แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย แถลงเด็กมีสิทธิในการชุมนุมและสิทธินี้จะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ หลังเด็ก 7 คนถูกจับในการชุมนุม REDEM เผยตั้งแต่การชุมนุมปี 2563 มีเด็กอย่างน้อย 24 คน ถูกดำเนินคดี และมีข้อหาหนักทั้ง ม.112 และ ม.116
23 มี.ค. 2564 – จากรณีการจับกุมและดำเนินคดีเด็ก 7 คน ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มรีเดม (REDEM) เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 ซึ่งในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เด็ก ผู้สื่อข่าว และผู้ชุมนุมคนอื่นได้รับบาดเจ็บ และถูกตั้งคำถามถึงการใช้กำลังควบคุมฝูงชนว่าอาจเป็นการทำเกินขอบเขตและไม่ชอบด้วยเหตุผลจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน
“การปฏิบัติที่โหดร้ายต่อเด็กระหว่างการควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 และการที่ศาลเยาวชนไม่ไต่สวนอย่างรอบด้านต่อการจับกุมเช่นนี้ ทำให้เกิดข้อกังวลชั้นพื้นฐานต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยระบุ
ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า การจับกุมและทำร้ายเด็กระหว่างการชุมนุมเช่นนี้ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า รัฐบาลไทยไม่เคารพศักดิ์ศรีของประชาชน โดยเฉพาะของเด็ก เด็กมีสิทธิแสดงความเห็นเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในสังคม และสิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครองจากสังคมและรัฐบาล แทนที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะคุ้มครองเด็ก แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับทำให้เด็กได้รับอันตรายเสียเอง
“การจับกุมเด็กในที่ชุมนุมเป็นเรื่องที่รับไม่ได้และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งตามมาตรฐานในประเทศและระหว่างประเทศ การปฏิบัติอย่างไร้เมตตาธรรมต่อผู้ชุมนุม จะยิ่งสร้างความแปลกแยกในสังคม” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ในวันที่ 20 มี.ค. 2564 ผู้ประท้วง 32 คน รวมทั้งเด็ก 7 คนถูกจับกุมและดำเนินคดีจากการชุมนุมที่สนามหลวงและบริเวณใกล้เคียง
2 ใน 7 คนถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 มาตรา 215-216 และมาตรา 217 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการมั่วสุมชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย และการวางเพลิงเผาทรัพย์ การฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อฯ
เด็กอีก 2 คนยังถูกดำเนินคดีข้อหาตามมาตรา 215-216 และมาตรา 138 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการมั่วสุมชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน และทำร้ายเจ้าหน้าที่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และพระราชบัญญัติโรคติดต่อฯ
เด็กกลุ่มสุดท้าย 3 คนยังถูกดำเนินคดีในข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก
ข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุด้วยว่า นับแต่การชุมนุมในปี 2563 มีเด็กอย่างน้อย 24 คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหนัก รวมทั้งมาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) มาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) เพียงเพราะการแสดงความเห็นและใช้เสรีภาพด้านการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม เด็ก 6 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 โดยเด็กอายุน้อยสุดมีอายุเพียง 14 ปี
นับแต่เดือน ต.ค. 2563 ตำรวจได้ปฏิบัติการหนักหน่วงขึ้นอย่างชัดเจนต่อเด็ก มีทั้งการจับกุมอย่างไม่เลือกหน้าในที่ประท้วง ไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และมีการใช้กำลังทางกาย นอกจากนั้น ตำรวจยังควบคุมตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ซึ่งมีการปิดกั้นอย่างมากต่อการเข้าถึงของทนายความและครอบครัว
ศาลเยาวชนมักไม่เข้ามาไต่สวนในกรณีเช่นนี้ และไม่ได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก และสิทธิที่จะคุ้มครองให้ปลอดพ้นจากอันตราย นอกจากนั้น ศาลยังไม่เข้ามาไต่สวนการจับกุมที่มีการใช้กำลัง
แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย สนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อแนวปฏิบัติของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กและความเห็นทั่วไปที่ 37 ซึ่งเน้นถึงสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม และสิทธิที่จะได้แสดงความเห็น โดยเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมในการชุมนุมการชุมนุม และยังคงเรียกร้องให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและรัฐปฏิบัติตามพันธกรณีเชิงบวก โดยจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตระหนักอย่างแท้จริงว่ามีเด็กเข้าร่วมในการชุมนุม
ทั้งนี้ แอมเนสตี้ ประเทศไทย เรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีทุกข้อหากับเด็กและผู้เข้าร่วมการชุมนุมและใช้สิทธิของตน ทั้งยังเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างรอบด้านต่อการใช้กำลังจนเกินกว่าเหตุ และการปฏิบัติที่โหดร้าย สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาและประโยชน์สูงสุดของเด็ก ควรเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมด้วย