เปิดหลักฐานอาคารเก่าที่ถูกทุบ… ไม่ใช่บอมเบย์เบอร์มา !

เปิดหลักฐานอาคารเก่าที่ถูกทุบ… ไม่ใช่บอมเบย์เบอร์มา !

รายละเอียดต่อไปนี้ เป็นเอกสารสรุปการขุดตรวจทางโบราณคดี อาคารศูนย์การเรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน โดย สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ดำเนินการขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุสะเทือนใจ เมื่ออาคารเก่าแก่หลังหนึ่งริมแม่น้ำยม จังหวัดแพร่ ที่คนพื้นที่เรียกว่า อาคารบอมเบย์เบอร์มาถูกรื้อถอนทั้งหลัง

หลังการสำรวจหลักฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า อาคารหลังนี้น่าจะไม่ได้เป็นที่ทำการบริษัทบอมเบย์เบอร์มา แต่เป็นอาคารที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ กรมป่าไม้สยาม ซึ่งถือว่าเป็น อนุสรณ์สถานสำคัญที่เก่าแก่ที่สุดหลังหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการอุตสาหกรรมป่าไม้ในเมืองแพร่ จึงขอนำรายละเอียดข้อมูลการสำรวจและสืบค้นหลักฐานมานำเสนอไว้ ณ ที่นี่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ

อาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกชาติเชตวัน ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองแพร่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ ริมแม่น้ำยมในเขต บ้านเชตวัน อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เดิมเชื่อกันว่าอาคารหลังนี้ เป็นอาคารที่ทำการของบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำกิจการอุตสาหกรรมป่าไม้ในเมืองแพร่ ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมาจากการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องพบว่าอาคารหลังดังกล่าวน่าจะเป็นอาคารที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ กรมป่าไม้สยาม ซึ่งน่าจะสร้างในปี ๒๔๔๔ เพื่อเป็นสำนักงานควบคุมกิจการการทำไม้ของบริษัทต่างชาติในพื้นที่เมืองแพร่ จากข้อมูลภาพถ่ายเก่าพบว่า อาคารเป็นเรือนไม้ประยุกต์ มีลักษณะแบบอาคารทางราชการที่มีในเวลานั้น ที่นิยมสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่มีบริษัทต่างชาติได้รับสัมปทานเข้ามาทำอุตสาหกรรมป่าไม้ อาทิ อาคารสำนักงานป่าไม้ภาคเดิมที่ เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ ฯลฯ อาคารหลังนี้จึงเป็นอาคารอนุสรณ์สถานสำคัญที่เก่าแก่ที่สุดหลังหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการอุตสาหกรรมป่าไม้ในเมืองแพร่ ปัจจุบันอาคารหลังนี้อยู่ในเขตสวนรุกขชาติเชตวัน อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ (แพร่) ได้มีโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารดังกล่าว โดยในการดำเนินงานได้เกิดกรณีข้อวิพากษ์จากภาคประชาสังคมในกระบวนการดำเนินงานที่ยังขาดกระบวนการศึกษาทางวิชาการในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการอนุรักษ์อาคารและสภาพแวดล้อมภูมิทัศน์ดั้งเดิมอย่างเป็นวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ (แพร่) จึงได้บูรณาการร่วมกับสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร จัดทำกิจกรรมการศึกษาฯทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้การดำเนินงานปรับปรุงอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ มีขั้นตอนดำเนินงานที่เป็นวิชาการเพื่อให้สามารถคงไว้ซึ่งคุณค่าของอาคารหลังนี้อย่างครบถ้วนและเพื่อเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนจังหวัดแพร่ต่อไป

สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ได้เข้าดำเนินการศึกษาทางโบราณคดี ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๖๖๓ โดยการขุดทางโบราณคดีครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อศึกษาพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของอาคารว่ามีรูปแบบดั้งเดิมและมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับการวิเคราะห์ทางสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบไม้ส่วนต่างๆของอาคารที่คัดแยกไว้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรูปแบบการปฏิสังขรณ์ฟื้นคืนอาคารหลังนี้ให้มีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และความเป็นของแท้ดั้งเดิม (ภาพที่ ๑)

การดำเนินการหลัก คือ การขุดตรวจทางโบราณคดีเป็นร่องยาวผ่ากลางอาคาร (trench) ทั้งแนวกว้างและแนวยาว โดยจะทำการขุดคร่อมแนวฐานเสาอาคารเพื่อตรวจสอบร่องรอยการสร้างฐานรากอาคาร รวมถึงขุดตรวจบริเวณขอบอาคารที่เป็นมุมหรือจุดที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นการก่อสร้างต่อขยายอาคาร เพื่อตรวจสอบลำดับพัฒนาการการก่อสร้างต่อเติมอาคาร

ภาพที่ ๑ สภาพหลังการปรับสภาพพื้นที่และขนย้ายเศษวัสดุรื้อถอนบริเวณอาคารศูนย์การเรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน

สรุปงานขุดค้น-ขุดตรวจทางโบราณคดี

จากการขุดตรวจทางโบราณคดี สามารถสรุปพัฒนาการของอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน (อาคารป่าไม้ ภาคแพร่ กรมป่าไม้สยาม) ได้เป็น ๕ ระยะดังนี้

๑. ระยะแรกเริ่ม

อาคารในระยะแรกเริ่มมีขนาดเล็กกว่าอาคารในยุคปัจจุบันก่อนการรื้อถอน ผังอาคารมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืน มีด้านยาวทอดไปตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ยาว ๑๘.๖๐ เมตร กว้าง ๑๑.๗๕ เมตร มีมุขยื่นมาด้านหน้า (ด้านทิศเหนือ) ๒ ช่วงเสา ยาว ๕.๑๐ เมตร กึ่งกลางด้านเป็นบันไดทางขึ้นอาคาร จำนวน ๒ ขั้น ก่ออิฐฉาบปูน มีบันไดทางขึ้นด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน ผังโดยรวมอาคารคล้ายรูปตัว T ที่มีฐานสั้น (ภาพที่ ๒)

ภาพที่ ๒ แผนผังอาคารระยะแรกเริ่ม

* หมายเหตุ – อาคารระยะแรกเริ่มมีเสา ๕ แถว (ตามแนวเหนือ-ใต้) แถวละ ๗ ต้น ตามแนวตะวันออก – ตะวันตก) ยกเว้นแนวเสาแถวแรกที่มี ๖ ต้นเนื่องจากไม่มีเสาบริเวณโถงกลาง ๑ ต้น มุกด้านหน้าอาคาร (ด้านทิศเหนือ) ที่มีอีก ๒ ช่วงเสา ช่วงละ ๓ ต้น

อาคารระยะแรกเริ่มมีระบบฐานอาคารเป็นแบบเสาก่ออิฐ ฐานเสาสูงจากพื้นใช้งานเดิมของพื้นที่ประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ฐานเสาก่ออิฐนี้ปรากฏยาวตลอดทั้งบริเวณขอบและกลางอาคาร โดยเสาแต่ละต้นมีระยะห่างกัน ๑.๗๐ – ๓.๑๐ เมตร (เสาที่อยู่ในแนวขอบอาคารกับเสาที่อยู่ถัดเข้ามาในตัวอาคาร มีระยะห่างกัน ๑.๗๐ เมตร และเสาที่อยู่ถัดเข้ามาด้านในตัวอาคารมีระยะห่างระหว่างกัน ๒.๑๐ เมตร และ ๓.๑๐ เมตร เป็นลำดับ) แนวตะวันออก – ตะวันตกของอาคารระยะแรกเริ่มมีเสา ๕ แถว (ตามแนวเหนือ-ใต้) แถวละ ๗ ต้น ตามแนวตะวันออก – ตะวันตก) ยกเว้นแนวเสาแถวแรกที่มี ๖ ต้นเนื่องจากไม่มีเสาบริเวณโถงกลาง ๑ ต้น เมื่อรวมมุกด้านหน้าอาคาร (ด้านทิศเหนือ) ที่มีอีก ๒ ช่วงเสา ช่วงละ ๑ ต้น สันนิษฐานได้ว่าอาคารสมัยแรก มีเสาทั้งหมด ๓๖ ต้น (ภาพที่ ๓-๔)  หลักฐานที่เสาด้านตะวันออกของอาคารปรากฏช่องเสียบเสาไม้ กว้างxยาว ๓๐ เซนติเมตร ลึก ๘ เซนติเมตร ในช่องและตำแหน่งที่เคยเป็นเสาไม้ยังปรากฏเนื้อไม้ของเสาไม้เดิมอยู่ โดยสังเกตเห็นได้ว่าไม้ที่ฝังลงในช่องเป็นไม้คนละชิ้นกับเสาไม้อาคาร โดยไม้ที่อยู่ในช่องเสา มีเนื้อไม้วางตัวตามแนวนอน และเสาไม้มีเนื้อไม้วางตัวตามแนวตั้ง จึงสันนิษฐานว่าเสาไม้นี้มีการวางไม้เป็นฐานก่อนการตั้งเสาไม้ (ภาพที่ ๕-๖) จากหลักฐานดังกล่าวจึงพอจะสันนิษฐานวิธีการก่อสร้างอาคารระยะแรกได้ว่า เป็นอาคารยกพื้น (ยกพื้นเตี้ย) ที่มีเสาไม้ตั้งบนฐานก่ออิฐเป็นส่วนรองรับตัวอาคาร มีส่วนฐานเสาก่ออิฐโผล่พ้นระดับพื้นด้านล่างอาคาร (พื้นใช้งานรอบอาคาร) ๘ – ๑๐ เซนติเมตร โดยใช้คานไม้วางพาดด้านบนเป็นพื้นอาคาร (ภาพที่ ๗)

ทั้งนี้ องค์ประกอบอีกประการที่มีความน่าสนใจคือ บันไดทางขึ้นด้านหน้าอาคาร (ด้านทิศเหนือ) ซึ่งเป็นโครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน มีขั้นบันได ๒ ขั้น ก่อชนกับขอบอาคารด้านหน้า  ซึ่งลักษณะดังกล่าวสามารถเทียบเคียงรูปแบบได้กับลักษณะบันไดที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่าที่ระบุว่าเป็นอาคารโรงเรียนป่าไม้หลังแรกในแง่วิธีการสร้างบันไดที่สัมพันธ์กับตัวอาคาร (ภาพที่ ๘-๙) ทั้งนี้จากการขุดตรวจทางโบราณคดีสามารถสันนิษฐานถึงมุขด้านหน้าอาคาร(ด้านทิศเหนือ) ได้ว่ามี ๒ ช่วงเสา ช่วงเสาละ ๓ ต้น (ภาพที่ ๑๐) จากการขุดทางโบราณคดีพบฐานเสาให้เห็นชัดเจนที่แนวตรงกับกึ่งกลางบันไดทางขึ้น และขอบอาคารด้านทิศตะวันตกซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเนื่องจากถูกเจาะทำลายโดยการวางฐานเสาระยะหลัง ส่วนที่ขอบอาคารด้านทิศตะวันออกไม่พบฐานเสาสมัยแรกหลงเหลืออยู่เนื่องจากถูกเจาะทำลายจากการวางฐานเสาระยะหลังไปจน  หมดสิ้น

ภาพที่ ๓–๔ แนวเสาก่ออิฐของอาคารระยะแรก
ภาพที่ ๕-๖ ร่องรอยเสาไม้และฐานเสาไม้ที่ยังปรากฏที่ฐานเสาก่ออิฐ
ภาพที่ ๗ ภาพสันนิษฐาน ฐานอาคารและพื้นใช้ระยะแรก/สอง/สาม (โดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร)

จึงสรุปได้ว่าได้ว่าอาคารระยะแรกเป็นอาคารยกพื้น (ยกพื้นเตี้ย) ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีเสาไม้ตั้งบนฐานก่ออิฐเป็นส่วนรองรับคานและพื้นใช้งานตัวอาคาร ฐานเสาก่ออิฐโผล่พ้นระดับพื้นด้านล่างอาคาร(พื้นใช้งานรอบอาคาร) ๘ – ๑๐ เซนติเมตร อาคารมีมุขยื่นออกมาด้านหน้า ในลักษณะเป็นมุขโถง ๒ ช่วงเสา แต่ละช่วงมีเสาไม้รองรับ ๓ ต้น มีบันไดทางขึ้นด้านข้างที่ด้านสกัดของอาคารทั้ง ๒ ด้าน (ด้านทิศตะวันออกและตะวันตก) (ภาพที่ ๑๑) หลักฐานจากการขุดตรวจทางโบราณคดีแสดงให้เห็นแนวอิฐฐานบันไดที่วางตัวอยู่ในระดับเดียวกันกับฐานฐานรากอาคารในระยะแรก เมื่อพิจารณาร่วมกับประวัติศาสตร์การทำอุตสาหกรรมป่าไม้ในภาคเหนือและจังหวัดแพร่ สันนิษฐานได้ว่า อาคารหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นครั้งแรกในปี๒๔๔๔ ซึ่งเป็นเวลาที่กรมป่าไม้สยาม ได้ตั้งสำนักงานป่าไม้ภาคแพร่ขึ้น เพื่อกำกับกิจการการทำไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ ที่ได้เริ่มทำกิจการป่าไม้ในจังหวัดแพร่ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน

ภาพที่ ๘-๙  ภาพเปรียบเทียบแสดงลักษณะเทียบเคียงแนวบันไดทางขึ้นที่ขุดตรวจทางโบราณคดีพบ
ภาพที่ ๑๐ แนวฐานเสาที่ด้านหน้าอาคาร (ด้านทิศเหนือ) ๒ ช่วงเสา ที่พบกึ่งกลางแนวบันไดทางขึ้น
ภาพที่ ๑๑ บันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันตกของอาคาร

๒. ระยะที่สอง

จากข้อมูลฐานรากอาคารที่ขุดพบด้านทิศตะวันออกของอาคารแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาให้หลังจากที่มีการก่อสร้างอาคารไปไม่นานน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบฐานรากอาคารขึ้นอีกครั้ง ซึ่งมีเวลาไม่ห่างกันมาก โดยเป็นการดำเนินการ ๕ อย่างขึ้นในคราเดียวกัน คือ

เปลี่ยนฐานเสาเป็นฐานตอม่อคอนกรีต (มีรูบริเวณกลางตอม่อสำหรับตั้งเสาไม้) เปลี่ยนฐานเสารับน้ำหนักจากฐานเสาเตี้ยก่ออิฐฉาบปูนไปเป็นฐานตอม่อขนาดใหญ่มีรูบริเวณกลางตอม่อสำหรับตั้งเสาไม้และมีเหล็กประกับเสา ตอม่อนี้มีลักษณะพิเศษ คือ บริเวณขอบบนสุดของตอม่อมีร่องขนาดเล็กเป็นแนวยาวจากขอบในที่อยู่ชิดกับเสาไม้ไปสิ้นสุดที่ขอบนอกของตอม่อ (ภาพที่ ๑๒) จากชั้นดินขุดตรวจทางโบราณคดีพบว่ามีการเปลี่ยนระบบฐานไปเป็นฐานตอม่อขนาดใหญ่ในหลายจุดที่เป็นฐานเสาเตี้ยก่ออิฐฉาบปูนเดิม (สันนิษฐานว่าการเปลี่ยนฐานเสารับน้ำหนักเป็นฐานตอม่อคอนกรีตนี้ ดำเนินการเพียงบางจุดที่ฐานเสาก่ออิฐเดิมมีความเสื่อมสภาพหรือไม่มั่นคง เนื่องจากบริเวณรอบฐานเสาก่ออิฐระยะแรกหลายจุดไม่ปรากฏตอม่อซีเมนต์นี้ ปรากฏหลักฐานเพียงฐานเสาระยะที่สามทับลงบนฐานเสาสมัยแรก


ภาพที่ ๑๒ ฐานตอม่อขนาดใหญ่ที่มีรูกลางตอม่อสำหรับเสียบเสาไม้

การก่อผนังอิฐปิดพื้นที่ระหว่างฐานเสาแต่ละต้น

การก่อผนังอิฐปิดพื้นที่ระหว่างฐานเสาแต่ละต้น ทำให้ฐานรากอาคารมีลักษณะทึบตัน ต่างไปจากเดิมที่เป็นฐานเสายกพื้น ผนังก่ออิฐมีความหนา ๔๕ เซนติเมตร (ภาพที่ ๑๓) ซึ่งเป็นความหนาของผนังก่ออิฐที่นิยมในอาคารที่ใช้ระบบผนังรับน้ำหนักในอาคารสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๕ – ๖ การก่อผนังอิฐปิดพื้นที่ระหว่างฐานเสาแต่ละต้นน่าจะเกิดขึ้นสัมพันธ์กับกิจกรรมการถมปรับฐานรากพื้นภายในอาคารที่จะได้กล่าวถึงในข้อถัดไป

ภาพที่ ๑๓ การก่อผนังอิฐปิดพื้นที่ระหว่างฐานเสาแต่ละต้น

การถมปรับพื้นภายในอาคาร      

การถมปรับดินภายในอาคารให้สูงขึ้น มีเหตุผลมาจากการพยายามยกพื้นอาคารให้สูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและเสริมความมั่นคงฐานอาคาร ชั้นดินถมมีความหนา ๓๐ – ๓๕ เซนติเมตร โดยถูกถมลงบนชั้นตะกอนน้ำท่วม จากนั้นทำการปูอิฐปิดพื้นด้านบนซึ่งเป็นพื้นใช้งานภายในอาคาร (ภาพที่ ๑๔)

ภาพที่ ๑๔ การถมปรับพื้นภายในอาคาร
ภาพที่ ๑๕ ชั้นตะกอนน้ำท่วมที่ทับถมเหนือฐานเสาเตี้ยก่ออิฐฉาบปูนซึ่งเป็นฐานเสาระยะแรกของอาคาร

การขยายความยาวมุขหน้าเพิ่ม

ระยะที่สอง มีการขยายมุขด้านหน้าเพิ่มขึ้นอีก ๑ ช่วงเสา หลักฐานจากการขุดตรวจทางโบราณคดีพบ ฐานเสาตอม่อคอนกรีตล้มกองอยู่กับพื้นในตำแหน่งที่ใกล้กับเสาประจำมุมด้านตะวันออกต้นแรกสุดของมุขหน้าอาคาร จึงสันนิษฐานได้ว่าที่ตำแหน่งดังกล่าวเคยมีเสาของอาคารระยะที่สองอยู่ หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า มุขหน้าของอาคารระยะที่สองมีการเพิ่มความยาวจาก ๒ ช่วงเสา เป็น ๓ ช่วงเสา ถึงขอบหน้าสุดของมุขหน้าอาคาร (ภาพที่ ๑๖ )

ภาพที่ ๑๖ ฐานเสาตอม่อคอนกรีตล้มกองอยู่กับพื้นในตำแหน่งที่ใกล้กับเสาประจำมุมด้านตะวันออกต้นแรกสุดของมุขหน้าอาคาร

การสร้างชานยกพื้นยื่นออกมาจากมุขหน้าเพิ่ม ๑ ช่วง

จากการขุดตรวจพื้นที่ด้านข้างของมุขหน้า พบแนวอิฐต่อเนื่องออกมาทั้งที่ขอบมุขหน้าด้านตะวันตกและตะวันออก ทำให้สันนิษฐานได้ว่าอาคารในระยะที่ ๒ มีบันไดทางขึ้นหน้าข้างมุขหน้าซึ่งเป็นบันไดที่เชื่อมต่อไปยังชานที่น่าจะมีต่อเนื่องออกไปจากมุข โดยชานด้านหน้านี้มีประโยชน์ในการเป็นเฉลียงของอาคารและเป็นจุดตั้งบันไปทางขึ้นสู่ชั้นสอง (ภาพที่ ๑๗-๑๘)

เมื่อประมวลข้อมูลหลักฐานจากการขุดตรวจทางโบราณคดีเกี่ยวกับรูปแบบแผนผังอาคารระยะที่สอง สรุปได้ว่า อาคารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า (ทิศเหนือ) ๓ ช่วงเสา มีชานยื่นออกมารับมุขหน้าเพื่อเป็นจุดรับบันไดทางขึ้นสู่ชั้น ๒ มีระบบฐานรากอาคารเป็นฐานตอม่อคอนกรีตปนกับฐานเสาก่ออิฐของเดิม รับน้ำหนักพื้นใช้งานและโครงสร้างส่วนต่างๆของอาคาร และมีการก่อผนังอิฐปิดพื้นที่ระหว่างฐานเสาแต่ละต้นและถมปรับพื้นภายในอาคารและเปลี่ยนพื้นใช้งานในอาคารจากระบบคานและพื้นไม้ไปเป็นพื้นปูอิฐ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่และเสริมความมั่นคงฐานอาคาร ซึ่งระยะเวลาการปรับปรุงอาคารในระยะที่สองควรเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๘๗  ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่อาคารระยะแรกได้ถือกำเนิดขึ้นและก่อนที่จะปรากฏภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงให้เห็นผังอาคารที่มีการเพิ่มปีกอาคารด้านตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นพัฒนาการของอาคารระยะที่สาม ทั้งนี้มีห้วงเวลาที่มีความน่าสนใจในที่อาจจะพอเจาะจงช่วงเวลาของการปรับปรุงอาคารระยะที่สองให้กระชับลงไปอีก คือ อาจอยู่ในราวพ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๘๒ เนื่องจากในห้วงเวลา ๑๐ ปีนี้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองแพร่ ๓ ครั้ง[1] ดังนั้นร่องรอยชั้นตะกอนน้ำท่วมและการปรับปรุงอาคารระยะที่สองนี้อาจเกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าวซึ่งมีเหตุปัจจัยและแนวทางการแก้ไขอันเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่

๓. ระยะที่สาม

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบ แผนผังอาคารในระยะที่สาม เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอาคาร เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่การขยายขนาดอาคาร และการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างระบบการรับน้ำหนัก ซึ่งมีนัยยะแสดงให้เห็นถึงการเป็นสองชั้นอย่างชัดเจน ซึ่งอธิบายแยกตามรายละเอียดได้ ดังนี้

การเพิ่มปีกอาคารออกไปทั้งสองด้าน

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงแผนผังอาคารในระยะที่สอง คือ การเพิ่มปีกอาคารออกไปทั้งสองด้าน (ด้านทิศตะวันออกและตะวันตก) ด้านละ ๑ ห้อง (ภาพที่ ๑๙)โดยปีกอาคารถูกต่อเติมขึ้นบริเวณกึ่งกลางด้านตะวันออกและตะวันตกของอาคาร (ด้านกว้างของอาคาร) ผลจากการขุดตรวจทางโบราณคดีแสดงเห็นแนวอิฐฐานรากปีกอาคารที่ต่อเติมใหม่ทั้ง ๒ ด้าน วางตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่าฐานรากแนวอาคารหลัก รวมถึงมีลักษณะเป็นแนวอิฐที่ก่อชนเข้ากับแนวอาคารหลัก (ภาพที่ ๒๐) แสดงให้เห็นถึงการเป็นส่วนของอาคารที่เกิดขึ้นให้หลังอาคารหลัก

ภาพที่ ๑๙ ผังอาคารระยะที่สามแสดงการเพิ่มปีกอาคารออกไปทั้งสองด้าน และมีชานยกพื้นยื่นออกมาจากมุขหน้าอีก ๑ ช่วง
ภาพที่ ๒๐ ฐานรากปีกอาคารที่ต่อเติมใหม่ทั้ง ๒ ด้าน วางตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่าฐานรากแนวอาคารหลัก

การเปลี่ยนโครงสร้างรับน้ำหนักจากฐานตอม่อขนาดใหญ่เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก

การเปลี่ยนโครงสร้างรับน้ำหนักจากฐานตอม่อขนาดใหญ่เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก พบในจุดที่เป็นฐานเสาเดิมเกือบทุกจุด หลักฐานจากชั้นดินทางโบราณคดีแสดงให้เห็นฐานเสาคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งทับลงไปบนฐานเสาก่ออิฐสมัยแรกโดยมีฐานตอม่อขนาดใหญ่ล้มกองอยู่ด้านข้าง (ภาพที่ ๒๑-๒๒ ) แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาแทนที่ของฐานเสาซีเมนต์เสริมเหล็กที่นำมาแทนฐานตอม่อคอนกรีต ที่เมื่อไม่ใช้งานแล้วจึงถูกทำให้ถูกล้มลงด้านข้างและถมกลบในชั้นดินใต้ฐานอาคาร จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบอาคารและระบบการรับน้ำหนักอาคารในระยะที่สองนี้ จึงเชื่อได้ว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงอาคารจากเดิมที่เป็นอาคารชั้นเดียวไปเป็นอาคารสองชั้น

ภาพที่ ๒๑ ฐานเสาซีเมนต์เสริมเหล็กที่นำมาแทนที่ฐานตอม่อคอนกรีต
ภาพที่ ๒๒ ฐานตอม่อขนาดใหญ่ล้มกองอยู่ด้านข้างฐานเสาซีเมนต์เสริมเหล็ก

จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบอาคารและระบบการรับน้ำหนักอาคารในระยะที่สามนี้ จึงเชื่อได้ว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงอาคารจากเดิมที่เป็นอาคารชั้นเดียวไปเป็นอาคารสองชั้น

การสร้างชานยกพื้นยื่นออกมาจากมุขหน้าเพิ่ม ๑ ช่วง

ภาพถ่ายทางอากาศในปี ๒๔๘๗ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าที่ด้านทิศเหนือของมุขด้านหน้ามีลักษณะเป็นชานอาคารยื่นออกมา ๑ ห้อง (ภาพที่ ๒๓) จากการขุดตรวจเป็นร่องยาวผ่าออกจากกลางแนวบันได ไม่พบพื้นปูอิฐ แสดงให้เห็นว่าชานอาคารนี้น่าจะเป็นชานยกพื้นเตี้ยเพื่อเป็นส่วนรองรับบันไดขึ้นไปยังชั้นสองในบริเวณมุขหน้า (ภาพที่ ๒๔)

ภาพที่ ๒๓ ภาพถ่ายทางอากาศในปี ๒๔๘๗ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าที่ด้านทิศเหนือของมุขด้านหน้ามีลักษณะเป็นชานอาคารยื่นออกมา ๑ ห้อง
ภาพที่ ๒๔ ภาพสันนิษฐานรูปแบบอาคารระยะที่สาม(โดยสำนักสถาปัตยกรรม)

การสร้างขอบฐานอาคารใหม่เป็นขอบปูนสลัดทาสีเขียว

ทั้งนี้ในการปรับรูปแบบอาคารได้มีการสร้างขอบฐานอาคารใหม่เป็นขอบปูนสลัดทาสีเขียวล้อมรอบขอบฐานทั้งหมดทับทั้งส่วนที่เป็นขอบฐานอาคารสมัยแรกที่เป็นผนังก่ออิฐ (ภาพที่ ๒๕) และสร้างขอบฐานมุขด้านหน้าและถมปรับดิน ทำให้มุขด้านหน้าเปลี่ยนสภาพจากมุขโถงที่มีพื้นต่ำกว่าพื้นใช้งานตัวอาคาร กลายเป็นมุขโถงที่มีพื้นใช้งานเท่ากับพื้นใช้งานของอาคารทั้งหมด หลักฐานจากการขุดตรวจทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าบันไดทางขึ้นด้านหน้าอาคารที่เคยถูกใช้งานในระยะแรกและระยะที่สองถูกถมปิดเพื่อปรับพื้นใช้งานมุขหน้าให้สูงขึ้นในการปรับปรุงอาคารระยะที่สามนี้ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เป็นภาพถ่ายเก่า ๒ ภาพ คือ ภาพถ่ายเก่าบริเวณด้านหน้าอาคาร ปี ๒๔๙๘ (ภาพที่ ๒๖) และภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลียม ฮันท์ ในปี ๒๔๘๗ (ภาพที่ ๒๗) ที่แสดงให้เห็นลักษณะอาคารเป็นอาคารสองชั้นและมีแผนผังอาคารค่อนข้างสอดคล้องกับแผนผังฐานรากอาคารจากการขุดตรวจทางโบราณคดี จึงสรุปได้ว่า แผนผังอาคารและระบบการรับน้ำหนักอาคารที่เกิดขึ้นในระยะที่สามนี้ เป็นการทำขึ้นเพื่อรองรับการเป็นอาคาร ๒ ชั้น ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นก่อนปี ๒๔๘๗ และอาจเกิดขึ้นหลังปี ๒๔๗๒-๒๔๘๒ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งห้วงดังกล่าวเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองแพร่ถึงสามครั้ง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลและห้วงเวลาของการปรับปรุงอาคารระยะที่สอง

ภาพที่ ๒๕  ขอบฐานอาคารใหม่เป็นขอบปูนผิวขรุขระสีเขียวล้อมรอบขอบฐานทั้งหมดทับส่วนที่เป็นขอบฐานอาคารสมัยแรกที่เป็นผนังก่ออิฐ
ภาพที่ ๒๖ ภาพถ่ายเก่าบริเวณด้านหน้าอาคาร ปี ๒๔๙๘ 
ภาพที่ ๒๗ ภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลียม ฮันท์ ในปี ๒๔๘๗ แสดงตำแหน่งอาคารที่ทำการป่าไม้ ภาคแพร่ (อาคารศูนย์การเรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน ปัจจุบัน)

องค์ประกอบอื่นด้านทิศใต้ของอาคาร

นอกจากนี้แล้วที่ด้านหลังอาคาร (ด้านทิศใต้) ยังพบองค์ประกอบอาคารที่มีความน่าสนใจ คือ บันไดทางขึ้นที่ก่อเป็นชั้นซ้อนแบบอัฒจรรย์ ขอบบันไดโค้ง แนวบันไดนี้ถูกเทพื้นซีเมนต์ทับในการปรับปรุงอาคารระยะที่สาม (ภาพที่ ๒๘) ที่ด้านทิศตะวันตกพบแนวร่องน้ำก่ออิฐยาวขนานกับแนวอาคาร ร่องน้ำมีแนวยาวต่อเนื่องไปทางแม่น้ำยม (ทิศตะวันตก) ร่องน้ำนี้น่าจะถูกปิดด้านบนด้วยฝาไม้ และกลบทับด้วยดินอีกครั้ง (ภาพที่ ๒๙-๓๐) ทั้งนี้สันนิษฐานว่าแนวร่องน้ำน่าจะขนานยาวไปกับแนวอาคารโดยตลอด นอกจากบันไดด้านหลังและร่องน้ำที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้ว จากการขุดตรวจและสืบค้นข้อมูลภาพถ่ายเก่ายังพบหลักฐานที่มีความน่าสนใจอย่างมากอีกสิ่งหนึ่ง คือ อาคารอีก ๑ หลัง ที่อยู่ชิดกับมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอาคารหลัก จากภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลียม ฮันท์ ในปี ๒๔๘๗ แสดงให้เห็นว่า อาคารหลังดังกล่าวนี้ตั้งอยู่แยกออกจากอาคารหลัก (สังเกตได้จากหลังคาอาคารมิได้เป็นส่วนเดียวกันกับอาคารหลัก) ซึ่งจากการขุดตรวจทางโบราณคดี พบหลักฐานที่มีความสอดคล้อง คือ ปรากฏฐานเสาซีเมนต์เสริมเหล็กใกล้กับแนวขอบฐานอาคารหลัก  ซึ่งระยะที่อาคารหลังดังกล่าวยื่นออกไปทางด้านหลัง(ด้านทิศใต้) สามารถสันนิษฐานได้จากแนวชั้นพื้นปูน ที่ปรากฏเป็นแนวขอบยาวไปจนถึงขอบฐานเสาตอม่อ (ภาพที่ ๓๒-๓๓) (สันนิษฐานว่าฐานเสาตอม่อนี้ คือ ฐานเสาตอม่อในระยะที่ห้าของอาคารที่ได้รื้อถอนอาคารหลังนี้ออกและสร้างชานด้านหลังที่ชั้น ๒ ยื่นออกมา โดยได้นำฐานเสาตอม่อทับลงบนฐานเสาซีเมนต์ที่เป็นเทคโนโลยีฐานรากอาคารของชุดอาคารที่อยู่ในระยะที่ ๓

ภาพที่ ๒๘  บันไดทางขึ้นที่ก่อเป็นชั้นซ้อนแบบอัฒจรรย์
ภาพที่ ๒๙-๓๐ แนวร่องน้ำก่ออิฐยาวขนานกับแนวอาคารด้านทิศใต้ และฝาปิดร่องน้ำทำจากไม้
ภาพที่ ๓๑-๓๒  ฐานเสาซีเมนต์อาคารอีกหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารหลัก และแนวชั้นพื้นปูนที่แสดงให้เห็นระยะอาคารที่ต่อเนื่องไปทางทิศใต้

๔. ระยะที่สี่

เป็นระยะเวลาที่ปรากฏรูปแบบอาคารตามภาพถ่ายเก่าที่แสดงให้เห็นรูปแบบอาคารในปี ๒๔๙๘ ซึ่งผังและรูปแบบอาคารโดยรวมยังคงลักษณะของอาคารในระยะที่สาม เพียงแต่มีการเพิ่มเติมรายละเอียดอาคารขึ้นอีกเล็กน้อย คือ การเพิ่มระเบียงที่ด้านแปด้านหน้าอาคาร โดยหลักฐานจากการขุดตรวจทางโบราณคดีพบฐานเสารองรับระเบียงขนานกับแนวผนังอาคาร (ภาพที่ ๓๓-๓๕)  และการพบหลักฐานชานบันไดทางขึ้นที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของมุขหน้า ซึ่งเป็นบันไดขึ้นสู่ชั้น ๒ ของอาคาร สร้างขึ้นในระยะที่สาม โดยอยู่ระดับเดียวกันกับพื้นใช้งานรอบอาคารที่ปรากฏเห็นเป็นชั้นบนอัดดินลูกรังหนาประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร โดยพบว่าปูนฉาบที่ผิวแท่นชานบันไดอยู่ในระดับต่ำกว่าผิวดินปัจจุบัน ๑๒ เซนติเมตร  ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลภาพถ่ายเก่าอาคารในปี ๒๔๙๘ ที่สังเกตเห็นบันไดนี้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ต่อข้อสันนิษฐานว่าอาคารในระยะที่สี่ควรเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด เมื่อพิจารณาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ประกอบพบว่าช่วงเวลาที่มีความเป็นไปได้ในการปรับปรุงอาคารน่าจะอยู่ในราว พ.ศ.๒๔๙๕-๒๔๙๘ ซึ่งพิจารณาจากเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ในปี ๒๔๘๓ ได้มีการยุบป่าไม้ภาคแพร่รวมกับป่าไม้ภาคลำปาง และกรมป่าไม้ได้พิจารณากลับมาตั้งป่าไม้ภาคแพร่อีกครั้งในปี ๒๔๙๕ ดังนั้นห้วงเวลาของการปรับปรุงอาคารในระยะที่สี่ไม่ควรเกิดขึ้นระหว่างปี ๒๔๘๓-๒๔๙๔ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำนักงานป่าไม้ภาคแพร่ถูกยุบเลิกไป ดังนั้นห้วงเวลาที่น่าจะมีการปรับปรุงอาคารระยะที่สี่จึงควรอยู่ในราวปี ๒๔๙๕-๒๔๙๘ ที่กลับมาใช้งานอาคารนี้อีกครั้งในฐานะอาคารสำนักงานป่าไม้ภาคแพร่

ภาพที่ ๓๓-๓๔ ภาพถ่ายเก่าปี ๒๔๙๘ ที่แสดงแนวระเบียงด้านหน้าอาคารและแนวเสาระเบียงที่พบจากการขุดตรวจทางโบราณคดี
ภาพที่ ๓๕ ฐานรากชานบันไดทางขึ้นที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของมุขหน้า

๕. ระยะที่ห้า (สมัยปัจจุบัน)

เป็นช่วงเวลาหลังสุดของการก่อสร้างต่อเติมอาคาร ซึ่งทำให้อาคารมีรูปแบบดังที่ปรากฏก่อนการรื้อถอนในปี ๒๕๖๓ โดยปรากฏการต่อเติมใน ๒ บริเวณ คือ สร้างห้องมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และห้องมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอาคารเพิ่มอย่างละ ๑ ห้อง  โดยเป็นการก่อแนวอิฐจากขอบด้านยาวของอาคารยื่นออกไปให้เสมอกับขอบของปีกอาคารแล้วก่อเป็นแนวมุมฉากยาวไปบรรจบกับแนวขอบปีกอาคารทำให้เกิดเป็นห้องใหม่เพิ่มขึ้นมุมละ ๑ ห้อง รวมถึงการสร้างชานอาคารด้านหลังยื่นออกมา (เฉพาะชั้น ๒ โดยมีส่วนรับน้ำหนักเป็นเสาไม้และฐานตอม่อคอนกรีต) การปูอิฐที่พื้นด้านหลังอาคาร จากการขุดตรวจทางโบราณคดีพบหลักฐานบ่งชี้ ๓ ประการว่าห้องดังกล่าว คือ ส่วนต่อเติมที่เกิดขึ้นสมัยปัจจุบัน คือ ๑. แนวอิฐที่ก่อต่อเติมมีขนาดอิฐที่เล็กกว่าอิฐฐานอาคารระยะที่ ๑ และ ๓ และสอด้วยปูนซีเมนต์สมัยปัจจุบัน ๒. แนวอิฐใหม่ที่เป็นขอบอาคารก่อปิดแนวผนังอาคารเดิมที่เป็นฐานอาคารระยะที่ ๓ ที่มีผิวเป็นขอบปูนสลัดทาสีเขียว ๓. ปรากฏการถมปรับชั้นดินเป็นพื้นใช้งานภายใน โดยถมปิดแนวบันไดของอาคารระยะที่ ๑ และได้มีการเทพื้นคอนกรีตปิดทับบันไดด้านหลังอาคารที่เป็นบันไดโค้งของอาคารระยะที่สาม (ภาพที่ ๓๖)

ทั้งนี้จากภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลียม ฮันท์ ในปี ๒๔๘๗ ปรากฏอาคารอีก ๑ หลัง ตั้งอยู่ด้านหลังเยื้องไปทางด้านตะวันตกของอาคารหลัก ซึ่งต่อมาจากข้อมูลภาพถ่ายระหว่างการรื้อถอนอาคารแสดงให้เห็นว่าส่วนนี้ได้กลายเป็นชานอาคารที่ยื่นออกไปแทน โดยมีพื้นที่ใช้งานเฉพาะชั้น ๒ ส่วนชั้นล่างเป็นโถงโล่งที่ใช้จอดรถ จึงสันนิษฐานได้ว่า ชานอาคารด้านหลังนี้สร้างขึ้นหลัง พ.ศ.๒๔๘๗ ซึ่งเป็นการสร้างหลังจากที่อาคารหลังดังกล่าวถูกรื้อถอนไป

ภาพที่ ๓๖ การเทพื้นคอนกรีตปิดทับบันไดด้านหลังอาคารที่เป็นบันไดโค้งของอาคารระยะที่สาม
ภาพที่ ๓๗ แบบสันนิษฐานอาคารสมัยที่ ๑
ภาพที่ ๓๘ แบบสันนิษฐานอาคารสมัยที่ ๒
ภาพที่ ๓๙ แบบสันนิษฐานอาคารสมัยที่ ๓
ภาพที่ ๔๐ แบบสันนิษฐานอาคารสมัยที่ ๔
ภาพที่ ๔๑ แบบสันนิษฐานอาคารสมัยที่ ๕
ภาพที่ ๔๒ อาคารศูนย์การเรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน (อาคารที่ทำการป่าไม้ ภาคแพร่ กรมป่าไม้สยาม)ก่อนการรื้อถอนปี ๒๕๖๓

วัตถุทางวัฒนธรรมที่กำหนดอายุได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดี

. พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒

เศษชิ้นส่วนฐานภาชนะทรงจาน เนื้อดินสีส้มเทา เคลือบเขียวด้านนอก-ใน จากลักษณะของขอบฐานและน้ำเคลือบ จัดเป็นภาชนะจากแหล่งเตาพาน จังหวัดเชียงราย พบในชั้นดินถมปัจจุบันช่วงประมาณ ๕๐ เซนติเมตรจากผิวดิน ในหลุมขุดตรวจที่ ๒๗ เหนือรางระบายน้ำก่ออิฐหลังโรงจอดรถ (ด้านหลังอาคาร) สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัตถุที่ถูกพัดพามาโดยน้ำ

. พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕

.๑ เศษภาชนะดินเผาจากประเทศจีน

เศษภาชนะดินเผาในช่วงเวลานี้ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องถ้วยจีน กำหนดอายุช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – พุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยพบจากหลุมขุดตรวจนอกอาคารฯ ในความลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตรจากผิวดิน ส่วนหลุมขุดตรวจในอาคารฯ พบในชั้นดินระดับฐานอาคารระยะแรก หรือ ๖๐-๑๐๐ เซนติเมตรจากพื้นอาคาร เศษภาชนะดินเผาบางส่วนสามารถกำหนดอายุได้จากเทคนิคการเขียนและลวดลายว่าผลิตจากแหล่งเตาต้าปู้และเตาเต๋อฮั่ว ช่วงปลายพุทธสตวรรษที่ ๒๔ แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นของที่ใช้ต่อมาจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕

ฐานชาม เตาเต๋อฮั่ว ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ พบจากหลุมขุดตรวจที่ ๑ ระดับ ๓๐ เซนติเมตรจากผิวดิน
ฐานชาม เตาต้าปู้ ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ พบจากหลุมขุดตรวจที่ ๑๑ (N3W4)

. พุทธศตวรรษที่ ๒๕-๒๖

.๑ เศษภาชนะดินเผาจากประเทศจีน

เศษภาชนะดินเผาในช่วงเวลานี้ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องลายคราม โดยพิจารณาจากเทคนิคการเขียนและการพิมพ์ลาย ตลอดจนการเคลือบใส กำหนดอายุช่วงปลายราชวงศ์ชิง-สาธารณรัฐ

ปากชาม เขียนสีบนเคลือบ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ พบจากหลุมขุดตรวจที่ ๗ (N6W6)
ปากและลำตัวชาม เตาเต๋อฮั่ว พุทธศตวรรษที่ ๒๕ พบจากหลุมขุดตรวจที่ ๑ ระดับ ๓๐ เซนติเมตรจากผิวดิน

.๒ เหรียญหมุนเวียน

เหรียญกษาปญ์ ที่ผลิตใช้แลกเปลี่ยนภายในประเทศ โดยเหรียญที่เก่าที่สุดคือเหรียญเสี้ยว สมัยรัชกาลที่ ๕ ระบุปี จ.ศ.๑๒๔๔ ตรงกับปี พ.ศ.๒๔๒๕ เหรียญใหม่ที่สุดปี พ.ศ.๒๕๕๕ เหรียญทั้งหมดพบในระดับความลึก ๕๐ เซนติเมตรจากผิวดิน โดยสังเกตว่าเหรียญสมัยรัชกาลที่ ๙ พบในช่วง ๑๐ เซนติเมตรจากผิวดิน ส่วนเหรียญเสี้ยวพบในระดับ ๕๐ เซนติเมตรจากผิวดิน ส่วนเหรียญอื่นพบปะปนในชั้นดินช่วงดังกล่าว

เหรียญทรงกลม สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีคราบดินและสนิมเขียวเกาะแน่น ด้านหน้าเป็นพระปรมาภิไธยย่อ “จปร ใต้จุลมงกุฏ” ด้านซ้ายคำว่า “กรุงสยาม” ด้านขวา “รัชกาลที่ ๕” ด้านหลังมีคำว่า “เสี้ยว ๔ อันเฟื้อง” ด้านหลังเป็นตัวเลข “๑๒๔๔” อันเป็นปีจุลศักราช ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๕ โดยทั้งหมดอยู่ภายในช่อชัยพฤกษ์

เหรียญสตางค์รู สภาพสมบูรณ์ มีคราบสนิมเขียวบางส่วนด้านหน้ามีตัวอักษรพิมพ์ว่า “สยามรัฐ ๑ สตางค์” รอบรูเป็นรูปอุณาโลม ด้านหลังเป็นรูปจักร ขอบรูระบุ “พ.ศ. ๒๔ (๖) ๑”

เหรียญสตางค์ สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีคราบดินและสนิมดำทั้งชิ้น ตัวลายค่อนข้างเลือน ด้านหน้ามีรูปพระฉายาทิศลักษณ์ รัชกาลที่ 9 ด้านข้างมีคำว่า “ภูมิพลอดุลยเดช – รัชกาลที่ ๙” ด้านหลังตรงกลางเป็นตราแผ่นดิน ด้านบนคำว่า “รัฐบาลไทย” ด้านซ้าย “๒๕” ด้านขวา “สต.” ด้านล่าง “พ.ศ. ๒๕๐๐”

.๓ ถ่านไฟฉาย

เป็นชิ้นส่วนแกนของถ่านไฟฉายขนาด D หรือถ่านขนาดกลาง เหลือสองส่วนคือ ส่วนแกนกลางกราไฟท์ ทรงกระบอกกลม หนา ๐.๗ เซนติเมตร ยาว ๕.๒ เซนติเมตร และส่วนแป้นขั้วบน ทำจากพลาสติก สีดำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๑ เซนติเมตร บนผิวแป้นขั้วบนด้านบน พิมพ์คำว่า “WINCHESTER” ด้านล่างพิมพ์คำว่า “SUPERSEAL  MADE IN U.S.A.” อยู่ในช่วงทศวรรษ ๑๙๔๐-๑๙๕๐ (พ.ศ.๒๔๘๓-๒๕๐๒) เป็นสินค้าในเครือวินเชสเตอร์ ผู้ผลิตอาวุธปืน

๒.๔ ขวดยา T.CW CO

ขวดแก้วใสทรงกระบอก สภาพสมบูรณ์ ใต้ขวดพิมพ์คำว่า T.C W Co เป็นขวดยาที่กำหนดอยู่ในช่วง ๑๙๐๐-๑๙๖๐ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๐๓) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขอบปาก ๑.๙ เซนติเมตร รูปากขวด ๑.๑ เซนติเมตร ขอบปากเป็นสันเหลี่ยม คอขวดสูง ๑ เซนติเมตร ลำตัวสูง ๓.๖ เซนติเมตร

.๕ ขวด D&M

เป็นขวดยาที่ผลิตจากบริษัท Davey & Moore, LTD. ของประเทศอังกฤษ ลักษณะเป็นขวดทรงสั้น ปากขวดกว้าง ๑.๔ เซนติเมตร รูปปากขวดกว้าง ๑.๑ เซนติเมตร คอสูง ๑.๘ เซนติเมตร ลักษณะเป็นฝาเกลียว ลำตัวกว้าง ๓ เซนติเมตร สูง ๔.๒ เซนติเมตร ใต้ขวดตรงกลางพิมพ์คล้ายตัว “B” ด้านล่างพิมพ์ “D & M” บริษัทนี้ดำเนินกิจการตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๐๕-๑๙๘๐ (๒๓๔๘-๒๕๒๓)

๒.๖ ขวด UGB

ขวดแก้วสั้นทรงกลม คล้ายขวดหมึก สภาพสมบูรณ์ เนื้อแก้ววาวมุกเล็กน้อย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขอบปาก ๒.๑ เซนติเมตร รูปากขวด ๑.๙ เซนติเมตร คอขวดสูง ๒ เซนติเมตร ลำตัวสูง ๓ เซนติเมตร UGB คือบริษัท United Glass Bottle Manufacturers, Ltd. ใช้ตัวอักษรย่อชุดนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๖๘ (พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๕๑๑) หลังจากนั้น จะใช้ตัวย่อ UG

สรุป

จากการขุดตรวจทางโบราณคดีและประมวลข้อมูลร่วมกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ สามารถสรุปพัฒนาการอาคารเป็น ๕ ระยะดังนี้

จากข้อมูลทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้สวนรุกขชาติเชตวัน เดิมน่าจะเป็นสำนักงานป่าไม้เขตแพร่ กรมป่าไม้ ที่สร้างขึ้นในราว พ.ศ.๒๔๔๔ เพื่อกำกับกิจการการทำไม้ของบริษัทต่างชาติในช่วงเวลานั้น ข้อมูลจากหนังสือ “ระยะทางไปมณฑลภาคพายัพ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕” ซึ่งเป็นเอกสารการตรวจราชการของกรมการปกครอง ได้ระบุถึงการมีอยู่ของอาคารที่ทำการกองป่าไม้และบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ว่าตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยตั้งอยู่นอกเมืองด้านทิศใต้ใกล้แม่น้ำยม “… ในเมืองข้างกำแพงเมืองทางทิศใต้มีห้างของบริษัทอิสต์เอเชียติก นอกเมืองทางทิศใต้ มีถนนแยกไปทางทิศตะวันตกถึงลำน้ำยม ในถนนนี้มีที่ทำการกองป่าไม้ และห้างบอมเบเบอร์ม่า …”  จากการขุดตรวจทางโบราณคดีสรุปได้ว่า อาคารระยะแรกมีลักษณะคล้ายคลึงกับอาคารราชการของรัฐที่เป็นที่นิยมในช่วงเวลานั้น คือเป็นอาคารยกพื้นเตี้ย ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขด้านหน้าเป็นโถงยื่นออกมาจากตัวอาคาร โดยมีโครงสร้างตัวอาคารเป็นไม้ อาคารในระยะแรกนี้มีความเป็นไปได้ทั้งการเป็นอาคารชั้นเดียวและอาคารสองชั้น โดยการเป็นอาคารสองชั้น อาคารอาจจะมีชานยื่นออกมาจากมุขหน้าดังเช่นในสมัยถัดไป อาคารหลังนี้น่าจะถูกใช้งานเป็นระยะเวลานานจนกระทั่งน่าจะมีการปรับปรุงอาคาร ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอาคารระยะที่สอง ราว พ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๘๒ เนื่องจากเวลาดังกล่าวเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมืองแพร่ถึง ๓ ครั้ง สอดคล้องกับชั้นตะกอนดินน้ำท่วมที่ทับถมเหนือฐานเสาอาคารระยะแรก การปรับปรุงอาคารครั้งที่สองนี้ อาคารยังคงมีแผนผังในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่มีการขยายความยาวมุขหน้า (ทิศเหนือ) เพิ่มมากขึ้น และมีการเปลี่ยนฐานรากอาคารเป็นฐานตอม่อคอนกรีตในหลายตำแหน่ง รวมถึงมีการก่อผนังอิฐปิดพื้นที่ระหว่างฐานเสาแต่ละต้น ถมปรับพื้นภายในอาคาร และเปลี่ยนพื้นใช้งานในอาคารจากระบบคานและพื้นไม้ไปเป็นพื้นปูอิฐ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและเสริมความมั่นคงฐานอาคาร นอกจากนั้นยังพบหลักฐานที่สนับสนุนว่าอาคารระยะที่สองอาจเป็นอาคารสองชั้น คือ การพบหลักฐานบันไดด้านข้างซึ่งอยู่บริเวณขอบมุขด้านหน้าระนาบเดียวกับบันไดทางขึ้นมุขหน้า ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์กับการเคยมีอยู่ของชานด้านหน้ามุข ที่จะเป็นที่ตั้งของบันไดขึ้นสู่ชั้นสองของอาคาร

ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นต่ออาคารอีกครั้ง คือ การปรับปรุงอาคารในระยะที่สาม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พบหลักฐานทั้งการขยายอาคาร เพิ่มองค์ประกอบต่างๆ และการพบหลักฐานความเป็นอาคาร ๒ ชั้นอย่างชัดเจนจากภาพถ่ายทางอากาศ โดยมีการเพิ่มปีกอาคารออกไปอีกด้านละ ๑ ห้อง (ด้านตะวันตกและตะวันออก) และเปลี่ยนระบบเสารับน้ำหนักจากเสาตอม่อที่มีเสาไม้ปักลงในเสาเป็นระบบเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก รวมถึงการสร้างชานยกพื้นเตี้ยยื่นออกมาจากมุขหน้าอาคาร ซึ่งการปรับปรุงอาคารระยะที่สามน่าจะเกิดขึ้นก่อนปี ๒๔๘๗ ที่ปรากฏภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงให้เห็นผังอาคารตรงตามข้อมูลการขุดตรวจทางโบราณคดี และอาจเกิดขึ้นหลังปี ๒๔๗๒-๒๔๘๒ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นห้วงเวลาเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมืองแพร่ที่มีการปรับปรุงอาคารระยะที่สอง หลังจากปี ๒๔๘๓ การใช้งานอาคารหลังนี้น่าจะลดบทบาทลง เนื่องจากมีการปรับปรุงการบริหารราชการกรมป่าไม้ โดยยุบสำนักงานป่าไม้ภาคแพร่รวมเข้าเป็นสำนักงานเดียวกับป่าไม้ภาคลำปาง กระทั่งปี ๒๔๙๕ กรมป่าไม้จึงได้จัดตั้งสำนักงานป่าไม้ภาคแพร่ขึ้นอีกครั้ง หลักฐานพัฒนาการอาคารในระยะที่สี่ พบการทำแนวระเบียงบริเวณชานด้านหน้าอาคาร บันไดทางขึ้นชั้นสองที่ด้านข้างของมุขหน้า และยกเลิกการใช้ชานด้านหน้าอาคาร ทำให้มุขด้านหน้าเป็นโถงโล่ง สอดคล้องกับลำดับเหตุการณ์และภาพถ่ายเก่าอาคารในปี ๒๔๙๘ ที่เป็นพัฒนาการอาคารในระยะดังกล่าว

เป็นที่น่าสังเกตว่าการกลับมาตั้งที่ทำการสำนักงานป่าไม้ภาคแพร่ในปี ๒๔๙๕ เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการหมดบทบาทลงของบริษัททำไม้ต่างชาติ โดยปี ๒๔๙๗ รัฐบาลไทยได้ยกเลิกการให้สัมปทานป่าไม้แก่ต่างชาติ นำไปสู่การที่บริษัทต่างชาติ คือ บริษัทอีสเอเชียติก ได้ถอนตัวออกจากพื้นที่ ปรากฏหลักฐานเป็นการขายอาคารพร้อมที่ดินให้แก่รัฐบาลไทยในปี ๒๕๐๐  หลักฐานจากเอกสารโฉนดที่ดิน “ที่ตั้งที่ทำการป่าไม้เขต ป่าไม้จังหวัด” ออกในปี ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นแปลงโฉนดที่ดินที่ศูนย์การเรียนรู้ป่าไม้สวนรุกขชาติเชตวันถือครองอยู่ในปัจจุบัน  ปรากฏเนื้อความในโฉนดว่าบริษัทอีสต์เอเชียติกได้ขายอาคารพร้อมที่ดินให้แก่รัฐบาลไทยในปี ๒๕๐๐ (ซึ่งเป็นอาคารและที่ดินเดิมที่บริษัทอีสเอเชียติกซื้อต่อจากบริษัทบอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้งในปี ๒๔๖๘) ในเอกสารปรากฏเนื้อหาการรวมโฉนดที่ดินจำนวน ๓ แปลง คือ แปลงที่ดินของกรมป่าไม้ แปลงของบริษัทแอสโกสยาม คอเปอเรชัน และแปลงที่ดินที่กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ซื้อจากบริษัทอีสต์เอเชียติก รวมเป็นโฉนดที่ดินแปลงเดียว ขนาดพื้นที่ ๔๘-๑-๘๗ ไร่ โดยมีรายละเอียดอาคารระบุในโฉนดที่ดินจำนวน ๒ อาคาร คือ อาคารที่พักและที่ทำการป่าไม้ เป็นอาคารทรงปั้นหยาสองชั้น และอาคารบ้านพักพนักงานกรมป่าไม้ เป็นเรือนทรงปั้นหยาชั้นเดียว ซึ่งอาคารที่ถูกระบุการใช้งานว่าเป็นอาคารทรงปั้นหยาสองชั้นและมีการใช้งานเป็นที่พักและที่ทำการป่าไม้นี้ คือ อาคารที่ทำการป่าไม้เขตแพร่ที่มีสืบเนื่องมาแต่เดิมตั้งแต่ปี ๒๔๔๔

อาคารสำนักงานป่าไม้ภาคแพร่นี้ถูกใช้งานเป็นอาคารป่าไม้ภาคจนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๑๕ จึงได้มีการสร้างอาคารป่าไม้ภาคแห่งใหม่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๑ ท้องที่ตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ การใช้งานอาคารในฐานะที่ทำการป่าไม้เขตจึงได้ยุติลง และเปลี่ยนมาใช้ประโยชน์อาคารในลักษณะเรือนรับรองของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืชเป็นลำดับ ซึ่งการปรับปรุงอาคารในระยะที่ห้าที่มีการเพิ่มห้องมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือรวมถึงการสร้างชานอาคารด้านหลังน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนี้  ทั้งนี้ในประเด็นว่า อาคารที่ทำการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ ยังมีหลักฐานหลงเหลือปรากฏหรือไม่หรือควรตั้งอยู่จุดใดในพื้นที่ เมื่อเรานำห้วงเวลาที่บริษัทบอมเบย์เบอร์มาได้หมดสัมปทานในพื้นที่และขายอาคาร,ที่ดิน ให้แก่บริษัทอีสต์เอเชียติก ในปี ๒๔๖๘ และปรากฏภาพถ่ายทางอากาศพื้นที่ในปี ๒๔๘๗ โดยในภาพถ่ายปรากฏกลุ่มอาคารตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของศูนย์การเรียนรู้ป่าไม้สวนรุกขชาติเชตวัน โดยมีถนนเชตวันคั่นระหว่างพื้นที่ สอดคล้องกับบันทึกการตรวจราชการของกรมการปกครอง ที่ได้ระบุถึงการมีอยู่ของอาคารที่ทำการกองป่าไม้และบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ว่าตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยตั้งอยู่นอกเมืองด้านทิศใต้ใกล้แม่น้ำยม จากภาพถ่ายเห็นได้ว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ ที่น่าจะเป็นที่ทำการสำนักงานของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ ซึ่ง ณ ขณะนั้นได้เปลี่ยนสถานะเป็นอาคารที่ทำการของบริษัทอีสต์เอเชียติก ทั้งนี้สันนิษฐานว่าในช่วง พ.ศ.๒๔๘๗ กลุ่มอาคารดังกล่าวนี้อาจอยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทยเนื่องด้วยบริษัทอีสต์เอเชียติกได้สิ้นสุดสัมปทานไม้ที่เมืองแพร่ตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ ประกอบกับห้วงเวลาปี ๒๔๘๗ เป็นช่วงคาบเกี่ยวสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งไม่มีชาวตะวันตกอยู่ประกอบกิจการใดๆในเมืองแพร่ พื้นที่ริมแม่น้ำยมบริเวณบ้านเชตวันนี้จึงน่าจะอยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทยทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว

จากการนำภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ในปี ๒๔๘๗ ทับซ้อนกับภาพถ่ายทางอากาศปัจจุบัน พบว่าพื้นที่ที่ปรากฏเป็นกลุ่มอาคารที่น่าจะเป็นที่ทำการสำนักงานบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ ได้กลายเป็นแนวแม่น้ำยมไปแล้วทั้งหมด จึงกล่าวได้ว่าที่ทำการสำนักงานบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ได้พังทลายลงไปในแม่น้ำยมทั้งหมดแล้วในอดีต จากการกัดเซาะตลิ่งและเปลี่ยนเส้นทางเดินของแม่น้ำในบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นโค้งลำน้ำ โดยห้วงเวลาที่อาคารที่ทำการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์พังทลายหายไปนี้ น่าจะเกิดขึ้นหลังปี ๒๔๘๗ แต่น่าจะเกิดขึ้นก่อนปี ๒๕๐๕ ดังที่ไม่ปรากฏพื้นที่บริเวณอาคารที่ทำการบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินแปลงใหญ่ ซึ่งแปลความได้ว่า พื้นที่แปลงของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ส่วนหนึ่งอาจพังทลายลงแม่น้ำไปก่อนโดยยังมีบางส่วนคงเหลือที่ขายให้รัฐบาลไทยในปี ๒๕๐๐ นำไปสู่การนำที่แปลงดังกล่าวมารวมกับที่ดินแปลงของกรมป่าไม้และบริษัทแองโกสสยามคอเปอเรชั่น กลายเป็นโฉนดแปลงเดียวในปี ๒๕๐๕ ซึ่งก็คือที่ดินสวนรุกขชาติเชตะวันในปัจจุบัน

ภาพที่ ๔๓ ภาพแสดงพื้นที่โฉนดที่ดินแปลงสวนรุกขชาติเชตวัน ซึ่งที่ดินบางส่วนได้ถูกแม่น้ำยมกัดเซาะหายไป
ภาพที่ ๔๔ ภาพทับซ้อนแสดงแนวแม่น้ำยมสายเดิม พื้นที่โฉนดที่ดินสวนรุกขชาติเชตวัน (รวมที่ดิน ๓ แปลง – แปลงที่ดินของกรมป่าไม้ ของบริษัทแองโกสสยาม คอเปอเรชัน และที่ดินที่กรมตำรวจซื้อจากบริษัทอีสต์เอเชียติก ซึ่งเป็นที่ดินเดิมของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์) แนวแม่น้ำยมสายปัจจุบัน และพื้นที่ของบริษัทอีสเอเชียติกอีกส่วนหนึ่งบริเวณอาคารที่ทำการบริษัทที่น่าจะพังทลายลงแม่น้ำยมไปก่อนการรวมแปลงที่ดินในปี ๒๕๐๕ (วงกลมสีแดง)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ