ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ส่งความห่วงใยให้เพื่อนคนไร้บ้าน

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ส่งความห่วงใยให้เพื่อนคนไร้บ้าน

ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.2564 หลายคนอาจจะคิดถึงกิจกรรมที่จะทำร่วมกันกับครอบครัว กับเพื่อน หรือกับคนรัก

“ของขวัญปีใหม่” กลายเป็นสัญลักษณ์อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเฉลิมฉลองร่วมกัน ความรู้สึกในการลุ้นว่าเราจะได้ของขวัญของใคร ความรู้สึกในการลุ้นว่าสิ่งของข้างในจะมีอะไร เป็นความรู้สึกที่ยากจะบรรยายออกมาเป็นตัวหนังสือ แต่เชื่อว่าหลายคนเข้าใจความรู้แบบนี้เป็นอย่างดี

แต่ในมุมหนึ่ง ความรู้สึกแบบนี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน มีคนหลายกลุ่ม หลายพื้นที่ ที่ห่างหายจากการเข้าถึงความรู้สึกแบบนี้ เนื่องจากเป็นผู้ตกหล่นของการพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ในหัวเมืองใหญ่ ๆ ของแต่ละภูมิภาค ก็มีผู้คนที่ขาดความรู้สึกแบบนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ใช่ครับ เรากำลังพูดถึง “คนไร้บ้าน” และกลุ่มผู้เปราะบางกลางเมืองใหญ่

จังหวัดขอนแก่น เป็น 1 ใน 3 พื้นที่ ที่มีจำนวนคนไร้บ้านสูงสุดของประเทศไทย นอกเหนือจากเชียงใหม่ และ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดของเครือข่ายเพื่อนคนไร้บ้านพบว่า มีคนไร้บ้านในเขตเทศบาลนครขอนแก่น รวม 120 คน ซึ่งลดลงจากเดิมเมื่อปี 2562 ที่เคยสำรวจได้ 136 คน  

ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน หรือ “บ้านโฮมแสนสุข” ได้ลงเสาเข็มก่อร่างสร้างบ้านขึ้นที่บริเวณบ้านเหล่านาดี 12 ต.ในเมือง จ.ขอนแก่น  เป็นความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งเครือข่ายนักวิจัย นักวิชาการ อาสาสมัคร หน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชน เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้คนไร้บ้านได้เข้ามาอาศัยและฟื้นฟูจนกลับไปสู่สังคมได้

กิจกรรมการส่งต่อมอบความสุขอย่าง “มอบของขวัญ” ในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งกิจกรรมที่กลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานร่วมกับพี่น้องคนไร้บ้านที่ศูนย์ฯ ได้คิดขึ้นมา เนื่องจากมองว่าความรู้สึกใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่แบบนี้ หลายคนอาจจะหลงลืมไปบ้าง เพราะการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน และ เหตุปัจจัยหลายอย่าง พวกเขาจึงร่วมกันเปิดรับสิ่งของจากคนที่สนใจ และ แพ็กใส่ถุงบรรจุอย่างมิดชิด เพื่อเตรียมส่งมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้เพื่อน ๆ กลุ่มคนไร้บ้านที่ไม่ได้อาศัยในศูนย์ฯ ซึ่งเป็นสิ่งของใช้จำเป็นในการดำรงชีพ เช่น ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าอนามัยน้ำดื่ม ผ้าห่ม ยากันยุง และที่ขาดไม่ได้ในโมงยามนี้ คือ หน้ากากอนามัยเพื่อเป็นเครื่องป้องกันโควิด-19

หนึ่งในอาสาสมัครเครือข่ายเพื่อนคนไร้บ้าน บ้านโฮมแสนสุข ศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ที่ลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้เล่าให้ฟังว่าเขารู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เห็นเพื่อน ๆ คนไร้บ้านได้รับของขวัญ เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ใช่แค่ของขวัญที่พวกเขามามอบให้ แต่การได้พูดคุยถามไถ่ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่สำคัญมากยิ่งกว่า

“วันนี้เราออกของมาแจกเพื่อน ๆ ที่ลำบาก ตามสถานีรถไฟ ตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ มีผ้าห่ม ของใช้ที่จำเป็น หน้ากาก อาหารแห้ง มากับน้อง ๆ นักศึกษา ก็ดีค่ะ ได้เห็นอะไรหลากหลายขึ้น ได้เข้าใจคนที่เขาลำบากเยอะขึ้น ก็ทำให้สังคมเราเห็นความสำคัญของการแบ่งปัน แบ่งปันในที่นี้ไม่ใช่แค่ข้าวของอย่างเดียว แต่หมายถึงแบ่งปันความรู้สึกดี ๆ แบ่งปันความสุข ให้พวกเขาสบายใจว่ายังมีคนที่เห็นคุณค่าของพวกเขา ยังนึกถึงพวกเขา เราก็ช่วยกันดูแล เป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ คน”

หนึ่งในอาสาสมัครเครือข่ายเพื่อนคนไร้บ้าน บ้านโฮมแสนสุข ศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น

จากที่เคยเป็น “ผู้รับ” วันนี้อาสาสมัครเครือข่ายเพื่อนคนไร้บ้านก็ปรับบทบาทมาเป็นส่วนหนึ่งของ “ผู้ให้” เพื่อส่งต่อความห่วงใย ความปรารถนาดี ให้กับผู้ใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะและกลุ่มคนเปราะบางในเมืองขอนแก่นก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มอาจจะเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ทางเครือข่ายก็คาดการณ์ว่าอาจส่งผลต่อจำนวนผู้ใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง เพราะช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ มากถึง 30 คน การลงพื้นที่แบ่งปันสิ่งของครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจ และดูแลกลุ่มคนเปราะบางร่วมกันเพื่อเฝ้าระวังและให้ความช่วยเหลือไปพร้อมกัน

วรางคณา แสนอุบล หนึ่งอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาสาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เล่าถึงความรู้สึกประทับใจในการลงพื้นที่แบ่งปันของขวัญ เธอเล่าว่ารู้สึกสะท้อนใจที่เห็นคนมาอาศัยในพื้นที่สาธารณะเยอะขนาดนี้ มันแสดงถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างเห็นได้ชัด ว่าการพัฒนาอาจจะไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมดทุกคน ในฐานที่ตัวเธอเองเป็นคนที่เรียนด้านการพัฒนาชุมชน ก็อยากมีส่วนช่วยเหลือให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รู้สึกหดหู่อยู่นะคะ ว่าเมืองใหญ่ที่ได้รับการพัฒนามากมายขนาดนี้ แต่ว่าภายใต้สิ่งนั้นยังมีพี่น้องคนไร้บ้านที่เขายังไม่มีบ้านอยู่ ได้อยู่แค่เพิง ไม่ได้รับการดูแล ใส่ใจ มองเห็น ที่เรารู้สึกแย่มากคือ พี่น้องที่อยู่ริมทางรถไฟ กำลังจะถูกให้ออกจากพื้นที่ เราก็รู้สึกดีมากที่ได้มาส่งความสุขพวกเขา ถ้ามีโครงการ ก็จะไปต่อยอดซัพพอร์ต ที่ลงพื้นที่อยู่ตอนนี้ ก็เก็บเป็นข้อมูลไปด้วย เพื่อเอาไปทำวิจัย โครงการขึ้นมาและมาช่วยเหลือพวกเขาในอนาคต บางคนก็ยังไม่มีสิทธิสวัสดิการ บัตรประชาชน รักษาพยาบาล อยากให้ลงมาพื้นที่จริงว่าเขามีปัญหาอะไรบ้าง และรับฟังปัญหาของพวกเขา”

วรางคณา แสนอุบล อาสาสมัคร นักศึกษาสาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เสียดายที่เราไม่ได้มีเวลาพูดคุยกับคนไร้บ้านที่ได้ลงพื้นที่ไปด้วยมาก แต่การลงพื้นที่ร่วมกับทีมอาสาสมัครคนไร้บ้าน เราสังเกตได้ถึงรอยยิ้ม ความสุข จากผู้ที่เราเองไม่ค่อยได้สัมผัสใกล้ชิด และไม่เคยรับรู้ว่าพวกเขาตกหล่นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่หมุนไปในทุกวัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ