วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม นี้ เป็นวันเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศหรือการเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกนับตั้งแต่มีรัฐประหารโดยคณะคสช. การเลือกตั้งอบจ.ในครั้งนี้จึงมีความสำคัญเพราะเป็นอีกช่องทางที่ประชาชนจะได้แสดงเจตจำนงทางการเมืองในการตัดสินใจเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นของตนเอง
ทีมงานสื่อพลเมืองคุยกับ รองศาสตร์ตราจารย์ ดร. ณฐพงค์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณและเป็นนักวิชาการที่เกาะติดการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
Q : อาจารย์คิดว่าเลือกตั้งท้องถิ่นตอนนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนไหม
A : คิดว่าพอสมควร ถามว่าทำไมถึงอยู่ในความสนใจ ข้อแรกคือ ท้องถิ่นถูกแช่แข็งมานานพอสมควร การถูกแช่แข็งโดยกลไกและกฎหมายจากข้างบน พอเงื่อนไขมันเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้คนให้ความสนใจ หลายปีมานี้คิดว่าผู้คนเริ่มเห็นว่าการเมืองท้องถิ่น ก็มีผลต่อการดำรงชีวิตของเขาในพื้นที่หรือจังหวัดนั้นๆ
ข้อสอง ผู้คนเริ่มเห็นความเชื่อมโยงการเมืองระดับชาติและการเมืองระดับท้องถิ่น ในขณะที่การเมืองระดับชาติยังเป็นการเมืองแบบปิดแม้เราจะมีการเลือกตั้ง มีกฎกติกา มารยาทต่างๆ แต่กติกาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับเอกชนมากนัก การมีการเมืองท้องถิ่น การเปิดกว้างของระบบการเมืองในท้องถิ่นคิดว่า จะเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้ประชาชนได้ ส่งเสียงและทำให้ประชาชนได้ขบคิดว่า เขาจะพาตัวเองกลับไปส่งการเมืองอีกครั้งได้อย่างไร ผ่านระบบการเมืองในท้องถิ่น
“ผมเริ่มเห็นมิติบางประการที่ ผู้คนเริ่มคิดว่าการเมืองท้องถิ่นหรือนโยบายการเมืองระดับท้องถิ่น มันเป็นกลไกลทางการเมืองที่ใกล้ชิดเขาและเขาสัมผัสได้ ในขณะที่การเมืองข้างบนมันเริ่มไกลตัว เขาเริ่มส่งเสียงได้ยากขึ้น ช่องทางการใช้การเมืองท้องถิ่น คิดว่าในอนาคตคิดว่าช่องนี้นี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่ชุมชนหรือชาวบ้านหันมาให้ความสำคัญ ใช้เป็นช่อง รณรงค์หรือเป้าหมายหรือข้อเรียกร้องของตนเองได้รับการแก้ไขหรือได้นับการเรียกร้องมากขึ้น”
.
Q : ภาพรวมนโยบายการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ล่ะคะ ..ชัดหรือว่าไม่ชัด ในแง่บทบาทหน้าที่ของ อบจ.
A : ในหลายจังหวัดไม่ชัด ผมแปลกใจเหมือนกัน ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่เสนอตัวไปทำงานท้องถิ่นครั้งนี้ นำเสนอนโยบายการเมือง การหาเสียงที่ไม่ค่อยยึดโยงกับประชาชน หรือพื้นที่มากนัก มีบางพรรคการเมืองเท่านั้นที่พยายามเสนอนโยบายเรื่องการจัดการทรัพยากร การส่งเสริมเรื่องมือท่องเที่ยวซึ่งหมายถึงว่า นำเสนอนโยบายที่ไปสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาในจังหวัดนั้น หลายพื้นที่ก็พูดกลางๆรวมๆ เช่น เสนอตัวมาทำงาน เราไม่ได้มาแสวงหาประโยชน์ พูดในเชิงหลักการที่บอกว่าตัวเองเป็นคนดี แต่การนำเสนอนโยบายทางการเมือง คิดว่ารอบนี้ไม่ชัดเจน ดูจากสงขลาเห็นรูปธรรมชัดว่าไม่มีรายละเอียดเรื่องเหล่านี้มากนัก
.
Q : ขณะที่จังหวัดหรือเมืองต้องเติบโต คนจนเมือง คนรากหญ้าอยู่ตรงไหนของนโยบายการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ ?
A : วันนี้เรายอมรับ ว่าการพัฒนาเมือง ทั้งเรื่องแนวคิดเมืองอัจฉริยะ แนวคิดเรื่องกรีนซิตี้หรือแม้แต่เมืองมรดกโลก สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีคิดแบบรสนิยมคนชนชั้นกลางขึ้นไป มุ่งตอบสนองการพัฒนาเมืองที่ไปตอบอารมณ์ความรู้สึกเมืองที่สวยงามเช่น เสนอเรื่องเส้นทางจักรยาน สวนสาธารณะหรือพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ ซึ่งเอาเข้าจริงเรื่องเหล่านี้ไม่ไปได้ตอบโจทย์ทิศทางหรือการพัฒนาเมืองที่ตั้งอยู่บนฐานของการมองเห็นผู้คน ที่เราเรียกว่าคนจนเมืองหรือผู้คนที่เป็นฐานล่างของเมือง เรายังไม่เห็นมากนัก นี่ก็เป็นประเด็นสำคัญเหมือนกันจะทำอย่างไรให้นโยบายที่พูดถึงการพัฒนาเมือง เป็นเมืองของคนทุกกลุ่ม เป็นเมืองของคนตัวเล็กตัวน้อยที่คนทุกข์คนยากสามารถมีตัวตน แสดงออกในบทบาททางการเมืองของตัวเองได้ หรือเสนอนโยบายที่ตอบโจทย์หรือสอดคล้องต่อความต้องการของเขา การพัฒนาเมืองที่หล่อสวย สุดท้ายนโยบายก็ไปไม่ถึงคนจน
“จุดสำคัญที่คิดว่า นักการเมืองระดับท้องถิ่นต้องเสนอนโยบายที่ยึดโยงกับสภาวะและความเป็นจริงของผู้คนในเมืองนั้น การที่จะทำนโยบายหรือพัฒนานโยบายหรือริเริ่มนโยบายที่ไปยึดโยงผลประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่ม มองว่านักการเมืองต้องปรับตัวเอง ถ้าเป็นพรรคการเมืองก็เป็นแมสปาร์ตี้ คือ เข้าถึง ลงไปหา แล้วก็ทำงานความคิดและใกล้ชิดกับผู้คนมากขึ้น แล้วเอาสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาเป็นนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนทุกกลุ่ม ก็จะเข้ากับสิทธิและการพัฒนาของคนในเมืองหรือในพื้นที่นั้น”
.
Q : การทำให้การเมืองท้องถิ่นเข้มแข็ง จะเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตย?
A : แน่นอนเมื่อทำให้การเมืองท้องถิ่นแข็งแรง-เข้มแข็ง ก็ต้องไปส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนเข้มแข้งด้วย ที่ผ่านมาการเมืองมันถูกทำให้รังเกียจตัวแทนของประชาชนในระดับท้องถิ่น สุดท้ายเราก็บอกว่ามันแช่แช็งไว้ แล้วก็ทำให้การเป็นการเมืองของคนดีไป การเมืองของคนดีมันไม่ใช่คำตอบ ของการพัฒนาประชาธิปไตย
สุดท้ายแล้ว การทำให้แข็มแข็งไม่ใช่แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวแต่ยังสัมพันธ์กับการกระจายอำนาจและการตัดสินใจ สัมพันธ์กับท้องถิ่นที่มีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง สามารถจัดการทรัพยากรที่จะถูกแบ่งปันมายังท้องถิ่นได้ด้วย ไม่ใช่แค่มีการเลือกตั้งอย่างเดียวแล้วทุกสิ่งทุกอย่างรวบไว้ที่ส่วนกลาง แล้วบอกว่าเป็นประชาธิปไตย ท้องถิ่นมีมากกว่านั้น สิทธิของท้องถิ่นที่จะจัดการตนเอง สิทธิที่จะส่งเสริมหรือสนับสนุน ให้ประชาชนรวมกลุ่มจัดการบางอย่างในแบบท้องถิ่นเอง ที่จะปกครองตนเอง อันนี้ก็สำคัญที่จะผลักดันกันในอนาคต