คนเกาะขนุน ฟ้องถอนใบอนุญาต ‘โรงไฟฟ้าเกาะขนุน’ ชี้ขัดผังเมืองรวมจังหวัด

คนเกาะขนุน ฟ้องถอนใบอนุญาต ‘โรงไฟฟ้าเกาะขนุน’ ชี้ขัดผังเมืองรวมจังหวัด

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม รับมอบอำนาจจาก ชาวบ้าน ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าเกาะขนุน ของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร เอเชีย จำกัด

 

14 ธ.ค. 2558 เวลา 10.30 น. ที่ศาลปกครองระยอง ชาวบ้าน ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 11 คน ให้มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เป็นผู้รับมอบอำนาจในการฟ้องคดี คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ 1 และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี โดยให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและใบรับแจ้งก่อสร้างอาคารของโรงไฟฟ้าเกาะขนุน จ.ฉะเชิงเทรา และเพิกถอนระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ. 2555 ข้อ 7

ด้วยเหตุที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ออกใบรับแจ้งก่อสร้างอาคาร และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ให้แก่โครงการโรงไฟฟ้าเกาะขนุนของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ กำลังการผลิตสูงสุดขนาด 105 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2558 และ 21 ม.ค. 2558 ตามลำดับ โดยรู้อยู่แล้วว่ามีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมและไม่สมควรจะอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าดังกล่าว

เนื่องจากเป็นการออกใบอนุญาตหลังจากที่มีการประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ.2555 ซึ่งกำหนดให้พื้นที่ตั้งโรงงานไฟฟ้าดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงเขียว) ห้ามสร้างโรงงานทุกจำพวกซึ่งรวมถึงโรงงานไฟฟ้าเกาะขนุนนี้ด้วย การออกใบอนุญาตทั้ง 2 ดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ.2555

อีกทั้งการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานนั้น มิได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ตั้งโรงงานไฟฟ้า โดยพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าเกาะขนุนอยู่บนพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมตามกฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ.2555 อันสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของชุมชน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำติดริมคลองท่าลาด เป็นจุดบรรจบกันของคลองระบมและคลองสียัด และเป็นพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงตามธรรมชาติ อันมีความสำคัญทางระบบนิเวศน์และรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากเนื่องจากพื้นที่นี้จะมีน้ำท่วมหนักทุกปี

การปรับพื้นที่เพื่อตั้งโรงไฟฟ้านี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เกษตรกรรมที่ขัดกับการใช้ประโยชน์จริงและขัดกับวัตถุประสงค์ของกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ.2555 ที่ได้กำหนดให้พื้นที่ตั้งโครงการดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรมเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ที่มีความเหมาะสมทางการเกษตรไว้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของจังหวัด จึงถือว่าส่งผลเสียหายต่อประโยชน์ส่วนรวม

รวมถึงการก่อสร้างและประกอบกิจการโรงไฟฟ้าเกาะขนุนยังมีการปรับพื้นที่เป็นบริเวณกว้างและถมดินสูงจากระดับพื้นที่โดยรอบโครงการทั้งหมดเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ของโครงการเอง

ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพและการเชื่อมโยงของลำรางสาธารณะต่างๆ ของพื้นที่โดยรอบ นอกจากนี้การขุดบ่อดินขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำผิวดินโดยรอบ ย่อมส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภคของประชาชนในบริเวณนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และตามที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมออกระเบียบว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน ข้อ 7. ว่าโรงงานที่ได้รับมติเห็นชอบในรายงาน EIA ให้ถือว่าได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนตามระเบียบนี้แล้วนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 57 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30 พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

ส่งผลให้การสร้างโรงไฟฟ้าเกาะขนุนไม่มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นโดยหน่วยงานรัฐ อันเป็นการลดทอนมาตรการการคุ้มครองทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการพิจารณาการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

การออกระเบียบดังกล่าวจึงมิชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งส่งผลให้การที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเกาะขนุนโดยไม่ได้มีการจัดรับฟังความเห็นตามข้อยกเว้นของระเบียบฯ นี้ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

ทั้งนี้ชาวบ้าน ต.เกาะขนุนได้ให้ข้อมูลโต้แย้งคัดค้านโครงการมาโดยตลอด เพื่อปกป้องคุ้มครองพื้นที่ แต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ยังออกใบอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการโครงการดังกล่าว ชาวบ้านจึงได้นำความเดือนร้อนนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองในวันนี้

คำขอท้ายฟ้อง: เพื่อขอให้ศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาให้
1. เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานโรงไฟฟ้าเกาะขนุน
2. เพิกถอนใบรับแจ้งก่อสร้างอาคารของโรงไฟฟ้าเกาะขนุน
3. เพิกถอนข้อ 7 แห่งระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ.2555

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ