ทีมสื่อพลเมืองทั่วประเทศร่วมจับตาสถานการณ์โควิดระบาด

ทีมสื่อพลเมืองทั่วประเทศร่วมจับตาสถานการณ์โควิดระบาด

ทีมสื่อพลเมืองทั่วประเทศร่วมจับตาสถานการณ์โควิดระบาด  เหนือเร่งสร้าง รพ.สนาม หลายพื้นที่  ตัวเลขผู้ป่วยเชียงใหม่เริ่มทรงที่หลัก 100  และมีเปิด Hospitelแห่งแรกของภาคเหนือแล้ว   หลายชุมชนปรับตัวตั้งการ์ด  อิสานยกระดับมาตรการเข้ม   หลายจังหวัดใต้ต้องงดกิจกรรมทางศาสนาอิสลามในช่วงเดือนรอมฎอนพร้อมจับตามการควบคุมโรคช่วงเดินทางกลับบ้านเทศกาลฮารีรายอ  ส่วนภาคกลาง อยุธยาเร่งตรวจเชิงรุกตลาดกลางกุ้ง

ทีมสื่อพลเมืองสำรวจสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทั่วประเทศประจำวันที่ 18 เมษายน 2564 พบข้อมูลน่าสนใจ

โดยจำนวนผู้ป่วย ณ วันที่ 17 เมษายน 2564 เวลา 21.00 น.ของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ

  1. เชียงใหม่ 2,037 ราย
  2. ลำพูน 129 ราย
  3. เชียงราย 123 ราย
  4. ลำปาง 111 ราย
  5. พะเยา 42 ราย
  6. แพร่ 39 ราย
  7. น่าน 39 ราย
  8. แม่ฮ่องสอน 28 ราย 

ส่วนภาคเหนือตอนล่าง จำนวนผู้ป่วย ณ วันที่ 17 เมษายน 2564 เวลา 17.00 น. คือ

  1. นครสวรรค์ 171 ราย
  2. พิษณุโลก 130 ราย
  3. อุตรดิตถ์ 10  ราย
  4. เพชรบูรณ์ 27 ราย
  5. กำแพงเพชร 22 ราย
  6. ตาก 19 ราย
  7. สุโขทัย 15 ราย
  8. อุทัยธานี 7 ราย
  9. พิจิตร 7 ราย

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ แม้จะมีผู้ป่วยสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศและถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดง แต่ในระดับพื้นที่ จังหวัดได้มีการจัดทำแผนที่และกำหนดสีตามภูมิลำเนาของแต่ละอำเภอไว้ด้วยเช่นกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนสีแดง ผู้ป่วยมากกว่า 50 ราย โซนสีส้ม คือผู้ป่วย 11-50 ราย โซนสีเหลือง ผู้ป่วย  1- 10 ราย  และโซนสีขาว ไม่พบผู้ป่วย  ซึ่งพบว่าอำเภอที่ยังไม่มีผู้ป่วยเลยคือ อ.กัลยาณิวัฒนา  (ข้อมูล ณ วันที่ 17 เมษายน 2564)

นักข่าวพลเมือง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4  บ้านหนองเจ็ดหน่วย, บ้านห้วยบง ต.วัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา ให้ข้อมูลว่า มีการประกอบพิธีปิด “เกร๊าะหญี” ปิดหมู่บ้าน คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า ตามความเชื่อของชุมชนที่จะทำเมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาด ก็จะประกอบขึ้นเพื่อขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าป่าเจ้าเขา ให้ปกปักคุ้มครอง ให้คนในหมู่บ้านอยู่รอดปลอดภัย เป็นพิธีที่ทำสืบเนื่องกันมาแต่อดีต โดยไม่อนุญาตให้ใครออกจากหมู่บ้าน หรือเข้าหมู่บ้านระหว่างการประกอบพิธี ตั้งแต่วันที่ 16 -18 เมษายน 2564 การปิดหมู่บ้านนี้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากพิธีกรรมตามความเชื่อแล้ว ทางหมู่บ้านได้มีมติให้ผู้ที่ฝ่าฝืน จะมีโทษปรับ 500-5,000 บาทด้วย

ทั้งนี้ ตัวเลขโดยรวมของผู้ป่วยโควิด 19 ในจังหวัดเชียงใหม่ มีแนวโน้มลดลง จากเริ่มเพิ่มสูงขึ้นหลักสิบเมื่อวันที่ 8 เมษายน และสูงกว่า 281 ราย ในวันที่ 11 เมษายน และอยู่ที่หลักเกิน 200 ต่อเนื่อง 5 วัน ขณะที่เริ่มลดลงอยู่ที่หลัก  100 อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (18 เมษายน) ได้พบผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นครูและครูฝึกสอนในโรงเรียนเอกชนในเชียงใหม่ ที่เข้าทำการเรียนการสอนหลายวิชาและคุมสอบก่อนปิดภาคเรียน ซึ่งโรงเรียนได้ส่งจดหมายแจ้งให้ผู้ปกครองและนักเรียนเฝ้าระวังอาการ

ดูแลสุขภาพจิตผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

ในส่วนของโรงพยาบาลสนามของภาคเหนือมีรายงานว่าโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม  เริ่มทะยอยเข้าจัดการให้เกิดโรงพยาบาลสนามเพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นที่ ม.นเรศวร ม.แม่ฟ้าหลวง ม.พะเยา  เป็นต้น โดยที่โรงพยาบาลสนาม ม. เนเรศวรพร้อมรองรับผู้ป่วย 20 เตียง ในระยะแรก และได้นำเทคโนโลยี หุ่นยนต์ส่งอุปกรณทางการแพทย์ในใช้เพื่อลดการสัมผัสระหว่างแพทย์และผู้ป่วยด้วย ขณะเดียวกันหลายโรงพยาบาลสนามเริ่มออกแนวปฏิบัติเพื่อให้ผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการได้เข้าใจเงื่อนไขของการปฏิบัติตัวและการควบคุมโรคมากขึ้น และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของจ.เชียงใหม่ที่มีความรุนแรง มีผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้ารับการรักษาที่รพ.สนาม ซึ่งการดูแลผู้ป่วยนั้นต้องให้การดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตควบคู่กันไป

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 พญ.รจนพรรณ นันทิทรรภ และ นพ.สุกฤษฎ์ เลาห์อุทัยวัฒนา จิตแพทย์พร้อมด้วยทีมสุขภาพจิต รพ.นครพิงค์ ได้ลงพื้นที่ รพ.สนามของจ.เชียงใหม่ทั้ง 2 แห่ง เพื่อประเมินและวางแผนการทำงานร่วมกับทีมสุขภาพจิตเครือข่าย พบผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเฝ้าระวังด้านสุขภาพจิต 3 รายจากภาวะเครียด และมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังด้านอาการขาดแอลกอฮอล์ 3 ราย โดยได้มีการจัดระบบแนวทางการประเมินและการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ผ่านระบบออนไลน์และการปรึกษาทางโทรศัพท์ โดยให้การดูแลสุขภาพกายและจิตแบบบูรณาการร่วมกับทีมแพทย์รพ.สนาม นอกจากนั้นยังได้ให้กำลังใจ และดูแลสุขภาพจิตของทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความอ่อนล้า จากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

เชียงใหม่ผุด Hospitel แห่งแรกแล้ว

ม.พายัพ-โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ผุด “PIH Hospitel” แห่งแรกของเชียงใหม่และใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ รองรับผู้ป่วยโควิด-19  ขนาด 250 เตียง โดยปรับสถานที่บ้านพักนานาชาติของมหาวิทยาลัยพร้อมติดตั้งทุกระบบตามมาตรฐานสาธารณสุข เริ่มเปิด19เม.ย.64 ราคา 2,000-2,400บาท/คืน

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และคณะ เข้าตรวจสอบระบบงานสำคัญในการขออนุญาตจัดตั้ง PIH Hospitel ที่บ้านพักนานาชาติภราดรภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยพายัพร่วมกับโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะทำงานผู้ตรวจสถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กรณีให้บริการเฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการชั่วคราว ได้ให้ความสำคัญต่อการตรวจเช็คทุกระบบอย่างเข้มข้น รัดกุม เนื่องจากเป็น Hospitel แห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดมาตรฐานการดำเนินการในระบบต่าง ๆ ที่สามารถเป็นต้นแบบที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ที่ประสงค์เปิดบริการ Hospitel ต่อไปในอนาคต

การตรวจระบบต่าง ๆ ที่สำคัญในครั้งนี้ ประกอบด้วย ความสะดวก ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายของอาคารสถานที่ตั้ง,มีการแบ่งพื้นที่ให้บริการเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน, ระบบเวชระเบียน, ระบบบริการดูแลผู้เข้าพัก, ระบบรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน, ระบบควบคุมการติดเชื้อ, ระบบบำบัดน้ำ, ระบบน้ำสำรอง, ระบบไฟฟ้าหรือแสงสว่างสำรอง, เครื่องมือ เครื่องใช้ ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นประจำสถานพยาบาลในจำนวนเหมาะสมและเพียงพอ, ที่สำคัญต้องมีบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลพร้อมปฏิบัติการอยู่ประจำ ซึ่งการตรวจทุกระบบก่อนการอนุญาตให้จัดตั้ง PIH Hospitel พบว่าเป็นไปตามมาตรฐานและเตรียมการอย่างรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบความปลอดภัยที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลแมคคอร์มิค สร้างความมั่นใจให้กับทีมทำงาน พร้อมเปิดให้บริการได้ทันทีภายหลังจากได้รับใบอนุญาต สำหรับ PIH Hospitel แห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ รองรับได้สูงสุด 250 เตียง คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ในวันที่ 19 เมษายน 2564 เพื่อรองรับผู้เข้าพักซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านการพักฟื้นจากโรงพยาบาลสนามหลักของจังหวัดเชียงใหม่มาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 7 วัน และต้องการความสะดวกสบาย ความเป็นส่วนตัว มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สามารถเข้าพักฟื้นต่อ ณ PIH Hospitel ได้จนครบระยะเวลาการกักตัวและหายเป็นปกติ โดยสามารถพัก 1 – 2 คน อัตราห้องพัก 2,000-2,400 บาท

แต่ละชุมชนปรับตัว New Normal

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาละศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมด้วย  มีรายงานจากทีมสื่อมุสลิมว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีการปรับตัว ทั้งวิธีการละหมาด และการเลี้ยงละศีลอด ซึ่งปกติจะมีการเลี้ยงละศีลอดการตามมัสยิด แต่ปีนี้คนมุสลิมปรับตัวทำเป็นชุดอาหารใส่ถุงเพื่อแจกจ่ายกันในช่วงเลี้ยงละศีลอดที่เกิดขึ้นทุกช่วงเย็น

ส่วนการทำงานของ อสม.หลายชุมชนได้ปฏิบัติหน้าที่เต็มที่ เช่นที่ อสม.ต.ดอนเเก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มีการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกกรณีคนกลับจากกรุงเทพมหานคร โดยได้เข้ามาให้กรอกเอกสารและให้อุปกรณ์วัดไข้ต่อผู้กักตัว และวัดไข้ส่งแจ้งอาการทางไลน์เป็นประจำทุกวันจนกว่าจะพ้นระยะ

ส่วนชุมชนบ้านปางหละ อ.งาว จ.ลำปาง นำบทเรียนจากการระบาดของโควิดรอบที่ 1 และรอบที่ 2 ที่ชุมชนพยายามปรับตัวเพื่อให้ผู้ป่วยลดการเดินทาง เมื่อเกิดการระบาดของโควิดรอบใหม่นี้ ทำให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่นี่ปรับมาใช้แผนเดิมอีกครั้ง

โดยชุมชน ปรับตัวรับมือการให้การดูแลผู้ป่วยในหมู่บ้านโดยพยายามลดการเดินทางของคนในชุมชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะสัมผัสโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องเดินทางรับยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน เช่น ผู้สูงอายุ ด้วยเดินทางเข้าไปดูแลและนำยามาให้ผู้ป่วยถึงหน้าบ้าน ของผู้นำชุมชนและอสม.ในพื้นที่ จึงเป็นทางเลือกของการลดความเสี่ยงในวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยโรงพยาบาลงาว หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหวด จะนำส่งยาผ่านมาทางประธาน อสม. ของหมู่บ้าน และนำแจกจ่ายให้กับ อสม. ที่ดูแลผู้ป่วยแต่ละคน พร้อมทั้งให้อสม.แนะนำการใช้ยาให้กับผู้ป่วยด้วย

ในพื้นที่ภาคอีสาน พบว่า จังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุดของอีสานมี 3 จังหวัด คือขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี  โดยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีการใช้มาตรการควบคุมสูงสุดตาม ศคบ.ประกาศ  ห้ามข้าราชการออกนอกพื้นที่ และปิดถนนคนเดินและสถานที่ตามไทม์ไลน์โควิด นอกจากนั้นได้มีการก่อสร้างโรงพยาบาลสนามแล้วที่หอพักหญิง 26 ม.ขอนแก่น รองรับได้ทั้งสิ้น 258 คน แต่ต้องมีการกักตัวแพทย์กว่า 100 เฝ้าระวังอาการ เนื่องจากมีบุคลากรสัมผัสเชื้อก่อนหน้านี้ต้องประสานขอกำลังเสริมทดแทน

ที่จังหวัดอุดรธานี มียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 142 ราย (ข้อมูลวันที่ 17 เม.ย. 64) รักษาอยู่ที่รพ.อุดรธานี มีมาตรการงดถนนคนเดิน วัดคำชะโนด ร้านอาหารในศูนย์การค้าหลัง 18.00 น. งดรับประทานอาหารในร้าน / ยังคงมีประชาชนทยอยไปตรวจเรื่อย ๆ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ซึ่งได้ทำ “ตู้นี้เพื่อพี่หมอ” เมื่อปี 2563 จำนวน 3 ตู้ส่งมอบให้แพทย์ได้ใช้ปฏิบัติงานป้องกันการติดเชื้อยังคงใช้ตรวจได้ในการระบาดรอบนี้   

ส่วนที่ จังหวัด อุบลราชธานี ยกระดับมาตรการควบคุม “ห้าม ปิด งด ข้อจำกัด” และจำกัดการรวมกลุ่มเกิน 50 คน

จังหวัดนครพนม เพิ่มระดับการดูแลคนลักลอบเข้าเมืองตามเขตชายแดน เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ แต่ยังไม่ได้เปิดใช้

จังหวัดกาฬสินธ์เริ่มมีผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้น 15 ราย (ข้อมูลเมื่อ 17 เมษายน) และปิดสถานที่เสี่ยงตามมาตรการ 

ในส่วนของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในภาคอิสาน ขณะนี้เป็นช่วงเวลาปิดเทอม และการทำงานของเจ้าหน้าที่และอาจารย์ มีประกาศให้ Work from home 

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ณ วันที่ 18 เมษายน 1564 มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกิน 50 คนอยู่ 3 จังหวัด คือภูเก็ต สงขลา นราธิวาส ทำให้ทั้ง 3 จังหวัด ต้องงดกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม ในช่วงเดือนรอมฎอน ของอิสลาม และจับตามการคบคุมโรคช่วงเทศกาลฮารีรายอซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาของการเคลื่อนย้านเดินทางกลับบ้านมาร่วมเทศกาล

ขณะที่แต่ละจังหวัดเริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และมีการคุมเข้มมาตรการเปิดปิดสถานที่ต่าง ๆ อย่าง เกาะลิบง จ.ตรัง ชาวบ้านร่วมกันประชุมหาแนวทางป้องกันโควิด-19 ได้ข้อสรุปให้ปิดเกาะเป็นเวลา 14 วัน (จนถึง 30 เม.ย. 64)

ด้านครัวปิ่นโตตุ้มตุ้ย ของศูนย์บ่อยาง จ.สงขลา หารือกันเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะส่งมอบความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน จากโควิด -19 ในครั้งนี้จะปรับเปลี่ยนเป็น การบริจาคข้าวสาร + ไข่เค็ม (ช่วยกันผลิต) + น้ำพริกชนิดต่างๆ เช่น น้ำพริกแมงดา น้ำพริกตาแดง น้ำพริกกุ้งเสียบ (ช่วยกันผลิต) ตามจำนวนประชากรในครัวเรือน ครัวเรือนละ 1 ชุดต่อสัปดาห์ นอกจากนี้จะพยายามหาแนวทางให้แต่ละครัวเรือนเกิดการเรียนรู้การปลูกผักในกระถาง เพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน

ส่วนในพื้นที่ภาคกลาง มีรายงานจากนักข่าวพลเมืองคุณอยู่อย่างสันติ แจ้งว่า หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 จากตลาดกลางกุ้ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต้องเร่งออกตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก active case finding ในพื้นที่ตลาดกลางกุ้งอย่างเร่งด่วนโดยแยกประชาชนกลุ่มเสี่ยงออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเสี่ยงต่ำที่ซื้อกุ้งกลับบ้าน และกลุ่มเสี่ยงสูงที่มานั่งรับประทานในตลาด รวมทั้งเจ้าของร้านและเด็กเสิร์ฟทุกคนทั้งนี้มีการควบคุมกำกับมาตรฐานการตรวจอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ มีประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาตรวจคัดกรองกว่า 800 คน ในวันที่ 18 เมษายน 2564

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ