อ่านรายงาน Article 19 เรียกร้องไทยยุติการปราบปราม เคารพสิทธิในการชุมนุม

อ่านรายงาน Article 19 เรียกร้องไทยยุติการปราบปราม เคารพสิทธิในการชุมนุม

ตั้งแต่ต้นปี 2563 มีบุคคลอย่างน้อย 173 คนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและกล่าวหาเกี่ยวกับกิจกรรมการชุมนุม หลายคนถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกสองปี

อาร์ติเคิล 19 (ARTICLE 19) องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ที่ทำงานรณรงค์กว่ายี่สิบปี เพื่อให้ประเทศต่างๆ เคารพและปฏิบัติตามหลักการมาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ มาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ภาพประกอบ เชาว์ นาคอิน ดูเพิ่มเติม ชุมนุม 23 ตุลา: นอนแคมป์ไม่นอนคุก ปักหลักค้างคืนหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

อาร์ติเคิล 19 และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติดังนี้

  • ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงภายใต้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งระงับการใช้อำนาจจากพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจำกัดสิทธิในการชุมนุม รวมถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ;
  • ยุติการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลทั้งหมดที่ถูกกล่าวหาเพียงเพราะใช้สิทธิในการชุมนุม พร้อมทั้งปล่อยตัวบุคคลทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากเหตุเดียวกันทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข;
  • สั่งการให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดไม่ดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลใดจากการเข้าร่วมชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลหรือสถาบันกษัตริย์;
  • แก้ไขพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งมีบทบัญญัติเป็นข้อจำกัดต่อเวลาสถานที่ และลักษณะการชุมนุมให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ;
  • แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทสถานบันกษัตริย์ และมาตรา 116 เกี่ยวกับการยุยงปลุกปั่น;
  • อำนวยให้เกิดการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงช่วยเหลือให้ความปลอดภัยแก่สถานที่ชุมนุมและรับประกันความปลอดภัยของผู้ชุมนุม;
  • ระงับการสลายการชุมนุมหรือการใช้อาวุธ รวมถึงอาวุธที่มีความร้ายแรงตํ่า (less-lethal weapons) ต่อผู้ชุมนุม เว้นแต่ในสถานการณ์พิเศษ เช่น กรณีที่มีความจำเป็นต้องปกป้องผู้ชุมนุมหรือผู้สังเกตการณ์จากความรุนแรงหรืออันตรายใด ๆ อันใกล้จะถึง;
  • อบรมเจ้าพนักงานบังคังใช้กฎหมายทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับการดูแลการชุมนุมให้เข้าใจมาตรฐานสากลเกี่ยวกับเสรีภาพการชุมนุม การใช้กำลัง และการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงตํ่า;
  • ระงับการขัดขวางการดำเนินงานของระบบขนส่งสาธารณะ เว้นแต่เมื่อมีความจำเป็นต้องป้องกันอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินอันใกล้จะถึงหรือที่ร้ายแรง;
  • ยุติความพยายามในการปิดกั้นเนื้อหาออนไลน์ รวมถึงการถอดถอนคำสั่งใดที่ให้แก่สื่อสังคมออนไลน์และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเพื่อปิดกั้นเนื้อหา บัญชี หรือเว็บไซต์;
  • ถอดถอนคำสั่งและยุติการดำเนินคดีทางกฎหมายใดซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งสื่ออิสระไม่ให้รายงานสถานการณ์การชุมนุมและข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม; และ
  • ดำเนินการเพื่อรับประกันให้มีการรับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการชุมนุมเคลื่อนไหวโดยรัฐบาล พร้อมทั้งรับประกันให้บุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิสามารถเข้าถึงสิทธิในการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 25 ตุลาคม 2563 อาร์ติเคิล 19 เผยแพร่ข้อเรียกร้องข้างต้น พร้อมระบุว่า รัฐบาลไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุมโดยสงบอย่างต่อเนื่อง ระหว่างการปราบปรามการชุมนุมเคลื่อนไหวที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มเยาวชนและกำลังขยายวงกว้าง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและอาร์ติเคิล 19 กล่าวในรายงานซึ่งเปิดตัววันนี้ เจ้าหน้าที่ควรยุติการดำเนินคดีที่ไร้เหตุผลและระงับการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุม รัฐบาลควรเติมเต็มพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่คนไทยสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบได้อย่างปลอดภัย ปราศจากความกลัวและการแทรกแซงจากภาครัฐ

นางเยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “ลูกความของเราจำนวนมากเผชิญกับโทษจำคุกหลายปี บางรายเป็นสิบปี แค่เพียงเพราะเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยอย่างเปิดเผย”

รายงาน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย: การปราบปรามสิทธิการประท้วงโดยรัฐ บรรยายการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับวิธีการที่รัฐบาลไทยโต้ตอบต่อการชุมนุมเคลื่อนไหวนำโดยเยาวชนในปี 2563 รายงานฉบับนี้รวบรวมข้อมูลจากรายงานข่าว เอกสารทางการ ข้อมูลสาธารณะ รวมถึงบันทึกข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคลที่ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาต่าง ๆ เนื่องมาจากกิจกรรมการชุมนุม

ตั้งแต่ต้นปี 2563 คนไทยหลายพันคนจัดการชุมนุมและเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหยุดคุกคามนักกิจกรรมและบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในสามเดือนที่ผ่านมา การชุมนุมเคลื่อนไหวสื่อสารข้อเรียกร้องชัดเจนให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถือเป็นพัฒนาการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

เจ้าหน้าที่ไทยยังใช้กลยุทธ์หลายประการเพื่อพยายามกำจัดการชุมนุมเคลื่อนไหว

รัฐบาลใช้อำนาจตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อยับยั้งการชุมนุมสองครั้ง ในเดือนมีนาคมรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และออกข้อกำหนดหลายฉบับ รวมถึงข้อห้ามการชุมนุมสาธารณะซึ่งมีบทบัญญัติกว้างขวางและคลุมเครือ ตั้งแต่ประกาศข้อกำหนดกระทั่งสิ้นเดือนกรกฎาคม รัฐบาลบังคับใช้ข้อกำหนดเหล่านี้โดยพลการต่อกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันกลับอนุญาตให้การชุมนุมอื่นดำเนินต่อไปได้และให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับคืนสู่ภาวะปกติ ในเดือนตุลาคม รัฐบาลประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” เพื่อโต้ตอบต่อการชุมนุมต่อเนื่องขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และสั่งห้ามการชุมนุมของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยอ้างเหตุผลความมั่นคงแห่งชาติ ภายหลังการบังคับใช้หนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

ตั้งแต่ต้นปี 2563 มีบุคคลอย่างน้อย 173 คนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและกล่าวหาเกี่ยวกับกิจกรรมการชุมนุมหลายคนถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกสองปี บ้างถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บุคคลอื่นถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกเจ็ดปี นักกิจกรรมและแกนนำการชุมนุมที่มีชื่อเสียงยังเผชิญข้อกล่าวหาในหลายคดีอีกด้วย

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เพิ่มวิธีและช่องทางปราบปรามผู้ชุมนุม การชุมนุมอย่างสงบหลายแห่งถูกสลายโดยตำรวจปราบจลาจลโดยปราศจากคำอธิบายที่ชัดเจน และโดยวิธีการที่ละเมิดมาตรฐานการใช้กำลังของเจ้าพนักงานบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ยังขัดขวางทางเข้าออกสถานที่ชุมนุมและสั่งปิดเครือข่ายขนส่งสาธารณะบางแห่ง ละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม รวมถึงผู้โดยสารและผู้อื่นที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร รัฐบาลยังประกาศคำสั่งที่พยายามให้บริษัทสื่อสังคมออนไลน์และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตปิดกั้นเนื้อหาที่เป็นการวิจารณ์รัฐบาลหรือสถาบันกษัตริย์ พร้อมทั้งขัดขวางช่องทางการสื่อสารของผู้ชุมนุม

การโต้ตอบของรัฐบาลต่อการชุมนุมเคลื่อนไหวขัดกับพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันเป็นภาคีในปีพ.ศ. 2509 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หน่วยงานรับผิดชอบติดตามการบังคับใช้สนธิสัญญาฉบับนี้ ได้อธิบายความรับผิดชอบของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการชุมนุมเพิ่มเติมในข้อวินิจฉัยทั่วไป (General Comment) ที่ 37 ซึ่งเผยแพร่ในเดือนกันยายน คณะกรรมาธิการเน้นย้ำว่าเจ้าหน้าที่ต้องไม่เพียงแต่ระงับการละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม แต่ต้องก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่บุคคลสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังชี้ให้เห็นว่า ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การปราศรัยและการชุมนุมที่มีเนื้อหาทางการเมืองควรได้รับการคุ้มครองมากขึ้น

นายแมทธิว บิวเฮอร์ หัวหน้าภูมิภาคเอเชีย อาร์ติเคิล 19 กล่าวว่า การกระทำของรัฐบาลไทยเสียงดังกว่าคำพูดเจ้าหน้าที่ใช้ข้ออ้างความปลอดภัยสาธารณะเพื่อยับยั้งการชุมนุม แต่ต่อมากลับโจมตีผู้ชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงและล้อมด้วยตำรวจปราบจลาจลเสียเอง เจ้าหน้าที่เตือนว่าการชุมนุมเป็นการขัดขวางการจราจร แต่กลับปิดกั้นเส้นทางคมนาคมของทั้งจังหวัด ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำประเทศไทยจะเริ่มรับฟังเสียงของผู้ชุมนุมแทนที่จะพยายามปิดปากพวกเขา”

อนึ่ง อาร์ติเคิล 19 (ARTICLE 19) เป็นองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ที่ทำงานรณรงค์กว่ายี่สิบปี เพื่อให้ประเทศต่างๆ เคารพและปฏิบัติตามหลักการมาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ มาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 

มาตรา 19 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็น และการแสดงออกสิทธินี้ รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความคิด โดยปราศจากความแทรกสอด และที่จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสารและความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน

มาตรา 19 แห่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 

1.     บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

2.     บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภทโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

3.    การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอ่าจจะมีข้อจำกัดในบางเรือง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ

     (3.1) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

     (3.2) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศิลธรรมของประชาชน

2020.10.25-Thailand-Protest-Briefing_Intro__TH

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ