับความวิตกกังวล ความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้น
กิจกรรมถูกออกแบบบนฐานคิดของการอยู่ร่วมกันอย่างรับผิดชอบต่อส่วนรวม และเห็นอกเห็นใจ เช่น วงแชร์กับเยาวชน เพื่อเช็คความรู้สึก ความต้องการ บนฐานการสื่อสารอย่างสันติ และการฟังด้วยหัวใจ ข้อคำถามเรื่องความกังวลการใช้ชีวิตในภาวะจำกัดและไม่ทันตั้งตัว กิจกรรมขยับร่างกาย โยคะ เป็นต้น
ณ ปัจจุบันเยาวชนทุกคนยืนยันว่าทุกคนร่างกายแข็งแรงดี มีเพียงจิตใจที่เริ่มอ่อนแรง ไม่ทันตั้งตัว กังวลถึงคนข้างหลัง เพราะการเตรียมตัวมาค่ายเพียง 4 วัน ต้องขยับออกไปนับ 10 วันหลังจากนี้ ทำได้เพียงให้กำลังใจกัน เช็คสภาพจิตใจ และดูแลกันเท่าที่ทำได้เบื้องต้น
โดยวันนี้ 19 เมษายน 2564 ภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และนายอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าเยี่ยมกลุ่มนักศึกษา อาสาสมัคร กลุ่มทำกิจกรรมลดอุบัติเหตุ ลดยาสูบในชุมชน ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด19 หลังจากเข้สตรวจหาเชื้อทั้ง 2 ครั้ง และมีผลตรวจเชื้อเป็นลบทั้ง2ครั้ง มีการนำอาหารแห้ง และขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบ มอบให้แก่น้องๆที่ต้องกักตัวในพื้นที่สังเกตและเฝ้าระวังการติดเชื้อ
เชียงใหม่เตือนอำเภอรอบนอกผู้ป่วยเพิ่ม
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ หลังพบผู้ติดเชื้อกระจายนอกเขตอำเภอเมืองมากขึ้น และผู้ติดเชื้อในอำเภอเมืองลดลง จังหวัดเชียงใหม่เน้นย้ำขอความร่วมมือประชาชนต่างอำเภอปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่รายงานพื้นที่อำเภอที่พบผู้ติดเชื้อ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 เมษายน 2564) โซนสีแดง (ผู้ป่วยมากกว่า 50 คน) มี 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองเชียงใหม่ 1,185 คน อ.สันทราย 216 คน อ.สันกำแพง 104 คน อ.สารภี 100 คน อ.หางดง 85 คน อ.แม่ริม 78 คน และอ.ดอยสะเก็ด 60 คน โซนสีส้ม (ผู้ป่วย 11- 50 คน) มี 7 อำเภอ ได้แก่ อ.สันป่าตอง พบผู้ติดเชื้อ 40 คน อ.แม่แตง 27 คน อ.ฝาง 16 คน อ.ดอยหล่อ 16 คน อ.เชียงดาว 14 คน อ.แม่อาย 14 คน และ อ.จอมทอง 13 คน โซนสีเหลือง (ผู้ป่วย 1-10 ราย) มี 10 อำเภอ ได้แก่ อ.พร้าว พบผู้ติดเชื้อ 10 คน อ.แม่วาง 9 คน อ.เวียงแหง 7 คน อ.แม่ออน 7 คน อ.ไชยปราการ 5 คน อ.แม่แจ่ม 4 คน อ.ฮอด 4 คน อ.ดอยเต่า 3 คน อ.อมก๋อย 3 คน และ อ.สะเมิง 2 คน สำหรับโซนสีขาวซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อยังคงมีเพียงเดียวคือ อ.กัลยาณิวัฒนา และมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 13 ราย
ขณะที่ผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลสนาม ล็อตแรกกลับบ้านได้แล้วกว่า 40 คน ในส่วนของ Hospitel หรือหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หลังจากจังหวัดเชียงใหม่ได้อนุมัติไปแล้ว 1 แห่ง คือ PIS Hospitel โดยเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยพายัพกับโรงพยาบาลแมคคอมิค ขนาดจำนวนห้อง 250 เตียง และยังมีอีก 2 แห่งที่สนใจทำ Hospitel ได้แก่ โรงพยาบาลเทพปัญญาและโรงพยาบาลราชเวช ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับทางโรงแรม เพื่อให้สาธารณสุขเข้าตรวจสอบมาตรฐานต่อไป
ขอนแก่นกักตัวบุคลากรทางการแพทย์อื้อ
จังหวัดอุบลราชธานี ประกาศใช้มาตรการ “ปิด-งด-จำกัด” ของ ศบค. และเพิ่ม 25 อำเภอเป็นพื้นที่ควบคุมโดยมียอดผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 18 เมษายน อยู่ที่ 114 คน มีการออกประกาศมาตรการควบคุม ใครที่มาจาก 18 จังหวัดความเสี่ยงควบคุมสูงสุด ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน มิฉะนั้นจะถือเป็นความผิด และงดการรวมกลุ่มเกิน 50 คน
ที่จังหวัดนครพนมเตรียมปูพรมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด หลังมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่ใช่พื้นที่สีแดงโดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนนี้ ช่วงนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบความพร้อมของเจ้าหน้าที่ปูพรมพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด โดยนำเครื่องมือที่มีศักยภาพ เป็นรถพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิดขนาดใหญ่ จำนวน 2 คัน พร้อมน้ำยาฆ่าเชื้อโควิดที่มีประสิทธิภาพสูง และได้เตรียมโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นถึง 300 เตียง นับรวมทั้งในตัวเมืองนครพนมและอำเภอโดยรอบ คลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อของนครพนมมาจากสถานบันเทิง
ส่วนที่รพ.ขอนแก่นกักตัวบุคลากรทางการแพทย์แล้วกว่า 100 คน เตรียมประสานขอกำลังเสริมทดแทนกำลังหลักที่ต้องกักตัว โดยนบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลที่ต้องกักตัวเฝ้าสังเกตุอาการเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง จำนวนกว่า 100 คน เป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกัน และถือว่าส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลอย่างมากในระยะนี้ อย่างไรก็ดีโรงพยาบาลเตรียมประสานขอกำลังเสริมทดแทน รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงแต่ยังคงต้องรับยากับทางโรงพยาบาลโดยขอให้รับยาต่อเนื่องทางไปรษณีย์หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่เดินทางมาโรงพยาบาลและลดความแออัดที่โรงพยาบาลอีกด้วย
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออก มีรายงานจากเครือข่ายชุมชนสู่โควิดคุณธิติกานต์ ถนอมสิน ชาวประมงบ้านคลองมะขาม ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ที่ระบุว่า การระบาดของโควิดระลอก 3 ทำให้ยอดขายลดน้อยลง เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายและแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดเพราะแม่ค้าไม่มารับซื้อเพื่อไปจำหน่ายต่อ จึงมีการแก้ปัญหาด้วยการขายปลีกให้กับผู้ที่สนใจอยากซื้อกับชาวประมงโดยตรง