มองความคุ้มค่า “ป่าต้นน้ำโตนสะตอ”ถึง “อ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว”

มองความคุ้มค่า “ป่าต้นน้ำโตนสะตอ”ถึง “อ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว”

ปลายสิงหาคม 2563 เราได้ยินเรื่องราวของชาวบ้านจากหมู่บ้าน “เหมืองตะกั่ว” จ.พัทลุง ที่เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อยื่นข้อเรียกร้องไม่อยากให้สร้างโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว กว่า 1 สัปดาห์แล้ว ที่ชาวบ้านนอนกลางแดดกลางฝนและฝุ่นควัน ปักหลักค้างคืน รอคอยคำตอบจากนายกรัฐมนตรีที่กรุงเทพมหานคร 

ชาวบ้านเหมืองตะกั่วปักหลักหน้าทำเนียบ-กรุงเทพมหานคร

คำถามสำคัญ ทำไมชาวบ้านจากชุมชนเหมืองตะกั่ว ไม่อยากให้มีโครงการเกิดขึ้น?

ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นพื้นที่สร้างโครงการอ่างเก็บน้ำอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ และอยู่ไม่ไกลจากน้ำตกโตนสะตอ ซึ่งเป็นต้นน้ำที่ไหลไปตามคลองสาขาต่าง ๆ ช่วยหล่อเลี้ยงพื้นที่ทำเกษตรของเมืองพัทลุง สองข้างทางจะพบกับ พรรณไม้หายากหลายชนิดอย่าง ต้นตีนเป็ด หรือ ต้นพญาสัตบรรณ  มีขนาดราวๆ 3 คนโอบ และ อายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี และพบนกเงือกหัวหงอก  และสัตว์ป่าหายากในหลายชนิด 

5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ #เหมืองตะกั่ว.ชวนมาทำความรู้จักหมู่บ้านเหมือนตะกั่วและ #ป่าต้นน้ำโตนสะตอ…

Posted by แลต๊ะแลใต้ on Tuesday, 25 August 2020
5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ #เหมืองตะกั่ว

ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านที่ร่วมกับทีมนักวิจัยพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี และศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ.ภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์  ได้เข้าไปสำรวจบริเวณน้ำตกโตนสะตอ ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง จำนวน 2 ครั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2561  ความหลากหลายของระบบนิเวศ พบว่า มีความสมบูรณ์และอ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลง

ต้นตีนเป็ด-ป่าต้นน้ำโตนสะตอ

และหากมีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามข้อมูลกรมชลประทานจะมีเนื้อที่ 478.95 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าบริเวณโดยรอบน้ำตกโตนสะตอ ซึ่งอยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขาบรรทัด และแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด และถ้านับพื้นที่เป้าหมายการก่อสร้างจากสันเขื่อนถึงชุมชนเหมืองตะกั่วห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตรเท่านั้น 

แผนที่แสดงเส้นทางน้ำและพื้นที่เกษตร ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง – ภาพจาก เพจเขียนอนาคตประเทศไทย

31 สิงหาคม 2563  

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สภาผู้แทนราษฎร มีมติตัดงบฯ ในโครงการดังกล่าวไปแล้ว แต่ชาวบ้านยืนยันรอให้นายกรัฐมนตรีลงนามตามมติข้อเสนอร่วมทั้ง 4 ฝ่าย ซึ่งข้อเสนอมติร่วมก็คือที่จะชะลอกระบวนการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วเอาไว้ก่อนรวมถึงตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน รวมถึงแนวทางการจัดการน้ำที่ยั่งยืนโดยไม่ทำลายป่าและสายน้ำ

ข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี กรณี “โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว”

เป็นโจทย์ที่กลับมาทบทวนข้อมูลเพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับป่าต้นน้ำสำคัญของพัทลุงแล้ว มีการพูดคุยกันถึงคุณค่าและความคุ้มค่าทั้งตามหลักเศรษฐศาสตร์และความสำคัญของระบบนิเวศ และทางเลือกทางออกสำหรับสถานการณ์นี้ควรเป็นอย่างไ

ทีม The Citizen plus พูดคุยกับ ดร.สินาด ตรีวรรณไชย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.อ. หาดใหญ่ ที่ได้ศึกษาเรื่องความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจของโครงการขนาดใหญ่อย่างจะนะ จ.สงขลา และเคยเป็นคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ถึง โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อ.ป่าบอน จ.พัทลุง

ดร.สินาด ตรีวรรณไชย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.อ. หาดใหญ่

ความเห็นของอาจารย์ถึงป่าต้นน้ำโตนสะตอ ต่อการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ คุ้มค่าหรือไม่ ?

ผมได้ลงพื้นที่โตนสะตอช่วงปลายปี 2561 เป็นพื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เพราะว่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ซึ่งพื้นที่โครงการกินพื้นที่ค่อนข้างเยอะประมาณ 478.95 ไร่ และประเด็นที่ไปตอนนั้นคือ ทางชาวบ้านมีความคิดว่าเรื่องบริหารจัดการน้ำ โดยสนใจทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่เขื่อน มีทางเลือกที่ดีกว่านี้หรือไม่ หรือการอนุมัติโครงการสร้างเขื่อน คำนึงถึงความคุ้มค่ากันหรือไม่ และสิ่งที่เขาให้คุณค่า เช่น การรักษาป่าเอาไว้มีมูลค่ามากหรือน้อย มีหลักการประเมินมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ภาพมุมสูงน้ำตกโตนสะตอ – จ.พัทลุง

โดยปกติการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนมองว่ามันมีมูลค่าเท่าไหร่ ให้ดูการใช้ประโยชน์ทางตรงอย่างเดียว เช่น ถ้าเป็นป่า การเก็บของป่าได้เท่าไร สมุนไพร หรือนันทนาการการพักผ่อนย่อนใจได้เท่าไร ซึ่งโดยปกติมูลค่าจะไม่เยอะ เพราะว่าป่าอยู่ไกล คนเข้าไปใช้อาจจะไม่เยอะมาก

อีกอย่างก็อาจจะเป็นประโยชน์โดยอ้อม ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะมองไม่เห็นเท่าไหร่ ยกตัวอย่าง เช่น กรณีป่าสามารถเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เพราะป่าสมบูรณ์จะทำให้เกิดน้ำซึ่งเป็นทางอ้อม อย่างบรรเทาน้ำท่วมก็เป็นอีกฟังก์ชันที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ

ทั้ง 2 ส่วนใช้ทางตรงและทางอ้อม ถ้ารุ่นปัจจุบันเราประเมินแล้วยังไม่ได้ใช้ ในอนาคตในรุ่นของเราอาจจะได้ใช้ เช่น อาจจะได้ใช้ว่าถ้าป่าสมบูรณ์มาก ถ้าอากาศแปรปรวนก็ลดปัญหาของน้ำท่วมได้

ถ้าเทียบกับกรณีงานศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ศึกษาป่าห้วยขาแข้ง เมื่อปี 2541 ป่าห้วยขาแข้งเนื้อที่ประมาณ 1.7 ล้านไร่ การใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อม เผื่อใช้ในอนาคตได้แค่ประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี แต่สิ่งหนึ่งที่คนในสังคมไม่ค่อยนึกถึง คือ หลายคนอยากให้ป่าดำรงอยู่ โดยไม่ใช่แค่รุ่นของตัวเองใช้ประโยชน์อย่างเดียว จะให้สิ่งนี้กับรุ่นต่อไป

กรณีป่าห้วยขาแข้งเป็นมูลค่าที่ทุกคนยินดีจ่าย เพื่อสมทบทุน เพื่อให้เงินสนับสนุนให้ดำรงอยู่ มีมากถึงประมาณ ปีละ 28,000 ล้านบาท นี้คือจากประเมินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เฉลี่ยแล้วป่าประมาณ 1ไร่ต่อปี คิดมูลค่ารวม ประมาณ 15,000 บาทต่อไร่ ถ้าเทียบกับโตนสะตอมูลค่าก็จะได้ประมาณ 7 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี ถ้าคิดไปยาว ๆ ป่าอยู่ประมาณ 100 ปี ถ้าคิด 5 เปอร์เซ็นต์ก็เกือบ 900 ล้าน เพราะฉะนั้นการทำลายป่าถาวร ถ้าเราคิดให้ยาวให้เป็นองค์รวม เรากำลังทำลายสิ่งที่มีมูลค่าเกือบ 900 ล้านบาท

ภาพมุมสูงชุมชนบ้านเหมืองตะกั่ว ด้านหลังเป็นเทือกเขาบรรทัด – จ.พัทลุง

สิ่งที่อยากย้ำตรงนี้ก็คือว่า เวลาเราคิดเรื่องของน้ำ ผมคิดว่าทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่คัดค้าน มีจุดร่วมคือต้องการน้ำ เพราะฉะนั้นในทางเศรษฐศาสตร์ ถ้าเราจะคิดเรื่องความคุ้มค่า เราจะคิดก่อนว่าด้วยเป้าหมายเดียวกัน ก็คือต้องการมีน้ำ สำหรับ 9 หมู่บ้านเรามีทางเลือกอะไรบ้าง

กรมชลประทานอาจจะคิดว่ามีเขื่อน แต่นั่นคือทางเลือกเดียว เรายังมีทางเลือกอื่นอีก เช่น กรรมาธิการงบประมาณก็เสนอว่ามี เขื่อนที่ใกล้ ๆ มีอ่างเก็บน้ำใกล้กัน 2 กิโลเมตร 4 กิโลเมตร ซึ่งกำลังผุพัง ขาดการบำรุงรักษา ทางเลือกการบำรุงรักษาและจัดระบบเพื่อให้เอาน้ำตรงนั้นมาใช้ เป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง วิเคราะห์ดูได้ว่าความคุ้มค่าอันไหนจะคุ้มกว่ากัน หรือทางอื่น ๆ เช่น ไม่ต้องสร้างอะไรเลย แต่เน้นเรื่องของการใช้น้ำให้เหมาะสม และการปลูกป่าเพิ่ม

เพราะฉะนั้นตัวเลขมันอาจจะเทียบกันยาก แต่ยังไงก็ตามอยู่ที่หลักการว่า เราพิจารณาทางเลือกแล้วหรือยัง แล้วประเมินมูลค่าสิ่งแวดล้อมแล้วหรือยัง

โจทย์ที่ต้องแก้ปัญหานี้มุมมองของอาจารย์?

ผมอยากสนับสนุนเรื่องของการพิจารณาเรื่องของการจัดการน้ำที่เป็นภาพใหญ่ของพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่เดียว เพราะจริง ๆ แล้ว จากที่ฟังมาดูเหมือนว่าเรามีทางเลือกในการจัดการน้ำทั้งระบบมีหลากหลาย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นแบบนั้นเราควรจะมีการศึกษา ตัวเลขที่ผมพูดถึงห้วยขาแข้งก็ใช้ไม่ได้โดยตรง แต่คิดว่าสิ่งที่ทำให้เรามองเห็นว่า สิ่งแวดล้อมที่มันถูกทำลายไปแล้วมันมีมูลค่าอยู่ แล้วทางเลือกที่เราจะกำหนดน่าจะใช้วิธีการศึกษา

ซึ่งในกรณีที่ชาวบ้านเสนอเรื่องของ SEA หรือการศึกษาสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ มันเป็นข้อเสนอที่ดีเพราะว่าตัว SEA ไม่ใช่ตัววิเคราะห์โครงการ แต่เป็นการวิเคราะห์ว่าในภาพรวมของพื้นที่เราน่าจะใช้ยุทธศาสตร์อะไร เช่น ยุทธศาสตร์ในเชิงการใช้โครงสร้างแข็งประมาณไหน การใช้การรักษาป่าประมาณไหน หรือว่าการใช้การจัดการน้ำที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมประมาณไหน

ในช่วงที่ผมเป็นกรรมการโรงไฟฟ้าถ่านหิน การมี SEA ทำให้ข้อมูลเรื่องทางเลือกหลั่งไหลเข้ามาเต็ม และทำให้สังคมได้รับข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น และการตัดสินใจต่าง ๆ ผมคิดว่าความขัดแย้งต่าง ๆ มันก็จะลดลงไปได้เยอะ และคิดว่าเป็นทางออกที่ดี

หมายเหตุ : SEA (Strategic Environmental Assessment) การประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์

ชาวบ้านกลุ่มรักษ์โตนสะตอปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล – กรุงเทพมหานคร
ชมย้อนหลัง ทางเลือก “โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว” จ.พัทลุง : นักข่าวพลเมือง C-Site (31 ส.ค. 63)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ