อาสาปากท้อง ท่อน้ำเลี้ยง (กระเพาะ)ในม็อบ

อาสาปากท้อง ท่อน้ำเลี้ยง (กระเพาะ)ในม็อบ

หากเรามองปรากฏการณ์หลังการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ วันที่ 14 ตุลาคม การชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่มผุ้ชุมนุมที่ตั้งเรียกตัวเองว่า คณะประชาชนปลดแอก หลังจากที่แกนนำแถวหน้า ถูกจับกุมและตั้งข้อหาไปเกือบหมด การชุมนุมแบบดาวกระจายจึงเริ่มปรากฏขึ้นในภูมิภาค เหนือ อีสาน ใต้ ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำแน่ชัด พร้อมพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค จังหวัด อำเภอ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย หนึ่งเป้าหมายร่วมที่ดังชัด คือการไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ดูแผนที่กิจกรรมทางการเมืองเพิ่มเติม https://www.csitereport.com/#!/focuscommu2020

ภาพกิจกรรมทางการเมือง ในแอปพลิเคชัน C-Site


การที่จะออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองในแต่ละพื้นที่ ท่อน้ำเลี้ยง (การสนับสนุนเพื่อให้เกิดกิจกรรม) ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อย ที่จะช่วยให้แต่ละในพื้นที่สามารถจัดการการชุมนุมได้ แต่ท่อน้ำเลี้ยงในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่เงินบริจาคที่โอนเข้ามาในแต่ละพื้นที่เท่านั้นนะครับ ยังมีอาสาสมัครต่าง ๆ อย่างเช่น อาสาจราจร ดูแลเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน อาสาพยาบาล รวมไปถึง “อาสาปากท้อง” ครับ

ในช่วงที่ผ่าน ผมได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตุการณ์การชุมนุมหลายที่นะครับ ทั้งชุมนุม 14 ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ผ่านมา ต่อด้วยชุมนุมของภูมิภาคที่จังหวัดเชียงใหม่ ผมเห็นอาสาสมัครมากหน้าหลายตา ต่างคนต่างที่มา อย่างโรงครัวในชุมนุม 14 ตุลา ของคณะราษฎร 63 ก็เป็นอาสาสมัครพี่น้องที่เดินทางมาชุมนุมจากภาคอีสานครับ ที่เข้ามาดูแลส่วนนี้ ส่วนเครือข่ายอื่น ๆ อย่างทางเหนือเองก็จะนำวัตถุดิบ เช่น ผัก ผลไม้ จากภูมิภาคมารวมกันอีกทาง

แต่โรงครัวนั้นกลับไม่ได้ช่วยให้พี่น้องที่มาชุมนุมอิ่มท้องกันทุกคนตามที่ตั้งใจนะครับ เนื่องจากเวลาประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุมแกนนำ หลังทนายอานนท์ นำภา ประกาศให้มวลชนออกจากพื้นที่ หรือให้สลายการชุมนุม ทำให้โรงครัวดังกล่าว ก็ต้องเก็บของแล้วกลับไปด้วยครับ


ท่ามกลางฝนโปรยปราย ผมอยู่ที่ม็อบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ (วันที่ 16 ตุลาคม 2563) ตอนนั้นเป็นเวลา 19.30 น. สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดสายตาของผมออกไปจากเสียงปราศรัยบนเวที ที่กำลังพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจสู่ต่างจังหวัด ผมเห็นกลุ่มผู้หญิงอายุประมาณ 60+ ครับ กำลังช่วยกันเดินแจกผัดหมี่ในตระกร้าใบสีฟ้ารอบ ๆ กลุ่มนักศึกษา พร้อมตะโกนว่า

“ผัดหมี่ก่อเจ้า แจกฟรีเน้อ”

ผมยืนมองท่าทีอยู่สักพัก รอให้ป้า ๆ แจกผัดหมี่ให้หมด เสร็จแล้วจึงเดินเข้าไปคุยกับพวกเขา ทราบว่า พวกเขาก็คือชาวบ้านธรรมดานี่แหละครับ อาสาเอาข้าวมาให้เด็ก ๆ ด้วยมีอุดมการณ์เดียวกัน คือการเรียกร้องประชาธิปไตย

ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว หรือปี 2553 ป้าเล่าให้ฟังว่า เขาคือหนึ่งในการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เคยลงถนนออกไปเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนในตอนนี้

“รุ่นแม่ก็เคยเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ตอนนี้คนรุ่นนั้นแก่กันหมดแล้ว เรามาในวันนี้ เราไม่ได้มาชี้นำเขา แต่เรามาสนับสนุนเขาในเรื่องที่เขาอยากจะทำ เพราะเราเชื่อในประชาธิปไตย และมันก็คืออนาคตของพวกเขา วันนี้แม่มาให้กำลังใจนักศึกษา ด้วยการเอาหมี่ผัดมาให้ อันนี้ทำเองนะ เด็กก็เหมือนลูกหลานแม่ เราต้องมาให้กำลังใจลูกหลาน เด็กรุ่นนี้เขาเก่ง เราสนับสนุนจุดยืนของเขา”


อาสาปากท้อง ม็อบมช. 16 ตุลาคม 2563

ผมถามต่อว่า ทำไมถึงอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ป้าเล่าให้ฟังว่า จริง ๆ แล้วไม่ได้มี พ.ร.บ. ตัวไหนที่อยากจะแก้เป็นพิเศษนะครับ แต่ด้วยตัวแกก็ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ บวกกับโครงการของภาครัฐที่หวังจะเข้ามาช่วยทำให้ดีขึ้น กลับไม่เป็นผล จึงขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลชุดนี้

10 ปีให้หลัง ทำไมประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะต้องเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดประชาธิปไตย


เก็บคำถามไว้ในใจแล้วไปต่อครับ นี่ไม่ใช่อาสาปากท้องจุดเดียวในการชุมนุมครั้งนี้นะครับ ยังมีอีกหลายจุด ทั้งจุดบริการน้ำดื่ม ตลอดการชุมนุมก็มีคนนำข้าวมาบริจาคอยู่เรื่อย ๆ แม้กระทั่งการขนครัวมาทำอาหารภายในงานก็มีนะครับ อย่างทีมนี้ ก็เป็นการร่วมกันฮอมผัก วัถุดิบต่าง ๆ และช่วยกันทำอาหาร แจกจ่ายให้กลุ่มนักศึกษาตลอดทั้งการชุมนุม

ที่บอกว่าฮอมกันมา ก็คือรวบรวมมาจากชุมชนหลายที่หลายอำเภอครับ ในเครือข่ายพี่น้องนปช. จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนอาสาที่มาช่วยกันลงครัวในวันนี้ บางคนเป็นเจ้าของธุรกิจ บางคนทำสวน หรืออย่างคนที่กำลังผัดอยู่คือนี้ ก็คือเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งครับ ต่างคนต่างที่มาแต่เป้าหมายเดียวกัน

นี่คืออีกหนึ่งท่อน้ำเลี้ยง(กระเพาะ)ในม็อบนะครับ ที่เกิดจากอุดมการณ์เดียวกัน ก็เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ผมถามพวกเขาว่าจะสู้แบบนี้ไปถึงเมื่อไร เขาตอบว่า

“เมื่อไหร่ที่มีพลังเพื่อประชาธิปไตย และตราบใดที่เขายังไม่ตาย เขาจะหยัดยืนเคียงข้างเสมอ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ