มองทางออก…คนเปราะบางกลางเมืองใหญ่ “ไร้บ้าน ไม่ไร้เพื่อน”

มองทางออก…คนเปราะบางกลางเมืองใหญ่ “ไร้บ้าน ไม่ไร้เพื่อน”

“เราทุกคน ล้วนเปราะบางกลางเมืองใหญ่”

วิภาพร วัฒนวิทย์ พิธีกรรายการนักข่าวพลเมือง C-Site พื้นที่สื่อสารของภาคพลเมือง “ชวนปักหมุด จุดประเด็น เห็นความเชื่อมโยง” เกริ่นสั้น ๆ ก่อนจะชวนคุยถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ต่อกลุ่มคนเปราะบาง เช่น คนไร้บ้าน ผู้ใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ และชวนพูดคุยถึงทางเลือก ทางรอดกับ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯและ ผจก.แผนงานพัฒนาองค์กรความรู้คนไร้บ้านฯ สสส.และ ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ภายใต้โจทย์ “มองทางออก คนเปราะบางกลางเมืองใหญ่”

วิภาพร : สถานการณ์คนไร้บ้านช่วงโควิด-19 ในที่หัวลำโพง กรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้าง

“การประเมินสถานการณ์จากเครือข่ายที่ทำงานด้วยกัน ทั้ง ภาครัฐและภาคประชาสังคม พบว่าในช่วงโควิด-19 เดือนมีนาคม – เมษายน เราพบว่าจำนวนของคนไร้บ้าน เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสอดคล้องกับตัวของโมเดลเศรษฐศาสตร์ในการคำนวณประชากรของทีมวิจัย ที่ลองคำนวณออกมาว่าจะมีคนไร้บ้าน หรือคนที่สูญเสียที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นประมาณ 30 เปอร์เซ็น จากสถานการณ์โควิด-19” อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯและ ผจก.แผนงานพัฒนาองค์กรความรู้คนไร้บ้านฯ สสส. ฉายภาพสถานการณ์ล่าสุด ก่อนจะไล่เรียงสถานการณ์ภาพรวม

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีโอกาสไปลงพื้นที่หัวลำโพง ก็พบอะไรที่น่าสนใจหลายอย่าง เรายังพบว่าคนไร้บ้านที่เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ หรือว่ากลุ่มที่เพิ่งเข้าสู่ภาวะคนไร้บ้าน ยังมี เรายังเห็นอยู่ อาจจะมีสัดส่วนที่ไม่เยอะมากเท่าช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน ที่ผ่านมา แต่เราพบสิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้น เราพบว่าพี่น้องคนไร้บ้านที่อยู่ในหัวลำโพง ในปัจจุบัน ยังขาดแคลนเรื่องของการสนับสนุนช่วยเหลือด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ อันนี้จะตรงข้ามกับสถานการณ์ในช่วงก่อน คนไร้บ้านส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ในแถบหัวลำโพง ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ เข้าไม่ถึงเรื่องของสวัสดิการ การสนับสนุนต่าง ๆ

วิภาพร : ไปฟังสถานการณ์ทางขอนแก่นบ้าง ไม่รู้ว่าแตกต่างอย่างไร คนไร้บ้านที่ขอนแก่นมีหน้าใหม่เยอะไหม คะ จากที่ได้สำรวจกัน?

“จริง ๆ แล้ว ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เมืองใหญ่อย่างขอนแก่น ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่ผลกระทบที่มันต่อเนื่องจาก ปัญหาเรื่องโควิด-19 อย่าง เช่น เรื่องของการประกาศเคอร์ฟิว หรือแม้แต่นโยบายการปิดสวนสาธารณะ ที่เกิดขึ้นในขอนแก่น ก็มีผลกระทบที่เกิดขึ้นชัดเจน

ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น อธิบายสถานการณ์ในพื้นที่

“การปิดเมืองทำให้แหล่งทำมาหากิน แหล่งรายได้คนจนระดับล่าง แรงงานนอกระบบ หรือแม้แต่คนไร้บ้าน ได้รับผลกระทบ พอไม่มีรายได้ การเข้าถึงอาหารอะไรต่าง ๆ ก็มีปัญหาตามมา นี่คือสิ่งที่เราเจอที่ขอนแก่น ในช่วงโควิด-19 ที่ขอนแก่น เราก็พบอยู่เหมือนกันคล้าย ๆ เมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพฯหรือเมืองอื่น ๆ คือว่า คนไร้บ้านหน้าใหม่ หรือคนไร้บ้านที่หลุดจากห้องเช่าราคาถูก ออกมาในช่วงโควิด-19 มาอยู่ในที่สาธารณะเยอะขึ้น คือ เป็นกลุ่มคนจน กลุ่มแรงงานนอกระบบที่เขาเป็นคนเมืองอยู่แล้ว แต่เขาเป็นกลุ่มมีสภาวะเปราะบาง เป็นกลุ่มคนไร้ราก ที่ไม่ได้มีครอบครัวหรือชุมชนพักอาศัยอยู่ด้วย เราพบว่าคนกลุ่มนี้ พอถึงจุดหนึ่ง หน้าที่การงานที่เขาไปรับจ้างรายวัน พอมันขาดรายได้ เราเห็นชัดเจนว่าเขาหลุดออกมาเลย เขาหลุดออกมาแม้ห้องเช่าราคาถูก ในหลัก 1,800 บาท 1,500 บาท ต่อเดือน ก็ยังไม่สามารถจ่ายได้”

วิภาพร : แล้วในกรุงเทพฯ มีไหมคะ ที่จ่ายค่าห้องไม่ไหวมีประมาณสักเท่าไหร่?      

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน : ความจริงถ้าดูแนวโน้มของการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย มันมีแนวโน้มที่รุนแรงและอันตรายมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็ คือ เราพบว่าห้องเช่าราคาถูก ที่สุดในกรุงเทพฯอยู่ที่ 1,000 -1,500 บาท ต่อเดือน แต่ว่าการจ่ายค่าเช่าส่วนใหญ่ ด้วยกลุ่มคนเปราะบางจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานผู้มีรายได้น้อย จำนวนมาก ไม่สามารถที่จะจ่ายรายเดือนได้ ก็เลือกที่จะจ่ายรายวัน วันละ 100 บาท บ้าง 70 – 80 บาท บ้าง ทีนี้สิ่งที่มันเกิดขึ้นแนวโน้มที่มันจะเป็นต่อไป เราพบว่าในช่วงเดือน 2 เดือนนี้ ทางทีมก็ประเมินว่าช่วงรอยต่อสำคัญ

ประการแรก คือ การพักชำระหนี้ต่าง ๆ มันเริ่มจะหมดลง การว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทำงานระดับต่ำ ที่ได้รายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แน่นอน หลักการเล่านี้มันส่งผลต่อการที่จะทำให้ประชากร จำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย หรือสูญเสียที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถที่จะเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ นี่ไม่รวมปัจจัยในแง่ที่ว่าแนวโน้มของคนจนเมือง กลุ่มใหม่ ๆ หรือว่าคนเปราะบาง กลุ่มใหม่ ๆ ที่หลุดออกมา ออกมาอยู่คนเดียวมากขึ้น หรือไม่ได้มีเครือข่ายทางสังคมที่จะมาอุ้มชูได้ ในรูปแบบเดิม อันนี้ก็จะทำให้กลุ่มคนเปราะบาง และแน่นอนมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะไร้บ้านมากขึ้น

ช่วงเดือนที่ผ่านมานะครับ ผมลงพื้นที่เยาวราช ไม่ได้มีแค่แรงงานรายวันที่ประสบกับความเปราะบาง เราพบอย่างชัดเจน แรงงานที่มีรายได้ อาจจะเป็นรายเดือน แต่ไม่สามารถที่จะต่อสู้กับค่าครองชีพที่สูงในกรุงเทพมหานครได้ กลุ่มเหล่านี้ก็ยังส่งผลมีภาวะความเสี่ยงเข้าสู่คนไร้บ้าน บางคนอาจจะมีกรณีตัวอย่างที่ว่า รายได้ถูกลดเงินเดือน เพื่อนายจ้างที่จะประคองกิจการต่อไป เกิดการลดเงินเดือน เป็นไปได้น้อยมากที่จะสามารถเช่าห้องพักราคาถูกต่อไปได้ หรือจะสามารถเลี้ยงดูอุ้มชูครอบครัวได้ อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

แนวโน้มหลังจากนี้ น่าจะมีแนวโน้มที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ถ้าเราดูจากตัวเลขหลาย ๆ สำนัก ที่บอกมาว่าอัตราการว่างงานมีอยู่สูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปิดกิจการธุรกิจต่าง ๆ แน่นอน น่าจะส่งผลครับ เชื่อว่าเป็นปัญหาใกล้เคียงกันกับทั้งขอนแก่นและกรุงเทพฯ อาจจะมีบางปัจจัยที่แตกต่างกันเล็กน้อย วันนี้อยากจะคุยถึงทางออกไปที่ขอนแก่น

วิภาพร : ถ้าเราจะช่วยแบบระยะยาว สำหรับสถานการณ์โลกหลังโควิด-19 กับคนไร้บ้าน คนเปราะบางในเมือง ทางออกจากตรงไหน?

ณัฐวุฒิ กรมภักดี : อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราพบว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ในช่วงแรก ๆ เราเห็นว่าเครือข่ายทางสังคม ที่พร้อมหรือเป็นข้อต่อสำหรับช่วยเหลือในเบื้องต้นค่อนข้างแข็งแรง ที่ขอนแก่นมีเครือข่ายภาคประชาชนมีการคุยกันว่าเราจะช่วยเหลือกลุ่มคนที่เขากำลังได้รับผลกระทบกับโควิด-19 อย่างไร

อย่างทีมผมก็มีการลงไปที่เรียกว่าสร้างความร่วมมือในการเข้าไปกระจายอาหาร ในการสำรวจข้อมูลผลกระทบคนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เรื่องการเยียวยาเบื้องต้น ผมว่ารูปแบบกลไกลที่เป็นรูปแบบที่ลดความซับซ้อน ระเบียบวิธีของหน่วยงานรัฐ นี่ถ้าเกิดวิกฤตครั้งหน้า รูปแบบกลไกลแบบนี้มันจะเข้ามาเติมเต็มการแก้ไขปัญหาอย่างทันถ่วงทีได้อย่างไร ระบบอาสาสมัคร หรือ การระดมทรัพยากรเพื่อการช่วยเหลือ ที่รัฐเป็นคนเติมเต็มเข้ามาให้เครือข่ายต่าง ๆ ได้เกิดการแก้ไขปัญหา อันนี้เรื่องที่ 1

ส่วนเรื่องที่ 2 ผมมองว่าในเรื่องของยุทธศาสตร์ ในเรื่องของการทำให้กลุ่มคนที่ไม่มีทรัพยากรในเรื่องอาหาร ให้เขาได้เข้าถึงอาหาร เช่น ที่ผ่านมาที่ขอนแก่นเราเข้าไปหนุนให้ชุมชนที่เขามีพื้นที่ หรือแม้ชุมชนคนไร้บ้านเขาผลิตอาหารได้ด้วยตัวเอง ทั้ง ในชุมชนที่เป็นชุมชนริมทางรถไฟ หรือแม้แต่ชุมชนคนไร้บ้าน ผลิตอาหารเพื่อที่เขาจะต้องไม่มีค่าใช้จ่าย หรือแม้แต่การพยายามสร้างข้อต่อเป็นจุดเชื่อมต่อแหล่งงานผู้ประกอบการ คนจ้างงาน กลุ่มคนไร้บ้าน คนจนที่เขายังเข้าไม่ถึงรายได้พยายามเชื่อมต่อในจุดนี้ในช่วงที่ผ่านมา

ผมคิดว่า จริง ๆ ยุทธศาสตร์ 3 เรื่องนี้ คือ ต้องดูกันยาว ๆ ว่า เราจะสร้างรูปแบบหรือสร้างกลไกอย่างไร ให้เรื่องนี้เป็นการรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ซึ่งผมคิดว่าข้อดีของสังคมไทย คือ ในจังหวะภาวะวิกฤติ มันมีความแข็งแรงของกลไกการช่วยเหลือกันอยู่ แต่ที่สำคัญ คือ กลไกของรัฐหรือระบบสวัสดิการหรือการเยียวยาของรัฐจะต้องเดินไปพร้อม ๆ กันด้วย ไม่ใช่รอให้ภาคประชาชนเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างเดียว

วิภาพร : ถ้า สร้างเครือข่ายที่ลดระบบความยุ่งยากของราชการและทำให้เข้าถึงอาหาร เข้าถึงสิทธิ น่าจะช่วยได้ในระดับท้องถิ่น แล้วถ้าเป็นระดับประเทศ ถ้ามองบริบทสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ เงินกู้ 4 แสนล้านจะมีเศษเสี้ยวไหนช่วยไปถึงคนไร้บ้านได้บ้างไหม แล้วมีเรื่องอะไรที่ภาครัฐต้องมองการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน?

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน : ผมคิดว่า ในประเด็นแรก คิดว่าอาจจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ยุทธศาสตร์ที่จะจัดการเรื่องนี้ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ซึ่งในระยะสั้นผ่านมาแล้ว คือ ช่วงวิกฤติของการล็อกดาวน์ ที่เกิดการแพร่ระบาดและผลกระทบอย่างรุนแรง เราเห็นเรื่องของทรัพยากรจำนวนมากในการช่วยเหลือฉุกเฉิน  ผมคิดว่าตอนนี้กำลังคิดเรื่องความช่วยเหลือในระยะกลาง อย่างเงินกู้ 4 แสนล้าน ที่กำลังดำเนินการอยู่  อย่างแรกเราต้องมองถึงลดความเปราะบางของแรงงาน ของกลุ่มเปราะบางในเมืองหรือว่ากลุ่มเปราะบางทั้งประเทศได้อย่างไร 

อย่างแรกผมมองว่าเงินกู้ก้อนนี้ต้องมีฟังชันก์ 2 สิ่ง ฟังชันก์แรก คือ ให้เกิดการจ้างงานในวงกว้างอย่างมหาศาล เพื่อที่จะช่วยประคองกลุ่มคนเปราะบาง คนตัวเล็กตัวน้อยให้สามารถพ้นจากสภาวะสถานการณ์ที่อยู่ในช่วงนี้ผ่านไปได้ ซึ่งปัญหาตอนนี้เรายังไม่เห็นว่ามันเกิดการจ้างงานอย่างกว้างใหญ่เป็นรูปธรรมได้อย่างไร

อันที่ 2 เงินกู้ก้อนนี้นอกจากที่จะทำส่วนหนึ่งนอกจากทำให้เกิดการจ้างงานเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ หรือให้ประคับประคองกลุ่มเปราะบางไปได้แล้ว ผมว่าอันที่ 2 มันจะต้องคิดอย่างชัดเจนในแง่ของการยุทธศาสตร์ ว่าเงินกู้ก้อนนี้ มันจะนำไปสู่การ Redefine (นิยามใหม่) ของประเทศได้อย่างไร หรือว่าไปสู่การสร้างการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศได้อย่างไร

มันจะเชื่อมกับประเด็นที่ 3 คือ โจทย์ที่ยากมาก เราจะทำอย่างไร ให้มันเกิดการ Redefine (นิยามใหม่) บทบาทของภาครัฐ ในการทำงานช่วยเหลือสังคมเราเห็นชัดเจนนะครับ ว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 การเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง ผมคิดว่าโจทย์ สำคัญ คือ ภาครัฐจะปรับบทบาทตัวเองในแง่ของการเป็นผู้สนับสนุน และให้เกิดความร่วมมือจากภาคประชาสังคมทำงานได้อย่างไร ผมคิดว่าภาคประชาสังคม มีความยืดหยุ่น ค่อนข้างสูงและเราเห็นชัดเจนนะครับ อย่างขอนแก่นมี “กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน” ของคุณณัฐ ทางเชียงใหม่ก็มี “กลุ่มบ้านสานฝัน” เครือข่ายคนไร้บ้าน หรือว่าขยายออกไปทำเรื่องของแรงงาน ความมั่นคงทางอาหาร “สายใต้ออกรถ” ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นพลังงานที่จะช่วยขับเคลื่อนรัฐไปได้ ขอแลกเปลี่ยนว่าสถานการณ์นี้มันถึงจุดแล้ว มันเห็นชัดเจนว่าภาครัฐไม่สามารถรับมือกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนได้ โดยเฉพาะในอนาคตภาครัฐอาจจะต้องปรับ ลดบทบาท หรือเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง

ระยะเวลาสั้น ๆ ราว 15 นาที ของบทสนทนาในรายการนักข่าวพลเมือง C-site ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์ และวันพฤหัสบดี เวลา 13.30 น. แม้จะยังไม่สามารถหาข้อสรุปและทางออกของปัญหาในการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบต่อคนไร้บ้านได้ แต่ด้านหนึ่งก็เป็นการ “ปักหมุด จุดประเด็น” เรื่องราวจากภาคพลเมืองทุกพื้นที่ ผู้ซึ่งรู้ร้อนรู้หนาวและมองเห็นเรื่องราวสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ และพร้อมสื่อสารแลกเปลี่ยนกัน และวันนี้โจทย์ “มองทางออก คนเปราะบางกลางเมืองใหญ่” เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ชวนพูดคุยแบ่งปัน และยังต้องติดตามสถานการณ์กันอีกยาว.

ชมรายการ #นักข่าวพลเมือง#CSite  : คนเปราะบางกับการจัดการปากท้อง ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 63…#โควิด19 ที่ส่งผลกระทบต่อ “คนไร้บ้าน” ทางเลือก ทางรอด และปัญหาปากท้องของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ร่วมพูดคุยกับคุณอนรรฆ พิทักษ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านฯ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน

[Live] 13.30 น. #นักข่าวพลเมือง #CSite : คนเปราะบางกับการจัดการปากท้อง (14 ก.ย. 63)

[Live] 13.30 น. #นักข่าวพลเมือง #CSite : คนเปราะบางกับการจัดการปากท้อง (14 ก.ย. 63)…#โควิด19 ที่ส่งผลกระทบต่อ "คนไร้บ้าน" ทางเลือก ทางรอด และปัญหาปากท้องของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ร่วมพูดคุยกับคุณอนรรฆ พิทักษ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านฯ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน📌 รับชมได้ทาง #ThaiPBS #ช่องหมายเลข3 หรือรับชมทางออนไลน์• Website : www.thaipbs.or.th/live • ชมอีกครั้งทาง : www.thaipbs.or.th/CSite #COVID19

Posted by นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) on Sunday, 13 September 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ