“ขอนแก่น” หลายคนขนานนาม “เมืองเสียงแคน แดนดอกคูณ” เป็นเมืองศิลปะวัฒนธรรมอีสานอีกแห่ง และยังเป็น “ชุมทาง” การเดินทาง การคมนาคม ทั้ง รถโดยสารสาธารณะ รถทัวร์ รถไฟ เครื่องบิน ขาดเสียก็แต่ “เรือ” เพื่อเชื่อมต่อไปหลายจังหวัดในอีสาน นั่นเป็นอีกปัจจัยทำให้ขอนแก่นเป็นอีกเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด แต่ก็ยังถือเป็นเมืองใหม่ที่มีต้นทุนเรื่องสถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือนไม่ได้เก่าแก่มากนักเมื่อเทียบกับย่านเมืองเก่าขึ้นชื่อในหลายพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ สงขลา ภูเก็ต ฯลฯ
แต่ที่นี่ มีต้นทุนที่น่าสนใจและเข้มแข็งไม่น้อย กับความพยายามร่วมกันของภาคเอกชน ประชาชน หน่วยงานท้องถิ่น นักวิชาการ และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อพัฒนาย่านสร้างสรรค์ “ขอนแก่นXศรีจันทร์” ถนนสายเศรษฐกิจที่เคยคึกคักในอดีต ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
กว่าครึ่งปีที่ผู้เขียนมาพำนักพักพิงที่ขอนแก่นด้วยชีวิตการงานที่นำพา แต่เพิ่งจะมีโอกาสได้พูดคุยกับ รศ. ดร.รวี หาญเผชิญ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเมืองขอนแก่นหลายโครงการ ทั้ง ขอนแก่นโมเดล ขอนแก่น Smart City และโครงการ “เปิดเมือง ปลุกอนาคต ขอนแก่นXศรีจันทร์” โครงการความร่วมมือพัฒนาย่านเศรษฐกิจเก่าบนถนนศรีจันทร์ ให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์ ที่จะคอยดึงดูดผู้คน และชาวขอนแก่น ให้ร่วมคิด ร่วมสร้างเมืองของตัวเอง
ขอนแก่นโมเดล “เปิดเมือง ปลุกอนาคต ขอนแก่นXศรีจันทร์” คืออีหยัง
รศ. ดร.รวี หาญเผชิญ : จริง ๆ แล้วก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลังโควิด-19 เราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง หลังจากที่เราอยู่ในสภาวะปิดเมืองมานาน 3-4 เดือน จึงมีการพูดคุยกันเกิดขึ้นในวงของกลุ่มคนที่ทำขอนแก่นโมเดล กลุ่มคนที่ทำเรื่องสมาร์ทซิตี้ กลุ่มคนที่ทำเรื่องการขับเคลื่อนเมืองมาตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ก็คือกลุ่มภาคประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ประชาชน และมีนักวิชาการบ้าง และก็มีภาครัฐด้วย
ขอนแก่นโมเดล คือ การลุกขึ้นมาของคนในพื้นที่ต้องการพัฒนาบ้านตัวเอง ถ้าว่าไปแล้วมันก็คือกระบวนการที่เรียกว่า ความเข้มแข็งของชุมชนในระดับที่มีโมเดลธุรกิจ แต่ก่อนเวลาเราพูดถึงการกระจายอำนาจ ความเข้มแข็งของภาคประชาชนหรือท้องถิ่นนั้น เราก็จะพูดในเชิงของรูปธรรมมาก ชุมชนต้องเข้มแข็งนะ เมืองต้องพึ่งตัวเองนะ ต่าง ๆ นานา แต่เราไม่มีวิธีทำที่เป็นรายละเอียด แต่ขอนแก่นโมเดลมันเป็นกระบวนการที่ค่อย ๆ ถักทอขึ้นมาแล้วมีวิธีทำที่ออกมาเป็นกระบวนการชัดเจน เราก็หยิบเอาคำว่า Smart City หลายท่านคงจะเคยได้ยินคำนี้ และเราก็มีโมเดลในการพัฒนา เช่น การพัฒนา LRT การพัฒนา TOD โดยภาคเอกชน ร่วมกันกับภาครัฐ มีกระบวนการมีแผนธุรกิจอะไรต่างๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดการเติบโตของธุรกิจท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่น มันเป็นการพัฒนาจากข้างล่างขึ้นข้างบน
ในโมเดลของ Smart City จริง ๆ แล้วมันมีอยู่ 2 ลักษณะ ลักษณะหนึ่งคือการสร้างเมืองใหม่ ที่อยู่บนแนวรถไฟรางเบา ซึ่งจะอยู่ในเขตการพัฒนาเมืองใหม่ กับอีกขาหนึ่งที่เราทำก็คือการพัฒนาย่านเมืองเดิม ที่เราได้คุ้นเคยเราได้เกิดได้เติบโตในบริเวณที่เป็นถนนย่านที่เขาเรียก Downtown ซึ่งทุกเมืองจะมี Downtown เพราะฉันเราทำ 2 ขาพร้อมกัน ในส่วนขาที่ทำโครงสร้างขนาดใหญ่ ต้องรองบประมาณ รอกระบวนการทางกฎหมายต่าง ๆ ที่เรียกว่าเมืองใหม่ หรือ LRT ก็ขับเคลื่อนไป แต่การพัฒนาย่านสร้างสรรค์ หรือบริเวณที่เรียกว่าย่าน Downtown หรือเมืองเก่า ซึ่งทุก ๆ เมืองมีอยู่ อันนี้เราก็ทำไปได้โดยที่ใช้ทุนไม่ค่อยเยอะ เพราะฉะนั้น กระบวนการนี้มันเกิดขึ้นมาพอสมควร
หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 ประจวบเหมาะกับที่เราตั้งกลุ่มคนขึ้นมากลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า กลุ่มศรีจันทร์คลับ เราเลือกเอาถนนแกนที่เป็นถนน street กลางเมือง ซึ่งทุก ๆ เมืองจะมีถนนสายหลัก 1 สาย หรือ 2-3 สายก็สุดแล้วแต่ อย่างกรุงเทพฯ ก็จะมี ถนนราชดำเนิน สีลม เจริญกรุง ขอนแก่นเราก็เลือกกันอยู่นาน เราก็คิดว่าคำว่าศรีจันทร์ มันเป็นแกนที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นถนนศรีจันทร์เนี่ยคือแกเค้าเรียก main street ของเมือง เพราะฉะนั้นตัวนี้จะเป็นตัวเกาะเกี่ยวพื้นที่ย่านกลางเมือง
กลุ่มศรีจันทร์คลับก็พัฒนามานานพอสมควรแล้ว เป็นความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ขอนแก่นพัฒนาเมือง เทศบาล หรือแม้กระทั่งองค์กรอิสระ เช่น TCDC มาช่วยกันประคบประหงมแล้วสร้างขึ้นมา ก็เป็นกลุ่มประชาชน กลุ่มนี้ก็จะมีการพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา และหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เราก็คิดว่าอยากจัดกิจกรรม ประจวบเหมาะกับ เรามีตึกอยู่หนึ่งตึก ซึ่งเป็นของภาคเอกชน เป็นตึกที่ไม่ได้ใช้งาน หรือ ตึกร้าง เราก็ใช้แนวคิดที่เรียกว่า adaptive reuse คือการเข้ามาบูรณะตึกและเปลี่ยน function มัน โดยใช้ตึกนี้เป็นสถานที่ทำการ ให้ตึกนี้เป็นพื้นที่ที่จะหลอมรวมเอาคนในศรีจันทร์คลับมาสร้างกิจกรรมกัน
การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองมีหลายมิติ บางที่เน้นเรื่องอนุรักษ์ บางที่เน้นเรื่องธรรมชาติ บางที่เน้นเรื่องศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งมันไม่มีข้อกำหนดตายตัว ว่าแต่ละเมืองจะใช้เป้าหมายอะไร ในการพัฒนาพื้นที่ คราวนี้อย่างที่ผมบอกก็คือ ขอนแก่นเราก็มองในเชิงยุทธศาสตร์ว่าเราจะเป็น Smart city เราอยากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่กันกับการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง เศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคือการใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้ามา พัฒนาชีวิตชีวาให้ยามที่มันมีความซบเซา มันเกิดงอกเงยขึ้นมาใหม่ เราจึงเลือกย่านกลางเมืองเป็นหนึ่งโครงการ และผลพลอยได้ก็คือ แม่ค้าได้ขายของ คนได้มาเดินในเมือง เราได้รู้จักกันมากขึ้น พื้นที่ย่านกลางเมืองเกิดความเป็นเจ้าของ มีกิจกรรมต่าง ๆ คนสามารถที่จะมาแสดงออกร่วมกัน มันเกิดพื้นที่ชุมชน ให้คนที่ออกมารู้จักกัน คนได้เข้ามาเห็นกัน ความขัดแย้งก็ลดลง เมืองก็กลับมารักกัน ผมคิดว่ามันเป็นกุศโลบายในการพัฒนาเมือง
ฟื้นชีวิตเมืองเก่ากลับมาใหม่ เฮ็ดจั่งได๋แหน่
ตัวรูปธรรมของการพัฒนาย่านกลางเมืองของเรา เราต้องใช้ความร่วมมือของหลายส่วน สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการใช้ทุนต่ำ เราไม่ได้ออกแบบเมืองด้วยวิธีการรื้อแล้วสร้างใหม่ แต่เราต้องการที่จะทำเมืองโดยใช้อาคารที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเป็นรูปธรรมก็คือทุกอาคารระหว่างเป้าหมายว่าจะเปลี่ยนบทบาทมีความหมายใหม่ เช่น อาคารนี้ที่มันไม่เคยได้ใช้เลย ก็กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะ
หลายอาคารที่เป็นทั้งอาคารเช่าหรืออาคารที่ปิดอยู่ ผู้ประกอบการอาจจะทำธุรกิจของตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ เป้าหมายของเราไม่ได้มองลึกเหมือนรูปแบบเมืองหลาย ๆ เมืองที่อยากจะเห็นรูปธรรมของการสร้างตึกใหม่ การทาสีการปรับปรุงย่านที่มันเป็นความสวยงาม แต่เราต้องการให้มันมีชีวิตชีวาโดยคน “คนในพื้นที่” ก็ต้องกระตุ้นให้เขาเกิดการพัฒนาในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งแต่เดิมมันเคยเป็นย่านที่มีความเจริญสูง แต่จะมีปัญหาจอดรถยาก คนไม่ค่อยเดิน คนย้ายออกนอกเมือง เพราะฉะนั้นในพื้นที่ที่มันเป็นพื้นที่หัวใจของเรา เราไม่อยากจะปล่อยให้มันร้างอย่างนี้ เพราะมันมีประวัติศาสตร์มันมีความทรงจำ มันยังเป็นพื้นที่ที่มีที่ดินราคาแพง เข้าถึงได้ง่าย มันคือศูนย์กลางของเมือง ในเชิงเศรษฐศาสตร์มันควรจะต้องใช้ให้คุ้ม
เพราะฉะนั้นในเมืองที่เจริญแล้ว หลาย ๆ เมือง เช่น ย่านกลางเมืองในต่างประเทศเขาจะพัฒนา แต่การพัฒนามันจะใช้รูปแบบหรือว่าเป็นความหมายใหม่ ซึ่งแตกต่างไปตามบริบทของเมือง ขอนแก่นเราก็อยากให้มันเป็นสถานที่ที่มันฮิปๆ หน่อย เป็นที่สำหรับคนรุ่นใหม่มาเดินชมกันได้ หรือมีกิจกรรมให้มันมีชีวิตชีวาขึ้นมา หรือแม้กระทั่งการดึงเอาคนกลับเข้ามาอยู่ในเมือง
สร้างบ้านแปงเมือง ต้องมีส่วนร่วม ต้องซ่อยกัน
“การมีส่วนร่วม” ผมคิดว่าสำคัญมาก ภาคราชการที่มีบทบาทมากในการดูแลเมือง คือ เทศบาลนครขอนแก่น เราคิดว่าเทศบาลมีภาระงานหลายอย่างอยู่ เช่น กวาดถนน ทำท่อ สร้างถนน ติดไฟสาธารณะต่าง ๆ เยอะแยะไปหมดเลย ภารกิจที่เป็นข้อจำกัดของภาครัฐหลาย ๆ อัน
ผมคิดว่าท้องถิ่นมีโอกาส หรือว่าสามารถที่จะเสนอตัวเข้ามาทำงานร่วมได้ เพราะว่าเราก็คือเจ้าของเทศบาล เมื่อไปถึงจุดหนึ่งเทศบาลก็จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน เราเห็นหลายโครงการเริ่มต้นโดยเทศบาล แต่ว่าเมื่อเปลี่ยนคณะผู้บริหารหรือเปลี่ยนเจ้าหน้าที่แล้ว มันจะไม่เกิดความเป็นเจ้าของ ที่เรียกว่า belonging ซึ่งสำคัญ
การเป็นเจ้าของโครงการมันต้องเป็นเจ้าของโดยภาคประชาชน เจ้าของเมือง แต่ว่ารัฐบาลท้องถิ่น หรือ เทศบาล ก็เป็นคนเริ่มโครงการ ซึ่งดีแล้ว แต่ว่าถ้าเป็นเมืองที่เจริญแล้วหลาย ๆ เมือง ภาคเอกชนจะเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก และเทศบาลหรือภาครัฐจะเปลี่ยนบทบาทการเป็นผู้สนับสนุนหรือ supporter ให้โครงการให้มันเกิด ปลดล็อคข้อกำหนด สนับสนุนด้านบุคลากร สนับสนุนเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ให้โครงการต่าง ๆ มันเกิด เพราะฉะนั้นโครงการในลักษณะนี้มันจะเกิดความยั่งยืนเพราะประชาชนเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นเราคิดว่าการสร้างให้ประชาชนมีความรู้สึก belonging หรือเป็นเจ้าของของพื้นที่จะยาวนานมากกว่าการรอคนอื่นหรือภาครัฐ ซึ่งก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ
คนท้องถิ่นได้พัฒนาท้องถิ่น คนไกลบ้านได้กลับบ้านนั่นคือความสุข อีหลี
การย้ายเข้ากรุงเทพฯของคนรุ่นใหม่หลายคน ไม่ว่าจะอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ผมคิดว่า ตอนนี้มีวิธีคิดใหม่ “กรุงเทพฯไม่ใช่คำตอบ” และกำลังซื้อมันก็สามารถสร้างเองได้โดยอยู่ในถิ่นฐานหรือภูมิลำเนาของเรา ถ้าเราหาจุดขายเจอ
บางคนอาจจะใช้บ้านของตัวเองเปลี่ยนเป็นร้านขายบิงซู เป็นร้านกาแฟ หรือบางคนอาจจะทำข้างบนเป็นโฮสเทล ผมมองว่าการเป็นผู้ประกอบการด้วยตัวเองในเมืองที่เราอยู่มันต้นทุนน้อยกว่าการย้ายเข้ากรุงเทพฯ การย้ายเข้ากรุงเทพฯ หรือการย้ายไปยังเมืองอื่น หนึ่งคือสูญเสียตัวตน มีแต่ความเหงา แต่การเข้ามาอยู่บ้านที่ตัวเองอยู่ ผมคิดว่าหนึ่งคือเราได้ความอบอุ่น สองเรามีความภูมิใจ สามถ้าเรามีความขยันแล้วเห็นโลกเห็นตลาด ผมคิดว่าคุณไม่จบแน่ ๆ และสี่คือคุณเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะพัฒนาเมืองคุณ คุณเป็นเจ้าของ คุณร่วมในกระบวนการพัฒนาเมือง ผมคิดว่าอันนั้นคือเรียกว่าความสุข อยากจะเชิญชวนทุกคนให้กลับไปทำงานหรือกลับไปพัฒนาบ้านตนเอง
ความฝันถึง “ย่านสร้างสรรค์” ที่มีชีวิตชีวา สิเป็นไปได้บ่
เราก็ฝันนะครับว่าอนาคตเราจะไปถึงขั้นที่สามารถทำให้ย่านมันกลับมามีชีวิตชีวาได้ มีโมเดลธุรกิจของร้านรวงต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างน้อย 30% สมมุติว่าตอนนี้มันมีห้างหรือร้านที่ปิดอยู่ทั้งหมด 100 แห่ง เปิดขึ้นมาซัก 10 หรือ 20 แห่งมันก็ยังเป็นก้าวที่ดี เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้มันเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ในเขตเมืองเป็นสิ่งเล็ก ๆ กระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่ามันค่อยๆ เกิดบรรยากาศ พอเกิดบรรยากาศพวกนี้ ภาครัฐก็จะต้องเข้ามาสนับสนุนในการหาที่จอดรถ จัดระบบจราจร จัดระบบขนส่งสาธารณะ เข้ามาปลูกต้นไม้ เราก็จะเกิดขึ้นที่สาธารณะในเมือง
ทุกคนก็รู้สึกเป็นเจ้าของเมืองร่วมกัน ผมคิดว่าลูกหลานของเราก็จะได้ไม่ต้องย้ายไปไหน อย่างน้อยเขาก็รู้สึก เขายังมีเมืองที่พ่อแม่เขาเกิดและเติบโตอยู่ และเขาก็ยังภูมิใจกับเมืองที่เขาได้เห็นพ่อแม่สร้าง หรือว่าตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งในการที่จะเข้ามาปลุกมันขึ้นมา จากที่แต่เดิมมันเกือบกำลังจะตาย ช่วยกันรดน้ำให้กับเมือง
การพัฒนาเมืองต้องควบคู่กับการพัฒนาอีสาน ขอนแก่นดี อีสานจะดี
แนวคิดของเรื่องกระบวนการภาคนิยม การเป็นภูมิภาคนิยมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือผมคิดว่าต้องกลับมานั่งทบทวน เรามีประชากรอยู่ 20 ล้าน คน เป็นภูมิภาคที่มีประชากรเยอะที่สุดในประเทศ หนึ่งในสี่ของประเทศ แต่เรามีความยากจนสูง ขอนแก่นเป็นส่วนหนึ่งเป็นการตั้งถิ่นฐานหนึ่งที่อยู่ในภูมิภาคนี้ เพราะฉะนั้นมันแยกไม่ออกนะครับระหว่างประชากร 20 ล้าน คนกับเมืองอย่าง ขอนแก่น อุบล หรืออุดรก็ตาม เพราะฉะนั้นการพัฒนาเมืองขอนแก่นหรือจังหวัดขอนแก่นนั้นมันจะต้องไปคู่กันกับการพัฒนาภาคอีสาน ในความคิดใหม่ ในมุมมองใหม่ ก็คือคนอีสานที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ต้องกลับมาทบทวน และก็ค้นหาสินทรัพย์ของตัวเองให้เจอและใช้สินทรัพย์ท้องถิ่นของตัวเองในการยกระดับมูลค่าราคาขึ้นมา การพัฒนาเมืองมันต้องสัมพันธ์กับการพัฒนาชนบท รูปแบบของชนบทที่จะต้องพึ่งพาการเกษตรอย่างเดียวไม่พอ เราอาจจะต้องมีวิธีคิดเรื่องของภาคเกษตรใหม่ ๆ หรือว่าภาคท้องถิ่นชนบทใหม่ๆ โดยใช้ศิลปะ โดยใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยการมองหาสินทรัพย์ในท้องถิ่นของตัวเอง การสร้างการตลาดของตัวเอง
เราจะต้องทำภาคอีสานให้เป็นไข่เจียว
“การพัฒนาภูมิภาคมันเหมือนไข่ขาว เมืองเป็นไข่แดง เราจะต้องทำภาคอีสานให้เป็นไข่เจียว ก็ต้องตีแล้วคนให้เข้ากัน”
แต่อย่างไรก็ดีขอนแก่นจะโตได้คนอีสานต้องมีงานทำ ภาคเกษตรต้องมีทางเลือก ภาคชนบทต้องมีทางเลือก แล้วเมืองก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของทางเลือก ที่จะไม่ให้คนย้ายเข้ากรุงเทพฯ แต่ย้ายเข้ามาในเมือง แล้วก็ส่งกำลังกลับไปยังชนบท เป็นภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องสมดุลกัน
การพัฒนาทางอีสานในมุมมองใหม่ เราต้องให้เมืองเป็นทัพหน้าสำหรับการพัฒนาภูมิภาค มุ่งสู่ตะวันออกไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ต้องหันหลังให้กรุงเทพฯ เราหันหน้าเข้ากรุงเทพฯมาตลอด เพราะฉะนั้นมันเหมือนกลับกรุงเทพฯ โตแต่อีสานค่อย ๆ เล็กลง เมืองต่าง ๆ ก็จะไม่โตด้วยกันเลย ถ้ามีสินทรัพย์หรือทรัพยากรท้องถิ่นในภาคอีสานมันช่วยประคองการเติบโตของเมือง ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่น อุดร โคราช หรือเมืองต่าง ๆ มันก็จะเกิดสมดุลของการตั้งถิ่นฐานที่ไม่ได้ให้เมืองใดเมืองหนึ่งโต แล้วมันก็จะกระจายไปยังชนบทด้วย
การพัฒนาเมืองจริง ๆ มันไม่ใช่แค่การพัฒนาถนนหนทาง หรือ ทางเท้า ท่อน้ำ แต่การพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองโดยใช้พื้นที่ “ย่าน” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ชุดความคิดตรงนี้ ต้องให้ผู้บริหารเมืองให้ความสำคัญ
ขณะเดียวกันอีกขาหนึ่งคือประชาชน ก็จะต้องสร้างสมดุล คือ ให้ความรู้ที่กินได้ ความรู้เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องให้ความรู้และเครื่องมือในการพัฒนาพื้นที่ตัวเอง ใครจะเป็นคนให้ก็จะต้องมีกลุ่ม การสร้างองค์กร ผมว่าสำคัญ คือการสร้างหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ มันสำคัญกว่าคนใดคนหนึ่งมาบอกให้ทำ
ถ้าเราเริ่มต้นทำด้วยกัน ผมคิดว่ามันก็จะไปต่อได้ ทีนี้กระบวนการทั้งหมดของกลุ่มคนที่จะทำ ผู้มีส่วนได้เสียนั้นสำคัญ ต้องขยับมาเป็นผู้กระทำการ หรือ Actor ซึ่งจะต้องมีโมเดลธุรกิจ ต้องมีทุน มีเครื่องมือ การสร้างกลไกพวกนี้ ผมคิดว่ามันเป็นความท้าทายในการพัฒนาย่านมาก ทุก ๆ เมืองจะต้องผ่านพ้นตรงนี้ ตอนนี้ผมยังไม่เห็นในประเทศไทยที่แต่ละเมืองจะมีกองทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ตัวเอง กองทุนที่เป็นอิสระที่ทุกคนสามารถที่จะเข้าไปแล้วก็ใช้ประโยชน์จากเงินก้อนหนึ่งเพื่อพัฒนาพื้นที่ “ย่าน” ตัวเอง เพราะฉะนั้นอันนี้มันคือสิ่งท้าทายในการพัฒนาท้องถิ่น
เรียบเรียง : พุฒิสรรค์ กันยาพันธ์