“บ้านลูกรัก” กับห้องเรียนทักษะชีวิตที่อบอวลไปด้วยความรัก

“บ้านลูกรัก” กับห้องเรียนทักษะชีวิตที่อบอวลไปด้วยความรัก

อีกครั้งที่ผู้เขียนรับรู้ได้ถึงพลังของการเรียนรู้ในห้องเรียนฝึกหัดของเยาวชนบ้านลูกรัก มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก จ.ขอนแก่น ที่น้อง ๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริงในการฝึกทักษะอาชีพ เพื่อเตรียมพร้อมให้พวกเขาได้เติบโตอย่างมีศักยภาพจากรั้วบ้านแห่งนี้ซึ่งเป็นทั้งบ้าน ทั้งโรงเรียนที่ฝึกฝนทั้งตัวและหัวใจก่อนออกไปรับใช้สังคมอย่างภาคภูมิ

ผักปลอดภัยส่งไปบ้านลูกรัก

เป็นประจำในช่วงเย็นของวันศุกร์ที่ตลาดสีเขียว จ.ขอนแก่น บริเวณริมบึงแก่นนคร เมื่อใกล้ถึงเวลาปิดตลาด ทีมงานที่เป็นคณะกรรมการอาสาสมัคร จะนำรถเข็นออกไปรวบรวมผลผลิตของสมาชิก ทั้ง ไข่ ถั่ว ข้าวโพด และพืชผักต่าง ๆ นำไปแบ่งปันให้น้อง ๆ ที่มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก หรือ บ้านลูกรัก เพื่อให้น้อง ๆ นำไปประกอบอาหาร

กอล์ฟ จงกล มาลา เครือข่ายตลาดสีเขียวขอนแก่น ผู้เปรียบเสมือนญาติของเด็ก ๆ เล่าให้ฟังว่า “ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2563 เป็นต้นมา เราก็ทำต่อเนื่องทุกวันศุกร์ เด็ก ๆ ก็จะรอมีบางสัปดาห์ที่ฝนตกหนักแล้วเราเอาของไปแบ่งปันไม่ได้เด็ก ๆ ก็จะรอกัน

สิ่งที่นำไปแบ่งปันมีอะไรบ้าง ?

ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผลผลิตจากสมาชิกก็จะเป็นผักนะคะ อย่างที่เห็นก็จะมีผัก มีไข่ เป็นอาหารที่เด็กกินได้ด้วย หลังขายของเสร็จ ประธานตลาดเขียวจะประชาสัมพันธ์ทุกสัปดาห์ว่าที่นี่กินมังสวิรัติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เครือข่ายเขาบริจาคก็จะคำนึงถึงเด็ก ๆ เช่น ข้าวจี่ เด็ก ๆ จะชอบมากหรืออย่างนี้ก็เป็นข้าวโพดปิ้ง ข้าวเหนียวปิ้งพวกนี้ค่ะแล้วก็เป็นขนมที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ถ้าเป็นพวกเนื้อสัตว์เขาจะไม่บริจาค”

ด้วยพลังแห่งการแบ่งปัน บนสังคมแห่งการเกื้อกูลของเครือข่ายตลาดสีเขียวที่ส่งมอบความรักเป็นผลผลิตผักอินทรีย์ให้กับน้อง ๆ บ้านลูกรัก ได้มีวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่สะอาดและมั่นใจได้ว่าปลอดภัย

มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (บ้านลูกรัก) เป็นเสมือนครอบครัวขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยเด็กเยาวชนมากหน้าหลายตา  ตัวผู้เขียนมาได้เยือนที่แห่งนี้เป็นครั้งแรก  พบกับครูยา นายสุริยา สมใจ  หรือเด็ก ๆ ที่นี่จะเรียกว่า “พ่อยา” เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (บ้านลูกรัก) จ.ขอนแก่น

23 ปีกับการเปิดมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (บ้านลูกรัก) เป็นอย่างไรบ้าง

“ตอนนี้เด็กก็จะขึ้น ๆ ลง ๆ ช่วงนี้อยู่ 42 คน ที่ดูแลประจำนะครับ มีตั้งแต่เล็กสุด ตอนนี้ก็ 1 ปี 8 เดือน ครับ ขึ้นมาอนุบาล ประถม มัธยม วัยรุ่นครับ วัยรุ่นกลุ่มที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ แล้วก็เป็นกลุ่มที่กำลังช่วงยงานอายุ 21-23 ปี ครับผม

ข้างในก็จะมีเจ้าหน้าที่ ประจำอยู่ 4 คน ที่เหลือเป็นทีมลูก ๆ คนโตที่อายุ 18 ปี ขึ้นไป จนถึง 25 ปี มีอยู่ 12 คน ก็จะแบ่งช่วยงานกับคุณครู 4 คน หลัก ๆ ก็จะมีผม ครูแหม่ ครูตี๋ แล้วก็คุณครูที่เข้ามาเป็นจิตอาสาหลัก ๆ ก็ คือ ครูจิ๊ก ครูอรทัย ส่วนพี่ ๆ คนโต 12 คน ก็จะช่วยงานแต่ละด้าน ด้านออฟฟิศ 1 คน ด้านธุรกิจ ตอนนี้ก็จะมีร้านขายสินค้ามือสองดูแล 1 คน แล้วก็ดูแลน้องเด็กอ่อน 1 คน อนุบาล 1 คน ที่เหลือก็จะมาร้าน ตอนนี้กำลังทำร้านอาหารมังสวิรัติ ใช้อยู่ 3-4 คน ที่เหลือเป็นกลุ่มพี่ ๆ ที่หน่วยเกษตรทำสวนเกษตร แปลงเกษตรที่ริมแม่น้ำชี  4-5 คน ครับ”

เราแบ่งการเรียนรู้ของเด็กอย่างไรบ้าง

“ถ้ากลุ่มโตดูความถนัดเขา ดูความสนใจที่อยากจะพัฒนาแต่ละด้าน บางคนก็ถนัดเรื่องของการพบปะผู้คน การค้าขาย บางคนชอบใช้แรง ก็จะดูก็จะคุยกันตลอดคนไหนถนัดเรื่องอะไร สลับสับเปลี่ยนกันนะครับ ส่วนกลุ่มน้องเด็กเล็กที่อยู่ที่นี่เราจะจดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียน คล้าย Home school ถ้ามากกว่า 7 คนจะเรียกศูนย์การเรียน กลุ่มศูนย์การเรียนก็จะมีหลักสูตรการเรียนการสอน แล้วก็จะมีอาจารย์จากข้างนอกเข้ามาช่วย ส่วนมากเป็นอาจารย์ที่เกษียณ เป็นคนที่มีจิตอาสาเข้ามาช่วยกัน ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 การเรียนการสอนเราจะเน้นบุคลากรภายในก่อนเพื่อเสริมการเรียนการสอนให้ไม่ลืม ให้อ่านออกเขียนได้ แต่ว่ากิจกรรมของเราก็ยังไม่หยุด เราก็ปรับตามสถานการณ์ เช่น ตอนนี้จะพาเด็ก ๆ ลงแปลงเกษตรค่อนข้างเยอะ เพราะว่าช่วงนี้ช่วงโควิด-19 ก็จะมีผู้บริจาคค่อนข้างน้อย เราก็เอามาปรับช่วงนี้เราลงเรื่องการเกษตร ปลูกกล้วย ปลูกผักต่าง ๆ เอาไว้ แล้วก็เป็นการบูรณะภายในเป็นการเตรียมความพร้อม เมื่อโควิด-19 ลดลง การเรียนการสอนจากอาจารย์ข้างนอกก็จะเข้มข้นขึ้น

เกษตรปลอดภัย ตลาดสีเขียว สร้างเรียนรู้กับน้อง ๆ อย่างไร

พี่ ๆ ตลาดเขียวก็จะเข้ามาตั้งแต่การให้ความรู้เลย ตั้งแต่สวนผักคนเมือง ติดตามการทำการเกษตรของเด็ก ๆ ถึงอย่างไรของเราก็ยังไม่พอเพียง หมายความว่าปลูกพืชเพื่อเป็นการเรียนรู้แต่ผลผลิตจริง ๆ ไม่พอกิน พี่น้องตลาดเขียว เขาทำตลาดทุกวันศุกร์ เขาจะรวบรวมเหมือนมีตัวแทนช่วยรวบรวมผักจากตลาดเขียว มีทั้งผัก มีทั้งผลไม้ พวกขนม ข้าวหลามต่าง ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายในตลาดเขียวก็จะถูกรวบรวมมาให้ทุกวันศุกร์ ก็ถือว่าค่อนข้างเยอะครับถ้าเปรียบเทียบกับที่เด็ก ๆ ปลูกเองครับ ถือว่าได้เยอะกว่า อันนั้นอันหนึ่งครับ

ความเชื่อมโยงกันอีกอันหนึ่งที่คุณครูเห็นว่าตลาดเขียวเขามีความสำคัญ คือ จากที่ดูจะเหมือนเป็นตลาดก็เป็นแหล่งที่เชื่อมให้เกษตรอินทรีย์มีผักมาขายครับ แต่เขาสามารถเชื่อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือคนกลุ่มที่เขาขาดตลาด เพราะว่าเด็ก ๆ ของเราส่วนมากก็มาจากชนบท ตามหมู่บ้านที่ขาดคนดูแล ครอบครัวไม่พร้อม หรือพ่อแม่เสียชีวิตก็จะมาแต่ละที่แต่ละทางมาอยู่ที่นี่รวมกัน

คนที่ทำเกษตรอินทรีย์ส่วนมากก็จะมีจิตใจค่อนข้างจะเคารพต่อธรรมชาติเป็นคนที่ค่อนข้างเผื่อแผ่ แบ่งปันอยู่แล้ว พอมีกิจกรรมตัวนี้เกิดขึ้นเหมือนกับเรามีตัวแทน โดยที่ไม่ได้แต่งตั้งแต่ว่าเป็นตัวแทนที่มีความสนิทกันมาส่งเสริมน้อง ๆ ทำผักเกษตรอินทรีย์ที่นี่ซึ่งเป็นผู้ประสานอย่างเช่น ของ เด็ก ๆ ก็จะเรียกน้ากอล์ฟ น้ามาวแล้วก็น้องมาตาก็จะเป็นเหมือนสะพานคอยรวบรวมบางครั้ง ก็ประชาสัมพันธ์ นอกจากนั้นก็ยังมีอาจารย์ที่วิทยาลัย อาจารย์หนูน้อย แล้วก็พี่ ๆ อีกหลายคนคอยประชาสัมพันธ์ช่วย ก็เลยทำให้ที่ตลาดเขียวรู้จักเรา พืชผัก ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็เลยส่งมาถึงเด็ก

พอเรามั่นใจขึ้น มาทำร้านก๋วยเตี๋ยวเราก็เลยอยากได้ผักอินทรีย์ ซึ่งเด็ก ๆ เราปลูกไม่พอ เรามั่นใจว่าเรามีเครือข่ายตลาดเขียวที่จะไปซื้อผลผลิต หรือบางครั้งซื้อก็มีแถมมาให้เด็ก ๆ เราก็เลยกล้าที่ตั้งเป็นร้านอาหารมังสวิรัติ อย่างนี้ก็เลยทำให้เรากล้าขึ้นที่จะไปทำแปลงผักอินทรีย์ของพวกเรา โดยตัวของพวกเราเอง เพราะว่าแต่ก่อนเด็กเรายังเล็กอยู่ แต่ปัจจุบันนี้น้อง ๆ เราโตขึ้นเยอะก็เลยมั่นใจว่าอย่างไรเราก็ต้องทำได้ ก็เหมือนเรามีที่ปรึกษา เรามีเพื่อน ๆ ที่จะคอยแนะนำแม้กระทั่งพันธุ์ผัก มีเครือข่ายทางตลาดเขียวแล้วก็มหาสารคาม ก็ขอรับการสนับสนุนหรือซื้อเมล็ดพันธุ์ผักมาลงที่นี่ได้ครับ

ทำไมถึงทำร้านอาหารมังสวิรัติขึ้น

พื้นฐานเลยจากที่คุณครูและภรรยาทานมังสวิรัติ นอกจากเราได้แล้วเราก็ยังจะเผื่อแผ่นะครับ อยากมีร้านของเราเล็ก ๆ เป็นที่ฝึกงานของเด็ก ๆ ด้วย แล้วก็ที่สำคัญคือ เราจะได้อาหารที่มีคุณภาพหลากหลายกลับมาให้เด็กได้รับประทานครับ แต่ก่อนยังไม่เป็นจริงเป็นจังยังทำกันแบบเด็ก ๆอยู่ คุณครูกับภรรยาเคยทำตั้งแต่ภรรยายังมีชีวิตอยู่ก็ทำกันอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เราก็หาซื้อผักยากสมัยนั้น แต่พอเกิดโครงการตลาดสีเขียวขึ้นเราก็เลยคิดว่าเรามีแหล่งวัตถุดิบพวกผัก ต่อไปมันจะเชื่อมโยงที่คุณครูมองไว้คือจะเป็นพวกธัญพืชต่าง ๆ พวกถั่ว อย่างถั่วตอนนี้เราอาจจะใช้ถั่วเหลืองยังเป็นตามท้องตลาดอยู่ แต่ต่อไปเราจะเน้นพัฒนาเป็นถั่วเหลืองที่ไม่ได้ผ่านเรื่องของ GMO ครับ จะมองผลิตภัณฑ์ที่มันมีความออร์แกนิกมากขึ้น อันนี้ที่จะเป้าที่มองไว้ครับ

เรียกได้ว่าเป็นห้องเรียนทักษะชีวิตของน้อง ๆ ด้วยเลยไหมคะ

สำคัญเลยครับ ในเรื่องของการค้าขายด้วยในเรื่องของการทำอาหาร ในเรื่องของการทำมาหากิน เกษตรกรด้วยครับ

การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงดีอย่างไร

เยอะเลยครับ เพราะแต่ก่อนคุณครูทำเรื่องของการศึกษาก็จะเน้นภายใน เกษตรภายใน ทำได้ก็เอามากินเอง ทำงานช่างก็เอามาใช้เอง พอไปถึงจุดหนึ่งเด็กเขาก็โตขึ้นเรื่อย ๆ แล้วมันจะเกิดการเรียนรู้ค่อนข้างน้อย เกิดการตื่นตัวของเด็ก ๆ ค่อนข้างน้อย แต่พอเราได้เปิดมันเหมือนกับว่าเรามีคนติชมมากขึ้น ถ้าผลิตภัณฑ์เราไม่ดีคนก็จะแนะนำติชม ใช่ไหมครับ เด็กก็จะเกิดการตื่นตัวแม้กระทั่งคุณครูเองก็จะพยายามสรรหาความรู้ ดึงเครือข่ายเข้ามาช่วย มันก็เลยเป็นการยกระดับว่าต่อไปนี้เราเจอของจริงละนะมันไม่ใช่เพราะว่าเราทำเอง กินกันเอง แต่ตอนนี้จะมีทั้งผู้ติชมเรา คำติชมก็เพื่อที่จะให้เรามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

เพราะว่ามันเป็นความท้าทายมากที่บ้านเด็กจะทำร้านอาหารให้คนยอมรับ เพราะว่าคำว่าเด็กด้อยโอกาสมันจะมีภาพอยู่ว่า เราจะทำคุณภาพได้หรือเปล่า ทีนี้เราต้องคุยกันกับเด็ก ๆ กับคุณครู ว่าทำอย่างไร มาตรฐานเราถึงจะเป็นที่คนมานั่งรับประทานหรือที่ไม่ได้นึกภาพว่ากินเพราะความสงสารอย่างเดียวนะ แต่เพราะว่าความอยากมาเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับเด็ก ๆ ที่ทำให้เราคุณครูเกิดการตื่นตัวครับ แม้กระทั่งเด็ก ๆ ที่จะไปทำงานที่ร้านก็ต้องพัฒนาตนเอง ดูแลอย่างไร ทำความสะอาดอย่างไร คำพูด แม้กระทั่งทักษะการที่จะต้อนรับลูกค้า พูดคุยกับลูกค้ามันได้เยอะเลยครับ

“เด็กก็เติบโตมาจากข้างในเราก็มาส่งเสริมอาชีพที่นี่ บ้านหลังนี้เราชื่อว่าเป็นบ้านไม้ วัตถุประสงค์ของเราเป็นโรงเรียน โรงเรียนผู้รับใช้สังคมก็คือมีป้ายอยู่ด้านหน้า อันนี้คือประเด็นที่เด็กที่มาฝึกอยู่ที่นี่เราจะฝึกอาชีพให้เด็ก ๆ ก็จะมีคุณครูหลายท่านแล้วก็บุคลากรทั้งหลาย หน่วยงานของภาครัฐก็จะมาฝึกสอนให้เด็ก ๆได้รับกระบวนการเรียนรู้ อย่างอาชีพนี้เป็นต้น”

นอกจาก “ครูยา” ที่ช่วยดูแลสนับสนุนทุกการเรียนรู้แล้ว ที่ร้านอาหารก็มี “ครูแหม่ม” คอยบอก สอน และดูแลน้อง ๆ ให้เรียนรู้เติบโตไปด้วยกันค่ะ

ที่ร้านของเราทำแบ่งภารกิจให้น้อง ๆ อย่างไรบ้าง

ฝึกจริง ๆ ก็จะเป็นร้านอาหาร แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ตั้งชื่อ ว่าจะเป็นร้านอาหาร หรือ เป็นที่ฝึกงานเด็ก ๆ แล้วก็ให้เขามาทำงานที่นี่ เป็นสถานที่ชื่อว่าเป็น “โรงเรียนผู้รับใช้สังคม” ค่ะ จบจากที่นี่ขาก็จะไปหน่วยงานอื่นได้อย่างภาคภูมิใจ

เขาต้องนำสิ่งพวกนี้ไปใช้กับชีวิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นตัวเขาเองแล้ว ก็ดูแลเขาได้ รับใช้สังคมได้ ก็ดีเป็นความภาคภูมิใจจากเด็กหนึ่งคนที่ไม่มีอะไรก็มีร้านอาหารเพื่อที่จะรองรับเขา ฝึกอาชีพให้เขาได้มีรายได้ เรียนรู้แล้วก็กระบวนการต่าง ๆที่คุณครูมาสอน มีจิตอาสามาสอน หลาย ๆ ท่านให้ความร่วมมือ เราก็อยากให้ร้านอาหารของเราเป็นร้านอาหารที่มีความยั่งยืน นอกจากรุ่นพี่แล้วก็จะมีรุ่นต่อรุ่นค่ะเป็นการพัฒนาเด็ก ๆเพื่ออนาคตค่ะ

“มันก็ดีนะพี่ เราได้เรียนรู้แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง ตอนแรกเคยทำแต่มันก็ไม่ได้จริงจังเหมือนตอนนี้ พอมาเริ่มจริงจัง เรียนรู้ว่าร้านค้าเราต้องทำอย่างนี้ มีทั้งขายได้ ขายไม่ได้ มันก็ต้องดูไป แล้วก็มาทำจริง ๆ มันก็เหนื่อย รู้เลยว่าร้านอาหารบางร้านทำไมเขาถึงมีราคาสูง เพราะมันก็ต้องทำหลาย ๆ อย่าง แล้วมันก็เหนื่อยด้วย” น้ำค้าง สมฤทัย เพียรงาน ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงอยู่ในบ้านลูกรักเล่าถึงมุมมองของเธอหลังร่วมเป็นทีมงานในร้านอาหาร

“หนูก็จะมาที่นี่ประมาณ 6 โมงเช้า แต่ก็มีกลุ่มที่เขามาก่อนอยู่แล้ว หนูอาบน้ำแต่งตัวมานี่ 6 โมงเช้าก็มาช่วยเรื่องปาท่องโก๋ ช่วยรับลูกค้าอย่างนี้ค่ะ เรียนรู้หลายอย่างพี่ เพราะว่าหนูว่าเรียนรู้การอดทน อดทนที่แบบต่อให้วันหนึ่งช่วงขายแรก ๆ ไม่มีลูกค้าเลยนะพี่เราก็อดทนไปเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งก็มีมาเรื่อย ๆ ค่ะ  เมื่อก่อนนี้ตอนที่อยู่ในบ้านพวกหนูฝึกทำอาหารกันตั้งแต่เด็ก คือ ป.4 ป.5 ทำอาหารเป็นกันหมดแล้วค่ะ”

อีกครั้งที่ผู้เขียนรับรู้ได้ถึงพลังของการเรียนรู้ในห้องเรียนฝึกหัดของเยาวชนบ้านลูกรัก มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก จ.ขอนแก่น ที่น้อง ๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริงในการฝึกทักษะอาชีพ เพื่อเตรียมพร้อมให้พวกเขาได้เติบโตอย่างมีศักยภาพจากรั้วบ้านแห่งนี้ซึ่งเป็นทั้งบ้าน ทั้งโรงเรียนที่ฝึกฝนทั้งตัวและหัวใจก่อนออกไปรับใช้สังคมอย่างภาคภูมิ ภายใต้ชายคาบ้านที่หลายมือในชุมชนเมืองขอนแก่นช่วยกันโอบอุ้มดูแล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ