เลือกตั้งท้องถิ่น: ฟังเสียงคนเชียงใหม่ อบจ.อยู่ตรงไหนของปัญหาฝุ่น ?

เลือกตั้งท้องถิ่น: ฟังเสียงคนเชียงใหม่ อบจ.อยู่ตรงไหนของปัญหาฝุ่น ?

ฝุ่นควัน คือโจทย์ใหญ่ที่คนเหนือและคนเชียงใหม่ ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่องติดต่อกันมากว่า 15 ปี  การจะก้าวให้พ้นวังวนของฝุ่นควันต้อง อาศัยการทำความเข้าใจให้เห็นภาพตรงกัน เพราะไม่ใช่แค่ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับปากท้อง ความเป็นอยู่ รายได้อาชีพ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนด้วย การแก้ไขปัญหานี้จึงต้องร่วมกันแก้ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ทั้งคนเมือง คนในภาคเกษตร คนในพื้นที่ป่า และหนึ่งภาคส่วนสำคัญที่จะมามีบทบาทนี้คือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  ทั้งอบต. หรือ อบจ.ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธ.ค.63

เวทีที่ผู้สมัครได้มาฟังข้อมูลและความคาดหวังของภาคประชน เรื่องฝุ่นควัน

เวทีส่งเสียงประชาชนให้ไปไกลกว่าการเลือกตั้ง (ท้องถิ่น)  ทีมไทยพีบีเอสภาคเหนือ วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนาเชียงใหม่ และสภาลมหายใจเชียงใหม่ จัดขึ้นโดยยกประเด็น “ปัญหาหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่” มาเพื่อให้เกิดพื้นที่สะท้อนมุมมองและความต้องการของชาวเชียงใหม่ ว่าบทบาทของท้องถิ่น จะช่วยได้อย่างไรจึงเกิดขึ้น 

เวทีนี้ไม่ใช่การดีเบทโชว์นโยบายของผู้สมัครนายก อบจ. แต่เป็นเวทีที่ผู้สมัครได้มาฟังข้อมูลและความคาดหวังของภาคประชนที่อยากจะเป็นบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่อย่าง อบจ. ทำหน้าที่   โดยมีตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่  คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ  ชาวเชียงใหม่ นักพัฒนารุ่นใหญ่ที่เข้าใจปัญหาฝุ่นควันทั้งในมิติในเมือง และป่า  คุณบัณรส บัวคลี่ นักเขียน สื่ออิสระ ผู้ชับเคลื่อนสภาลมหายใจเชียงใหม่ และเป็นทีมสื่อสู้ฝุ่น  wevo ที่พยายามสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสังคมเรื่องฝุ่นอย่างต่อเนื่อง  และคุณวิทยา ครองทรัพย์ อดีตสมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ที่หยิบปัญหาฝุ่นควันมาคุยตั้งเเต่ยุคเเรกๆ เชื่อมความรู้ ทุกภาคส่วนในการเเก้ปัญหามาโดยตลอด

ขณะที่ผู้สมัครนายกอบจ.เชียงใหม่ทั้ง 6 คน ตอบรับมาร่วมเวที 4 คน เป็นผู้สมัคร 2 ท่าน คือนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์  ผู้สมัครหมายเลข2 …กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม  และ คุณวินิจ จินใจ … ผู้สมัครหมายเลข3….กลุ่มเชียงใหม่ก้าวใหม่  อีก 2 ท่านส่งตัวแทนมาแทน คือตัวแทนคุณพิชัย เลิศพงศ์อดิศร  ผู้สมัครหมายเลข1 …กลุ่มเพื่อไทยเชียงใหม่  และตัวแทนคุณบดินทร์ กินาวงค์  ผู้สมัครหมายเลข4 …กลุ่มประชารัฐเชียงใหม่

เริ่มต้นเวทีด้วยสถานการณ์ฝุ่น และมมองจากภาคประชาชนว่า อบจ. หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด เกี่ยวอะไรกับปัญหาฝุ่นควัน ในเมื่อการแก้ไขที่ผ่านมา ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติมีคณะทำงานมากมาย

วิทยา ครองทรัพย์ และชัชวาลย์ ทองดีเลิส

วิทยา ครองทรัพย์  :  ภาพของเชียงใหม่ในอดีตคือเมืองที่อากาศดี ธรรมชาติสวยงาม เป็นเมืองในฝันของคนทั้งโลก เป็นเมืองที่หลายคนอยากมาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ แต่หลายปีหลังมานี้เกิดปัญหาเรื่องฝุ่นควัน ความเชื่อมั่นในการลงทุน การมาค้าขาย ทำธุรกิจ ลดน้อยลง  เราเคยถูกวางให้เป็น Medical Hub ในเชิงการรักษาสุขภาพ และการรักษาสุขภาพเชิงท่องเที่ยว อย่างชาวตะวันออกกลางที่เชื่อมั่นในระบบสุขภาพของไทย เราอาจจะได้เห็นครอบครัวจะมาที่เชียงใหม่เป็นคณะ ทั้งมาดูแลสุขภาพและท่องเที่ยว พอมีปัญหาเรื่องฝุ่นควัน จนกลายเป็นฤดูฝุ่นควัน ความเชื่อมั่นหายไป จนทำให้รายได้หายไปกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท หรือโครงการด้านอื่นๆ ผู้ประกอบการใหม่ๆ อสังหาริมทรัพย์ที่ต้องชะลอไป เพราะความไม่เชื่อมั่นในอากาศบ้านเรา

คนเชียงใหม่เองก็ได้รับผลกระทบเรื่องสุขภาพมีการเจ็บป่วย และเสียชีวิต ซึ่งมีงานวิจัยรองรับจากคณะแพทย์ศาสตร์ ม.เชียงใหม่  ระบุว่าฝุ่นควันเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเชียงใหม่เสียชีวิต และมีการสะสมในร่างกาย ในอนาคตก็จะส่งผลระยะยาว

บัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน คือการมองปัญหาแบบภาพรวม เน้นการป้องกันแทนการเผชิญเหตุ ซึ่งปีนี้เป็นการเริ่มต้นใหม่ในการเปลี่ยนวิธีคิด คือ หากมองย้อนหลังไป เราจะแก้ปัญหาด้วยการเผชิญเหตุ เมื่อไฟมาก็ค่อยใช้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ตาม พรบ.ควบคุมสาธารณะภัย แก้ปัญหาในช่วงเกิดฝุ่นควัน 3 เดือนแล้วจบไป มีการสำรวจจุดความร้อน Hot spot ของแต่ละวัน แล้วสั่งการไปยังอำเภอ จากอำเภอสั่งไปยังกำนัน  สั่งไปยังหมู่บ้าน แล้วผู้ใหญ่บ้านก็นำกำลังไปดับ เป็นวงจรที่ไม่ยังยืน และมีการสูญเสียชีวิตของชาวบ้าน

การจัดการสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องจัดการทั้งปี คือแนวคิดของชุมชนตัวอย่างชุมชนดีๆ อบต.ที่ก้าวหน้า ที่มีทำงานร่วมกับชุมชน และมีการทำแผนงานกันตลอดปี โดยมีวิธีคิดที่มองว่าไม่ใช่แค่ปัญหาภัยพิบัติ เช่น อบต. แม่ทา ซึ่งโชคดีที่มีแผน และมีงบประมาณ แต่หลายๆชุมชนไม่มี  อบจ.จะเป็นพี่ใหญ่ในการช่วยจัดการดูแลให้จังหวัด ให้ชุมชนดูแลจัดการตัวเองเป็นหลัก  อบจ.สามารถหนุนเสริมทำให้มีความแข็งแรงได้ เพราะที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

ชัชวาลย์  ทองดีเลิศ สภาลมหายใจเชียงใหม่  ปัญหาเกิดจาก 2 เรื่องหลัก

ความเป็นแอ่ง ถ้าจะไม่ให้เป็นแอ่งรับฝุ่น ก็ต้องแก้จากทุกสาเหตุ ทั้งการคมนาคมขนส่ง รถยนต์หนึ่งคนเท่ากับไฟ 1 กอง จุด 365 วัน ไม่มีเครื่องวัดแต่ปล่อยทุกวัน โรงงานิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ปล่อยทุกวัน ไม่มีเครื่องวัด ซึ่งเป็นส่วนที่มากองรวมอยู่ในแอ่งเชียงใหม่ แล้วก็มาเจอการเผาขยะ เผาข้าวโพด ไฟไหม้ป่า และจากเพื่อนบ้าน เราต้องแก้ทุกเหตุไปพร้อมๆกันแบบบูรณาการ

การแก้ปัญหาของรัฐที่ผ่านมาใช้วิธีการสั่งการ และไม่สร้างการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น

ความหวังอยู่ที่ท้องถิ่น ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีบทบาท มีปฏิบัติการ(action)อย่างเต็มที่  มีพลังอย่างเต็มที่ในการไปสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ให้ช่วยป้องกันมากกว่าไปไล่ดับไฟ

ท้องถิ่นต้องต่อรองกับส่วนกลาง เพราะที่ผ่านมามีการใช้มาตรการห้ามเผาโดยเด็ดขาด (Zero burning)ใช้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถป้องกันไฟไหม้ได้ มีการแอบจุดแล้วหนี จับตัวไม่ได้ จึงมีการเสนอให้ใช้วิธีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตลอดทั้งปี ซึ่งมีงานวิจัยทางวิชาการรองรับ โดยพื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกน แต่มีปัญหาคือรัฐไม่ตั้งงบประมาณให้ เพราะมีการโอนหน้าที่ไปอบต.ไปแล้ว

อบจ.จะมีส่วนช่วยไปหนุนชาวบ้าน หนุนท้องถิ่น ให้มีการบริหารจัดการไฟอย่างยั่งยืนก็จะช่วยลดฝุ่นควันได้

ข้อจำกัดด้านงบประมาณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน่วยดับไฟป่าจริง แต่ด้วยข้อจำกัดกำลังคนและด้านงบประมาณ สามารถดูแลได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ภารกิจต้องทำเต็มพื้นที่ก็ตาม ซึ่งกรมป่าไม้บอกว่ามีการโอนถ่ายอำนาจหน้าที่มาให้ อปท.แล้ว ก็ตั้งงบไม่ได้ ในขณะที่อปท.ที่ถูกโอนถ่ายอำนาจมาก็ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้รองรับภารกิจ เกิดเป็นช่องว่างในการบริหารจัดการ

เชียงใหม่มีชุมชนในพื้นที่ป่า 1,098 ชุมชน ถ้ามีงบประมาณให้ทำงาน เรื่องฝุ่นควันจะแก้ได้ ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท แต่ตอนนี้หลายที่มีแผนแล้ว แต่ไม่มีงบประมาณ

บัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจเชียงใหม่

บัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ เชียงใหม่มีพื้นที่ประมาณ 13 ล้านไร่ มีป่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นเขตป่าอนุรักษ์ซึ่งดูแลโดยกรมอุทยาน 4 ล้านไร่ มีทีมเสือไฟดูแล อีก 5 ล้านไร่อยู่ในเขตป่าสงวน ซึ่งมีการถ่ายโอนอำนาจให้อปท.ต่างๆดูแลแล้ว แต่ว่าช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาอปต.ก็ไม่มีงบประมาณ เพราะได้มาในปีแรกแล้วมีปัญหากับสตง.ในกาจัดการงบประมาณ ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็เป็นที่ราบ ที่ของเอกชนหรือที่อยู่อาศัย

ในการใช้งานดับไฟ เป็นการสั่งงานไปสู่หมู่บ้าน บางหมู่บ้านมีงบประมาณจำกัดมาก อย่างชุมชนในตำบลอมก๋อย พยายามหางบประมาณมาได้ 5,000 บาท ก็ต้องใช้กัน 3 เดือนในการเผชิญไฟป่า หรือบางแห่งมีแค่ 10,000 บาท หรืองบประมาณที่ตั้งไว้ 20,000 บาทก็ถือว่ายังน้อยมาก ถ้าจะทำให้กลไกของชุมชนเดินไปได้ ก็ต้องมีการดูแลไปจนถึงชุมชนท้องถิ่น จึงอยากเห็นบทบาทของอบจ.ตรงนี้

เมื่อเสียงสะท้อนถึงข้อติดขัดในแก้โจทย์เรื่องฝุ่นควัน  ผู้สมัคร อบจ.เชียงใหม่เข้ามาร่วมรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ก็มีคำตอบพร้อมแนวนโยบายของแต่ละท่านดังนี้

คือนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์  ผู้สมัครหมายเลข2 …กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม  และ คุณวินิจ จินใจ … ผู้สมัครหมายเลข3….กลุ่มเชียงใหม่ก้าวใหม่  อีก 2 ท่านส่งตัวแทนมาแทน คือตัวแทนคุณพิชัย เลิศพงศ์อดิศร  ผู้สมัครหมายเลข1 …กลุ่มเพื่อไทยเชียงใหม่  และตัวแทนคุณบดินทร์ กินาวงค์  ผู้สมัครหมายเลข4 …กลุ่มประชารัฐเชียงใหม่

นพ.เพทาย เตโชฬาร ตัวแทนคุณพิชัย เลิศพงศ์อดิศร  ผู้สมัครหมายเลข1

นพ.เพทาย เตโชฬาร ตัวแทนคุณพิชัย เลิศพงศ์อดิศร  ผู้สมัครหมายเลข1 …กลุ่มเพื่อไทยเชียงใหม่  กล่าวว่าปัญหา PM2.5 เป็นเรื่องสำคัญ ส่งผลต่อสุขภาพ  ต้องสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วน ตั้งแต่อบต. เทศบาลต่างๆ ทั้งในเมืองและใกล้ป่า โดยแบ่งการดูแลเป็นโซนๆ ในพื้นที่ป่าเน้นดูแลการเผา ชวนทางอปท.มาร่วมกับกรมป่าไม้ ส่วนในเมืองดูแลเรื่องฝุ่นจากรถยนต์ อุตสาหกรรม เผาตอซัง และฝุ่นควันจากเพื่อนบ้าน   ซึ่งอบจ.สามารถมาดูเป็นขั้นตอนว่าอบต.หรือเทศบาลไหนที่ต้องสนับสนุน หรือมีการมอบเกียรติบัตร เชิดชูเกียรติให้กับอปท.ที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าได้

ทุกภาคส่วน มีความรู้เชิญทุกท่านมาร่วมในที่นี้มีประสบการณ์ มีความรู้ หากทางทีมได้มีโอกาสเป็นรับเลือกก็จะเชิญทุกท่านมาร่วมกันแก้ปัญหานี้

นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์  ผู้สมัครหมายเลข2 …กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม 

นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์  ผู้สมัครหมายเลข2 …กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม  กว่าวว่า เชียงใหม่บ้านเราเป็นแอ่ง หน้าแล้งเมื่อลมตะวันตกเถียงใต้พัดเข้าสู่เมืองก็จะเกิดปัญหาฝุ่นควัน ซึ่งเราพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้มา 10 กว่าปี   ซึ่งต้องดูต้นเหตุปัญหา PM2.5 ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ป่า 70 เปอร์เซ็นต์ เกิดในพื้นที่เมือง 30 เปอร์เซ็นต์มาจากความเจริญของเมืองเชียงใหม่ วิธีการแก้ไขต้องทำไปพร้อมกับการป้องกัน ถอดบทเรียนใน 10 ปีที่ผ่านมา แก้ให้ตรงจุด

ส่วนเรื่องการอุตหนุนอปท. ก็ได้สอบถามไปทางกระทรวงมหาดไทย และได้รับการตอบรับมาว่าสามารถใช้งบอบจ.รวมทั้งบงท้องถิ่นขนาดเล็ก หรืออบต. ได้ แต่ต้องอุดหนุนผ่านคณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.) ซึ่งเป็นคณะนิติบุคคลอันใหม่ ซึ่งก่อนหมดวาระก็มีการตั้งงบไว้โดยแบ่งตามขนาดพื้นที่ป่าที่ดูแล เป็นหมู่บ้านS M L โดยจะอุดหนุนผ่าน กม. ตามระเบียบงบประมาณท้องถิ่น ซึ่งหากท่านไหนเป็นนายกอบจ.ก็สามารถใช้บทบาทของกม. ตรงนี้ได้

ที่ผ่านมาการเข้าไปดูแลป่า งบประมาณมาจากากรช่วยกันเรี่ยไร เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ปัญหาใหญ่ต้องแก้โดยใช้กม.ไปทำงาน ก่อนไฟมา ไปทำแนวกันไฟ ไม่ให้ไฟล้อมเข้ามาในป่าชุมชน

ส่วนพื้นที่ป่าสงวนที่มีการถ่ายโอนภารกิจ แต่ไม่มีการโอนเงินมา บางพื้นที่มีการไปตัดไม้ทำแนวกันไฟ ก็ถูกจับ ก็ต้องแก้ด้วย เริ่มจากการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า และสร้างแหล่งน้ำ สร้างความชุ่มชื้น ฝายชะลอน้ำ ที่ผ่านมาช่วงดำรงตำแหน่งก็ทำฝายชะลอความชุ่มชื้นไปไม่ต่ำว่า 2,000 ฝาย และ ตั้งเป้า 10,000 ฝายในเบื่องต้นจะเป็นแนวกันไฟ ปัญหาต่างๆเหล่านี้ต้องทำทุกภาคส่วนพร้อมๆกัน ตอนนี้เรามีระบบดาวเทียมดูจุดความร้อน 2 ตัว ดาวเทียมวนไปเรื่อยๆ พอวนผ่านไป ก็มีการเผา จุดความร้อนไม่ขึ้น แต่PM2.5 ก็เหมือนเดิม การห้ามเผาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เราจะมีการแบ่งเวลาเผาไหม แชร์กันว่าใครเผาก่อนเผาหลัง

นายวินิจ จินใจ ผู้สมัครหมายเลข3….กลุ่มเชียงใหม่ก้าวใหม่

นายวินิจ จินใจ ผู้สมัครหมายเลข3….กลุ่มเชียงใหม่ก้าวใหม่  สรุปปัญหา คือ 1.เป็นการแก้ปัญหาแบบชั่วครูชั่วยาม เฉพาะหน้า แบบไฟไหม้ฟาง ไม่มีการบูรณาการทำงานแก้ปัญหาต่อเนื่อง 2.สาเหตุปัญหาเมืองเชียงใหม่เป็นแอ่งกระทะ การขนส่งจราจร ส่วนหนึ่งมาจากภาคการศึกษา ในชั่วโมงเร่งด่วนเร่งด่วน รถจากรอบนอกเข้ามาในเมือง มีปัญหาฝุ่นควันไฟป่าที่เติมมา 3.ขาดแคลนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ขาดการบุรณาการ ที่จะมีเจ้าภาพทุกส่วนทุกส่วน ภาคส่วนต่างๆมีงบ แต่ไม่ได้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว จึงไม่ต่อเนื่อง

แนวทางแก้ปัญหา ต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วน หนึ่งลำพังเฉพาะ อบจ.เชียงใหม่ ตั้งใจแก้ปัญหาทำได้แต่ไม่ทั้งหมด ต้องเชื่อมโยงกับอปท. เช่น เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล อบต. สองบูรณาการระหว่างส่วนราชการ ทั้งราชการท้องถิ่นและราชการส่วนกลางที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และราชการส่วนภูมิภาคต้องทำให้ชัดเจน

ดร.ธนากร เนตรน้อยสกุล ผู้แทนคุณบดินทร์ กินาวงค์  ผู้สมัครหมายเลข4 …กลุ่มประชารัฐเชียงใหม่

ดร.ธนากร เนตรน้อยสกุล ผู้แทนคุณบดินทร์ กินาวงค์  ผู้สมัครหมายเลข4 …กลุ่มประชารัฐเชียงใหม่

ต้องมองว่าสิ่งที่มันเกิดเกิดตรงไหน คือเกิดที่แอ่งกระทะเชียงใหม่-ลำพูน และลามออกไป แอ่งกระทะเชียงใหม่-ลำพูน มีความพิเศษ คือมีความกดอากาศสูง พอมีความกดอากาศกดลงมาฝุ่นควันก็ไม่ลอยขึ้นไป จะส่งผลกระทบสุขภาพ

ปัญหาที่เกิดในเมืองไม่ว่าจะเป็น หมูกระทะ ควันรถ ระบบอู่พ่นสีที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีสารตะกั่ว กระบวนการเหล่านี้ไม่ถูกควบคุมเท่าไหร่ ก็ลามไปชุมชนนอกๆในชนบท ชุมชนตามหุบเขาที่มีการเผา ปัญหาในเมืองและนอกเมืองต่างกัน แต่มีกลวิธีว่าต้องทำแบบไหน ในส่วน ของอบจ.ทำหน้าที่เป็นกองอำนวยการหรือประสานงานที่ดีในการแก้ปัญหาดีกว่า ไม่ใช่ให้มีค่ำสั่งลงมาให้วิ่งไปตามดับไฟ เพราะเป็นแค่ปลายทาง ต้องมียุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมร่วมกัน ว่าท้องถิ่นเอง รัฐบาลจะทำอย่างไร ต้องหนุนสเริมชาวบ้าน ที่เป็นคนทำ สามารถไปหนุนเสริมการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน

พลังงานสีเขียวในบ้านเราไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เศษกิ่งไม้ ใบหญ้าแปลงเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง มีการให้ชาวบ้านรวมรวมมาขาย อัดแท่งใช้แทนถ่านหินได้ ส่วนในเมืองการคมนาคมขนส่งควรเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า อย่างรถแดงก็สามารถอุดหนุนให้เขาเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้าได้ และในส่วนของชาวบ้านที่มีการรวบรวมวัสดุการเกษตร ใบไม้ มาทำเป็นเชื้อเพลิงก็สามารถนำมาสร้างกองทุนชุมชน ส่วนของอปจ.ก็หนุนเสริมโครงการดีๆเข้าไป  โดยโครงการมาจากชาวบ้าน ที่มีนักวิชาการผู้มีความรู้เป็นที่ปรึกษา

นักเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนาเชียงใหม่

การเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีทำเพื่อความหวังของการแก้โจทย์ฝุ่นความ ในมุมของภาคประชาชนเห็นว่า  อบจ.เป็นผู้เล่นที่สำคัญไม่น้อย  ซึ่งวิสัยทัศน์  มุมมองของผู้สมัครแต่ละพรรค ได้เผยให้เห็นทั้งในคำตอบ และนโยบายที่ประกาศแล้วให้พิจารณาแล้ว  

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ