บทเรียนบอมเบย์เบอร์มา สู่ไอเดียสร้างอุทยานการเรียนรู้ป่าไม้แพร่

บทเรียนบอมเบย์เบอร์มา สู่ไอเดียสร้างอุทยานการเรียนรู้ป่าไม้แพร่

คงยังจำกันได้  เหตุครึกโครมที่เมืองแพร่เมื่อกลางปี 2563 ที่มีอาคารเก่าริมแม่น้ำยมหลังหนึ่งถูกทุบทิ้งจนเหลือแต่ซาก เป็นอาคารที่ใครต่อใครเรียกกันว่า อาคารบอมเบย์เบอร์มา ชื่อของบริษัทอังกฤษที่เข้ามาทำสัมปทานไม้ในจังหวัดแพร่เมื่อ ร้อยกว่าปีก่อน  ซากอาคารที่ถุกทุบรื้อสร้างความสะเทือนใจจากชาวแพร่และตั้งคำถามหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การหาแนวทางฟื้นฟูและจัดการอย่างเหมาะสม 

และก่อนล่วงสู่ปีใหม่  …คนแพร่ได้พบหลักฐานใหม่ว่า อาคารหลังนั้น ไม่ใช่ ที่ทำการของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาแต่อย่างใด คนแพร่มองและจะทำสิ่งใดต่อหลังจากนี้ ….The Citizen คุยกับ คุณบี ธีรวุฒิ กล่อมแล้ว ประธานภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่  

คุณบี ธีรวุฒิ กล่อมแล้ว ประธานภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่  

ไม่ใช่อาคารบอมเบย์เบอร์มา แต่คืออาคารยุคเดียวกัน

“7 เดือนผ่านไป  ผู้เกี่ยวข้องได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่า อาคารที่เมื่อก่อนเราเรียกกันว่าอาคารบอมเบย์เบอร์มา  แต่ที่จริงเป็นอาคารสำนักงานป่าไม้ภาคสยาม ที่สร้างเมื่อปี 2444 หรือ 120 ปีที่ผ่านมา สร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมการทำงานของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาสัมปทานป่าไม้ที่แพร่ ทั้งบริษัทบอมเบย์เบอร์มาและบริษัทอีสต์ เอเชียติก  ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันแต่ละคนละฝั่งน้ำ แต่มีการเปลี่ยนทิศทางของแม่น้ำยม และอาคารส่วนหนึ่งหายไป เลยมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้และมีการศึกษาจนพบหลักฐานชัดเจนแล้วว่า เป็นอาคารสำนักงานป่าไม้ภาคสยาม และมีพัฒนาการ ก่อสร้าง ปรับปรุงและใช้งานเป็นระยะต่อเนื่องในตลอดกว่าร้อยปีที่ผ่านมา”

คุณบี เล่าถึงการค้นพบข้อมูลที่นี้ว่า สำนักงานศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ศึกษาข้อมูลจากบันทึกข้าราชการสยาม ภาพถ่ายทางอากาศ ทิศทางแม่น้ำ และตรวจสอบสันฐานตลอดจนการต่อขยายอาคารจนได้ข้อมูลว่า อาคารหลังนี้มีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบมา 5 ช่วง เช่น ยุคแรกอาคารสมัยนิยม ร.5 ทรงปั้นหยา มีอาคารลักษณะเดียวกันที่เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก ต่อมามีการต่อเติมอาคารปีกซ้ายขวา โดยมีหลักฐานภาพถ่ายอากาศ ยุค 2-3 หลังสงครามโลก ต่อมาช่วง 3 ต่อเติมบ้านมาก เพราะน้ำท่วมบ่อย มีการยกอาคารขึ้น ขยายการใช้สอย ติดแอร์ ทำให้อาคารปิดทึบ เป็นต้น การก่อสร้างใหม่จึงจะมาถามประชาชนก่อน ว่าจะให้อาคารบูรณะสอดคล้องกับยุคใด และการใช้สอยปัจจุบัน เป็นต้น

(อ่านเพิ่มเติม) เปิดหลักฐานอาคารเก่าที่ถูกทุบ… ไม่ใช่บอมเบย์เบอร์มา!

ฐานอาคารเก่าที่ถูกรื้อ

เมื่อจะต้องฟื้นฟูสร้างขึ้นมาใหม่จะตัดสินใจใช้รูปแบบใดนั้น  บทเรียนของเหตุการณ์ที่ผ่านมาทุกฝ่ายเรียนรู้ว่า การจะจัดการกับสิ่งที่เป็นของสาธารณะ จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมกับคนพื้นที่ ทำให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หน่วยงานดูแลพื้นที่เข้าปรึกษากลุ่มภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ และได้มีแนวทางร่วมกันว่าจะเปิดประชาพิจารณ์ให้ภาคประชาสังคม และคนแพร่ ได้เลือกและให้ความเห็นว่าจะก่อสร้างให้เป็นรูปแบบใด ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในต้นปี 2564 ขณะที่งบประมาณปรับปรุงอาคารก็ตั้งไว้ก่อสร้างกลางปี 2564 

แต่เรื่องนี้ ไม่ได้จบลงแค่เพียงการก่อสร้างอาคารใหม่

สู่การสร้างอุทยานการเรียนรู้ป่าไม้แพร่

บริเวณโดยรอบที่เรียกว่าสวนรุกชาติเชตะวัน พื้นที่ 30 ไร่นั้น มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมป่าไม้ของไทย ซึ่งภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่  เสนอความเห็นว่าควรพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เมืองที่ทุกคนควรเข้าไปใช้ได้ เพราะที่นี่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อาจจะพัฒนาเป็นอุทยาการเรียนรู้ป่าไม้แพร่ ที่ตัวอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเพื่อเรียนรู้การทำป่าไม้  ด้านนอกอาจเป็น  Co – Working space หรือพื้นที่ประโยชน์ใช้สอยของประชาชนก็ได้ ซึ่งขณะนี้จะบูรณาการทำงานรัฐและเอกชน  โดยสำรวจศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์บริเวณนี้ ได้ข้อมูลเรื่องอาคาร  ประวัติความเป็นมาแล้ว  ด้านสภาพพื้นที่ก็ได้ขอให้กรมอุทยานฯ เจ้าของพื้นที่สำรวจบริเวณโดยรอบ  ซึ่งพบว่าพื้นที่ด้านหลังเป็นอ่างเลี้ยงช้างที่ใช้ชักลากไม้ในยุคนั้น  มีการสำรวจด้วยว่าประชาชนในพื้นที่ขาดอะไร  เช่น  ขาดพื้นที่ออกกำลังกาย ขาดสวนสาธารณะ พื้นที่ให้ความรู้ สิ่งเหล่านี้แพร่ยังไม่มี  ก็อยากจะใช้โอกาสนี้ หรือพื้นที่บริเวณนี้ซึ่งเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  อาคารก็จะมีคุณค่ามีประโยชน์มากขึ้นด้วย

“บทเรียนที่ผ่านมาเราคิดว่าการจะพัฒนาอะไรควรมีการศึกษาให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและวิชาชีพ ตอนนี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเจ้าของพื้นที่ ได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงฟื้นฟูภูมิทัศน์ ที่มีภาคประชาสังคมเข้าไปกว่า 30 คน ประชุมร่วมกัน 5 ครั้งแล้ว และภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ ยังได้ประสานสมาคมสถาปนิคสยาม สมาคมภูมิสถาปัตย์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติมาร่วมให้ความรู้และความเห็นในการวางผังออกแบบแต่เริ่มต้น เราต้องการให้เป็นแพร่โมเดลในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วมโดยใช้หลักวิชาการ”

หวั่นถนนเลียบแม่น้ำยมทำเมืองขาดเอกลักษณ์

อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อท้าทายต่อการบูรณาการโครงการของหน่วยงานรัฐ เนื่องจากริมฝั่งน้ำยม ที่สวนสาธารณะเชตวันบริเวณนี้ มีโครงการศึกษาออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ ถนนเลียบ แม่น้ำยม ของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ กำลังจะดำเนินการ

เป็นการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำยม จากสะพานบ้านมหาโพธิ์ ถึงสะพานบ้านน้ำโค้ง ตำบลป่าแมต ระยะทาง 2.83 กิโลเมตร สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือบริเวณสะพานบ้านมหาโพธิ์ และบริเวณบ้านสวนเชตวัน รวมระยะทาง 700 เมตร และระบุว่าจะปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสวนสาธารณะบ้านเชตวัน ให้เกิดความสวยงาม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในชุมชนได้

“เราได้เสนอให้มีการสำรวจสภาพแวดล้อมและการใช้งานของพื้นที่ก่อนว่าสอดคล้องกับมาสเพอร์แพลนเมืองเก่าแพร่หรือไม่ เพราะเท่าที่เห็น แบบที่ออกมาไม่สอดคล้องกับบริบทเมืองเก่า การสร้างถนนเลียบน้ำยมและปรับภูมิทัศน์แต่รูปแบบไม่ได้ส่งเสริมคุณค่าของเมือง เป็นการนำแบบมาตรฐานทั่วไปมาใช้คือเป็นคอนกรีต ผนังไม่สอดคล้องกับบริบทเมือง เราเสนอให้ชะลอโครงการก่อน อยากให้เปิดแบบเพื่อร่วมกันพิจารณา ไม่เช่นนั้นแต่ละหน่วยงานพัฒนาโครงการอะไรออกไป เมืองจะขาดเอกลักษณ์ ผลที่ได้รับคือเมืองไม่มีเสน่ห์ คนที่อยู่ก็ไม่มีความสุขเพราะไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม ถ้าไม่พิจารณาให้รอบคอบก่อน ก็อาจเกิดความเสียหายของเมืองและเสียค่าใช่จ่ายด้วย มีตัวอย่างหลายเมืองให้เห็นมาแล้ว”

“เมืองแพร่เป็นเมืองเก่าที่ไม่มีการโยกย้ายไปไหน  ประวัติศาสตร์โดดเด่นเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต  มีสตอรี่ด้านอุตสาหกรรมป่าไม้ในอดีต  และมีงานคราฟ งานหม้อห้อม งานหัตถถกรรมเป็นเอกลักษณ์ ภาคประชาชนต้องการพัฒนาให้ยั่งยืน จุดไหนไม่มีความรู้ ก็อยากชวนนักวิชาการ วิชาชีพมาร่วมให้เกิดกระบวนการออกแบบร่วมกัน ไม่ใช่เกิดมาจากข้างบนลงล่าง โดยเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเพราะที่สุดแล้วเกิดอะไรขึ้น คนพื้นที่เป็นฝ่ายแบกรับความเสียหาย” คุณบีกล่าวในที่สุด

คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ความโดดเด่นของเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ