เลือกตั้งท้องถิ่น : โอกาสส่งเสียงประชาชนจากพื้นที่อย่างแท้จริง คุยกับ รศ.ดร.สถาพร เริงธรรม ม.ขอนแก่น

เลือกตั้งท้องถิ่น : โอกาสส่งเสียงประชาชนจากพื้นที่อย่างแท้จริง คุยกับ รศ.ดร.สถาพร เริงธรรม ม.ขอนแก่น

“การเลือกตั้งวันที่ 20 ธันวาคม มันจะไม่สำคัญเลย ถ้าคนมาใช้สิทธิแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าเรามาช่วยกันใช้สิทธิออกเสียงเยอะ ๆ … ผมเชื่อว่ามันจะทำให้พี่น้องประชาชนได้บอกแล้วว่า หรือส่งเสียงไปแล้วว่าเสียงประชาชนนั้น มีความหมาย มีคุณค่าและต้องการการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น และเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันทำให้การเมืองท้องถิ่นเป็นการเมืองที่สร้างคุณประโยชน์ ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง…” รศ.ดร.สถาพร เริงธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เน้นย้ำถึงความสำคัญต่อการออกมาแสดงพลังผ่านการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธันวาคม 63 ที่จะถึงนี้

เลือกตั้ง อบจ.2563 ก้าวสำคัญของการเมืองท้องถิ่น

“ถ้ามองในปรากฏการณ์ทางการเมือง เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ก็ว่าได้ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถที่จะออกมาใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองภายใต้กรอบของการเลือกตั้ง รวมทั้งการที่จะทำให้นักการเมืองท้องถิ่นเองได้มีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็น และนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นการเปิดพื้นที่ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นมิติใหม่ที่เราจะเห็นภายหลังจากการมีการรัฐประหาร ในปี พ.ศ.2557

เราเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองทั้งหมด แต่เชื่อว่าจะเป็นจุดที่ถ้าหากมีประเด็นหรือมีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีความพร้อมและสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น การตื่นตัวของพี่น้องประชาชน รวมถึงคนรุ่นใหม่ การมีนโยบายที่ชัดเจนของแต่ละผู้สมัครที่สามารถจับต้องได้ การมีกฏกติกาที่เชื่อถือได้ใช้ในการเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ จะทำให้เกิดกระแสของการตื่นตัวทางการเมือง จะเกิดขึ้นต่อเนื่องนับจากนี้ไป เพราะหลังจากเลือกตั้ง อบจ. ก็จะมีเทศบาล โดยเฉพาะเทศบาลในเขตเมืองและเขตนคร ก็เป็นสนามใหญ่อีกสนามที่น่าสนใจและจับตามาก เพราะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ไม่เล็กเท่าไร

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเป็นการปกครองท้องถิ่นอีกรูปแบบหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นขนาดเล็ก แต่อย่าลืมว่า อบต.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีจำนวนมากที่สุด ถ้าคิดตามสัดส่วน เพราะฉะนั้นการที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก และมีพื้นที่ให้บริการแก่พี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิดที่สุด การเปิดตัวด้วยการเลือกตั้ง อบจ.และสามารถสร้างกระแส สร้างการตื่นตัว ไม่ว่าใครจะชนะหรือแพ้ แต่ถ้าสามารถสร้างการตื่นตัวให้เห็นได้ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นประชาชนสนใจ จะเป็นจุดนำไปสู่การตื่นตัวในระดับอื่น ๆ ซึ่งรวมไปถึงการเลือกตั้งระดับเล็กที่สุด ซึ่งเรายังไม่คิดว่าจะมีปรากฏการณ์อะไรที่จะแตกต่างไปจากเดิม แต่ถ้าการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ สามารถสร้างความแปลกใหม่ได้ ตัวอย่าง เช่น สามารถทำให้ประชาชนเกิดการออกมาใช้สิทธิออกเสียงเยอะ ๆ  70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และได้นักการเมืองท้องถิ่นใหม่ ๆ ได้มีนโยบายใหม่ ๆ เข้ามาสู่การเมืองท้องถิ่น และช่วงระหว่างที่มีรอยต่อของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นชุด ๆ ถ้าผู้สมัคร อบจ.สามารถผลักดันนโยบาย เป็นผลอย่างเป็นรูปธรรม มันจะทำให้เกิดความน่าสนใจ การเลือกตั้งท้องถิ่นจะน่าสนใจมากกว่าเดิม

ศึก (นายก) อบจ.ครั้งนี้ เป็นโอกาสแสดงพลังของคนท้องถิ่น

ถูกต้องครับ เป็นโอกาสแสดงพลังของคนในประเทศ เพราะการเลือกตั้ง อบจ. มันคือการเลือกตั้ง โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้เลือก เพราะเลือกตั้งรอบนี้มีอยู่เพียงท้องถิ่น 2 แห่งเท่านั้นที่ไม่ต้องเลือก คือ กรุงเทพฯ กับเมืองพัทยา นอกนั้นทั้งประเทศ 76 จังหวัด เลือกหมด ฉะนั้นเป็นการแสดงพลังของคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย น่าสนใจและติดตามว่าจะสามารถทำให้คนส่วนใหญ่ได้ออกมาใช้สิทธิใช้เสียงมากขึ้นหรือไม่

จังหวัดขอนแก่นมีผู้สมัคร นายก อบจ.มาก ถึง 10 คน กำลังสะท้อนอะไร

สะท้อนถึง เรื่อง ความขาดแคลนพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน รวมทั้งนักการเมืองท้องถิ่นด้วย นี่เรายังไม่พูดถึงพรรคการเมืองระดับชาติ ที่เข้ามาใช้เวทีการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเวทีการเปิดตัว ในเชิงนโยบายหรือว่าทำให้คนในพื้นที่ยังไม่ลืมว่ายังมีพรรคการเมืองของเขาอยู่ด้วยนะครับ

ถามว่าขอนแก่นคึกคักขนาดไหน ผมคิดว่า ณ เวลานี้ก็ยังไม่คึกคักมากเท่าไร แต่ถ้าพูดตอนนี้มันก็ยังเร็วเกินไป เพราะยังมีเวลาอีก 10 วัน ซึ่งผมเชื่อว่าหลังจากนี้เป็นต้นไป ภายใต้การโหมประชาสัมพันธ์ โดยไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ตาม หรือสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่นก็ตาม ผมเชื่อว่าหลังจากนี้เป็นต้นไป จะมีปรากฏการณ์หลาย ๆ รูปแบบที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเมืองท้องถิ่นครั้งนี้มีความน่าสนใจ เช่น เริ่มเห็นมีการจัดเวทีดีเบตของผู้สมัคร โดยสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ มีสื่อระดับชาติ สื่อระดับท้องถิ่น มามีส่วนในการจัดเวที คนรุ่นใหม่เริ่มถกเถียงกันแล้วว่า อบจ. คืออะไร มันมีประโยชน์อะไรกับเรา

ผมเชื่อว่าภายใต้ปรากฏการณ์ข้อคำถามต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้ามีกระบวนการของผู้สมัคร อันนี้ก็บอกถึงตัวผู้สมัครเองด้วย ผู้สมัครเองก็ต้องพยายามที่จะช่วยกระตุ้นให้พี่น้องประชาชน ให้ความสนใจเรื่องการมาเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย เพราะจะให้ฝ่ายประชาชนเองตื่นตัวฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะเวทีที่เราจัดกับไทยพีบีเอสไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คนรุ่นใหม่เขาสะท้อนชัดเจนว่า เขาเป็น New Voter เขาไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งที่ผ่านมาด้วย เป็นนักศึกษา ปี 1 ปี 2 เขาชัดเจนว่า เขาอยากไปเลือกตั้ง แต่ว่าเขาขาดแคลนข้อมูลของตัวผู้สมัคร รวมไปถึงตัวนโยบายด้วย

ภายใต้กระแสที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้านักการเมืองท้องถิ่นหรือผู้สมัครให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และพยายามจะฉายภาพว่าตัวเองเป็นใคร มีนโยบายอย่างไร รูปธรรมของการขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นประโยชน์เป็นอย่างไร แล้วผลที่มันเกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์อย่างไร ผมคิดว่าการช่วยกันประชาสัมพันธ์หรือการเปิดพื้นที่ให้ผู้สมัครได้มีโอกาสพบปะพี่น้องประชาชนและได้แถลงนโยบายหรือสร้างทำความเข้าใจสังคม มันจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้กระแสความตื่นตัวทางด้านนี้ ในช่วงเวลานี้มันเกิดขึ้น และถ้าเราทำได้อย่างต่อเนื่อง วันที่ 20 ธันวาคม 63 ถ้าไม่เกิดปรากฏการณ์อะไรที่มันผิดปกติก็คิดว่าการเมือง การเลือกตั้งวันที่ 20 ธันวาคมก็น่าสนใจ

การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ สำคัญต่อ New Voter อย่างไร

เป็นสิ่งที่เราพยายามเรียกร้องมาโดยตลอดว่า สุดท้ายนี้การเมืองการปกครองท้องถิ่น คือ คำตอบ สำหรับการพัฒนาประเทศ เพราะตลอด 6-7 ปี ที่ผ่านมา เราหวังพึ่งพารัฐบาลกลางมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายออกมาเท่าไหร่ เราจะเห็นว่านโยบายจำนวนมากไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ เนื่องจากว่าขาดแคลนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เป็นนโยบายแบบ Top down จากบนลงมาและให้กลไกราชการ กลไกส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นทำ

ซึ่งเราจะเห็นว่าพอกลไกต่าง ๆ เหล่านี้มันถูกส่งผ่านลงมา จะถูกลดทอนความสำคัญไปตามปัญหาของระบบราชการด้วยตัวมันเอง รวมทั้งการเมืองในพื้นที่ด้วย การแย่งชิงทรัพยากร มันทำให้นโยบายของรัฐบาลที่ส่งผ่านมาแบบ Top down มันไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ในพื้นที่

นอกจากนี้เองนโยบายของรัฐบาล บางเรื่องนำไปสู่ความขัดแย้ง ระหว่างรัฐกับประชาชน และประชาชนกับประชาชนด้วยกันเอง เพราะฉะนั้น ตลอด 6-7 ปี ที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารงานแบบรวมศูนย์แบบนี้ ทำให้ประชาชนเริ่มเรียนรู้แล้วว่าการหวังพึ่งพารัฐบาลอย่างเดียวคงได้แค่ บัตรสวัสดิการมา 500 บาท ได้จ่ายคนละครึ่ง ได้เที่ยวด้วยกัน แต่สุดท้ายมรรคผลที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนการพัฒนาพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โครงสร้างพื้นฐาน เรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องสวัสดิการ มันไม่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่เขาถอดบทเรียนอยู่นะกับเรื่องเหล่านี้ ถ้าเราสามารถที่จะทำให้ คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าการเมืองท้องถิ่น เป็นสิ่งที่เขาหวังพึ่งได้ จะทำให้ New Voter เขามีความเข้าใจแล้วเขาจะสนใจ เขาจะเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจ เลือกตัวผู้สมัครที่สามารถที่จะมีวิสัยทัศน์และมีนโยบายที่จะสามารถทำการพัฒนาได้ ที่มีมิติที่ต่างไปจากสิ่งที่รัฐบาลกลางทำ

ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ใหญ่และสำคัญมาก เพราะมิติของการทำงานนโยบายของเชิงท้องถิ่น นโยบายส่วนกลางมีความต่างอยู่ 1 ส่วน คือ นโยบายของท้องถิ่นมีความเฉพาะจะไม่กว้างหว่านแหไป เพราะว่าคนเบตงกับคนมุกดาหารคิดเหมือนกัน แต่ว่านโยบายของท้องถิ่นมันมีความเฉพาะ นโยบายของขอนแก่น อาจจะมองเฉพาะว่าปัญหาของขอนแก่น ความต้องการของขอนแก่น คืออะไร ตรงนี้คนรุ่นใหม่เขาพยายามจะถอดบทเรียนกันอยู่แล้วถ้าเราสามารถชี้เห็นว่า การเมืองท้องถิ่น เลือกตั้ง อบจ. นายกเทศมนตรี นายก อบต. นี้ มันเป็นการเลือกตั้งเพื่อแสดงถึงความต้องการในการพัฒนา ในมิติที่มันแตกต่างไปจากเดิม ที่ผ่านมาในรอบ 6-7 ปี  ผมคิดว่า New Voter เขาจะมีความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วม

การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นรูปธรรมของความพยายามจัดการตนเอง

ถึงแม้ว่าเราจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ แต่ปัญหาหนึ่งและเป็นปัญหาหลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ ขาดความเป็นอิสระเพราะว่าปัญหาเรื่องการควบคุมหรือการกำกับดูแลหรือการสั่งการของรัฐบาลกลาง ยังมีอยู่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

ถ้าเราจะบอกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มันจะสามารถเปลี่ยนไปเป็นจุดเริ่มต้นการจัดการตนเองก็อาจจะเป็นได้ แต่ว่าอาจจะไม่มากนัก แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น คือว่าเราอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้ การทำให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมาในครั้งนี้ มันน่าจะเปิดพื้นที่บางอย่าง ทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้น

สมมุติว่าถ้าพี่น้องประชาชนรวมทั้งคนรุ่นใหม่ มาแสดงตัวเพื่อเลือกตั้ง มากกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป ผมคิดว่าอันนี้มันสะท้อนแล้วว่า เจตจำนงของคนในประเทศในจังหวัดต่าง ๆ เขาต้องการอะไร เขาต้องการเห็นอะไร ฉะนั้นถ้าเราจะบอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มันเป็นตัวสะท้อนถึงความต้องการที่จะให้มีการจัดการตนเองเพิ่มมากขึ้นได้ คงต้องไปดูวันเลือกตั้งจริงว่า ถ้าคนออกมาเยอะมาก ๆ แน่นอนเลยว่า หนึ่ง เขาวิเคราะห์แล้วว่าเขากำลังแสดงปฏิกิริยาต่อถ้าทีของรัฐบาลแน่นอน ผมคาดการณ์นะ ถ้าคนออกมาเยอะ ๆ สอง คือ จะเป็นเสียงส่งไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการทบทวนการกระจายอำนาจหรือยัง ถึงเวลาที่จะปลดล็อคให้ท้องถิ่นมีอิสระเพิ่มมากขึ้นหรือยัง ผมคิดว่าเราคงต้องรอดูวันที่ 20 ธันวาคม ว่าจำนวนของผู้ที่เข้ามามีส่วนในการเลือกตั้ง จำนวนมากน้อยเท่าไร

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตที่หลายคนทักท้วงว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เวลาไม่ค่อยเหมาะเท่าไร สำหรับคนที่จะมาใช้สิทธิ เพราะอยู่ช่วงระหว่างกันหยุดยาวทั้ง 2 ช่วง ช่วง 10-11 ธันวาคม และปลายปี การที่คนจะเดินทางมาใช้สิทธิมันก็จะลำบาก และการเลือกตั้งท้องถิ่นมีข้อจำกัด ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่สามารถจัดเลือกตั้งนอกเขตนอกสถานที่ได้  ต้องดูตรงนี้ว่าดูเชิงสถิติและเชิงข้อมูลเหมือนกัน ถ้าตัวเลขออกมาไม่มากนัก อาจจะต้องหางานวิชาการสักชุด เพื่อจะถอดออกมาว่า ถึงจำนวนอาจจะไม่มากนัก เมื่อเทียบกับผู้มีสิทธิจริง ๆ ที่ไม่ใช่ประชากรที่ออกไปข้างนอกและไม่กลับมานี้ สัดส่วนเท่าไร บางทีอาจจะต้องมีการทำนายตรงนี้ เพื่อจะทำเป็นข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มันจะสามารถแสดงออกถึงพลังที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ทั้ง ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ได้อย่างไร

งบประมาณในการบริหารท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

ผมคิดว่าเป็นมิติใหม่ของการเมืองท้องถิ่นเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมาเรื่องของการเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณของท้องถิ่นมันจะไม่แจ่มชัดมาก แต่ในรอบนี้ ในครั้งนี้ เท่าที่ผมเดินทางไปร่วมเวทีดีเบตของผู้สมัครต่าง ๆ  ที่อุบลราชธานี และนครราชสีมา เป็น 2 จังหวัดใหญ่ ปรากฏการณ์ของการเรียกร้องหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้สมัครเองที่พูดถึงเรื่อง การส่งตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณ มันชัดมาก

แสดงว่าตัวผู้สมัครเองก็ต้องเริ่มตระหนักแล้วว่า เขาคงจะมาคิดมิติการบริหารงานแบบผู้รับเหมาแบบเดิมไม่ได้แล้ว การมีส่วนร่วมแบบประชาคมยกมือ ทำไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ด้วยมิติต่าง ๆ ในตัวผู้สมัครเอง เขาเริ่มแสดงให้เห็นแล้ว ว่าเขาตระหนัก แล้วอันนี้เราคงไม่ต้องพูดถึงเรื่องของภาคประชาชนที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ที่จะเข้ามามีส่วนตรงนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเราบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มันจะสามารถเป็นตัวเริ่มต้น เป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการหรือตัดสินใจในเชิงงบประมาณ หรือนโยบายท้องถิ่น มากขึ้นหรือไม่ ผมยืนยันว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการบริหารงานท้องถิ่นที่ค่อนข้างจัดเจน

20 ธันวาคม 63 โอกาสสำคัญที่คนท้องถิ่นทั่วประเทศจะใช้อำนาจอธิปไตยในมือ

ถูกต้องครับ อย่างที่ผมบอกไปตอนต้นว่า การเลือกตั้งวันที่ 20 ธันวาคม มันจะไม่สำคัญเลย ถ้าคนมาใช้สิทธิแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าเรามาช่วยกันใช้สิทธิออกเสียงเยอะ ๆ จะโหวตไม่ออกเสียง จะมากาเบอร์ไหนก็ได้ ผมเชื่อว่ามันจะทำให้พี่น้องประชาชนได้บอกแล้ว หรือส่งเสียงไปแล้วว่า เสียงประชาชนนั้นมีความหมาย มีคุณค่าและต้องการการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น และเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกัน ทำให้การเมืองท้องถิ่นเป็นการเมืองที่ สร้างคุณประโยชน์ ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง”  

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ