นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ต้านรัฐประหารในพม่า หนุนข้อเรียกร้องระบอบสหพันธรัฐของชาติพันธุ์

นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ต้านรัฐประหารในพม่า หนุนข้อเรียกร้องระบอบสหพันธรัฐของชาติพันธุ์

วันที่ 5 มีนาคม 64  ในงานประชุมเชิงวิชาการ “พม่าศึกษา” ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีกิจกรรมการแสดงความไว้อาลัยต่อเหตุการณ์รัฐประหาร และการสูญเสียชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า โดยมีพระภิกษุ และบาทหลวง เป็นผู้นำแสดงความไว้อาลัย ต่อด้วยการอ่านแถลงการณ์ร่วม โดยกลุ่มคนเมียนมาในประเทศไทย ซึ่งเป็นความเห็นร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ, แรงงาน, นักศึกษา, นักพัฒนา, นักธุรกิจ, และนักกิจกรรมชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ ตัวแทนได้เรียกร้องให้ชาติอาเซียน และนานาชาติ ออกมาแสดงบทบาทอย่างจริงจัง ในการสนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยในเมียนมา แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า “We call governments around the world to respect our votes and recognize the people elected government in 2020. We call ASEAN to respect our votes and recognize the people elected government in 2020. We call United Nations to respect our votes and recognize the people elected government in 2020. เราเรียกร้องให้ รัฐบาลทั่วโลก กลุ่มชาติอาเซียน  และสหประชาติ เคารพการเลือกตั้งในปี 2020 ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”

หลังจากนั้น “กลุ่มเพื่อนต่อต้นเผด็จการ” ได้อ่านแถลงการณ์  ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเรียกร้องให้เมียนมาโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพัฒนาประชาธิปไตยไปสู่ระบบสหพันธรัฐ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาพรรค NLD เองก็ไม่ประสบความสำเร็จในการกระบวนการเจรจาสันติภาพ และยังขาดความจริงใจในการแก้ปัญหาให้กลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า “รัฐบาลพรรค NLD ล้มเหลวในการผลักดันกระบวนการเจรจาสันติภาพที่เริ่มต้นในยุครัฐบาลที่นำโดยเต็งเส่งให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม แม้ในปี 2558 – 2561 ได้มี 10 กลุ่มชาติพันธุ์ร่วมลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement: NCA) เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพ ด้านกองทัพเมียนมายังคงละเมิดข้อตกลงหยุดยิงและเริ่มมีการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มที่ลงนามข้อตกลงหยุดยิง รวมถึงในพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งยังไม่ร่วมลงนามหยุดยิงในรัฐคะฉิ่น รัฐฉาน และรัฐยะไข่ นอกจากนี้ รัฐบาลพรรค NLD ยังได้เพิกเฉยหรือสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาติพันธุ์โรฮิงญาในช่วงปลาย พ.ศ. 2550 – 2560 ส่งผลให้ประชาคมนานาชาติเกิดวิกฤตศรัทธาในตัวอองซานซูจี ความวุ่นวายและความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางการเมืองให้สอดคล้องกับคุณค่าของเมียนมาซึ่งเป็นสังคมพหุลักษณ์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนผ่านการปกครองจากระบอบทหารไปสู่ระบอบกึ่งพลเรือน”

ในด้านขอเรียกร้องนั้น กลุ่มเพื่อต่อต้านเผด็จการ ได้เรียกร้องให้ ร่วมกันสนับสนุนประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมา และสนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยรัฐบาลกลางที่สะท้อนสังคมพหุลักษณ์ของเมียนมาและให้สิทธิทางการเมืองกับกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงชาวโรฮิงญา ให้มีสิทธิปกครองและบริหารกิจการภายในรัฐตนเอง

แถลงการณ์ยังระบุว่า “จากสถานการณ์วิกฤติต่อมนุษยธรรมอย่างร้ายแรงในการใช้กำลังอย่างรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้กองทัพเมียนมาให้ทุกประเทศระงับการสนับสนุนทุกช่องทางต่อระบอบทหารเมียนมา ธุรกิจภายใต้การดำเนินการหรือสนับสนุนกองทัพเมียนมา และไม่ยอมรับโดยประการทั้งปวงต่อการยึดอำนาจ

  1. ให้กลไกระดับสหประชาชาติ และกลไกระดับภูมิภาค มีมาตรการลงโทษต่อการใช้ความรุนแรงของทหารเมียนมาต่อประชาชน
  2. ให้ประชาคมโลกสนับสนุนและส่งเสริมความริเริ่มสร้างประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐในเมียนมา
  3. ให้ประชาชนทุกคนสนับสนุนและแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับประชาชนในเมียนมาในการต่อสู่กับเผด็จการทหาร”

โดยช่วงหนึ่งในกิจกรรมมีการแสดงละคร โดยกลุ่ม Free Act  ของเยาวชนไทย และการร้องเพลงของกลุ่มเยาวชนเมียนมา แสดงออกถึงความเข้มแข็งเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเรียกทั้งน้ำตา และกำลังใจไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ การประชุมเชิงวิชาการ “พม่าศึกษา” จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2564 ณ ศูนย์บริการวิชาการ UNISERV มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสามารถลงทะเบียนเข้ารับฟังทั้งในห้องประชุมและออนไลน์ได้ที่ https://www.burmaconference.com/  

FAD_STATEMENT_5.3.21-THAI

FAD_STATEMENT_5.3.21-ENG

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ