คลี่ปัญหานำแรงงานเพื่อนบ้านขึ้นทะเบียน ค่าใช้จ่ายโหดไม่สมจริง ทั้งที่เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ แรงงานตกงานไม่มีรายได้ ขณะที่ไม่ชัดเจนว่า ใช้ใบรับรองผลตรวจคัดกรองโควิดแทนได้หรือไม่ เผยครึ่งทางที่สมุทรสาครมาขึ้นทะเบียนไม่ถึงร้อยละ 10 แนะปรับเปลี่ยนระยะเวลา ค่าใช้จ่ายสร้างแรงจูงใจ เผยแนวโน้มแรงงานแห่กลับประเทศเหมือนระบาดรอบแรก
วงแชร์ ฟังเสียงคนในพื้นที่ : สถานการณ์มหาชัย ครึ่งทางจดทะเบียนแรงงานเพื่อนบ้าน ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 31 มกราคม 2564 มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากตัวแทนแรงงาน องค์กรพัฒนาเองชน และหน่วยงานราชการผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสาครอย่างหลากหลาย โดยวงแชร์นี้ จัดขึ้นเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านแรงงาน คณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับ The Reporter และ ThaiPBS เนื่องจากระหว่างวันที่ 15 ม.ค. – 13 ก.พ.64 เป็นช่วงเวลาที่เปิดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติชั่วคราว 3 สัญชาติ ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันเป็นช่วงเวลาของการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนที่ชัดเจน และเป็นโอกาสที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนแรงงานฯ ครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม
ร่วมกันดำเนินรายการ โดย คุณวัชระพล บูรณะเนตร มูลนิธิรักษ์ไทย คุณภัทราพร ตั๊นงาม ไทยพีบีเอส และคุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย The Reporters
ฟังเสียงแรงงานพื้นที่สีแดง แจงปัญหาขึ้นทะเบียนแรงงาน
คุณวัชระพล บูรณะเนตร จากมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า สถานการณ์ที่ตลาดกลางกุ้งล่าสุด แรงงานเริ่มใช้ชีวิตได้ปกติ ความกลัวเรื่องของโรคเริ่มผ่อนคลาย แต่มีเสียงสะท้อนของแรงงานที่มีความกังวลใจกับเรื่องการขึ้นทะเบียนที่จะเกิดค่าใช้จ่าย และแรงงานที่ทำงานรายวันก็จะกังวลใจว่า นายจ้างจะให้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ นอกจากนี้แรงงานยังมีภาระในการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายขึ้นทะเบียนทั้งตัวเองและผู้ติดตามซึ่งสูงมากสำหรับแรงงานที่เจอกับสถานการณ์โควิดหรือนายจ้างที่มีลูกจ้างหลายคน ทำให้ต้องใช้บริการจากนายหน้า
คุณโกนาย อาสาสมัครแรงงาน มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่าโควิด-19 รอบแรกกระทบไม่ค่อยหนัก บางบริษัทหยุดงาน 3 เดือน แต่โควิดรอบล่าสุด กระทบหนัก คนงานตกงาน ถูกเลิกจ้าง ไม่มีเงินเก็บ และบางคนติดโควิด คนที่ยังมีงานทำอยู่สถานประกอบการบางโรงงานบังคับให้แรงงานไปอยู่ในโรงงานซึ่งไม่ได้อยู่ฟรี ต้องแยกออกจากครอบครัวและเสียค่าเช่าห้องทั้งสองที่ และมีสถานการณ์ที่จะทำให้แรงงานไม่ถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น เราต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ถูกกฎหมายมาแล้ว แต่บางทีต้องออกจากงาน นายจ้างเขียนว่าลาออก เขาทำอะไรไม่ได้ บางคนหานายจ้างใหม่ไม่ได้ภายใน 30 วันก็มี บางคนมีนายจ้างตัวจริง ต้องใช้บริการนายหน้าดำเนินงาน ซึ่งมีหลายต่อ บางครั้งก็ไม่ได้ต่อ ทำให้ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และมีกลุ่มที่ไม่ถูกกฎหมายอย่างที่ตลาดกลางกุ้งที่มีตัวเลขคือประมาณ 500 และนำมาขึ้นทะเบียนกับจัดหางานแล้ว 300 คน ซึ่งยังมีเหลืออยู่ เพราะได้รับการชี้แจงว่าถ้ามีนายจ้างแล้วไม่ต้องมาขึ้นกับสำนักจัดหางาน แต่ตัวแรงงานก็ยังไม่เจอนายจ้างของตัวเอง หรือไม่มีนายจ้างตัวจริงเป็นเพียงจ้างงานรายวัน ไม่มีนายจ้างตัวจริง เลยไม่มั่นใจว่าจะขึ้นทะเบียนทางเน็ตทันเวลาหรือไม่ หรือไม่มีเงินพอ และยังต้องขึ้นทะเบียนผู้ติดตามอีก บางคนก็ขาดเอกสารไม่มีใบเกิด เป็นต้น
คุณโกวิน ตัวแทนแรงงานตลาดกลางกุ้ง กล่าวว่าในพื้นที่คนที่ถูกกฎหมายมีนายจ้างจริงจำนวนน้อย ต้องผ่านนายหน้าอีกรอบ ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ส่วนคนที่ไม่มีนายจ้าง หรือมีแต่อยู่ด้านในตลาดและทำงานไม่ได้ ก็ถูกออกก็มี และคนที่อยากจะขึ้นทะเบียนถูกต้องก็ติดเรื่องค่าใช้จ่าย อย่างตนเองขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย แต่อยู่ในสถานที่ล็อคดาวน์ ตรวจโควิดหลายครั้ง มีใบรับรองการตรวจโควิด ถ้าจะต่อวีซ่าจะต้องตรวจโควิดเสีย 2300 บาทด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมามารับขึ้นทะเบียนที่นี่ 3 วัน แต่เขาออกมาไม่ทัน หรือเวลาที่อธิบายก็ไม่เข้าใจ บางคนมีนายจ้างก็จริง แต่นายจ้างส่วนมากไม่ได้เข้ามา แค่ติดต่อทางโทรศัพท์ ส่วนคนที่ไม่มีนายจ้างก็ไม่รู้จะสอบถามใคร
คุณภัทราภรณ์ จากไทยพีบีเอส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปิดตลาดกลางกุ้งจนถึงขณะนี้ สิ่งที่แรงงานห่วงคือการทำงานหรือใช้ชีวิตต่ออย่างไร และความชัดเจนว่าจะปลดล็อตเมื่อไหร่ จะได้ใช้ชีวิตเมื่อไหร่ และข้อมูลตรวจคนเข้าเมืองมาตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีกลุ่มแรงงาน 2500 คนในจำนวนนี้เอกสาร 700 คนที่ไม่ครบ ไม่ได้อยู่ที่ตัว หรืออยู่ที่อื่น เผื่อเป็นข้อมูลที่จะใช้สำหรับการจัดระบบกันครั้งนี้
คลายล็อกตลาดกลางกุ้ง 1 ก.พ.
นพ. นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร สำหรับตลาดกลางกุ้งจะเปิดพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. เป็นต้นไป แต่ยังมีการเฝ้าระวังคนในพื้นที่ คัดกรองคนเข้า-ออก ส่วนการค้าขายได้เมื่อไหร่ จะต้องจัดระเบียบกับผู้ประกอบการ เช่นวางแผนระยะห่าง การเข้าออก มาตรการในการควบคุมให้ชัดเจน รวมถึงจัดการห้องพักไม่ให้แออัด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ เพราะตอนนี้ตลาดกลางกุ้งเป็นพื้นที่สะอาด ซึ่งกลัวจะได้รับเชื้อนำเข้ามามากกว่าที่จะเอาเชื้อออกไป เพราะคนที่นี้ถูกสำรวจมาเป็นเดือนแล้ว ดึงผู้สัมผัสเสี่ยงสูงออกไปแล้ว กรณีการที่แรงงานต้องเดินทางไปขึ้นทะเบียน หรือติดต่อนายจ้างสามารถทำได้ในวันที่ 1 ก.พ. แต่ยังต้องมีระบบการเฝ้าระวังอยู่ โดยอาจจัดระบบนัดหมายระหว่างนายจ้างและผู้ต้องการขึ้นทะเบียน เพื่อวางแผนร่วมกัน และอำนวยความสะดวกต่อแรงงานและนายจ้าง
ส่วนแรงงานอื่น ๆ ที่นอกตลาดกลางกุ้ง กลุ่มใหญ่ที่ตรวจโควิดไป 1 แสนกว่าคน โดยร้อยละ 80 เป็นกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านอยู่แล้ว บางคนที่ผ่านการรับรองไม่ต้องตรวจซ้ำก็ได้ ซึ่งใบรับรองผลเหล่านี้มี 2 แบบ อย่างแรกคือติดเชื้อไปแล้วและได้เข้าสู่กระบวนการกักสังเกตุอาการตามเกณฑ์ที่กำหนด ตรงนี้ส่วนตัวคิดว่าน่าจะแทนการตรวจได้ ไม่ต้องมีการตรวจซ้ำ อีกแบบเป็นใบรับรองผลเป็นลบ ซึ่งตนไม่มั่นใจแทนว่าใช้ผลตรวจนั้น หรือจะต้องตรวจซ้ำกับกลุ่มนี้เพิ่มเติมอีกหรือไม่ แต่ศักยภาพในการตรวจของโรงพยาบาลในพื้นที่ ทั้งรัฐและเอกชนกว่า 10 สถานบริการในเครือข่ายประชาสังคม มีความพร้อมในการตรวจอย่างแน่นอน แต่ขั้นตอนที่จะเป็นประเด็นน่าจะเป็นขั้นตอนดำเนินการส่วนอื่นมากว่า เช่นการตรวจคนเข้าเมืองเป็นกระบวนการสำคัญ
เนื่องจากพื้นที่จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดง อาจมีผลกระทบเรื่องการประกอบกิจการ แต่ในพื้นที่โรงงานไม่ได้มีข้อจำกัด สามารถเปิดดำเนินการได้ แต่ผู้ประกอบการรายย่อยมีอยู่ ร้านอาหารสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม พื้นที่อื่นๆ เช่น บ้านแพ้ว กระทุ่มแบนพื้นที่สีเขียว ไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือในอำเภอเมือง มีไม่กี่ตำบลที่หนาแน่น อย่างไรก็ตามจังหวัดมีความพยายาม 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าจะทำเรื่องขอเปิดทำกิจกรรม
นายพงษ์สวัสดิ์ พวงเดช นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ ผู้ช่วยจัดหางานสมุทรสาคร กล่าวว่าแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทั้งจังหวัด 266,097 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมา ส่วนการเปิดให้ลงทะเบียน กรณีมีนายจ้าง 11,271 คน แบบไม่มีนายจ้าง 1,420 คน ซึ่งรวมแล้วยังมีจำนวนน้อยอยู่ ส่วนที่ตลาดกลางกุ้ง หอพักศรีเมือง มี 2,460 คน มีใบอนุญาติทำงานมีนายจ้าง 1453 คน แรงงานที่ไมถูกต้อง เช่น ใบอนุญาตสิ้นสภาพ 725 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดตาม (แรงงานที่ต่ำอายุ 18 ปี) 200 กว่าคน ส่วนนี้จัดหางานจังหวัดได้ช่วยเหลือ เข้าไปรับขึ้นทะเบียนได้ 300 กว่าคนสำหรับแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง และจะดำเนินการต่อ ที่ไปก่อนหน้านี้ 3 วันเนื่องจากเตรียมเปิดตลาดกลางกุ้งเลยยังไม่สะดวก แต่สัปดาห์หน้าจะเปิดรับลงทะเบียนให้แรงงานทั้งหมด ซึ่งจัดหางานก็ประสานข้อมูลกับองค์กรพัฒนาเอกชนอยู่ และที่สำนักงานจัดหางาน แต่ละวันก็มีแรงงานมาลงทะเบียนเช่นกัน ซึ่งเมื่อเกิดตลาดกลางกุ้งไปสักพัก ก็จะสำรวจดู หากพบว่ามีแรงงานที่ยังไม่มีนายจ้าง สำนักงานจัดหางานต้องช่วยลงทะเบียนให้อยู่แล้วและให้ทำบัตรประจำตัวสีชมพูก่อน
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ทุกครั้งที่จดทะเบียนจะมีปัญหา ครั้งนี้อาจจะมองว่าแพงนั้น ต้องยอมรับว่ามันเป็นความจำเป็นทางสาธารณสุขที่เป็นค่าตรวจคัดกรองโควิด 2,300 บาท และค่าประกันสุขภาพ 2 ปี 3,200 บาท ส่วนค่าอื่นๆ เท่าเดิม อย่างไรเสีย เบื้องต้นอยากให้ลงทะเบียนไว้ก่อน ถ้าไม่ลงทะเบียนภายในวันที่ 13 ก.พ.นี้ ตัวแรงงานจะไปต่อไม่ได้และเสียสิทธิ์ทั้งหมด
“ถ้ายังไม่มีเงินไม่ต้องกังวล ในการลงทะเบียนช่วงแรกนั้นยังไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนเรื่องการตรวจสุขภาพ อย่างน้อยที่สาธารณสุขระบุว่าใบรับรองที่ผ่านการตรวจโควิดที่ใช้ได้ และยังมีขั้นตอนและเวลาอีก เบื้องต้นขึ้นทะเบียนก่อนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ต่อมาคัดกรองโควิด ตรวจสุขภาพ มีเวลาถึงตุลาคม จากนั้นนายจ้างยื่นขออนุญาตทำงานแทนแรงงาน แต่ถ้าไม่มีนายจ้างก็จะทำบัตรชมพูและหานายจ้างโดยมีเวลาขออนุญาตทำงานถึงกันยายน 2564”
สำหรับจำนวนแรงงานที่ผิดกฎหมายนั้น นายพงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า มีการประมาณแรงงานที่ผิดกฎหมายประมาณ 25,000-30,000 คนเท่านั้น เนื่องจากก่อนมีโควิดมีแรงงานเคลื่อนย้ายเข้ามาเพราะมีญาติพี่น้อง แต่ขณะนี้มีการล็อกดาว์นพื้นที่จึงไม่มีการเดินทางของแรงงานเข้ามาในพื้นที่ และมีแรงงานที่สิ้นภาพโดยกฎหมาย เช่นไม่มีงานทำ นายจ้างให้ออกจากงาน มีมติ 4 สิงหาคมก็ดำเนินการไปประมาณ 24,000 คน มีมติให้แรงงานที่อยู่จ้างงานเกิน 4 ปี ก็เข้ามาดำเนินการให้ประมาณ 4,000 คน รวมทั้งกลุ่มตกลง และมีมีเอกสารแสดงตน ซึ่งที่จริงใช้ภาพถ่ายจากมือถือก็ได้เป็นการช่วยเหลือกัน โค้งสุดท้าย น่าจะใกล้เคียงกับที่ประมาณการ
ชี้เก็บค่าธรรมเนียมปกติ ในสถานการณ์ไม่ปกติไม่สอดคล้อง
น.ส. ดาวเรือง เลขวรนันท์ ที่ปรึกษาบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ซีแอลเอ็มวี สมาร์ท เวิร์คเกอร์ จำกัด กล่าวว่าค่อนข้างกังวลเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงาน โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าธรรมเนียนภาครัฐเป็นค่าใช้จ่ายปกติ แต่ขณะนี้มันเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ เพราะพี่น้องแรงงานว่างงานเป็นจำนวนมากและผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบเป็นห่วงโซ่ การตั้งค่าธรรมเนียมตามเกณฑ์ปกตินั้นจึงอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ก็ได้ แรงงานไม่มีรายได้ ไม่มีเงินมาจ่ายค่าธรรมเนียม หากภาครัฐมองไปที่จุดประสงค์หลักของมติครม.ฉบับนี้ เราจำเป็นต้องนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ในระบบ วันนี้ภาคประชาสังคมที่ร่วมกับภาครัฐไปเห็นสภาพจริงว่า แรงงานได้รับผลกระทบจริง ๆ และบริบทชีวิตของแรงงานเขามาเมืองไทยเพื่อหางานทำ แต่สุดท้ายเขาไม่มีงานทำ เขาอยากกลับบ้าน แต่ชายแดนไม่เปิดให้กลับ เมื่อเขาไม่มีงานเขาอยากกลับบ้าน เขาลังเลว่าจะลงทะเบียนดีไหม เพราะการลงทะเบียนครั้งนี้ใช้ค่าธรรมเนียม 2 ปี แล้วถ้าชายแดนเปิด เขาจะกลับบ้านไป ก็อาจทิ้งใบอนุญาต บัตรประกันสุขภาพไป เหมือนที่เกิดโควิดครั้งแรก มีแรงงานทะยอยออกประเทศไทยไปจำนวนมาก
“ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เราจะดำเนินการตามปกติเป็นไปไม่ได้ ฟังเสียงสะท้อนแล้ว รัฐทำตามกรอบกฎหมาย แต่แรงงาน ผู้ประกอบการไม่มีเงิน ถ้าตามปกติ ครอบครัวจะส่งเงินมาให้เขาลงทะเบียนแต่วันนี้โทรหาใครก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน หลังสถานการณ์โควิดระลอกนี้ แรงงานจะกลับบ้านอีกมาก ซึ่งบางผู้ประกอบการไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะสถานประกอบการก็ต้องการแรงงานอยู่ จึงต้องช่วยกันแก้ปัญหาให้แรงงานเข้าสู่ระบบและบรรลุวัตถุประสงค์ตามมติครม.ฉบับนี้ให้ได้”
ทั้งนี้ มีข้อวิตกในการทำประกันสังคม จากที่บอกว่าแรงงานสามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ตามมติครม. เมื่อแรงงานลงทะเบียนและจ่ายเงิน 16 มิ.ย. ถึงตุลาคม ภายในเวลา 5 เดือน ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเข้าประกันสังคมตามมาตรา 33 อยู่แล้ว แล้วแรงงานต้องไปจ่ายค่าประกันสุขภาพ 3,200 บาท จะซ้ำซ้อนหรือไม่ เพราะตามกฎหมายนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบให้กับแรงงานด้วย ข้อมูลตรงนี้ต้องระบุให้ชัดเจน ได้หรือไม่ว่า เพราะถ้าเข้าสู่ระบบประกันสังคม 3 เดือนเกิดสิทธิ์แล้ว ก็ซื้อประกันสุขภาพ 500 บาทก็ได้ ซึ่งเห็นปรากฏเป็นข่าวอยู่ ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่แรงงานกลุ่มที่ต้องเข้าประกันสังคมอยู่แล้ว ให้จ่ายค่าประกันสุขภาพ เป็นเงิน 500 บาทก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้ และการตรวจโควิดที่ไม่เกิน 2,300 บาท แต่จะมีความชัดเจนว่า สามารถตรวจแบบ rapid test ได้หรือไม่ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายลดลง และเขาจะได้ไม่ตระหนกว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมสูง
คุณพิว อาสาสมัครแรงงานมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน LPN กล่าวว่าตนได้รับฟังปัญหาของพี่น้องแรงงาน ประสานแจ้งข้อมูลผลการตรวจโควิดให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณะ สิ่งที่พบคือเมื่อตรวจพบเชื้อ เข้าสู่การกักตัวก็จะเสียรายได้ โดยเป็นแรงงานนอกระบบ ส่วนแรงงานในระบบมีค่าจ้างตามกฎหมายกำหนดและมีสิทธิลา และเบิกค่าใช้จ่ายได้ มีปัญหาค่าเช่าห้องไม่มี เจ้าของห้องบางคนเห็นใจ บางคนไม่ยอม ต้องไปช่วยเจรจา สำหรับใบรับรอง สำหรับกลุ่มที่ผ่านการตรวจเชิงรุกจะมีใบรับรอง แต่ในทางปฏิบัติผู้ที่จะได้รับแจ้งผลคือผู้ที่ติดเชื้อและเข้าไปรักษาตัวหรือกักตัว แต่ผู้ที่ไม่พบเชื้อจะไม่ได้รับแจ้งหรือได้ใบรับรอง แม้แต่ตัวตนเองตรวจมาแล้ว 3 รอบ แต่ไม่ได้รับใบรับรอง ถ้าจะต่อใบอนุญาตก็ต้องไปตรวจใหม่ และตอบคำถามกับโรงงานที่จะเข้าไปทำงานยากมาก เพราะโรงงานไม่ยอม แรงงานต้องไปตรวจเองอีกที่เอกชน เพื่อแสดงกับโรงงานจึงจะเรียกให้ทำงานตามปกติ และบางโรงพยายาลก็ช้ามากในการรายงานผล ทำให้ต้องอยู่ปะปนกับครอบครัวในพื้นที่ โอกาสการแพร่เชื้อจะมีมาก
“ส่วนแรงงานที่จะขึ้นทะเบียน มีเงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้างที่มีระยะเวลาที่จำกัด หรือต้องรอการพิจารณาจากหน่วยงานใช้เวลานานทำให้ยื่นขึ้นทะเบียนไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีกรณีที่มีแรงงานไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่มีระบบบัตรสมาชิกซึ่งจะทำให้เขาไม่ถูกตรวจ หรือเจอปัญหาใด ๆ”
แนะปรับเงื่อนไขให้จูงใจใหม่
นายสมพงค์ สระแก้ว จากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน LPN เรื่องการบริหารจัดการแรงงานเป็นต้นทางของปัญหาต่าง ๆ ถ้ามีนโยบายดีและการจัดการดี ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับแรงงานก็จะลดน้อย มีทางเลือกหลายทางไปด้วย แต่ประเด็นคือ วันนี้จัดการดีหรือไม่? เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคเข้ามาตอนนี้คือ โควิด ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุที่ตลาดกลางกุ้งแล้ว ถ้าไม่สามารถจัดการเรื่องการระบาดได้ ก็เสี่ยงกระจายตัว โจทย์คือต้องนำเข้าระบบ จึงเป็นมติครม.ที่จะทำให้แรงงานเข้ามาอยู่ในระบบ เป็นทิศทางที่ดีไหม ตัวแรงงานก็ดีใจที่จะได้เข้าระบบ และภาพใหญ่คือแรงงานมีเอกสารติดตัว มีนายจ้างที่ดี ก็โชคดี แต่ภายใต้นโยบายและออกแนวทางการบริหารจัดการทั้งที่ไม่มีเอกสาร มีนายจ้างและไม่มีนายจ้าง พบว่ามีค่าใช้จ่ายสูงมาก และไม่มีอะไรรองรับ เช่น การลดราคาค่าตรวจโควิดจาก 3,000 บาทเหลือ 2,300 บาท มาจากฐานคิดอะไร และจะตรวจแบบไหน ใช้ได้แบบไหน แต่บอกว่าผ่านกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แต่ที่จริงมีทางรอดที่เป็นทางเลือกได้ เช่น ตรวจลักษณะอื่นค่าใช้จ่ายจะลดลงได้หรือไม่ และมีคำถามว่าทำไมต้องจ่าย 2 ปี แต่ถ้าสถานการณ์นีไม่ปกติ เราก็ไม่รู้ว่าปีที่ 2 จะเกิดอะไรขึ้น
ดังนั้นเมื่อต้องการจะให้แรงงานเข้ามาสู่ระบบ จะต้องสร้างแรงจูงใจ เรื่องของค่าใช้จ่าย ให้เขารับได้ พอจัดการได้ และลงทะเบียนง่ายคล่องตัวไม่ผ่านระบบนายหน้า แต่สุดท้ายเมื่อเอาเงื่อนเวลามาบีบ 15 ม.ค. – 13 ก.พ. แต่ขั้นตอนไม่เคลียร์ ทำให้แรงงานอาจไม่อยากลง อยู่นอกระบบใต้ดิน คุ้มครองนอกระบบดีกว่า นี่คือความท้าทาย
“เราเห็นด้วยกับแนวทาง เพราะมีเอกสารมันจัดการได้ง่ายกว่า แต่พอเป็นเช่นนี้จะสำเร็จหรือไม่ อีกครึ่งทาง 15 วัน และเคยประเมินว่าโควิดรอบแรกไม่เอามาขึ้นบนดินจะลำบาก พอเจอโควิดรอบ 2 ก็เป็น ปัญหาของแรงงานคือ ยังใช้หนี้จากโควิดระลอกแรกยังไม่หมด มาระลอกสองที่ไม่มีงานทำก็ยิ่งกระทบ เท่าที่คุยมาแรงงานส่วนใหญ่บอกว่าเขาจะไม่อยู่แล้ว เพราะเงินที่อดออมมาทั้งหมดต้องเอามาใช้กับการขึ้นทะเบียนทุก ๆ รอบ เป็นไปได้หรือไม่ที่ให้เขาจ่ายค่าประกันสุขภาพเพียง 1 ปี จากที่สอบถามแรงงานทั่วประเทศเขาพอจะจ่ายค่าประกันสุขภาพ 1 ปีได้”
ขณะที่เด็กและผู้ติดตามที่เรียนหนังสืออยู่จะทำอย่างไร ไม่มีการแยกการจัดการให้ชัดเจนกลุ่มนี้เป็นกว่าแสนคน ที่ผ่านมาเด็กอาศัยอยู่กับพ่อแม่ชั่วคราวได้ ไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร บางคนขึ้นทะเบียนแรงงานไว้แต่ไปเรียนหนังสือ ไม่นับขึ้นตอนลงทะเบียนที่ยุ่งยาก ต้องเข้าระบบ QR CODE ต้องปรินท์ มีเงื่อนไขยุ่งยาก ทำให้กระบวนการนายหน้าเถื่อนมีส่วนร่วม ไม่นับถูกหลอก
น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่า ตั้งแต่โควิดรอบแรก ประเทศต้นทางมีการล็อคดาวน์ประเทศ ประเทศเราก็ไม่ให้เข้า เมื่อสอบถามข้อเท็จจริงกับแรงงานที่ได้ไปแจกจ่ายถุงยังชีพ พบว่ามีเอกสาร และไม่มีเอกสาร หรือขาดอายุ กลายเป็นคนที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย ในครั้งนั้น MWRN เคยเสนอต่อรัฐว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบเข้าเมือง หรืออาศัยกระบวนการนายหน้า เสนอว่าให้รัฐบาลขึ้นทะเบียนแรงงานตกค้างฟรีได้หรือไม่ เพราะผู้ประกอบการขาดแคลนแรงงาน แรงงานก็กลับบ้านไม่ได้ เขาเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจของประเทศเรา แต่โควิดมาระลอกนี้มีข่าวว่าจะให้แรงงานขึ้นทะเบียน เราดีใจมาก แต่เงื่อนไขที่ออกมานั้นไม่เอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นจริง เพราะสถานการณ์ไม่ปกติ แรงงานขาดรายได้ ยังหานายจ้างไม่ได้ และค่าใช้จ่ายสูงเกินรวมเกือบ 10,000 บาท เกินที่แรงงานจะรับได้ สถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่นิ่ง ระลอกนี้เราแจกถุงยังชีพไป 5,000 กว่าชุดแล้วมากกว่าโควิดรอบแรกและแจกเฉพาะสมุทรสาคนเป็นจำนวนมากส่วนการตรวจคัดกรอง บางคนได้ใบรับรองผ่านการกักตัว สามารถเอาไปเป็นใบตรวจสุขภาพได้หรือไม่ยังไม่ชัดเจน
“ต้องทำในสิ่งที่เป็นไปได้ ตอนนี้สิ่งที่ต้องระวัง เสียงของแรงงานจำนวนมากบอกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ กลับบ้านดีกว่า ไปอยู่กับพ่อกับแม่ดีกว่า นอกจากนั้น มีบางสถานการประกอบการต้องการคนงานจะจ่ายค่าประกันสุขภาพให้ แต่แรงงานก็ต้องพึ่งนายหน้าอยู่ดีที่จะหางานให้ มีค่าหางานบวกเพิ่มไปอีก ซ้ำเติมอีก เราจะทำอย่างไร ให้หาทางออกให้ได้ดีที่สุด และตรงกับความเป็นจริง ตรงกับสถานการณ์จริง เราจะใช้ระบบแบบนี้จะบานปลายเป็นกันใหญ่ บ้างก็จะยังอยู่ใต้ดิน บ้างก็จะกลับบ้าน อันที่จริงสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่นิ่ง และค่าใช้จ่ายไม่สอดคล้อง”
“ทั้งนี้คนทำงานพื้นที่ ซึ่งอยู่พื้นที่สีแดง เห็นว่าหน่วยงานจัดหางานควรได้ขานรับสถานการณ์จริงในพื้นที่ และนำเสนอข้อมูลและเสนอสถานการณ์จริงจากพื้นที่ขึ้นไปสู่นโยบายให้ได้ ไม่ได้ให้นโยบายมากำหนด เพราะเราควรทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงว่าเราพบเจอปัญหาแล้วมันเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นทะเบียนกันหมดแน่นอน”
นายพงษ์สวัสดิ์ พวงเดช นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ ผู้ช่วยจัดหางานสมุทรสาคร กล่าวว่าได้ฟังเสียงจากทุกฝ่ายพอจะเข้าใจปัญหา โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ในสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการขึ้นทะเบียนและขอให้ขยายระยะเวลา ในฐานะผู้ปฏิบัติงานก็ตอบยาก แต่เข้าใจว่าในการกำหนดนโยบายแต่ละครั้ง มีคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลายกระทรวงมากำหนด ซึ่งการกำหนดระยะเวลาที่ทอดยาวไปอาจมีผลต่อการลักลอบเข้ามาอีก อย่างไรก็แล้วแต่การจะแก้ไขต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.เพราะของเดิมเป็นมติครม. ดังนั้นจึงเสนอให้แรงงานขึ้นทะเบียนไว้ก่อน เพราะขั้นตอนนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย และจะช่วยอย่างเต็มที่ในขั้นตอนนี้
หลังฟังการแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้ว ข้อเสนอของวงแชร์มีเพิ่มเติมหลากหลาย เช่น
โกนาย อาสาสมัครแรงงาน มูลนิธิรักษ์ไทย เสนอว่ารัฐบาลควรทบทวนค่าใช้จ่ายไม่ใช้ระยะเวลา 2 ปีได้ไหม หรือค่าตรวจสุขภาพ 500 บาทรวมตรวจโควิดด้วยได้หรือไม่ หรือผู้ติดตามที่อายุ 7-12 ปี จะลดราคาได้หรือไม่ อยากให้ทบทวนค่าใช้จ่ายหมวดต่างๆ ได้หรือไม่”
เปิดข้อเสนอจากแรงงาน
โกวิน ตัวแทนแรงงานตลาดกลางกุ้ง กล่าวขอบคุณความห่วงใยและข้อเสนอของทุกฝ่าย เพราะขณะนี้แรงงานยังมีคำถามว่า เมื่อตรวจโควิดและได้ใบรับรองมาแล้ว เดินทางข้ามจังหวัดได้แล้วหรือไม่ ถ้าใช้ไม่ได้ เราต้องทำอย่างไรถึงจะใช้ได้ แล้วโรงงานเขาจะรับใบรับรองเราหรือไม่ และพวกที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องกดดันมาก หยุดงานไม่มีงานทำ ตอนนี้ต้องทำบัตรใหม่ใช่เงินกว่า 9,000 บาท หลังจากนี้จะมีค่าอะไรเพิ่มอีกไหน มันเป็นเงินก้อนใหญ่ที่กว่าจะหาได้ เพราะค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ไม่ได้มีแค่ขึ้นทะเบียนแต่มีค่ากินค่าอยู่ด้วย
คุณวัชระพล บูรณะเนตร จากมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวเพิ่มเติมกรณีค่าใช้จ่ายกับกลุ่มผู้ติดตาม บางคนมีลูกหลาย ควรแบ่งกลุ่มค่าซื้อบัตรประกันสุขภาพ ตามช่วงอายุของผู้ติดตาม เพื่อลดภาระของผู้ปกครอง มิเช่นนั้นอาจทำให้เขาตัดสินใจไม่มาขึ้นทะเบียน ส่วนการจ่ายค่าประกันสุขภาพในกลุ่มที่ต้องเข้าประกันสังคม รัฐต้องชัดเจนว่า นายจ้างสามารถขอเงินคืนได้ไหม หรือค่าใช้จ่ายโควิดที่ประกาศออกมาขึ้นอยู่กับสถานบริการหรือกำหนดอัตราเลยว่าเท่าไหร่ และเห็นด้วยที่ควรนำค่าจ่ายโควิดไปรวมกับค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท เพราะคนที่ตรวจเชิงรุกไม่ได้เสียค่าใช้จ่าย แต่คนอื่นทำไมต้องจ่ายเงินเอง ทำอย่างไรให้คนที่ไม่มีบัตรมาขึ้นทะเบียน เข้าสู่การตรวจอย่างมั่นใจ เพื่อการควบคุมโรคได้ด้วย ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย นายจ้างมีลูกจ้างโดยไม่กังวล หน่วยงานน่าจะได้พูดคุยประสานกัน
น.ส.ดาวเรือง ที่ปรึกษาบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ กล่าวว่า หากเราต้องการดับไฟในบ้าน ก็อยากให้แรงงานได้จดทะเบียนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สถานประกอบการทั้งหมดปลอดภัย ถ้าเราตรวจได้มากเพียงใด ความเชื่อใจในพี่น้องแรงงานจะได้สบายใจเปิดกิจการได้ หากพื้นที่มีความร่วมมือกันเข้าไปรับเข้าไปขึ้นทะเบียนก่อน ทั้งเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร เข้าไปช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ระหว่างรอภาครัฐกำหนดนโยบาย และทำงานควบคู่กันไป และให้หน่วยงานภาครัฐชี้แจงลงมาช่วยเหลือหลังลงทะเบียนแล้ว เรื่องอื่น ๆ อาจมีการปรับเปลี่ยนช่วยเหลือตามมา แต่วันนี้เราอยากให้แรงงานทั้งหมดที่ผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุดให้ทัน 13 ก.พ. 2564 นี้
น.ส. สุธาสินี เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่า กรณีที่สำนักงานจัดหางานประกาศว่า การขึ้นทะเบียนไว้ก่อนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทราบทั่วกัน และข้อต่อไปคือควรต้องลดค่าดำเนินการให้สมเหตุสมผลตามที่หลายคนเสนอเข้ามา