ชีวิตนอกกรุง : ท่องเที่ยวไทย ยังไหวรึเปล่า ???

ชีวิตนอกกรุง : ท่องเที่ยวไทย ยังไหวรึเปล่า ???

จากข้อมูลจากศูนย์วิจัย จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปกว่า 83 % ในปีนี้

และแรงงานไทยที่มีผลกระทบอาจมีถึง 80 %

โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย

ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวมาเยือนที่นี่กว่า 3 ล้านคน (ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) สร้างงาน สร้างเงินให้คนในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 1.2 แสนล้านบาท

พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร ท่ามกลางวิกฤติที่เกิด และอนาคตที่ยังไม่แน่นอน ว่าจะกลับมาดีขึ้น หรือจะกลับมาเหมือนเดิมได้เมื่อไร

ประตูท่าแพ อีกหนึ่งแลนมาร์ค ของนักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่ วันนี้ไร้ซึ่งนักท่องเที่ยว
ย่านนิมมานเหมินท์ ปรกติจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่พักเกือบทั้งหมดในเชียงใหม่ ก็แทบจะมีลูกค้าเป็นศูนย์ แล้วก็เดือนมีนาคมก็ลูกค้าเป็นศูนย์ทุกที่

พี่ป๊อบ เจ้าของเกสเฮาร์ย่านล่ามช้าง ในตัวเมืองเชียงใหม่ เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า ในจังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะในเขตตัวเมือง มีผู้ประกอบการเกสเฮาร์กว่า 2,000 – 3,000 แห่ง ซึ่งกว่า 70 % คือที่พักขนาดเล็ก ซึ่งที่พักเหล่านี้ ลูกค้าเกือบทั้งหมดก็คือชาวต่างชาติ เนื่องจากคนไทยไม่ค่อยนิยมพักในรูปแบบเกสเฮาร์

คุณรุจิพัฒน์ สุวรรณสัย (พี่ป๊อป) เจ้าของกิจการเกสเฮาร์ย่านล่ามช้าง

“ ทุกคนก็อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างยากลำบาก ก็ต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่ายลง ให้ได้มากที่สุด การหารายได้ ทั้ง ๆ ที่สภาพตลาดเปลี่ยนไปทั้งหมด เราก็จะพบว่า มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องหัดทำอาหาร ทำขนม เพื่อจะไปค้าขายในแอปพลิเคชันต่าง ๆ ”

“เราไม่รู้ว่าจะอีกนานแค่ไหน ที่สภาพทุกอย่างจะกลับมา และก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนจากเดิมเยอะแค่ไหน เราก็ยังไม่รู้  พี่คิดว่าทุกอย่างมันจะกลับมา สู่สภาพที่เราเรียกว่าปรกติธรรมดาของมัน  … วันหนึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็จะผ่านไป และทุกอย่างก็จะปรับตัวเข้ามาสู่สมดุลชีวิตปรกติ แต่ระยะจากตอนนี้ไปจุดนั้น พี่คิดว่ามันจะกินเวลาไประยะหนึ่ง ”

จากผู้ประกอบการเกสเฮาร์ ขนาดเล็กในตัวเมืองเชียงใหม่ มีอีกหนึ่งอาชีพที่กำลังต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลง เพราะผลกระทบที่ได้ มาโดยตรงจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็คืออาชีพมัคคุเทศน์

พี่จูน ซึ่งเป็นมัคคุเทศน์ในจังหวัดเชียงใหม่เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และความพยายามในการจัดการตัวเองของมัคคุเทศน์ในเชียงใหม่ว่า

จุลจิรา คำปวง (พี่จูน) มัคคุเทศน์เชียงใหม่

“ก่อนที่จะเกิดโควิด เชียงใหม่มีนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน พอเกิดโควิด หายไปเกือบ 100 % และไม่รู้ว่าจะกลับมาอีกเมื่อไร ทำให้อาชีพมัคคุเทศน์ไม่ใช่อาชีพที่มั่งคงอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้มัคคุเทศน์ทุกคนต้องพยายามมองหาอาชีพเสริม อาชีพที่สอง เพื่อจะทำให้ตัวเองอยู่ได้ ”

พี่จูนเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันกลุ่มมัคคุเทศน์ ในจังหวัดเชียงใหม่ มีการหาทางออกด้วยการประสานไปที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ช่วยเปิดสอน อาชีพเพื่อนำมาเป็นอาชีพเสริมเพื่อหารายได้ในช่วงโควิดใน 8 สาขาอาชีพ เช่นทำขนม ทำน้ำผลไม้ ทำอาหาร และอีกทางก็คือการประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อขอสนับสนุนพื้นที่ในการเปิดเป็นตลาดขายสินค้า ของกลุ่มมัคคุเทศน์ที่ตกงาน ให้ได้มีพื้นที่ในการนำสินค้าที่ตนเองทำมาขาย

พ่อค้า แม่ค้าที่นี่คือมัคคุเทศน์ ที่ตกงานในช่วงวิกฤติโควิด-19
พ่อค้า แม่ค้าที่นี่คือมัคคุเทศน์ ที่ตกงานในช่วงวิกฤติโควิด-19

และนอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน ที่ชื่อว่า We Love Chiang Mai ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงธุรกิจหลาย ๆ ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากสถาการณ์ไวรัสโคโลน่า และการที่ถูกหักเปอร์เซนต์ หรือค่า GP จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่สูงเกินไป ซึ่งบางแพลตฟอร์มหักมากกว่า 30 % ซึ่งตัวแอบพลิเคชั่นนี้  ซึ่งน้องธรพร หรือน้องแอ๊นท์ ซึ่งเป็นผู้จัดทำแอปพลิเคชั่นตัวนี้เล่าให้เราฟังว่า

ธนพร พัชรพโภคากุล (แอ๊นท์) ผู้จัดการโครงการ We Love Chiangmai Platform

 “ จากที่เราได้ไปคุยกับผู้ประกอบการ เรารับฟัง Pain point เขามาว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในปัจจุบันทำให้นักท่องเที่ยวน้อยลง ร้านค้าหลาย ๆ ประเภทต้องใช้บริการ เดลิเวอร์รี่ ซึ่งพอเขาจะเข้าไปเข้าร่วมมันมีค่า GP ที่ค่อนข้างสูง เราก็เลยอยากพัฒนา App ที่เป็นศูนย์กลางระหว่าง ผู้ประกอบการ ลูกค้า และช่วยลดต้นทุน ของผู้ประกอบการให้เขาสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ซึ่งน้องต้นกล้าซึ่งเป็นเจ้าของ Om Platform และเป็น ผู้ดูแลโปรเจก ช่วยเสริมว่า

สรรพ์ศิริ คำพลศิริ(ต้นกล้า) ผู้ประกอบการ Om Platform

App จะเป็นตัวกลางหลักที่เชื่อมโยง หลาย ๆ ภาคส่วน เช่นภาคส่วนธุรกิจเอง ภาคส่วนโลคัลบิสสิเนสเอง หรือว่าลูกค้าเอง เข้ามาอยู่ใน Platform แล้วสร้างให้ อีโค่ซิสเต็มมันเกื้อกูลกัน เพราะฉะนั้นในอนาคต ถ้าโมเดลนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่ามันดี และทุกคนได้ประโยชน์จากการใช้ Platform ตรงนี้ มันทำให้อนาคตเราจะมี Platform  ที่เป็น Platform หลัก แล้วสามารถนำไปใช้กับเมืองอื่น ๆ ได้

การเดินทางครั้งนี้ ทำให้เห็น สถานการณ์ชัดขึ้นของคนนอกกรุง ที่อยู่ใน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งในยุคหลังจากนี้คงต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ เพราะหลาย ๆ อย่างอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพ หรือมีอาชีพสำรอง   หลายคนต้องเพิ่มทักษะ และยกระดับมาตรฐานของตัวเอง  หลายพื้นที่ยังพอไปต่อได้กับต้นทุนที่มีอยู่    แต่ในขณะเดียวกันหลายพื้นที่ก็ยังไร้ทางออกที่ชัดเจน

   คำถามมีอยู่ว่าทิศทางข้างหน้าสำหรับการท่องเที่ยวไทย ควรเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้แข็งแรง และยั่งยืนพอที่จะแบกรับความเสี่ยงอาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ