“คุณอาจยิงฉันจากคำพูด
มายา แองเจลู นักกวีและนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองผิวดำชาวอเมริกัน
คุณอาจเชือดฉันด้วยสายตา
คุณอาจจะฆ่าฉันด้วยหัวใจที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง
แต่ก็นะ ฉันก็เหมือนอากาศ ฉันจะยืนหยัดขึ้นมาและอยู่ในทุกที่”
วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล ที่กำหนดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสำคัญของผู้หญิงทั่วโลก และส่งเสริมการตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงที่มีต่อในทุกมิติ โดยในปี 2564 องค์การสหประชาชาติ กำหนดธีมการรณรงค์ในปีนี้ว่า “Women in leadership: Achieving an equal future in a COVID-19 world” หรือ “ผู้หญิงในด้านความเป็นผู้นำ เพื่อสร้างอนาคตที่มีความเป็นธรรม ท่ามกลางโลกโควิด-19”
เนื่องในวันสตรีสากล มีเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวข้อง C-Site เป็นแพลตฟอร์มสื่อสารสาธารณะ ของภาคพลเมืองร่วมปักหมุดจุดประเด็นในมิติที่หลากหลาย
ผู้หญิงชายแดนใต้ต้าน Hate Speech
Civic Womenและองค์กรภาคี จัดอบรมการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์เพื่อรับมือกับ Hate Speech (วาจาสร้างความเกลียดชัง) ที่ จ.ยะลา ให้แก่แกนนำผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 6-7 มีนาคมที่ผ่านมา
กลุ่มผู้หญิงยังได้ร่วมใจกันชูข้อความรณรงค์ต่อต้าน Hate Speech เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เนื่องในวาระวันสตรีสากล 8 มีนาคม ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการสร้าง Hate Speech ทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก คนโดยทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งผู้หญิงนักกิจกรรมในพื้นที่ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสสูง ตกเป็นเหยื่อของ Hate Speech อันเนื่องมาจากผลพวงของการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ การที่คนในพื้นที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ เช่น ศาสนา ภาษา ที่แตกต่างจากคนในที่อื่น ๆ รวมทั้งการทำกิจกรรมของผู้หญิงเอง โดยเฉพาะกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้กลายเป็นประเด็นและเป้าของการถูกโจมตีด้วย Hate Speech ทางโลกออนไลน์ตลอดมา
กิจกรรมนี้ จึงมีขึ้น เพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ เพื่อให้ผู้หญิงนักกิจกรรม เข้าใจและเท่าทันต่อ Hate Speech ทางสือออนไลน์ รวมทั้งเรียนรู้การรับมือ/จัดการกับHate Speech ด้วยวิธีการและมาตรการต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
รักษ์ไทย ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ! วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2564
วันสตรีสากล เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก : รักษ์ไทยกับความมุ่งมั่น ในการยุติความรุนแรงทางเพศ มูลนิธิรักษ์ไทยเข้าร่วมการเฉลิมฉลองวันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันที่เหล่าสตรีจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพใด จะร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคที่ได้รับมา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคม รักษ์ไทยส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายในทุกรูปแบบ และให้สตรีได้มีโอกาสรับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียม การทำงานยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกับผู้หญิงและเด็ก ที่รักษ์ไทยจะเป็นผู้นำในการยุติความรุนแรง WHO ระบุว่าประมาณ 1 ใน 3 (35%) ของผู้หญิงทั่วโลกเคยประสบกับความรุนแรงทางร่างกายและ/หรือทางเพศกับคู่ หรือความรุนแรงทางเพศที่ไม่ใช่คู่มาตลอดชีวิต ความรุนแรงต่อผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงของคู่ และความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ และ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสตรี
เด็กผู้หญิง 1 ใน 3 ในทุกวันนี้จะต้องเผชิญกับความรุนแรงในหลายรูปแบบ ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก มีอยู่ในทุกประเทศและทุกสังคม ความรุนแรงใกล้ตัวที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยเฉพาะเรื่องทางเพศ สตรีและเด็ก ถูกกระทำอย่างรุนแรงจากคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัว ข้อมูลในสื่อทุกแขนง พบว่า ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจวันละไม่น้อยกว่า 7 คน และมีตัวเลขผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษาและแจ้งความร้องทุกข์สูงถึงปีละ 30,000 คน โดยที่มีพื้นฐานมาจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในสังคมความรุนแรง และมักได้รับแรงหนุนจากความเชื่อฝังลึกที่ว่าผู้หญิงไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย องค์การแคร์นานาชาติกำหนดว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายหรือการคุกคามโ ดยพิจารณาจากเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลเหล่านั้น รวมถึงการล่วงละเมิดทางร่างกายทางเพศและจิตใจ การบีบบังคับ; กีดกันเสรีภาพและทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะหรือส่วนตัว โดยความรุนแรง มีรากฐานมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจโครงสร้างและบรรทัดฐานทางสังคม/วัฒนธรรมที่ไม่เป็นธรรม
นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทยกล่าวว่า “การสร้างแกนนำหญิงเป็นที่พึ่งให้เด็กและผู้หญิงได้ เพราะบางครั้งคนในครอบครัวก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ เจ้าหน้าที่คนที่ทำงานกับชุมชน สามารถเป็นที่ปรึกษา คอยรับฟัง คอยยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง นี่เป็นอีกทางเลือกที่ไม่ต้องรอพึ่งพาแต่กลไกภาครัฐเท่านั้น แต่ใช้กลไกในชุมชนให้มาดูแลกันเอง โดยแกนนำหญิงต้องผ่านการอบรม เช่น การพูด หลักจิตวิทยา การรักษาความลับ ฯลฯ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย”
“ผมขอให้สำนักงานของรักษ์ไทยทั้งหมดระดมกำลังเพื่อดำเนินการเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ในวันที่ 8 มีนาคมปีนี้ รักษ์ไทยได้เปิดตัวแคมเปญพิเศษ “ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง” เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทยทุกคนต้องร่วมมือกันหยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการป้องกันความรุนแรงและการคุกคาม การให้บริการสาธารณะที่มีคุณภาพ เป็นเกราะป้องกันและสนับสนุนช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงและการคุกคามซึ่งเป็นการกีดกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้หญิง เราต้องดำเนินการและยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงนับแต่บัดนี้”
การดูแลปกป้องคุ้มครองผู้หญิงและเด็กไม่ใช่เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่หากเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันยุติความรุนแรงนี้ มูลนิธิรักษ์ไทยจึงได้ตั้งเป้าหมายการทำงาน “ยุติความรุนแรงในผู้หญิงและเด็ก” (End Violence Against Women and Girls: EVAWG) ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี (ค.ศ.2021) เป้าหมายสูงสุดคือ การให้ผู้หญิงและเด็กจำนวน 3,000 คน มีชีวิตที่ปราศจากความรุนแรงและความหวาดกลัว ตลอดจนรณรงค์ให้คนไทยเข้าใจและช่วยยุติความรุนแรงทางกายและจิตใจที่อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก
การดำเนินการการป้องกันและตอบสนองต่อการยุติความรุนแรงทางเพศ (Gender Based Violence : GBV) เป็นส่วนสำคัญของความมุ่งมั่นของ รักษ์ไทยในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการยุติความยากจน ในปี 2564 รักษ์ไทยดำเนินการเขียนโปรแกรม GBV ใน 16 สำนักงาน ในทุกภาคของประเทศไทย งานของรักษ์ไทยใช้ประสบการณ์กว่า 24 ปีในการจัดการกับ GBV และครอบคลุมตั้งแต่ความขัดแย้งและภัยพิบัติจากธรรมชาติไปจนถึงการทำงานพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการ GBV ของรักษ์ไทยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ถูกรวมเข้ากับภาคส่วนโปรเจคอื่น ๆ เช่น การศึกษาการพัฒนาสุขภาพและเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ เพื่อจัดการกับสาเหตุที่ซับซ้อนและหลายสาเหตุของ GBV รักษ์ไทยทำงานร่วมกันกับบุคคล ทีมและครอบครัว ชุมชนและสังคม โดยการผสมผสานระหว่างกลยุทธ์การป้องกันและการแก้ไข รักษ์ไทยทำงานร่วมกับพันธมิตรในทุกระดับเพื่อเชื่อมต่อประสาน เกิดการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม กลยุทธ์ 5 ประการ ดังต่อไปนี้ :
1. มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานของชุมชน: รักษ์ไทยพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยท้าทายบรรทัดฐานทางสังคมที่ช่วยให้การกระทำรุนแรงลดลง ความพยายามของเรารวมถึงการทำงานร่วมกับผู้ชาย และส่งเสริมให้ผู้ชายเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลง และการอำนวยความสะดวกในการพูดคุย แลกเปลี่ยน เพื่อท้าทายบรรทัดฐานทางเพศและความไม่เท่าเทียมทางเพศ
2. สนับสนุนการป้องกันโดยชุมชน: รักษ์ไทยกำหนดหรือเสริมสร้างกลไก และกลยุทธ์ที่มีอยู่เพื่อให้ผู้หญิงและเด็กปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศในชุมชน เช่น แผนปฏิบัติการของชุมชนที่จัดกลุ่มเฝ้าระวัง และความช่วยเหลือ
3. ส่งเสริมสตรีและเด็กหญิง: รักษ์ไทยสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา ความเป็นผู้นำ และการฝึกทักษะชีวิตให้กับผู้หญิงและเด็กหญิง และช่วยลดความเสี่ยงต่อความรุนแรง
4. สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ: รักษ์ไทยดำเนินการสนับสนุนในทุกระดับเพื่อให้แน่ใจว่ามีการสร้างแก้ไขหรือบังคับใช้กฎหมายต่อต้าน GBV หรือนโยบายที่เกี่ยวข้องในปี 2021
5. ปรับปรุงการให้บริการสำหรับ ผู้ถูกกระทำความรุนแรง: รักษ์ไทยทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้บริการ รักษ์ไทยการสนับสนุนด้านจิตสังคมและกฎหมายและการกลับคืนสู่เศรษฐกิจและสังคม
ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐยุติความรุนแรง
เครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นการร่วมตัวกันของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่มาจากเครือข่ายชุมชนและผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบต่างๆ กัน 19 ประเด็น อาทิ การเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ พนักงานบริการ ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงคนจนเมือง และ ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น เครือข่ายมีข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมและไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ออกแถลงการณ์ส่งสาส์นต่อสาธารณะ
แถลงการณ์ขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม 2564 เรียกร้องให้รัฐยุติความรุนแรง เราต้องการรัฐบาลใหม่ รัฐบาลที่มีคุณค่าคู่ควร และให้ได้กับสิ่งที่เราทุกคนสมควรได้รับ
แถลงการณ์ของเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยร้อยกว่าปีที่ผ่านมาผู้หญิงในรัสเซียและอเมริกาลงถนนประท้วง จนก่อกำเนิดให้เกิดวันสตรีสากล มันมิใช่การเฉลิมฉลอง ผู้หญิงได้เดินขบวนประท้วงเพื่อยุติความรุนแรงโดยรัฐซึ่งทำให้ชีวิตของพวกเธอและครอบครัวของเธอแทบจะอยู่ไม่ได้และมีความยากลำบากเหลือเกิน
วันสตรีสากลปีนี้ 2564 ก็ยังมิใช่วันแห่งการเฉลิมฉลอง เรายังคงได้ยินเสียงรียกร้องของพี่และน้องสาวของเราในพม่า พวกเธอลุกขึ้นมาด้วยความกล้าหาญอันเปี่ยมล้นเพื่อต่อต้านกับความรุนแรงถึงตายจากรัฐเผด็จการทหารพม่า เราร่วมเปล่งเสียงและชูกำปั้นร่วมกับพวกเธอ ดอฮ์ อะ เย ดอฮ์ อะ เย (สู้ สู้ เพื่อการเคลื่อนไหวของเรา)
ชีวิตประจำวันของผู้หญิงในประเทศไทย ถูกบังคับให้ต้องเผชิญหน้ากับรัฐที่ปกครองโดยทรราช อย่าลืมว่าผู้จ่ายภาษีและคนไปเลือกตั้งส่วนใหญ่คือผู้หญิง แต่รัฐบาลมิได้รับใช้พวกเรา รัฐบาลและสังคมมักจะพึ่งพาผู้หญิงเพื่อปกป้องและจัดหาสวัสดิการแก่ครอบครัวและแก่ผู้คนในสังคม แต่ในระหว่างที่มีโรคระบาดและส่งผลให้เศรษฐกิจกระทบกับชีวิตของเราอย่างหนักหน่วงแบบนี้ ไม่มีเงินสักบาทที่รัฐจะสนับสนุนให้แก่แม่ ๆ ที่แบกรับภาระสวัสดิการมาตลอด
รัฐบาลที่เรามีตอนนี้แทนที่จะเป็นตัวแทนของเรา แต่กลับเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบต่อเรา แทนที่จะปกป้องคุ้มครองเรากลับเป็นฝ่ายกดขี่และบูลลี่เรา อย่าลืมว่าผู้หญิง โดยเฉพาะแม่ๆ คือคนที่ทำงานดูแลปกป้องเด็กๆ หลานๆ พ่อแม่ที่แก่ชรา ชุมชน และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในโลกใบนี้ ทั่วประเทศผู้หญิงเป็นคนแรกที่จะตื่นแต่นอนเป็นคนสุดท้าย เราทำงานดูแลแก่ครอบครัว เราไปทำงานหาเงินมาดูแลครอบครัว เราหลายคนทำงานเพื่อดูแลและต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในสังคม
ผู้หญิงปกป้องชีวิต ความเป็นอยู่และที่ดิน เราต้องอยู่ภายใต้เมฆทมึนแห่งความรุนแรงโดยรัฐ อยู่ในภาวะที่ต้องคำนวณความเสี่ยงตลอดเวลาแม้ว่าจะแสดงการต่อต้านที่เล็กน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นการชูสามนิ้ว การผูกโบว์สีขาวหรือการแชร์ข่าวออนไลน์ ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้แม้กระทั่งการจะไปจับจ่ายที่ตลาดก็ยังสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงโดยรัฐ ในชีวิตความเป็นแม่เราต้องคำนวณและตระเตรียมตลอดเวลาในการรับมือกับความเสี่ยงที่ลูกๆหลานเราจะได้รับจากการปกสิทธิ เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน
เราเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลชุดนี้ต้องออกไปและปล่อยให้พวกเราประชาชนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะก่อให้เกิดและสอดรับกับสิ่งที่เราเรียกร้อง รัฐบาลที่มีคุณค่าคู่ควรกับเราผู้หญิงและประชาชนทุกคนจะต้องเป็น
- รัฐบาลที่จริงจังในการขจัดความยากจน มิใช่ขับไล่ให้เราต้องออกจากบ้านของเราและละทิ้งวิถีชีวิต
- รัฐบาลที่รับใช้เรา มิใช่รับใช้ทุนนิยมและความโลภของใคร- เราต้องการรัฐบาลที่ไม่ออกกฎหมายเพื่อมาบีบคอเราเวลาเราต้องทำมาหากินและไม่เอารัฐบาลที่มีเจ้าหน้าที่ที่คอยจะรีดไถเราในทุกขณะจิต
- รัฐบาลที่ทำให้เรามีสิทธิทางกฎหมายที่จะยุติการตั้งครรภ์ที่เราไม่ต้องการอย่างปลอดภัยและทำให้แน่ใจว่าเราจะได้รับการสนับสนุนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีหากเราตัดสินใจและมีความต้องการที่จะตั้งครรภ์
- รัฐบาลที่รักษาสิทธิเพื่อให้เรามีความมั่นคงในการเข้าถึงสัญชาติและการแสวงหาที่ที่ปลอดภัย- รัฐบาลที่ทำให้แน่ใจว่าเด็กๆของเราปลอดภัยในโรงเรียน การศึกษาที่ไม่มีค่าใช้จ่ายจริงๆและให้คนทุกคนเข้าถึง
- รัฐบาลที่พิทักษ์สิทธิของเราในการเข้าถึงที่ดิน รัฐที่ปกป้องเราจากการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของเรา
- รัฐบาลที่เคารพคุณค่าของเราและรับประกันสวัสดิการที่ดีของประชากรสูงวัยหรือผู้พิการ
- รัฐบาลที่เป็นปากเป็นเสียง และไม่อดทนอดกลั้นกับความเกลียดและความรุนแรงต่อผู้หญิง ไม่ว่าเราจะเป็นหญิงข้ามเพศ เป็นเลสเบียน เป็นคนชอบเพศตรงข้าม หรือมีเพศสภาพและความต้องการทางเพศแบบใด
- รัฐบาลที่ไม่จับเรายัดคุก คุกคามหรือข่มขู่เรา ลูกหลานของเราหรือครอบครัวของเราเมื่อเราปกป้องสิทธิในการมีชีวิตและสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ
- รัฐบาลที่ไม่ขังผู้หญิงมากกว่าประเทศใดๆในโลก
- รัฐบาลที่ทำเพื่อความยุติธรรม สันติภาพและยุติความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้
- รัฐบาลที่ไม่มีส่วนในการปกปิดการสังหารและการบังคับให้ประชาชนสูญหาย
- รัฐบาลที่ทำให้แน่ใจว่าที่ดินไม่ถูกใส่สารพิษ ปกป้องแม่น้ำและท้องทะเลและรับประกันว่าอากาศที่เราหายใจอยู่ทุกวันไม่ย้อนกลับมาฆ่าเรา
- รัฐบาลที่เคารพสิทธิและเจตจำนงในการตัดสินในชะตากรรมของตนเองและเคารพศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของพวกเธอเราสมควรได้ใช้ชีวิตที่ปราศจากความรุนแรงโดยรัฐ
เราสมควรได้มีรัฐบาลที่ลงทุนไปกับการดูแลประชาชนมิใช่เข่นฆ่าและทำร้ายประชาชน รัฐบาลที่ใส่ใจกับ “ปากท้อง” มิใช่ “ปืนและอาวุธ” เราเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงโดยรัฐทั้งในไทย ในพม่าและทุกประเทศทั่วโลก
“คุณอาจยิงฉันจากคำพูด คุณอาจเชือดฉันด้วยสายตาคุณอาจจะฆ่าฉันด้วยหัวใจที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังแต่ก็นะ ฉันก็เหมือนอากาศ ฉันจะยืนหยัดขึ้นมาและอยู่ในทุกที่”
มายา แองเจลู นักกวีและนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองผิวดำชาวอเมริกัน
รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมี ‘สตรี’ ร่วมร่าง: เสียงปราศรัยเพื่อทวงสิทธิมีชีวิตที่ดีเนื่องในวันสตรีสากล
ในช่วงสายของวันนี้ กลุ่ม P-Move ร่วมกับสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง และองค์กรภาคี จัดกิจกรรมปราศรัย “รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย สังคมไทยต้องมีรัฐสวัสดิการ” เนื่องในวันสตรีสากล 2564 บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ประตู 4 เพื่อนำเสนอปัญหาของสตรีและกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ รวมถึงยื่นข้อเรียกร้องในวันสตรีสากลปีนี้ โดยมีตัวแทนจากหลายกลุ่มเข้าร่วม อาทิ กลุ่มทำทาง (กลุ่มรณรงค์ทำแท้งปลอดภัยและถูกกฎหมาย), มูลนิธิ Empower (กลุ่มรณรงค์สิทธิผู้ค้าบริการทางเพศ), คนงานในโรงงานหรือคนงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33, แรงงานนอกระบบ, เกษตรกร, แรงงานข้ามชาติและชนชาติพันธุ์, เครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเวลาประมาณ 11:20 น. กลุ่ม P-Move ร่วมกับสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง และองค์กรภาคี ตัดสินใจ “เผาจดหมายแถลงการณ์และข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่มีเนื้อหาทวงสัญญานโยบายต่าง ๆ ที่พรรคพลังประชารัฐเคยให้ไว้เมื่อครั้งหาเสียง เช่น ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาท รวมไปถึงข้อเรียกร้องอื่น ๆ ซึ่งมีการเรียกร้องกันมาสักพักแล้วแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ เช่น เพิ่มวันลาคลอดบุตรเป็น 98 วัน โดยให้สามีลาไปดูแลภรรยาหลังคลอด, ผลักดันกฎหมายทำแท้งให้สามารถปฏิบัติได้จริง, เพิ่มบำนาญผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทต่อเดือน
โดยก่อนหน้านี้ ตัวแทนปราศรัยพยายามกดดันและหว่านล้อมให้เจ้าหน้าที่ส่งตัวแทนมารับหนังสืออยู่พักใหญ่ แต่เมื่อไม่มีผู้ตอบรับเลย กลุ่มผู้ชุมนุมจึงตัดสินใจจุดไฟเผาหนังสือด้วยไฟแช็ก และนำป้ายที่มีข้อความเรียกร้องต่างๆ ลงเผาบนถนนหน้าทำเนียบด้วย