ประชาคมสนทนา: เมืองลำพูนในอนาคตของทุกคน

ประชาคมสนทนา: เมืองลำพูนในอนาคตของทุกคน

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มูลนิธิ Friedrich-Ebert-Stiftung สำนักงานประเทศไทย ร่วมกับศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เทศบาลเมืองลำพูน, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จัดพื้นที่พูดคุยถึงอนาคตของเมืองรองอย่างจังหวัดลำพูน ในหัวข้อ ประชาคมสนทนา: เมืองลำพูนในอนาคตของทุกคน ณ ห้องประชุมคุณธรรม 27 เทศบาลเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

เวทีนี้ส่วนนึงเกิดจากการปรึกษาของทีมงานกับประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองลำพูน และเป็นผู้สนับสนุนนโยบายที่จะพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง รวมทั้งยินดีที่จะเรียนรู้ไปพร้อมกับคณะผู้วิจัย

โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องประชาคมเมือง (Social City) และแนวทางปฏิบัติที่ดีในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างเมือง, แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับเมืองรวมไปถึงการบริหารจัดการเมืองระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่, เสริมสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างคนในชุมชน ภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือในการบริหารจัดการเมืองในอนาคต, เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับเป็นฐานในการศึกษาหรือการวิจัยด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองของเมืองรองในประเทศไทยในอนาคต

ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้มาจาก 17 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองลำพูน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนสันติยานนท์ ชุมชนเมืองรอง และตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการ อย่างเจ้าของโฮสเทลในเมืองลำพูน เจ้าของร้านกาแฟและแกลเลอรี่ ตัวแทนหน่วยงานรัฐท้องถิ่น ตัวแทนของภาคส่วนต่าง ๆ เช่น กองสิ่งแวดล้อม กองสาธารณสุข ตัวแทนเด็กและเยาวชน เทศบาลลำพูน ตัวแทนของเด็กและเยาวชนอย่างสภาเด็กและเยาวชน รวมถึงตัวแทนจากภาควิชาการ

พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียมดี ประเพณีงาม จามเทวีศรีหริภุญไชย

เมืองลำพูน มีลักษณะเป็นเมืองเก่า มีคูเมืองล้อมรอบ 15 คูเมือง ลักษณะของคูเมืองลำพูนจะไม่เหมือนเมืองเชียงใหม่ ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำกวงเข้าไปเติมเต็ม เรื่องผังเมืองเก่า เป็นเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรม และประเพณีที่โดดเด่นของเมืองลำพูน มีลักษณะของการปกครองท้องถิ่นแตกต่างจากพื้นที่อื่น เนื่องจากมีสัดส่วนพื้นที่ในความรับผิดชอบเพียง 6 ตารางกิโลเมตร สัดส่วนการเดินทาง ปริมาณการใช้รถสาธารณะ

สุทธินี สุริยกุล ณ อยุธยา รองนายกเทศมนตรีเมืองลำพูน กล่าวเปิดงานและเล่าถึงกิจกรรมที่ผ่านมาที่ทางเทศบาลเมืองลำพูนดำเนินการอยู่ ทั้งภาพรวมของเมืองลำพูน ความแตกต่างของเมืองลำพูนกับเมืองอื่น ๆ อย่างเมืองเชียงใหม่ หรือเมืองภูเก็ต ประเด็นหลักคือเศรษฐกิจโดยรวมของเมืองลำพูนนั้นขับเคลื่อนโดยคนท้องถิ่น ไม่ใช่จากนักท่องเที่ยว สุทธินีเล่าถึงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของเทศบาลเมืองลำพูน มีดังนี้

1. การส่งเสริมการศึกษา เผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

2. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

3. การพัฒนาด้านสาธารณสุขและคุณภาพชีวิต

4. การพัฒนาด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน ภูมิสถาปัตยกรรม

5. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชนบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง

6. การพัฒนาด้านสังคม การเมือง และบริหารราชการท้องถิ่นให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการที่ดี

อนาคตที่เลือกได้ผ่าน 3 มุมมอง

ชัยวุฒิ ตันไชย ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะฯ เล่าถึงเมืองลำพูนในอนาคตของคนทุกคน การมองอดีตที่แบ่งออกเป็น 3 มุมมอง คือ อนาคตของอดีต การมองอดีตด้วยในอีกอนาคต, อนาคตของปัจจุบัน คือการมองวันนี้ในอนาคตข้างหน้า และอนาคตของอนาคต คือการมองอนาคตข้างหน้า ความเป็นไปได้ของเมืองลำพูนคือการพยายามทำให้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตสามารถร้อยเรียงเชื่อมโยงกันได้ หรือแม้กระทั้งการสร้างสิ่งที่ไม่มีอยู่ในอดีตมาเป็นปัจจุบันได้ เช่น กิจกรรมโคมแสนดวง เป็นต้น

มีปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่ออนาคตเมืองลำพูน อย่างเช่น ภาวะเศรษฐกิจเมืองที่ขยายตัว พื้นที่เมืองขยายตัว ทำให้สภาพปัญหาของเมืองมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัล อีกทั้งการระบาดของ Covid-19 นำไปสู่การสร้างสังคมเศรษฐกิจในยุค New normal

ต่อมาชัยวุฒิ ได้ทิ้งคำถามสำคัญไว้สองคำถามใหญ่ ๆ ว่า 1. ความเป็นลำพูน (Lamphunness) คืออะไร? และ 2. ในอนาคตอยากให้เมืองลำพูนเป็นอย่างไร?

แนวคิดประชาคมเมือง จะเป็นประโยชน์กับลำพูนได้อย่างไร?

Social city หรือที่ดร.ภาคภูมิ วาณิชกะได้เสนอคำในภาษาไทยว่า ประชาคมเมือง ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมัน เมื่อปี 2542 เพื่อแก้ไขปัญหาการเสื่อมสภาพของเมืองทั้งในด้านวัตถุและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน จนทำให้คนอพยพออกจากเมืองไป แนวคิดนี้แก้ไขปัญหาทั้งสองด้านไปพร้อม ๆ กัน คือแก้ไขปัญหาทางวัตถุ เช่น ที่พักอาศัย การจราจร การศึกษา อาชีพการงาน และปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของคนในฐานะที่ปัญหาทั้งสองด้านนี้ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองของคนเมืองแต่ละคน  

ใจความสำคัญของแนวคิดนี้คือ การแก้ปัญหาและพัฒนาพัฒนาเมืองจากการมีส่วนร่วมอย่างเสรีและเท่าเทียมของคนเมืองทุกคน  

ความท้าทายของเมืองลำพูนคืออะไร?

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามว่าการขับเคลื่อนเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร ภายใต้สถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และชวนพูดคุยถึงความท้าทายของเมืองลำพูนที่แต่ละคนมองเห็น

ความท้าทายของเมืองลำพูนที่อนรรฆมองเห็นคือ การที่ประชากรลดลง หรือเรียกว่า เมืองหด และมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงหน้าตาของผู้อยู่อาศัยในเมือง นำไปสู่ความเป็นปัจเจก รวมถึงแรงขับทางเศรษฐกิจใหม่ของลำพูนที่ถือเป็นทุนทางวัฒนธรรม

ตัวแทนผู้ประกอบการสะท้อนทางออกที่สำคัญคือการทำให้เกิดการจัดการแบบจุลภาคหรือ Micro management

“ควรจะทำให้เมืองสามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยตัวเอง อย่างลำพูนจะไม่ได้รับผลกระทบเรื่อง Covid-19 มากเท่าไหร่ เพราะคนที่จับจ่ายใช้สอยคือคนท้องถิ่น การพึ่งข้างนอกน้อย ก็เป็นเรื่องดี ความท้าทายคือเราจะเชื่อมโยงอดีตมาถึงอนาคตอย่างไร ภาพใหญ่ที่อยากให้ลำพูนเป็นอะไร จะทำให้เกิดการจัดการแบบจุลภาค (Micro management) ที่ดี เช่น การทำให้เมืองนี้เป็นเมืองโบราณ มองหาสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นเมืองนั้นอย่างไร”

ตัวแทนของสภาเด็กและเยาวชน มองว่าปัจจุบัน เด็กมีโลกส่วนตัวสูง และเผชิญปัญหาเรื่องการสื่อสารกับผู้ใหญ่ ทำให้เกิดกำแพงในการสื่อสาร ไม่อยากสื่อสารต่อ เราจะทำอย่างไรกับความท้าทายที่เกิดขึ้นนี้

ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสริมว่าเราไม่ควรมองข้ามกลุ่มเปราะบางของสังคม อย่างผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงในการโดนหลอกลวง โดยเฉพาะการถูกหลอกลวงจากข่าวปลอม หรือ Fake News การแชร์ข้อมูลข่าวปลอม เรื่องการดูแลเรื่องสุขภาพ หรือปัญหาการหลอกลวงด้วยความรัก (Romance scam) ทศพลมองว่าควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างกลุ่มคนผู้สูงอายุและกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เช่น เรื่องความเป็นมาของเมือง เรื่องสุขภาพ เรื่องการใช้โซเชียลมีเดียที่นำไปสู่การสร้างเนื้อหา (content) เพื่อสื่อสารกับสังคม

ทุนวัฒนธรรม นำไปสู่ การจัดการข้อมูลที่ดีอย่างไร?

ตัวแทนจากภาคผู้ประกอบการแลกเปลี่ยนศักยภาพของคนที่มีทุนวัฒนธรรมอย่างผู้สูงอายุ เราจะทำอย่างไรให้ทุนทางวัฒนธรรมนั้นมาปรับใช้และเกิดการสื่อสาร

“กลุ่มคนที่เป็น Future in the past เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ภาครัฐหรือสังคมจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เราไม่ควรละเลยคนกลุ่มนี้ เราควรดึงทุนทางวัฒนธรรมออกมาใช้ เพื่อไม่ให้สูญสลายไป คนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก หากเราดึงความรู้ของคนกลุ่มนี้ออกมา จะส่งผลถึงการขับเคลื่อนของเมืองลำพูน การปลูกฝังวัฒนธรรม เราอยากจะให้สังคมลำพูนในอนาคตรู้จักวัฒนธรรมลำพูนของเรา เราจะเชื่อมกลุ่มคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่อย่างไร

เราจะทำให้ผู้ใหญ่แต่ละท่าน กลายมาเป็นสินทรัพย์ที่มีประโยชน์ต่อสังคมได้ไหม? เป็นการทำให้ผู้ใหญ่ได้ใช้ประสบการณ์ในการถ่ายทอดต่อได้ ราจะเพิ่มศักยภาพผู้สูงอายุ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร วัยผู้ใหญ่จะเป็นแรงขับเคลื่อน มันมีพื้นที่ในเมืองจำนวนมากที่เราสามารถร่วมกันพัฒนาเมืองได้

อะไรคือข้อจำกัด หรืออุปสรรคในการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองลำพูน?

ในวงแลกเปลี่ยนได้สะท้อนข้อจำกัดของการสร้างการมีส่วนร่วมคือ ความต่อเนื่องของการดำเนินการต่าง ๆ เขามองเห็นว่าพอเวลาผ่านไปแล้ว ไม่มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงขาดช่วงรอยต่อ ไม่มีการติดตาม ประเมินผล หรือถอดบทเรียน ไม่ได้เชื่อมร้อยประสานกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจัยนี้อาจเกิดจากงบประมาณในการดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ ไม่เพียงพอและเหมาะสมต่อกิจกรรม เป้าหมายของกิจกรรม จึงนำไปสู่ความไม่ยั่งยืน

“หลาย ๆ ความเห็นมองว่าหลัก ๆ เป็นเรื่องข้อจำกัดอีกประเด็นคือการสื่อสารระหว่างวัย ทั้งเรื่องข้อมูล ประวัติศาสตร์ชุมชน มีเพียงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีข้อมูลเรื่องนี้ ส่วนกลุ่มเด็กและเยาวชนก็มีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี คำถามคือเราจะใช้เครื่องมืออะไรที่เหมาะสมในการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนสื่อสารกันและกัน”

การจัดการศึกษาของเทศบาลหรือจังหวัด เมื่อเราต้องการให้เมืองลำพูนมีการพัฒนาไป เป็นการพัฒนาที่รักษาความเป็นวัฒนธรรมเมืองเก่าของเรา อันนี้คือสิ่งที่เราต้องการ มันเป็นปัญหาเรื่องความร่วมมือในระดับโครงสร้าง การจัดการศึกษา ทุกปี กิจกรรมที่เทศบาลทำ ที่ผ่านมา มองดูแล้ว คนที่ทำคือคนเดิม ๆ คำถามคือหากว่าคนแก่กลุ่มนี้ตายไปล่ะ? ทำไมเราไม่ดึงคนรุ่นใหม่ เข้ามาเรียนรู้ในเรื่องนี้? มองว่าองค์ความรู้ท้องถิ่นนั้นสำคัญที่เราจะคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของเมืองลำพูนได้ กล่าวได้ว่าอุปสรรคเรื่องการศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ ที่มันไม่ยั่งยืน ต่อรุ่นต่อไป

อุปสรรคอีกอย่างคือ จุดมุ่งหมายของภาคประชาสังคมที่ต่างกัน ต้องมีการมาพูดคุยตกลงกัน เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ละหน่วยงานขาดการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด มีการละเลยไป รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้นำท้องถิ่น นโยบายมีการเปลี่ยนแปลงไปตามผู้นำ เวลาทำแผนของเทศบาลจะใช้ความเห็นของชาวบ้านร่วมด้วย กล่าวคือเทศบาลมีข้อจำกัดในการเชื่อมโยงแผนระหว่างรัฐกับชุมชน

รองนายกสุทธินีเสริมว่าเราต้องฟังว่าเด็กอยากได้อะไร และผู้ใหญ่อยากได้อะไร แล้วจึงประเมินว่าเราจะต้องใช้เครื่องมือหรือกิจกรรมอะไรในการสร้างการมีส่วนร่วมของสองกลุ่มใหญ่ ๆ นี้

ความท้าทายร่วมกันคือความแตกต่างระหว่างวัยที่มีอยู่

อนรรฆ มองภาพรวมของเมืองลำพูนว่าเป็นเมืองที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความเป็นชุมชนที่สามารถดูแลกลุ่มคนเปราะบางได้ และมีทุนในแง่ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาในอดีต มีทุนทางด้านศิลปะที่ร่วมสมัยที่น่าสนใจ และมีความท้าทายร่วมกันคือ ความแตกต่างระหว่างคนสองรุ่น เด็กกับผู้ใหญ่ โตมาภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการพูดคุยกัน สร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง กิจกรรมโคมแสนดวง กลายเป็นพื้นที่หนุ่มสาว เกิดความมีชีวิตชีวา ซึ่งอาจจะต้องมาคิดกันว่ามันจะสามารถทำแบบนี้อีกได้อย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดีดร.ภาคภูมิ เห็นว่าทุกคนมีความตระหนักและมองเห็นความเข้มแข็งของเมืองลำพูนอยู่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ