ชุดไทยฟีเวอร์

ชุดไทยฟีเวอร์

 

mix

 

คอลัมน์: ไทยจริต  เรื่อง: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ  ภาพ: อมรรัตน์ กุลประยงค์

เพราะเราเป็นคนไทย หากจะใส่ชุดประจำชาติ เพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ของประเทศและรากเหง้าของวัฒนธรรมอันดีงาม ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก…

ข้อความข้างต้นนี้ปรากฏอยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างแพร่หลาย แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่า รากเหง้าหรือแม้แต่เอกลักษณ์ในการแต่งกายของไทย ที่ใครๆ ต่างก็พูดถึง มันมีหน้าตาแบบไหน เพราะเรามักนำการแต่งชุดไทยไปเปรียบเทียบกับการแต่งกิโมโนซึ่งเป็นชุดประจำชาติของญี่ปุ่น หรือชุดฮันบกของเกาหลี และถือว่าสิ่งนี้เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้แก่ 2 ประเทศดังกล่าวไม่น้อย เวลามีโอกาสไปเที่ยว เราต้องขอสักหน่อยล่ะ ที่จะแปลงร่างเป็นชายหนุ่มหญิงสาวชาวเกาหลีหรือญี่ปุ่น ถ่ายรูปกันหลายแชะ พลางคิดไปว่า แหมๆ อะไรดีๆ แบบนี้ ประเทศเราน่าจะมีบ้างนะ ก็มีสิ ชุดไทยไง!

กระแสการรณรงค์ให้แต่งชุดไทยในยุคนี้ชวนเราให้ต้องนั่งคิดต่อ… ไม่ว่าจะเป็นการใส่ชุดไทยที่ทำจากผ้าไทย ทุกวันศุกร์ ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียนหรือที่ทำงาน หรือแม้แต่งานเทศกาลประเพณี ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ทำให้ผู้คนรู้สึกสนุกสนานกับการแต่งกายไม่น้อย ทุกคนคงนั่งลุ้นกันว่าแต่ละคนจะแต่งออกมายังไง เธอจะใส่ที่รัดเกล้าแบบไหน ถ้าฉันจะใส่เกาะอก (ผ้าแถบ) แล้วสวมชฎาบนศีรษะก็ดูเด่นอยู่ไม่น้อย หรือบางคนอาจจะนุ่งผ้าถุง เสื้อคอกระเช้า หรือนุ่งโจงกระเบน ห่มสไบ ก็เก๋ไก๋ไม่หยอก เรียกได้ว่าการแต่งกายด้วยชุดไทย เปิดโอกาสให้เราสร้างสรรค์กันอย่างสุดเหวี่ยง

แต่ก็ไม่เสมอไปว่าสิ่งที่เรียกว่าการสร้างสรรค์จะได้รับการยอมรับ ยกตัวอย่างเช่น ชุดนางสาวไทยที่จะต้องไปยืนบนเวทียิ่งใหญ่อวดสายตาชาวโลก การใช้งานชุดไทยในลักษณะนี้มักต้องขุดความเป็นไทยจากตำรามาเทียบอย่างเอาเป็นเอาตาย คนออกแบบสามารถสร้างสรรค์ใหม่ได้ แต่ก็ต้องไม่มากจนเกินไป มิเช่นนั้นอาจถูกตามด่าข้อหาไม่รู้จักเคารพวัฒนธรรมอันดีงาม เพราะชุดไทยลักษณะที่เราพบเห็นกันในปัจจุบัน ส่วนมากเป็นการถอดแบบเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูงในอดีต มากกว่าจะเป็นเสื้อผ้าของประชาชนคนทั่วไป ฉะนั้น การนำชุดไทยมาประยุกต์ให้ดูเป็นสมัยใหม่เกินไป จึงเป็นเรื่องที่คนหมู่มากรับไม่ได้ เพราะลึกๆ แล้วในใจเรารู้สึกว่า การกระทำเช่นนี้ไม่ให้เกียรติชนชั้นสูง!

และสิ่งที่คนไทยรับไม่ได้มากๆ ก็คือ การใส่ชุดไทยแล้วทำท่าทางประหลาดๆ ดูไม่เรียบร้อยหรือผิดแปลกไปจากความเป็นไทย เช่น ใส่ชุดไทยไปกินอาหารของชาติตะวันตกอย่างเบอร์เกอร์ เพราะแสดงถึงความเป็นไทยไม่แท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ประเด็นนี้ถูกตั้งคำถามและเป็นที่ถกเถียงเรื่องความเหมาะสมกันอย่างแพร่หลาย

สิ่งที่เราควรย้อนกลับไปดูและพิจารณาคือ การรณรงค์ให้ใส่ชุดไทยนั้นทำไปเพื่ออะไร หากต้องการแสดงถึงวัฒนธรรมความเป็นไทย หรือแต่งเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวก็น่าจะเป็นวัตถุประสงค์ที่ดี แต่หากบอกว่าควรสวมใส่เพราะ ‘ชุดไทยคือรากเหง้าทางวัฒนธรรม’ แล้วล่ะก็… คงต้องไปนั่งขุดรื้อหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการแต่งกายของคนไทย เพื่อตรวจสอบหลักฐานชั้นต้น, ชั้นรอง ฯลฯ ว่าแท้จริงแล้ว เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของคนไทยสวมใส่นั้นหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่

เพราะก่อนจะมาเป็นสยาม อาณาจักรต่างๆ มีการปกครองตนเอง แน่นอนว่าศิลปวัฒนธรรมการแต่งกายที่มีเอกลักษณ์ต่างกันในแต่ละพื้นที่ย่อมได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะของอาณาจักรต่างๆ ก่อนสมัยสุโขทัย เช่น ล้านนา, ละโว้, ทวารวดี, ศรีวิชัย ฯลฯ หลังจากนั้นจึงเกิดการบัญญัติวัฒนธรรมประเพณีขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้ตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมยอมรับว่า สยามเป็นประเทศที่มีอารยธรรม ไม่ใช่ชนชาติล้าหลัง ด้วยการนำเครื่องแต่งกายอย่างตะวันตกมาประยุกต์ให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ และประกาศให้ข้าราชบริพารสวมเสื้อเข้าเฝ้า…

ดังนั้นชุดไทยที่เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบันจึงเป็นเสื้อราชปะแตน (ชาย) ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงสั่งให้ช่างประยุกต์แบบมาจากสูทของฝรั่ง ชุดไทยฟูฟ่องประดับด้วยผ้าลูกไม้ (หญิง) ที่ประยุกต์จากศิลปะสมัยวิกตอเรีย และชุดสตรีไทยพระราชนิยม 8 แบบ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระดำริให้สตรีไทยสวมใส่ชุดเหล่านี้ในงานพิธีต่างๆ เช่น งานหมั้น งานมงคลสมรส โดยชื่อแบบนั้นได้มาจากชื่อพระตำหนักและพระที่นั่ง เช่น ไทยบรมพิมาน ไทยจักรี ไทยดุสิต ฯลฯ

แน่นอนว่าบางแบบก็มิดชิดปิดตั้งแต่คอถึงข้อมือ แต่บางแบบก็ค่อนข้างเปิดเผย เพราะน่าจะมีการออกแบบตามสภาพอากาศของประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร บวกกับสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันที่นับวันยิ่งร้อนเข้าไปอีก ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องสวมใส่ชุดไทยที่ทำจากผ้าไหม แล้วออกไปเดินเฉิดฉุยฉายกรีดกราย (เพราะชุดบังคับ) อยู่บนท้องถนนแล้วล่ะก็… คงดูขัดกับคำว่าความเหมาะสมตามกาล (เวลา) เทศะ (สถานที่) อยู่ไม่น้อย เพราะกว่าจะเดินถึงห้องแอร์เย็นสบาย ร่างกายของคุณสุภาพสตรีภายใต้ชุดไทยอันสวยงามคงเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ ปริมาณพอๆ กับไปวิ่งออกกำลังกาย และนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หนังสือพิมพ์พาดหัวใหญ่ ‘ชุดไทยดีต่อสุขภาพ สามารถเผาผลาญพลังงานได้ในเวลาอันรวดเร็ว’ เป็นช่องทางใหม่ๆ ในการขยายตลาดชุดไทยสำหรับชาวต่างชาติไว้ไปใส่ในบ้านตัวเอง ก็เป็นได้ (อิอิ)

โดยส่วนตัวมองว่า การแต่งชุดไทยเพื่อรักษาวัฒนธรรม ที่กำลังเป็นกระแสบนโซเชียลเน็ตเวิร์คในขณะนี้ มีทิศทางเดียวกับสิ่งที่ อับราฮัม มาสโลว์ นักจิตวิทยา ผู้คิดค้นทฤษฎีจิตวิทยามานุษยนิยมและทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ กล่าวไว้ว่า “มนุษย์ต้องการที่จะทำอะไรจริงจังเพื่อจะได้รับการยอมรับนับถือและต้องการจะมีกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าเขาได้มีส่วนทำประโยชน์ เพื่อจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า” เพราะมั่นใจว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งสูงส่ง ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าการรักษาวัฒนธรรมคือการทำประโยชน์เพื่อสังคม

ในทางกลับกัน หากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นความต้องการทางกายภาพของมนุษย์กลายเป็นมากกว่าปัจจัยสี่ มีการพัฒนารูปแบบไปสู่ความเป็นแฟชั่นมากขึ้น สามารถใช้ความหรูหรา ความประณีตที่แตกต่างสำหรับแบ่งแยกระดับชั้นของผู้สวมใส่ได้ด้วยแล้ว ยังหมายถึงการแสดงอำนาจบางอย่างผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายด้วย

นั่นอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้หญิงสาวแต่ละคนเลือกชุดที่ดูเป็น ‘งานละเอียด’ เพราะการสวมใส่ชุดไทยที่ดูสง่างามจะทำให้ได้รับการกล่าวถึงในวงผู้พบเห็นมากขึ้น อย่างเช่น สไบกรองปักฉลุแบบนางในวรรณคดี?!! หรือผ้าลูกไม้ (ซึ่งมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมจากประเทศอียิปต์และเริ่มมีการสอนศิลปะการทำผ้าลูกไม้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกในโรงเรียนคอนแวนต์ของเบลเยี่ยม) ดิ้นทองรองด้วยไหมอิตาลี เดี๋ยวๆๆ ใจเย็นๆ นะ นี่คือชุดไทยที่หลายคนบอกว่าคือรากเหง้าของวัฒนธรรมอันดีงามไม่ใช่หรือ? ทำไมถึงมีผ้าต่างๆ ที่มีแหล่งกำเนิดไกลจากประเทศไทยเยอะนักล่ะ

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมการแต่งกายเป็นเรื่องพัฒนาการ เกิดการแลกเปลี่ยน ผสมผสาน สามารถทำให้เกิดความกลมกลืนกันได้ ผ่านการเดินทางไกล การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศ ผ่านยุคสมัยและการดัดแปลงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน รู้อย่างนี้แล้วคงต้องย้อนกลับไปถามตัวเองว่าเราจะแต่งชุดไทยไปเพื่ออะไรกันแน่ ในเมื่อความเป็นจริงแล้วชุดไทยก็เป็นชุดต้นแบบที่เกิดจากการนำศิลปวัฒนธรรมของชาติต่างๆ มาประยุกต์ แม้แต่ผ้าชนิดต่างๆ อย่างผ้าไหมก็มีต้นกำเนิดจากจีนและอินเดีย ในประเทศไทยเพิ่งได้รับการสนับสนุนให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อผลิตผ้าไหมใช้เองในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน

พูดกันอย่างถึงที่สุด ใช่ไหมว่า วัฒนธรรมกำเนิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของมนุษย์ มิใช่มนุษย์ต้องไปเทิดทูนบูชาวัฒนธรรมเสียจนแตะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย

รู้อย่างนี้แล้ว เวลาที่อยากลุกขึ้นมาแต่ง ‘ชุดไทย’ จะได้มีคำอธิบายที่ชัดเจนสำหรับตัวเองว่า ฉันแต่งชุดไทยเพราะความสวยงาม สนุกสนานกับการมิกซ์แอนด์แมทช์ และถ่ายเซลฟี่กรุ๊ปฟี่ ที่สำคัญคือเดินอวดโฉมได้อย่างมั่นใจ จะแต่งชุดไทยไปนั่งกินเบอร์เกอร์ ไอศกรีม พิซซ่า สปาเก็ตตี้ ซูชิ หรืออาหารของประเทศไหนก็ได้ ไม่ต้องวอรี่!

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ