งานวิจัยชี้ป่าภูโนในแหล่งขุดเจาะก๊าซดงมูลเป็นแหล่งความหลายหลายของหอยทากบกที่สำคัญของประเทศ

งานวิจัยชี้ป่าภูโนในแหล่งขุดเจาะก๊าซดงมูลเป็นแหล่งความหลายหลายของหอยทากบกที่สำคัญของประเทศ

20140507173012.jpg

งานวิจัยของนักชีววิทยาเผยภูโนเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพหอยทากบกชุกชุมสูงที่สุดที่เคยมีรายงานในประเทศไทยและจะได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะก๊าซ

งานวิจัยดังกล่าวดำเนินโดย นายศิริชัย ศรีหาตา นิสิตปริญญาโท อาจารย์ชนิดาพร ตุ้มปี่สุวรรณ และอาจารย์ศักดิ์บวร ตุ้มปี่สุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และตีพิมพ์เป็นบทความเรื่อง “ความหลากชนิด ความชุกชุม และถิ่นอาศัยของหอยทากบก ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร บนภูโน จังหวัดกาฬสินธุ์” ในวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่า จากการเก็บตัวอย่างหอยทากบกในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร บนภูโน จังหวัดกาฬสินธุ์ ด้วยแปลงสุ่มตัวอย่างขนาด 20 x 20 เมตร จํานวน 36 แปลง ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่วันท่ี 31 สิงหาคม–6 กันยายน 2552 ได้ตัวอย่างหอยทากบกทั้งหมด 5,607 ตัวอย่าง 

งานวิจัยดังกล่าวได้จําแนกชนิดหอยทากบกได้ถึง 16 ชนิด มี 15 ชนิดที่พบในแปลงสุ่มตัวอย่าง อีก 1 ชนิดพบนอกแปลงสุ่มตัวอย่าง โดยมีความหลากชนิดสูงที่สุดคือ 9 ชนิด ในแปลงสุ่มตัวอย่างท่ีเป็นป่าดิบแล้งในหุบเขา และพื้นที่บริเวณลําธารและน้ําตกระหว่างหุบเขา และแปลงสุ่มตัวอย่างที่เป็นทุ่งหญ้าบนที่ราบยอดเขา พบหอยทากบก 3 ชนิด งานวิจัยดังกล่าวยังระบุว่า ในทุกแปลงสุ่มตัวอย่างพบว่าหอยทากบกมีความชุกชุมสูงที่สุดในแปลงสุ่มตัวอย่างที่เป็นป่าเต็งรังบริเวณลาดเขา มีความหนาแน่น 1.48 ตัว/ตารางเมตร 

ที่สำคัญก็คือ การวิจัยพบหอยทากสยาม Cryptozona siamensis พบจํานวนมากท่ีสุด 2,235 ตัวอย่าง (39.86 %) หอยเดื่อ Hemiplecta distincta พบในทุกแปลงสุ่มตัวอย่าง หอยหอมเหลี่ยม Cyclophorus spp. หอยขัดเปลือกปากหนา Sarika spp. และหอยเปลือกแบนปากหนา Chloritis tenella พบเฉพาะในแปลงสุ่มตัวอย่างท่ีปกคลุมด้วยป่าดิบแล้งท่ีอยู่ในหุบเขา ขณะที่หอยนักล่าสีส้ม Streptaxid พบเฉพาะป่าดิบแล้ง ที่อยู่บริเวณลําธารและน้ําตกระหว่างหุบเขา และพบว่าหอยลายตองปากม่วง Amphidromus (Amphidromus) schomburgki schomburgki ซึ่งในประชากรมีทั้งเปลือกเวียนซ้ายและเวียนขวาในอัตราส่วนท่ีไล่เลี่ยกัน และมีความชุกชุมสูงที่สุดที่เคยมีรายงานในประเทศไทย โดยพบชุกชุมในป่าดิบแล้งที่อยู่บริเวณหุบเขาและบริเวณลําธารและน้ําตกระหว่างหุบเขา

ขณะที่อาจารย์ศักดิ์บวร ตุ้มปี่สุวรรณ หนึ่งทีมนักวิจัยระบุว่า หอยทากบกบอกเราว่า สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีความต้องการใช้ทรัพยากรในการดำรงชีวิตแตกต่างกันไป โดยเฉพาะสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง กลุ่มแมลง และหอย มักมีความจำเพาะต่อพืชอาหาร ความชื้น อุณหภูมิ ฯลฯ ค่อนข้างสูง เช่น หอยลายตองปากม่วง เป็นหอยทากบกที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ใหญ่ที่มีไลเคนส์ที่เป็นอาหารมันขึ้นเกาะอยู่ ซึ่งไลเคนส์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมาก หากอากาศมีก๊าซพิษมากไลเคนส์จะตาย เราจึงไม่เห็นไลเคนส์ขึ้นตามเปลือกต้นไม้ในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพ

“การวิจัยที่ภูโนที่พบหอยชนิดนี้ชุกชุมมากที่สุดเท่าทึ่เคยมีรายงานในประเทศไทย บ่งชี้ว่ามีต้นไม้ใหญ่หลากหลายทำให้ชนิดของไลเคนส์หลากหลาย หอยชนิดนี้จึงแพร่พันธุ์ได้อย่างเต็มที่เพราะมีทรัพยากรที่ใช้ในการดำรงชีวิตอย่างเหลือเฟือครับ หอยลายตองที่ภูโนพบอัตราส่วนเปลือกเวียนซ้ายและเวียนขวาในอัตราไล่เลี่ยกัน แสดงถึงมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง และในอดีตพื้นที่นี้มีการถูกรบกวนน้อยจากพิบัติภัยทางธรรมชาติน้อย” 

อาจารย์ศักดิ์บวร ยังกล่าวว่า “การที่มีหอยทาบกบนภูโนหลากหลาย หากมองในมุมของมนุษย์ก็หมายถึงการที่เรามีทรัพยากรหลากหลายให้เลือกใช้ได้ตามต้องนั่นก็หมายถึงป่าแห่งนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของชุมชน การเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่ไหลไปรวมกันเป็นลำปาว สายเลือดหลักของชาวกาฬสินธุ์”

ขณะที่อาจารย์ศักดิ์บวรได้ชี้ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการขุดเจาะก๊าซว่า “หากมีการขุดเจาะก๊าซก็จะมีการเผาก๊าซส่วนเกิน  จะทำให้อุณหภูมิบริเวณรอบๆ เพิ่มขึ้น อาจกระทบต่อพืชบางชนิดที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความหลากหลายทางชีวภาพก็จะลดลงและหายไปจากพื้นที่ ในกรณีของไฮโดรเจนซัลไฟด์ผมไม่แน่ใจว่ามีผลกระทบต่อส่ิงมีชีวิตอย่างไรบ้าง แต่ถ้าเป็นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จะทำให้เกิดฝนกรด ทำลายป่าตั้งแต่ชั้นเรือนยอดไปจนถึงพืชคลุมดิน กระทบไปถึงสาหร่าย พืชน้ำ และสิ่งมีชีวิตในน้ำ”

ในฐานะของนักชีววิทยา ผมเสนอว่า บริเวณนี้ที่เป็นหุบเขาที่น้ำไหลผ่าน หากต้องเลือกพื้นที่ที่จะปกต้องคุ้มครอง หรือประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ ควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ลักษณะนี่ก่อนเป็นอันดับแรก” อาจารย์ศักดิ์บวร กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับงานวิจัยดังกล่าว ดำเนินการในพื้นที่ภูโน ซึ่งเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลาหลายทางธรรมชาติที่สุดแห่งหนึ่งในเขต อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งปิโตรเลียมที่เรียกว่า “แหล่งดงมูล” และปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ให้สัมปทานแก่บริษัท APICO บรรษัทข้ามชาติจากอเมริกาในการขุดเจาะสำรวจและผลิตก๊าซ ท่ามกลางการต่อต้านของชาวบ้าน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนักวิชาการที่หวั่นวิตกถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้าน ขณะที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ของโครงการก็ไม่เคยมีการเปิดเผยต่อชาวบ้านและสาธารณะ

 

 

ที่มาข้อมูลงานวิจัย วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2553;29(4) : 359-371

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ