“เดินเลาะเมือง” สำรวจชีวิตเพื่อนคนไร้บ้าน

“เดินเลาะเมือง” สำรวจชีวิตเพื่อนคนไร้บ้าน

ค่ำคืนที่หลายคนต่างดำเนินชีวิตตามวิถีของตนเอง บ้างต้องไปประกอบสัมมาชีพตามภาระหน้าที่ บางก็ออกเดินทางจากที่พักอาศัยเพื่อไปหามื้อเย็นอร่อย ๆ สักมื้อ ก่อนจะกลับไปพักผ่อน  ถึงแม้จะเป็นยามค่ำคืนแต่หัวเมืองใหญ่อีกหนึ่งจังหวัดของภาคอีสานอย่างเมืองขอนแก่น ก็ยังคงเต็มไปด้วยสีสัน และความสว่างของจากแสงไฟบนท้องถนน และห้างร้านต่าง ๆ อีกมุมหนึ่งบนถนนมิตรภาพ ถนนสายสำคัญที่พาดผ่านจังหวัดขอนแก่น และดูคล้ายกับว่าถนนสายนี้จะเป็นมิตรดั่งเช่นชื่อถนน เพราะผู้คนมากมายต่างเดินทางตามหาความฝันและความหวังไปบนถนนสายนี้ ซึ่งผู้เขียนเองเป็นอีกหนึ่งชีวิตที่เดินทางจากบ้านเกิดมาอาศัยในจังหวัดขอนแก่น เพื่อแสวงหาความหวังและความฝัน บนถนนมิตรภาพสายนี้เช่นกัน

คืนวันอังคารที่ 26 มกราคม 2564 เดือนแรกของปี และเป็นอีกหนึ่งคืนที่ทำให้ผู้เขียนได้มองสังคมอันแสนคับแคบนี้ได้ชัดขึ้น ภายใต้กรอบภาระงานและหน้าที่ของผู้เขียน เป็นโอกาสอันสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้โลกกลม ๆ ใบนี้ ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักผู้คนมากหน้าหลายตา หนึ่งในบุคคลที่ผู้เขียนได้มีโอกาสทำความรู้จักก็คือ “ณัฐวัฒิ กรมภักดี” ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า “พี่นัท” หนึ่งในเจ้าหน้าที่ประสานงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ซึ่งเมื่อคืนวันอังคารที่ 26 มกราคม เวลาราว 1 ทุ่มนิด ๆ ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมกิจกรรม เดินเลาะเมือง ของกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ร่วมกับพี่นัท และอาสาสมัคร โดยพี่นัท หรือ ณัฐวุฒิ กรมภักดี เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

 “กิจกรรมรูปแบบนี้ที่เราทำกันประจำอยู่แล้วเรียกว่ากิจกรรม “เดินเลาะเมือง” ปกติเราจะลงไปถามไถ่ ไปคุย ไปสร้างสัมพันธ์ และติดตามเรื่องปัญหาสิทธิ เรื่องการมีงานทำ เรื่องสุขภาพต่าง ๆ ของคนไร้บ้านเป็นปกติอยู่แล้วครับ”

ในคืนนี้ผู้เขียน และอาสาสมัครกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน ราว 10 คน ที่ทุกคนต่างถือของใช้จำเป็นและอาหารบางส่วนอย่างพะลุงพะลัง ออกเดินเท้าเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรจากศาลหลังเมืองขอนแก่นตามถนนมะลิวัลย์ไปถึง “สวนเรืองแสง” ริมถนนมิตรภาพและวนกลับมาผ่านสถานีรถไปขอนแก่น และสิ้นสุดที่ศาลหลักเมือง ซึ่งใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง เดินลัดเลาะไปตามตรอกเล็ก ๆ และมุมลับ ๆ ของเมืองขอนแก่น แม้จะไม่ได้ศิวิไลซ์เท่ากรุงเทพฯ แต่ภายใต้ความสว่างของแสงนีออนและสีสันของเมืองขอนแก่น ในเงามืดของเมืองยังมีผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกเดินทางเพื่อแสวงหาความหวัง ความฝัน และโอกาส เช่นเดียวกับผู้เขียน แต่ต่างที่คนกลุ่มนี้ทุกสังคมนิยามว่าเป็น “คนไร้บ้าน”

การออกจากบ้านไร้ที่พักพิง และต้องอาศัยกินอยู่หลับนอนตามมุมมืดบนพื้นที่สาธารณะทำให้ผู้คนเหล่านี้ต้องขาดโอกาส และไร้ซึ่งสิทธิต่าง ๆ ในสถานการณ์ที่สังคมกำลังประสบกับปัญหาของโรคระบาดอย่าง โควิด-19 และได้รับผลกระทบมากมาย การใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น กลุ่มคนไร้บ้านเองก็ไม่ต่างจากปุถุชนคนธรรมดาที่กำลังเจอปัญหาเหล่านี้  โดย พี่นัท เล่าให้ผู้เขียนฟังอีกว่า  

“กิจกรรมเดินเลาะเมืองในรอบนี้ เราพยายามสำรวจสภาพปัญหาของพี่น้องคนไร้บ้านที่เขาอยู่ในที่สาธารณะว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เขาได้รับผลกระทบอะไรไหม หรือเขามีอะไรอยากให้เราช่วยเหลือเป็นพิเศษไหม เราก็เจอว่ามันมีกลุ่มพี่น้องคนไร้บ้านที่เขาได้รับข้อมูลข่าวสารว่าจะมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะว่าคนไร้บ้านหลายคนเป็นแรงงานนอกระบบเขาได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่มันตกต่ำในช่วงโควิด-19 ระบาด และบางคนก็ถูกลดการทำงานลง รายได้ลดลง เขาก็มาปรึกษาว่าจะสามารถลงทะเบียนเยียวยาได้ยังไงบ้าง ถ้าเขามีมือถือจะทำได้ไหม ถ้าเขามีอินเตอร์เน็ตจะทำได้ไหม หรือเขาจะต้องเข้าช่องทางไหนอย่างไรบ้าง”

ผู้เขียนนั่งพูดคุยกับพี่นัดต่อถึงการทำงานเรื่องคนไร้บ้านในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้ข้อมูลว่าการทำงานภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ลำบากไม่น้อย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับการทำงานเชิงรุกของอาสาสมัครเพื่อนคนไร้บ้าน เพราะในภาวะการระบาดของโควิด-19 คนในสังคมเองก็ต่างวิตกว่าอาจจะเกิดการระบาดจากการทำงานแบบนี้ขึ้นหรือไม่ ซึ่งพี่นัทก็บอกว่า  

“การระบาดรอบ 2 มาตรการที่เคยเคอร์ฟิว ที่เคยปิดเมืองยังไม่ได้เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น เราสามารถมาลงพื้นที่ในช่วงเวลากลางคืนแล้วเลยเวลาในช่วงหลัง 4 ทุ่มได้ แต่ว่าก็ยังมีสิ่งที่ต้องระวังและสร้างความเชื่อมั่น ก็คือเรื่องการลงพื้นที่ของอาสาสมัครอาจจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันที่ครบถ้วน หรือแม้แต่การลงไปพูดคุยกับคนไร้บ้านอาจจะต้องสำรวจว่าเขาเป็นใครมาจากไหน มีข้อมูลชัดเจนว่าเขาเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือเปล่า อันนี้เราก็ยังคงต้องเข้มงวดเรื่องนี้อยู่พอสมควร เพราะว่าเราก็ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในสังคม หรือแม้แต่หน่วยงาน ว่าเรามาลงพื้นที่เราไม่ได้มาเป็นพาหะเชื้อโรคหรือนำไวรัสไปแพร่อะไรอย่างนี้ เราก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นเพราะว่าเราจะได้ลงพื้นที่และทำงานได้อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไร้บ้านครับ”

ผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 นอกจากการทำงานที่ยากลำบากของอาสาสมัคร การลงเดินเท้าไปตามจุดต่าง ๆ ร่วมกับอาสาสมัครเพื่อนคนไร้บ้านในครั้งนี้ ผู้เขียนพบว่าการอาศัยบนพื้นที่สาธารณะของพี่น้องคนไร้บ้านนั้น แสนจะยากลำบากกว่านัก เพราะนอกจากจะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพแล้ว ช่วงเวลาที่ต้องพักผ่อนในยามค่ำคืนหลายคนคงไม่อาจหลับได้เต็มตื่นนัก เพราะในพื้นที่สาธารณะหลายจุดมักจะมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่เข้ามาตรวจตรา คนไร้บ้านเองก็ต้องอยู่อย่างหลบซ่อนกาย และความเหลื่อมล้ำที่ปรากฎเบื้องหน้าผู้เขียนในคืนนี้ทำให้ผู้เขียนนึกในใจว่า หรือพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้มีเพื่อบุคคลที่ต้องอาศัยอยู่บนที่สาธารณะ พี่นัท ณัฐวุฒิ กรมภักดี บอกกับผู้เขียนว่า  

“มันก็มีลักษณะที่พี่น้องคนไร้บ้านเขาถูกกระชับพื้นที่มากขึ้น กระชับพื้นที่ในการอยู่อาศัย ในการหลับนอนในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เพราะว่าพอมันมีสถานการณ์โควิด-19 แต่ละพื้นที่เขาก็มีการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะมากขึ้น จะเห็นว่ามันมีพื้นที่สาธารณะหลาย ๆ ที่มีมาตรการเรื่องป้องกันเรื่องความสะอาด การกระชับพื้นที่ เรื่องการกินอยู่หลับนอนของคนที่มาจากต่างถิ่นมากขึ้น มันก็ส่งผลกระทบต่อคนไร้บ้านที่เขาไม่มีบ้านให้พัก ให้กลับไปกักตัว แต่เขายังต้องใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ เขาก็ต้องพยายามดิ้นรนที่จะหาพื้นที่ ที่เขาจะหลบเร้นซ่อนกายจากมาตรการต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น”

แม้กิจกรรม “เดินเลาะเมือง” ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมด้วย ผู้เขียนอาจจะสะท้อนแต่ปัญหาที่เกิดจากประสบการณ์ครั้งนี้เป็นส่วนมาก แต่เรื่องราวที่สร้างความประทับใจให้ผู้เขียนก็มีไม่น้อยเช่นกัน เพราะผู้เขียนเองอยากให้ทุกคนที่มีโอกาสผ่านมาอ่านเรื่องราวเหล่านี้ได้สัมผัสเหมือนกับผู้เขียน

มายาคติต่อ “คนไร้บ้าน” อาจยังมีหลายสายตาที่ลังเลและคลางแคลงใจว่าเขาเหล่านี้ เป็นคนขี้เกียจ ไม่ทำงาน รอขอเพียงความช่วยเหลือจึงออกมาเป็นคนไร้บ้าน แต่ในกิจกรรม “เดินเลาะเมือง” ในครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนได้เห็นมุมที่ต่างออกไป เพราะคนไร้บ้านก็สามารถเป็นผู้ให้ได้เหมือนกับพวกเราทุกคน ซึ่งพี่นัท บอกกับผู้เขียนผู้เขียนว่า

“ปกติแล้วกิจกรรม เดินเลาะเมือง เราก็จะมีอาสาสมัครจากกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านซึ่งจะมี ทั้ง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย อาสาสมัครคนรุ่นใหม่ทั่วไปที่อยู่ในเมืองขอนแก่น และก็จะมีแกนนำสมาชิกของบ้านโฮมแสนสุข ก็จะเป็นพี่น้องกลุ่มคนไร้บ้านที่พักอยู่ที่บ้านโฮมแสนสุข อยู่ที่ศูนย์พักของคนไร้บ้านเราที่ขอนแก่น เขาก็จะเป็นกลุ่มที่เขาเป็นแกนนำที่เขาสามารถพูดคุย ประสานงานได้ และก็เขารู้จักเพื่อนเยอะ ปกติก็จะมีกลุ่มนี้มาเดินด้วยประจำอยู่แล้วครับ”

การทำงานกับคนไร้บ้าน อาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ค่อยอยากยุ่งเกี่ยวมากนัก แต่กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ก็ยังคงทำหน้าที่ช่วยเหลือเยี่ยวยาพี่น้องคนไร้บ้านในพื้นที่ และบอกเล่าปัญหาของสังคมผ่านพี่น้องคนไร้บ้าน กับเรื่องราวที่ทำให้คนหนึ่งคนต้องออกมาเป็นคนไร้บ้าน นอกจากนี้ พี่นัท หรือ ณัฐวุฒิ กรมภักดี ยังย้ำถึงแนวคิดกับทำงานร่วมใกับคนไร้บ้าน และการพยายามสร้างคุณค่า และพัฒนาศักยภาพของพี่น้องคนไร้บ้านกับผู้เขียนว่า

“ผมคิดว่าแนวคิดอย่างหนึ่งที่เราพยายามที่จะทำในขอนแก่นก็คือทำให้เห็นว่า การเป็นคนไร้บ้าน หรือเป็นคนที่ด้อยโอกาส เป็นคนที่ขาดโอกาสนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่รอรับอยู่อย่างเดียว เราพยายามที่จะทำให้คนที่เข้าไม่ถึงโอกาส คนที่ถูกสังคมมองว่ามักจะรอรับโอกาสอย่างเดียวสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยการเป็นผู้หยิบยื่นโอกาสให้คนอื่นได้ด้วย

คนไร้บ้านเขาสามารถเป็นผู้หยิบยื่นเป็นผู้ช่วยเหลือเพื่อนต่อได้ด้วย การที่เราทำเรื่องแบบนี้บ่อย ๆ มันจะทำให้เขารู้สึกว่าเขามีตัวตน มีศักดิ์ศรีกลับคืนมา เขามีตัวตนความเป็นมนุษย์ที่เขาเคยขาดหายไปกลับคืนมา เขารู้สึกว่าเขามีชีวิต เขามีตัวตนเหมือนกับคนอื่นทั่วไปในสังคม เขามีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน คนไร้บ้านไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่รอโอกาสอยู่อย่างเดียว เขาสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้หยิบยื่นโอกาสและสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ครับ”

การพูดกับพี่นัท ณัฐวุฒิ กรมภักดี ระหว่างไปร่วมกิจกรรมเดินเลาะเมืองในครั้งนี้ คนไร้บ้านหลายคนมีความฝัน ความหวัง เช่นเดียวกับเรา แต่ปัญหาด้านโครงสร้าง และระบบการทำงานที่ล้มเหลวของหน่วยงาน ทำให้ความฝันและความหวังของพวกเขาค่อย ๆ เลือนลาง เพียงเพราะการเป็นคนไร้บ้าน โอกาสหลายด้านก็สูญไป การได้รับรู้เรื่องราวของพวกเขานอกจากจะทำให้เราได้ตะหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม อีกมุมหนึ่งก็ยังทำให้เรามีพลังในการขับเคลื่อนชีวิตของเรามากขึ้น แม้จะอยู่ในเงามืดกลางเมืองใหญ่พวกเขาอาจจะเป็นแสงสว่างที่สาดส่องให้เราเห็นปัญหาของเมือง และส่องทางให้กับใครสักคนได้เช่นกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ