ย้อนดูความเป็นมา-ความเป็นไปโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง

ย้อนดูความเป็นมา-ความเป็นไปโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง

เป็นวันที่ 3 ของการปักหลักชุมนุมชาวบ้านเหมืองตะกั่ว ยังคงรอคำตอบอยู่ที่หน้าศาลากลาง จ.พัทลุง หลังจากเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการ จ.พัทลุง ขอให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อ.ป่าบอน จ.พัทลุง เพราะพื้นที่นี้เป็นต้นน้ำของการทำเกษตรใน จ.พัทลุง ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา

ติดตามความเคลื่อนไหวของภาคพลเมือง คุณบัณฑิตา ฮาริ นักข่าวพลเมือง ปักหมุดเล่าถึงสถานการณ์จากศาลากลาง จ.พัทลุง บอกว่า…

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2020

ย้อนดูความเป็นมาโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว

2533

โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง มีจุดเริ่มต้นนายโสภณ กสิวงค์ ประธานสภาราษฎรจ.พัทลุง ทำหนังสือถึงรมว. เกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2533 แจ้งว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าบริเวณเทือกเขาบรรทัด ทำให้เกิดผลกระทบในการขาดแคลนน้ำการอุปโภคบริโภค สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ จึงทำหนังสือถึงกรมชลประทานเพื่อทำการศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ของโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว

ลักษณะโครงการ
โครงการชลประทานขนาดกลาง ความจุกักเก็บน้ำ 10.14 ล้านลูกบาศก์เมตร ลักษณะเป็นเขื่อนดินถมแบบแบ่งส่วน ความกว้างสันเขื่อน 8 เมตร ความยาวสันเขื่อน 420 เมตร ความสูงเขื่อน 48 เมตร

งบประมาณ
งบประมาณโครงการรวมทั้งสิ้น 800 ล้านบาท (แผนงบประมาณปี 2560 – 2563)

ประเภทของการใช้พื้นที่
พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (เทือกเขาบรรทัด) จำนวน 290.63 ไร่
พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (เขาบรรทัด) จำนวน 188.45 ไร่

การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ปี 2555 จัดทำ Environment Checklist แล้วเสร็จ

12 กันยายน 2556 กรมชลประทานดำเนินการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 9 หมู่บ้าน จำนวน 74 คน โดยร้อยละ 84 เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ

7 กันยายน 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหนังสือให้ระงับโครงการ เนื่องจากประชาชนนอกพื้นที่คัดค้านการก่อสร้าง โดยเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นไม่ครบถ้วนทุกด้าน และมีรายชื่อประชาชน 381 คน คัดค้านการดำเนินโครงการ

22 ตุลาคม 2558 นายอำเภอป่าบอนมีหนังสือแจ้งแผนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อรับฟังการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำโดยวิธีอื่นที่เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด (ครั้งที่ 1 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 และครั้งที่ 2 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558

2563

ราวเดือนกรกฎาคม 2563 กรมชลประทาน จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อสรุปทางเลือกในการพัฒนาโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว โดยที่ประชุมมีมติเลือกแนวทางพัฒนาด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงฝายเดิม พร้อมระบบส่งน้ำ ซึ่งก่อนที่จะได้ข้อสรุปในการเลือกโครงการดังกล่าว กรมชลประทานได้เสนอทางเลือกในการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุด โดยแบ่งเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่

  1. การพัฒนาโครงการโดยการปรับปรุงฝายเดิมและก่อสร้างฝายทดน้ำเพิ่มเติม
  2. การพัฒนาโครงการโดยโครงการประเภทสระเก็บน้ำพร้อมปรับปรุงฝายเดิม
  3. การพัฒนาโครงการโดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงฝายเดิม พร้อมระบบส่งน้ำ

สำหรับทางเลือกที่ 1 การพัฒนาโครงการโดยการปรับปรุงฝายเดิมและก่อสร้างฝายทดน้ำเพิ่มเติม จะต้องปรับปรุงฝายเดิมและก่อสร้างฝายทดน้ำเพิ่มเติมตามลำน้ำรวม 6 แห่ง ซึ่งมีความกว้าง เฉลี่ย 15 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร รูปแบบตัวฝายเป็นฝายคอนกรีต สูง 2 เมตร จะมีความจุหน้าฝายทดน้ำรวมทั้งสิ้น 223,500 ลบ.ม. แบ่งเป็น ปรับปรุงฝายทดน้ำคลองท่ายูง 1 แห่ง ความจุหน้าฝานทดน้ำ 14,625 ลบ.ม.,ปรับปรุงฝายทดน้ำคลองบ้านใหม่ 1 แห่ง ความจุหน้าฝายทดน้ำ 42,750 ลบ.ม. และการก่อสร้างฝายทดน้ำแห่งใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ ฝายทดน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว ความจุหน้าฝายทดน้ำ 21,000 ลบ.ม.,ฝายทดน้ำบ้านเกาะยูง ความจุหน้าฝายทดน้ำ 21,375 ลบ.ม.,ฝายทดน้ำบ้านใหม่ ความจุหน้าฝายทดน้ำ 33,750 ลบ.ม. และฝายทดน้ำบ้านสายคลอง ความจุหน้าฝายทดน้ำ 90,000ลบ.ม. โดยโครงการดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ได้รับประโยชน์ 6,188 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 3,800ไร่ ในฤดูฝนและฤดูแล้ง ประมาณ 900 ไร่ อย่างไรก็ดี ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ สำหรับแหล่งน้ำที่จะต้องใช้ในการอุปโภค-บริโภค

ทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกการพัฒนาโครงการโดยโครงการประเภทสระเก็บน้ำ พร้อมปรับปรุงฝายเดิม ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงฝายที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเสนอแนะให้ปรับปรุงฝายทดน้ำเดิม จำนวน 2 แห่ง คือ ฝายทดน้ำคลองท่ายูง และฝายทดน้ำคลองบ้านใหม่ รวมกับศักยภาพสระเก็บน้ำ 8 แห่ง จะสามารถเก็บกักน้ำรวมทั้งสิ้นได้ประมาณ 0.45 ล้านลบ.ม. โดยสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่รับประโยชน์กว่า 6,172 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 4,629 ไร่ และฤดูแล้ง ประมาณ 1,200 ไร่ ซึ่งถือว่าโครงการดังกล่าว ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ สำหรับแหล่งน้ำที่ต้องใช้ในการอุปโภค-บริโภค

สำหรับทางเลือกที่ 3 จะใช้การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงฝายเดิม พร้อมระบบส่งน้ำ โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ที่ตั้งหัวงานของโครงการตั้งอยู่ที่ บ้านเหมืองตะกั่ว หมู่ที่ 1 ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง จะมีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 16,475 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 11,600 ไร่ และฤดูแล้ง ประมาณ 2,600 ไร่ พร้อมกันนี้ จะปรับปรังฝายทดน้ำคลองท่ายูง 1 แห่ง และฝายทดน้ำคลองบ้านใหม่อีก 1 แห่ง ซึ่งจะสามารถทำให้มีแหล่งน้ำเพียงพอ สำหรับการอุปโภค-บริโภคแก่ตำบลหนองธง และบริเวณใกล้เคียง

ข้อมูลล่าสุดจากฐานข้อมูลอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ของกรมชลประทาน พบว่าในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วมีอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างและอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน ข้อมูลเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างมีปริมาตรน้ำในอ่าง ร้อยละ 33.1ของความจุ 30 ล้านลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน มีปริมาตรน้ำในอ่าง ร้อยละ 48.7ของความจุ 20 ล้านลบ.ม.

จากข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยด้านการเกษตรของสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุงระบุว่า พื้นที่ปลูกพืชที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 11 อำเภอ รวม 410,440 ไร่  โดยคาดการณ์ว่า อำเภอป่าบอนเป็นอำเภอซึ่งมีพื้นที่ปลูกพืชที่จะรับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2563 มากที่สุด รวม 190,009 ไร่

https://web.facebook.com/citizenthaipbs/videos/333819507995235/

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ชาวบ้านเหมืองตะกั่ว หมู่ที่ 1 ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ได้ปักหลักชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดพัทลุง เป็นวันที่ 2 เรียกร้องให้มีการยุติโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว หรือที่กรมชลประทานซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการเรียกว่าอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว โดยยื่นหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง โดยระบุว่าชาวบ้านจะปักหลักที่ศาลากลางเพื่อรอฟังคำตอบภายในวันที่ 21 ส.ค. 63 หากรัฐบาลยังไม่ประกาศยกเลิกการสร้างเขื่อน ชาวบ้านเหมืองตะกั่วและชาวพัทลุง รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ที่อยู่ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจะเดินทางไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล 

ชาวบ้านเหมืองตะกั่วเริ่มมีการคัดค้านโครงการใน พ.ศ.2557 โดยมีการร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกรายงานการตรวจสอบที่ 864/2558 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ระบุว่าไม่มีความจำเป็นในการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว และมีหนังสือถึงกรมชลประทานให้ระงับโครงการในวันที่ 7 กันยายน 2558 ความคืบหน้าของโครงการในปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะใช้ประกอบการพิจารณาเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และขออนุมัติโครงการ  

นายวิเชียร ยาชะรัด ชาวบ้านเหมืองตะกั่ว ซึ่งปักหลักรอฟังคำตอบจากรัฐบาลให้ยุติโครงการสร้างเขื่อนที่หน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง เล่าว่า การสร้างเขื่อนทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียผืนป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านผูกพันมาหลายรุ่น อยู่ที่นี่กันมาประมาณ 200 ปี ชาวบ้านรักษาป่า คัดค้านการสัมปทานป่าไม้ ที่นี่มีไม้หลุมพอ ไม้ตะเคียนอยู่มาก ชาวบ้านมีการจัดการน้ำโดยการทำฝายมีชีวิต โดยคนในหมู่บ้าน และคนภายนอก ประมาณ 200 คน มาช่วยกันสร้างฝาย ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน 

เขื่อนจะตัดวิถีชีวิตของชาวบ้านออกจากป่า ป่าให้ความสุข ป่าให้น้ำ ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้ มีปลากินมีปลาขาย สายน้ำเหมืองตะกั่วหล่อเลี้ยงชาวบ้าน 3 อำเภอของจังหวัดพัทลุง เริ่มจากบ้านบังเชียรที่ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน ไหลต่อไปยังอำเภอตะโหมด และอำเภอบางแก้ว ป่าให้ของป่า เช่น น้ำผึ้ง สะตอ ที่เป็นอาหารและเป็นรายได้เสริมของชุมชน ชาวบ้านประมาณ 100 คน พึ่งพารายได้จากป่า เช่น เก็บสะตอปีละประมาณ 1,000,000 บาท จับผึ้งในช่วง 2 เดือน ต่อปี ประมาณ 1,000 ขวด ขวดละ 500 บาท เป็นรายได้ประมาณ 500,000 บาท  

ชาวบ้านได้เรียนรู้ผลกระทบจากเขื่อนป่าบอน อำเภอป่าบอน ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กม. และเขื่อนคลองหัวช้าง อำเภอตะโหมด ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 14 กม. ส่งผลให้มีการทำลายป่าไปนับหมื่นไร่ จากการสร้างเขื่อนและการเป็นใบเบิกทางให้มีการทำลายป่ารอบเขื่อน เจ้าของโครงการอ้างว่าสร้างเขื่อนเพื่อการเกษตร แต่ที่เขื่อนป่าบอน ไม่มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง เขื่อนชำรุดเก็บน้ำไม่อยู่ ต้องซ่อมทุกปี ชาวบ้านจึงแซวกันว่า “สร้างเขื่อนเพื่อเลี้ยงวัว” ในส่วนน้ำก็เสียด้วย อาบน้ำแล้วมีอาการคัน 

อ่านข้อมูลและเรื่องราวที่เครือข่ายพลเมืองร่วมกันรายงานสถานการณ์จากพื้นที่ได้ผ่านทางแอพลิเคชัน C-Site อาทิ

เดินดู “ป่าโตนสะตอ” ปัจจุบันมีสภาพเป็นอย่างไร ทำไมชุมชนต้องดูแล

อ้างอิง
รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

กรมชลฯ วางแผนพัฒนาอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง ครอบคลุม 10 หมู่บ้าน

ข้อมูลด้านการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพัทลุงประจำปี 2563

ปักหลักค้านเขื่อนเหมืองตะกั่ว ขีดเส้นยกเลิกใน 21 ส.ค.นี้ พร้อมยกระดับไปทำเนียบฯ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ