ประมวลภาพชุมนุมห้าแยกลาดพร้าว ตั้งแต่เวลา 15.30 น. ถึงหลังการประกาศยุติการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 19.10 น. ท่ามกลางสายฝน และผู้คนจำนวนมากที่ไร้แกนนำหลัก
จากความไม่พอใจต่อปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุมที่แยกปทุมวัน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 16 ต.ค. 2563 ทำให้ต้องยุติการชุมนุมก่อนกำหนดและมีผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุมรวมทั้งนักข่าวจากสื่อออนไลน์ประชาไท
วันนี้ 17 ต.ค. 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้เปลี่ยนชื่อจาก “คณะราษฎร” ไปเป็น “ราษฎร” ได้มีการนัดหมายรวมตัวกันอีกครั้งใน 3 จุดหลัก คือ ห้าแยกลาดพร้าว – อุดมสุข – วงเวียนใหญ่ เมื่อเวลาประมาณบ่าย 3 โมง รวมทั้งจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ผ่านทางโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์
แนวทางการชุมนุมในวันนี้เป็นไปในลักษณะ “ใครใคร่ปราศรัย ปราศรัย ใครใคร่ทำกิจกรรมทำ เพราะทุกคนคือแกนนำ” และ “ใครอยู่ใกล้ตรงไหน ไปตรงนั้น”
จุดนัดชุมนุมห้าแยกลาดพร้าวเริ่มมีการรวมตัวกันที่สกายวอล์ก “ห้าแยกลาดพร้าว” หน้าห้างเซ็นทรัล ก่อนเคลื่อนขบวนกันไปปักหลักที่ห้าแยกลากพร้าวและมีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทยอยมารวมตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มพื้นที่ โดยไม่มีแกนนำหลัก แม้ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และสมาชิกคณะราษฎร จะอยู่ในพื้นที่ชุมนุมแต่ไม่มีการพูดปราศรัยแต่อย่างใด
“ปล่อยเพื่อนเรา” “ขี้ข้าเผด็จการ” “ภาษีกู” “i hear too” คือข้อความหลัก ๆ ที่ผู้ชุมนุมตะโกนเป็นระยะ ๆ สลับกับการชูสามนิ้วเมื่อได้ยินเสียงผู้ปราศรัยผ่านโทรโข่งในวงปราศัยที่ถูกย่อยไปเป็น 2-3 จุด ในช่วงเริ่มต้นของการรวมตัว
เนื่องจากไม่มีรถเครื่องเสียงหลักที่เสียงดังพอครอบคลุมการสื่อสารในพื้นที่ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงใช้การตะโกนบอกต่อกันเพื่อสื่อสาร เช่น การบอกต่อ ๆ กันว่า “ถ้าตำรวจมาให้สลายการชุมนุม” “รถพยาบาลอยู่หน้ายูเนียนมอลล์”
หรือการประกาศขอหมวกกันน็อค แว่นตา ร่ม ขวดน้ำ ให้กับอาสาสมัครที่จะทำหน้าที่เป็นแนวกันชนซึ่งตั้งแถวกันเป็นชั้น ๆ บนถนนพหลโยธินบริเวณใต้รถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าสวนจตุจักร หลังมีความเคลื่อนไหวจากเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าใกล้พื้นที่ผู้ชุมนุมในช่วงเย็น
ทั้งนี้ที่ชุมนุมหน้าแยกลาดพร้าวได้ประกาศยุติการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 19.15 น. ก่อนเวลาที่เฟซบุ๊กเพจของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” แจ้งให้ผู้ชุมนุมในจุดต่าง ๆ แยกย้ายในเวลา 20.00 น.
ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอสประกาศปิดให้บริการทุกสถานี ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไปจนเวลาปิดให้บริการ และเวลา 15.30 น. รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วงประกาศปิดให้บริการทุกสถานีชั่วคราว และแอร์พอร์ตลิงก์ปิดให้บริการทุกสถานีชั่วคราว เริ่ม 16.00 น. ทำให้ผู้ชุมนุมค่อยๆ ทยอยเดินทางกลับโดยรถส่วนตัวและ ขสมก.เป็นหลัก
นอกจากในกรุงเทพฯ ยังมีการประกาศนัดชุมนุมในต่างจังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี บริเวณศาลหลักเมือง, จ.หนองคาย ศาลากลางหลังเดิม, จ.ร้อยเอ็ด หน้าศาลากลาง, เมืองพัทยา แหลมบาลีฮาย, จ.นครปฐม วัดพระงาม ม.พะเยา ลานสมเด็จ, จ.เชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ลานดาว, จ. นครสวรรค์ บ่อบำบัดน้ำเสีย
จ.กาฬสินธุ์ หน้าศาลากลางหลังเก่า, จ.อุตรดิตถ์ ริมน้ำน่าน, จ.ตรัง วงเวียนพะยูน , จ.อุดรธานี ทุ่งศรีเมือง, หน้าคณะนิติศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่, จ.นครราชสีมา ลานหมอลำ มทส.,จ.สุรินทร์ สวนใหม่จังหวัดสุรินทร์, จ.สกลนคร บขส.ใหม่สกล, จ.ขอนแก่น หน้าคอมเพล็กซ์ ม.ขอนแก่น