ชุมนุม 25 พ.ย.: “ราษฎร” แกงหม้อใหญ่เปลี่ยนไปสำนักงานใหญ่ SCB

ชุมนุม 25 พ.ย.: “ราษฎร” แกงหม้อใหญ่เปลี่ยนไปสำนักงานใหญ่ SCB

“แกงหม้อใหญ่” ในช่วงค่ำ ก่อนวันนัดหมายชุมนุมใหญ่หน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพียง 1 วัน กลุ่ม “ราษฎร” แจ้งเปลี่ยนแปลงสถานที่นัดชุมนุมไปเป็นที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สำนักงานใหญ่

การประกาศย้ายสถานที่ครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่มีรายงานว่า ตำรวจระดมกำลังหลายพันนายมารับมือผู้ชุมนุม และมีการเตรียมแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับแกนนำ 12 คน ด้านหนึ่งลดบรรยากาศความตึงเครียดจากสถานการณ์ ‘ม็อบชนม็อบ’ และกระแสข่าวการรัฐประหาร รวมถึงการประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อรับมือกับการชุมนุม

25 พ.ย. 2563 หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เวลา 14.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มทยอยมารวมตัวกัน โดยใช้ถนนคู่ขนานทางฟุตบาทหน้าทางเข้าเป็นที่ชุมนุม และเปิดเวทีปราศรัยบนรถติดเครื่องขยายเสียง

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ว่า เจ้าหน้าที่จัดกำลังตำรวจนครบาล 2 และ ตำรวจควบคุมฝูงชน เพื่อดูแลความปลอดภัย และ ความสงบ ยืนยันยังไม่มีการนำรถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้ามาในพื้นที่ สำหรับด้านการจราจร ได้จัดกำลังตำรวจจราจร คอยอำนวยความสะดวก ซึ่งขณะนี้ตำรวจยังไม่ตัดสินใจปิดการจราจร ส่วนประชาชนที่ต้องสัญจรผ่านต้องตรวจสอบดูเส้นทางอย่างใกล้ชิด จึงฝากกลุ่มผู้ชุมนุมให้ชุมนุมด้วยความสงบไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่สัญจรผ่าน

สำหรับการขออนุญาตใช้พื้นที่ของกลุ่มผู้ชุมนุม แม้จะได้รับการประสานมาจากแกนนำ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตใช้พื้นที่ ส่วนกรณีการจัดวางตู้คอนเทนเนอร์ และแบริเออร์ ใกล้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริ ยังไม่มีสามารถตอบได้ว่าจะเคลื่อนย้ายออกได้เมื่อไหร่ ต้องดูสถานการณ์ว่าจะมีการชุมนุมใกล้พื้นที่อีกหรือไม่

ทั้งนี้ การดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดำเนินคดีไปแล้วกว่า 170 คดี ทั้ง กทม. และต่างจังหวัด

เวลา 15.30 น. พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน มาถึงพื้นที่ชุมนุม และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การดำเนินคดีกับแกนนำด้วย มาตรา 112 เพื่อหวังที่จะจับแกนนำและปล่อยให้การชุมนุมกันโดยไม่มีแกนนำนั้น ไม่ได้ทำให้เสียรูปขบวนของการชุมนุม กลับทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุม และการดำเนินคดีตามมาตรา 112 เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ายังมีระบบเก่าล้าหลัง และเมื่อมีการใช้ขึ้นมาเมื่อใดก็จะสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศ

ด้านภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ กล่าวถึงการเปลี่ยนที่ชุมนุมมาเป็นที่นี่ว่ากระบวนการของเราเป็นสันติวิธีมาโดยตลอด เราประเมินแล้วที่ตำรวจปิดกั้นเส้นทางที่เราจะไป และเราประเมินถึงความไม่ชอบธรรมที่เจ้าหน้าที่จะสร้างให้มันเกิดเงื่อนไขการทำรัฐประหาร เราจึงเลือกเปลี่ยนเส้นทาง เพื่อแสดงจุดยืนว่าเรายังไม่ได้อยากปะทะกับใคร และไม่อยากสร้างเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่ทำรัฐประหาร เพราะสิ่งสำคัญที่เราให้คือความปลอดภัยของมวลชน เราไม่ต้องการให้กระบวนการของเราเดินไปสู่เส้นชัยด้วยการเสียเลือดเนื้อ แต่จะเดินสู่เส้นชัยอย่างสงบ งาม เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม วันนี้อยากให้ติดตามการชุมนุมกันต่อไป ขอบอกว่ายกแรกเป็นยกลองเชิงว่าทางรัฐจะมีการตอบโต้กับประชาชน ส่วนจะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์หรือไม่นั้นต้องรอติดตาม

นายภาณุพงศ์ กล่าวต่อว่า การใช้กฎหมายมาตรา 112 นั้น ไม่ใช่กฎหมายที่เป็นสากล และเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกลับกลอกของรัฐบาลเองที่แถลงการณ์ว่าต้องการใช้กฎหมายที่เป็นสากล แกนนำที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ก็ถือเป็นการแสดงความพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในการกระทำ และจะส่งผลกระทบทำให้มวลชนออกมาชุมนุมกันมากขึ้น เชื่อว่าวิธีจับแกนนำไปนั้นไม่ได้มีผลให้หยุดการชุมนุมได้ เพราะการชุมนุมก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ

000

ส. ศิวรักษ์ ปราศรัยขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาภาพ: Sulak Sivaraksa

สำหรับไฮไลท์ของการชุมนุมในครั้งนี้ คือการที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการกษัตริย์นิยมอาวุโส เจ้าของนามปากกา “ส.ศิวรักษ์” มาร่วมชุมนุม เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. และกล่าวปราศรัยสั้น ๆ ตำหนิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่นำมาตรา 112 มาดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมถือเป็นเรื่องที่เลวร้าย และเรียกร้องให้ประชาชนและผู้ร่วมชุมนุมช่วยกันทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“…พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่แล้วมีพระราชกระแสว่าใครนำมาตรา 112 มาใช้นั้น เป็นการทำร้ายพระองค์ท่าน และเป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมโทรม นี่เป็นพระราชดำรัสรัชกาลที่ 9 นะครับ ประยุทธอ้างว่าจงรักภักดี ทำไมไม่ทำตามกระแสพระราชดำรัส

นอกจากนี้แล้ว ในหลวงองค์ปัจจุบันพอเสวยราชท่านก็มีลายพระหัตถ์ถึงอัยการสูงสุด ถึงประธานศาลฎีกา ให้ยุติใช้มาตรา 112 ตอนนี้ประยุทธเอามาตรา 112 ออกมาใช้ เป็นการขัดพระราชโองการ เป็นการทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการรังแกพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นประยุทธมีความชั่วร้ายมาก

ประเด็นนี้ประเด็นเดียวเราต้องรวมกันถีบประยุทธออกไป ถีบออกไปด้วยความเคารพ

ผมขอพูดเท่านั้นนะครับ หวังว่าท่านทั้งหลายจะร่วมมือกัน ถีบประยุทธด้วยความเคารพ ให้มันออกพ้นอำนาจรัฐบาลให้ได้ เพราะมันทำในสิ่งที่ขัดต่อพระราชกฤษฎีการัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10″ สุลักษณ์ ศิวรักษ์

000

เกิดเหตุยิงปืน-ปาระเบิด หลังยุติชุมนุม

บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มราษฎรในช่วงค่ำ มีแกนนำราษฎรสลับกันขึ้นปราศรัยกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ ไปจนถึงประเด็นปัญหาปากท้องและการผลักดันรัฐสวัสดิการ ทั้งนี้ กลุ่มราษฎรยังคงยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องเดิม โดยเน้นไปยังในเรื่องงบประมาณไม่ให้นำเงินของประชาชนไปใช้เพื่อธุรกิจที่เอื้อกับสถาบันฯ ขณะเดียวกันก็มีรถปราศรัยย่อยๆ กระจายอยู่ในพื้นที่ชุมนุมด้วย

หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุมเมื่อเวลา 21.20 น. โดยนัดหมายชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ย เวลา 16.00 น. แต่ยังไม่แจ้งสถานที่ มวลชนกระจายตัวแยกย้ายกันเดินทางกลับ เวลาประมาณ 22.10 น. ได้เกิดเสียงดังคล้ายเสียงระเบิดและเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 3 นัด ต่อมาได้มีการลำเลียงคนเจ็บออกจากพื้นที่ชุมนุม โดยขณะเกิดเหตุนั้นสำนักข่าว The Standard กำลังรายงานสดอยู่บริเวณใกล้เคียง และสามารถจับภาพบางส่วนของเหตุการณ์ไว้ได้

ทวิตเตอร์การ์ดภาคีเพื่อประชาชน ได้รายงานเหตุการณ์ว่า คนโดนยิงที่เป็นการ์ดโดนเข้าที่ท้องส่งตัวที่โรงพยาบาลพระราม 9 อาการสาหัส คนยิงส่งตัวไปที่ ร.พ.เซนต์หลุยส์เจ็บหนักเหมือนกัน คนปาระเบิดยังจับไม่ได้ใส่หมวกกันน็อกสีขาวเต็มใบ

https://www.facebook.com/1683658098593742/videos/708501860104965

000

13 INGO ร้องไทยคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ

องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ 13 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมถึงทางการไทยเกี่ยวกับการชุมนุมของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 17 และ 25 พ.ย.นี้ ระบุข้อเสนอแนะ 4 ข้อ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เคารพ คุ้มครอง และสนับสนุนการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ เพื่อให้สอดคล้องตามพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยที่มีต่อกติกา ICCPR และกฎหมายระหว่างประเทศ และเน้นย้ำว่า ให้ทางการไทยดำเนินการเพื่อประกันให้มีความรับผิดเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ จากการทำหน้าที่ของรัฐบาลในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม และประกันว่าผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิสามารถใช้สิทธิการเข้าถึงการเยียวยาอย่างได้มีประสิทธิภาพ

13 องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ ประกอบด้วย Amnesty International, Article 19, ASEAN Parliamentarians for Human Rights, Asia Democracy Network, Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA), Asian Network for Free Elections (ANFREL), CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation, Civil Rights Defenders, FIDH – International Federation for Human Rights, Fortify Rights, Human Rights Watch, International Commission of Jurists และ Manushaya Foundation ออกแถลงการณ์ร่วมประณามการใช้กำลังของตำรวจไทยที่ขาดหลักความจำเป็นและเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมโดยสงบที่เดินขบวนไปรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา และแสดงความกังวลว่าทางการไทยอาจใช้มาตรการแบบเดียวกันเมื่อผู้ชุมนุมประกาศว่า จะมีการชุมนุมอีกครั้งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสำนักงานใหญ่ในวันที่ 25 พ.ย.นี้

ในแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ทำการภาคยานุวัติในปี พ.ศ. 2539 คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก (มาตรา 19) และการชุมนุมโดยสงบ (มาตรา 21) แต่ทางการไทยมักปิดกั้นการแสดงออกและจำกัดการชุมนุม ประชุม หรือเสวนาสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน การปฏิรูปทางการเมือง และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคม  

โดยอ้างถึงความเห็นทั่วไปที่ 37 ซึ่งระบุเนื้อหาเกี่ยวกับพันธกรณีของประเทศไทยในการประกันสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ การใช้ความรุนแรงของบุคคลเพียงบางส่วนไม่อาจถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอื่น ของผู้จัด หรือของการชุมนุมดังกล่าวได้ และแม้ว่าสิทธิในการชุมนุมโดยสงบอาจถูกจำกัดได้ในบางกรณี แต่รัฐมีหน้าที่ในการให้เหตุผลสนับสนุนการจำกัดสิทธิเช่นว่า ซึ่งจำเป็นต้องสอดคล้องกับหลักว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมาย หลักความชอบธรรม หลักความจำเป็น และหลักความได้สัดส่วน 

นอกจากนั้นยังระบุว่า เนื่องจากมีเด็กเข้าร่วมการชุมนุมเหล่านี้ด้วย ซึ่งคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติซึ่งได้เน้นย้ำความเห็นต่อร่างความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ว่ารัฐมีหน้าที่เชิงบวกในการปกป้องสิทธิเด็กและจะต้องดำเนินการโดยตระหนักว่าอาจมีเด็กอยู่ในพื้นที่ชุมนุมและปกป้องพวกเขาจากอันตรายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงอันตรายที่เกิดจากผู้เข้าร่วมการชุมนุมคนอื่น ๆ

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะต่อทางการไทย 4 ข้อ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพ คุ้มครอง และสนับสนุนการใช้สิทธิในการทำการชุมนุมโดยสงบ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทยภายใต้ ICCPR และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไทยควร

1. อนุญาตให้คณะราษฎรเดินขบวนในวันที่ 25 พ.ย. และอนุญาตให้ผู้ชุมนุมที่ไม่ใช้ความรุนแรง รวมถึงผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก สามารถชุมนุมโดยสงบที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสำนักงานใหญ่

2. คุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมโดยสงบ รวมถึงผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก โดยสอดคล้องตามความเห็นทั่วไปที่ 37 ว่าด้วยสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 

3. สนับสนุนการใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบ และหลีกเลี่ยงจากการสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธ รวมทั้งการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำต่อผู้ชุมนุม โดยต้องปฏิบัติให้สอดคล้องตามหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และแนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำทั้งขององค์การสหประชาชาติและอื่น ๆ  

4. คุ้มครองผู้ชุมนุม รวมถึงผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก จากความรุนแรงและการแทรกแซงของบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมกับคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมต่อต้าน ดำเนินการเพื่อประกันให้มีความรับผิดเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ จากการทำหน้าที่ของรัฐบาลในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม และประกันว่าผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิสามารถเข้าถึงสิทธิในการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพได้ ตามที่ได้รับการประกันไว้ในมาตรา 2(3) ของ ICCPR

สุดท้ายเน้นย้ำว่า ให้ทางการไทยดำเนินการเพื่อประกันให้มีความรับผิดเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ จากการทำหน้าที่ของรัฐบาลในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม และประกันว่าผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิสามารถใช้สิทธิการเข้าถึงการเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านแถลงการณ์

Statement-of-NGOs-re-Nov-17-and-25-THAI-FINAL

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ